ศาสนากับวิทยาศาสตร์ อีกครั้ง คราวนี้เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา


แนะนำหนังสารคดีเรื่อง the root of all evil?

หนังสารคดีที่นักวิทยาศาสตร์ด้านวิวัฒนาการ, ชีววิทยา ระดับโลกคือ prof. Richard Dawkins พยายามจะให้เหตุผลและยกหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างที่ว่า "การมีศาสนา (โดยเฉพาะศาสนาที่มีพระเจ้า) ส่งผลเสียต่อมวลมนุษยชาติมากกว่าการที่ไม่มี" ลองไปดูกันเต็มๆ ได้ที่

http://www.rationalresponders.com/the_root_of_all_evil_by_richard_dawkins_a_must_see

หรือจะสั่งซื้อแผ่นมาดูกันเต็มๆ จอได้ที่

http://richarddawkins.net/article,1661,Root-of-All-Evil-The-Original-Program-available-now-on-DVD,RichardDawkinsnet

สารคดีนี้แบ่งเป็นสองตอนครับ ตอนแรกเกี่ยวกับความเชื่อของคนเรื่องพระเจ้า โดยเฉพาะเรื่องการที่พระเจ้าสร้างโลกและสร้างมนุษย์ อาจารย์ Dawkins เดินทางไปคุยกับคนที่มีความเชื่อเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วพยายามชี้แจงให้เห็นว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์พัฒนามาจากวิวัฒนาการทางธรรมชาติ

ส่วนตอนที่สองเกี่ยวกับเสรีภาพของเด็กในการเลือกนับถือศาสนา (หรือเลือกที่จะเป็นพวก Atheist คือพวกไม่เชื่อว่า มีพระเจ้าอยู่จริง) โดยเปรียบเทียบการเลือกนับถือศาสนากับการเลือกสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองว่า ต้องการ "วุฒิภาวะ" ในการเลือกที่จะเข้าสังกัด ดังนั้นจึงไม่ควรเลือกศาสนาให้เด็ก แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ศึกษาทุกๆ ความเชื่อที่อยู่รอบตัวแล้วค่อยให้เขาตัดสินใจเมื่อโตขึ้น

ประเด็นที่ผมชอบในสารคดีเรื่องนี้คือ การซัดกันแบบซึ่งๆหน้า ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเชื่อในเรื่องวิวัฒนาการ กับนักบวชผู้เชื่อในเรื่องพระเจ้า โดยต่างฝ่ายต่างยก เหตุผลขึ้นมาสนับสนุนความเชื่อของตน ฝ่ายวิทยาศาสตร์ยกหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องวิวัฒนาการ มางัดค้านกับคนที่เชื่อในคัมภีร์ ส่วนฝ่ายนักบวชก็พยายามจะบอกว่า หากวิวัฒนาการมีจริง มันย่อมเกิดได้ด้วยอำนาจของพระเจ้า

นักวิทยาศาสตร์เชื่อบนฐานที่ว่า ความจริงแท้มีอยู่ แต่มันเปลี่ยนได้เสมอ เมื่อมีหลักฐานใหม่ๆ ที่เข้าท่ากว่า มางัดค้านกับความจริงเดิม

แต่นักบวช (โดยเฉพาะในหนังสารคดีเรื่องนี้) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความจริงแท้นั้นแน่นอน ตายตัว โต้เถียงไม่ได้ ต้องเป็นไปอย่างที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์

ส่วนประเด็นที่ไม่ชอบก็คือ การไม่พยายามทำความเข้าใจกันและกันอย่างลึกซึ้งของทั้งสองฝ่าย และไม่มีการพยายามผ่อนสั้นผ่อนยาวกัน ทำให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงและมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด ฝ่ายฉันถูก

บรรยากาศแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้ามีการตีความตามหลัก ภาษาคน ภาษาธรรม ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เคยเสนอไว้ครับ

ดูหนังนี้แล้วก็นึกถึงหนังสือที่อธิบายเรื่องศาสนาคริสต์สำหรับพุทธศาสนิกที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมา คือเรื่อง คริสตธรรม-พุทธธรรม โดยท่านอาจารย์พุทธทาส ครับ

ท่านอาจารย์พยายามอ่านและทำความเข้าใจพระคัมภีร์ไบเบิ้ลอย่างถ่องแท้ก่อนที่ท่านใจตีความและนำมาเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา และสุดท้ายก็สรุปออกมาว่า ศาสนาที่เรารู้จักดีทั้งสามนั้นมุ่งไปสู่จุดเดียวกัน คือ ความสงบศานติ ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม ต่างแต่วิธีการครับ คริสต์นั้นใช้ศรัทธานำ, อิสลามใช้วิริยะนำ, พุทธใช้ปัญญานำ มันเลยแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยและเปลือกของศาสนา

มองให้ผสมกลมกลืนระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ก็ได้ครับ ถ้ามองให้เห็นทั้งข้อเท็จจริง และคุณค่า ควบคู่กันไป

 

หมายเลขบันทึก: 137666เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2007 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีอีกงาน เป็นการถกกันระหว่าง Dawkins กับ นักวิทยาศาสตร์อีก 2-3 คนที่เรียกตัวเองว่า Religious บ้าง Spiritual บ้าง จำไม่ได้ว่าลงพิมพ์ใน Time หรือ American Sci. หรือ The Economist แต่จำได้ว่าอ่านแล้วอึดอัดน้อยกว่าตอนที่ Dawkins ถกกับนักบวช

สุดท้าย Dawkins ยอมรับว่ามันมีอะไรที่ "bigger than us" แต่ไม่ใช่ God อย่างที่ศาสนาอธิบาย เค้าคิดว่าศาสนามีแต่โทษ เพราะทำให้คนตาบอดเชื่อโดยไม่ถาม

พวกนักวิทยาศาสตร์ที่ไปโบสถ์ก็บอกว่า "ก็นั่นแหละ God ของเค้า" เค้าพยายามบอก Dawkins ว่า การทำตาม ritual ตามกฎ ก็มีประโยชน์เหมือนกัน

ก็ไม่มาคุเท่าตอนคุยกับคนที่แปลไบเบิลตรงตัว พวก fundamentalist ค่ะ แต่มัทว่า Dawkins ก็มี"มานะ"มากไปนะ เค้าก็คิดว่าเค้าจะปลุกคนตาบอดให้มองเห็นได้ ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มัทว่ายากอ่ะ

จาก มัทนา ฺ Buddhist/Pantheist ค่ะ not Atheist : ) 

สวัสดีค่ะคุณหมอสุธี

ได้คุย(คือจริงๆแล้วต้องเรียกว่าโต้วาที)กับเพื่อน  เรื่อง"การเชื่อโดยไม่ถาม "   ได้ข้อสรุปว่า  เกิดจากความคิดที่ว่าคำตอบอันเป็นที่สุด  จริงแท้แน่นอน มีอยู่เพียงคำตอบเดียว  และเข้าถึงได้เพียงวิธีเดียว คือเชื่อโดยไม่ต้องถาม   จึงไม่ต้องคิดไตร่ตรอง(คือตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่) อีก 
ความเชื่อเกิดจาก กระบวนการการเปิดรับเข้ามา

ต่างกับ"การตั้งคำถามก่อนเชื่อ"  จนเห็นคำตอบอันเป็นที่สุด  มีคำตอบเดียวเหมือนกัน  แต่ได้ถามๆๆๆๆตอบๆๆๆจนกระจ่างใจ  มีวิธีเข้าถึงหลายวิธี  จนเห็นว่ามีคำตอบเดียวนี้แล้ว  จึงเชื่อ 
ความเชื่อเกิดจาก 
กระบวนการการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบลึกซึ้งก่อนเปิดรับเข้ามา

อนึ่ง  ดิฉันเข้าข้างตัวเองว่าเป็นพุทธโมเดิร์นนิสต์อะค่ะ  : )

ผมชอบตรงประเด็นที่ว่าโดยประวัติศาสตร์ตะวันตกแล้ว ศาสนจักร จะมองวิทยาศาสตร์ เป็นพวกตรงข้ามตลอด เมื่อก่อนศาสนจักรมีอำนาจมาก ก็ไล่บี้ ไล่ฆ่านักวิทยาศาสตร์ ตอนนี้คนเริ่มเห็นฤทธิ์เดชของวิทยาศาสตร์มากขึ้นๆ ต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์ในอยู่รอดในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ศาสนาที่เคยเป็นทั้งวิถีชีวิต ตอนนี้ถูกลดความหมายลงมาในขอบเขตของการเป็นที่พึ่งทางใจ อาจจะมองได้ว่านี่เป็นปรากฏการณ์ในการ "เอาคืน" ของฝ่ายวิทยาศาสตร์ก็ได้นะครับ 

สุธี

  1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
  2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสีบๆกันมา (มา ปรมฺปราย)
  3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
  4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
  5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
  6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)
  7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
  8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
  9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
  10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท