สำรวจตรวจตราภาวะแวดล้อม (Environmental Scanning)


environmental scanning ทำหน้าที่เหมือนเรดาร์
ฟ้าครับ

เคยไปเที่ยวแหลมพรหมเทพที่จังหวัดภูเก็ตไหมครับ ถ้าเคยอาจจะเคยเห็นกังหันลมใหญ่ ๆ สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม นับเป็นสิ่งแปลกตาสำหรับเมืองไทยที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนนอกจากแหลมพรหมเทพนี้ จึงเข้าใจว่ามีอยู่ที่เดียว แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปจะพบเห็นบ่อยมาก

พลังงานลมเป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียน เหมือน ๆ กับพลังงานจากน้ำ พลังงานหมุนเวียนหมายถึงพลังงานที่ใช้แ้ล้วไม่หมดไป ไม่ว่าจะพัดหรือหมุนอย่างไรก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ ไม่เกิดการ "ใช้" จริงที่ทำให้หมด นั่นคือ มนุษย์จะใช้หรือไม่ใช่ก็ไม่ได้มีผลแตกต่างต่อโลก ต่างจากเชื้อเพลิงพวกน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน ดังนั้นมนุษย์ (ที่กระหายพลังงานมากขึ้นทุกวัน) จึงมองสายตาคาดหวังว่า พลังงานหมุนเวียนนี่แหละ ที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ร่อยหรอไปเรื่อย ๆ ในปัจจุับัน

ทำไมกังหันลมแบบนี้จึงไม่มีในที่อื่น ๆ ในประเทศไทย? ตรงนี้อาจจะมีหลายคำตอบ เช่น ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์และแรงลมของประเทศไทยไม่เอื้อเท่ายุโรป หรืออาจจะด้วยเหตุผลทางอนุรักษ์เพราะกลัวว่านกที่บินอพยพจะถูกกังหันตีตายหมู่ (คล้ายกรณีสนามบินหนองงูเห่า?) ผมไม่แน่ใจเพราะยังไม่มีเวลาลงไปศึกษา คนอื่นคงตอบได้

แต่วันนี้ผมได้ความรู้ใหม่ว่า กฎหมายก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีกังหันลม เพราะวันนี้มีโอกาสได้ไปคุยกับกลุ่มวิจัยของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับเรื่องการทำแผนที่เทคโนโลยี (technology roadmap) หลังการบรรยายระหว่างอาหารกลางวันได้มีโอกาสสนทนา จึงได้ทราบว่าทาง กฟผ. ได้ทำการสำรวจตรวจตราทางสภาพภูมิศาสตร์ที่จังหวัดภูเก็ต และมีโครงการเตรียมตั้งกังหันไว้พร้อมทุกอย่างแล้ว แต่เพิ่งมาทราบทีหลังว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพิ่งออกกฎหมายห้ามสร้างอาคาร (สิ่งปลูกสร้าง) ที่สูงเกินกว่า 24 เมตรในจังหวัดภูเก็ต เรื่องนี้แม้แต่กระทรวงพลังงานก็ไม่ทราบมาก่อน โครงการที่กำลังจะเริ่มดำเนินการ (หรือทำไปบ้างแล้ว) จึงต้องพับไป

เรื่องนี้แค่นำมาเล่าสู่กันฟัง แต่นึกขึ้นได้ว่า ในทาง foresight มีกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่า environmental scanning เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ในองค์กรหลายแห่งเพื่อทำหน้าที่เหมือนเรดาร์ คอยสกรีนหาเหตุปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจหรือเป้าหมายขององค์กร คล้าย ๆ การสำรวจพื้นที่ทางกายภาพ แต่เป็นการสำรวจด้านข่าวสารและความรู้แทน บ่อยครั้งในต่างประเทศที่มีผู้เข้าใจผิดนำิวิธีนี้ไปใช้แต่ตั้งโจทย์แคบเกินไป มัวสกรีนหาแต่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทคู่แข่งเป็นต้น ทำให้ละเลยประเด็นอื่นที่สำคัญ

environmental scanning น่าจะมีประโยชน์ต่อทุก ๆ องค์กรในการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนหรือระหว่างดำเนินการ ตัวอย่างเรื่องกฎหมายก็เป็นประเด็นสำคัญที่กระทบทุก ๆ คน ควรให้ความสนใจให้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือองค์กรไม่แสวงกำไร ดังเช่นบทเรียนของ กฟผ. ครับ

หมายเลขบันทึก: 13673เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท