ความจริงวันนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจรต่อ แต่เท่าที่ผู้วิจัยประเมินตัวเองจากการเล่ามาในหลายวันนี้รู้สึกว่าในบางช่วงยังเล่าไปเรื่อยๆแบบที่ยังหาแก่นสารไม่ได้ ก็เลยตั้งใจไว้ว่านับตั้งแต่วันนี้ไปจะพยายามเล่าให้เป็นประเด็นมากกว่าที่ผ่านมา และจะพยายามตั้งจุดโฟกัสในการเล่าเรื่องให้ได้ (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่าจะทำได้แค่ไหน และทำได้สักกี่วัน) ตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็เลยเอาบันทึกที่ตนเองจดไว้มาอ่านว่าวันนี้จะเล่าเรื่องอะไรบ้าง การเล่าเรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไร อ่านไปอ่านมาก็พบว่าถ้าหากเรียงตามหัวข้อแล้ว วันนี้ก็ยังอยู่ในเรื่องของการหารือเรื่องการจัดการความรู้อยู่ แต่เนื่องจากเนื้อหาที่ยาวมาก คงต้องอาศัยเวลาสัก 3-4 ชั่วโมงในการเขียนให้เสร็จ แต่ผู้วิจัยไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้น จึงคิดว่าจะเล่าต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นคิวของกลุ่มบ้านดอนไชยที่ได้เล่าประสบการณ์การทำงานของของตนเองให้ฟัง หากฟังอย่างตั้งใจและคิดตามเชื่อว่าหลายๆกลุ่มคงได้ข้อคิดนำกลับไปพัฒนากลุ่มของตนเองแน่นอน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงตั้งใจว่าในวันนี้จะเล่าเรื่องโดยเน้นไปที่เรื่องข้อคิดในการทำงานของกลุ่มนี้
ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า เมื่อพูดถึงประเด็นข้อคิดในการทำงานที่ไร มักจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เข้ามาทุกที ในครั้งนี้ก็เช่นกัน จากเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อคืนนี้จนถึงเช้าวันนี้ ผู้วิจัยได้มีโอกาสสนทนากับคนทำงาน (ที่คุ้นเคย) ทำให้ได้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานชุมชนมากพอสมควร คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้าง จึงขอเล่าให้ฟังก่อนที่จะเข้าเรื่องประชุมสัญจร ซึ่งประเด็นหลักในวันนี้ก็เกี่ยวกับข้อคิดในการทำงานเหมือนกันค่ะ
เมื่อคืนนี้ผู้วิจัยได้มีโอกาสไปทานข้าวเย็นกับอาจารย์พิมพ์ คุณสามารถ (ประธานเครือข่ายฯ) และพี่สุภัทตรา (ภรรยาคุณสามารถ) ที่ร้านบ้านดงม่อนกระทิง วัตถุประสงค์ของการรับประทานอาหารเย็นร่วมกันในครั้งนี้นั้นก็เพื่อที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการปรับตัวในการทำงานร่วมกัน เรามีการพูดคุยกันในหลายประเด็น (ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดนะคะ) จากการพูดคุยทำให้ผู้วิจัยได้รับข้อคิดที่ดีๆในการทำงานกับชุมชนมาหลายข้อเหมือนกัน แต่ข้อที่ผู้วิจัยรู้สึกว่าใช่และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานกับชุมชนก็คือ
คุณสามารถบอกว่าผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์นั้น อาจเคยทำงานกับอีกระบบหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบที่มีระเบียบ เรียบร้อย เป็นขั้นเป็นตอน (เพราะพวกเราทำงานในมหาวิทยาลัย) แต่ในการทำงานกับชาวบ้าน กับชุมชนนั้นเป็นอีกระบบหนึ่ง คนทำงานต้องมีความยืดหยุ่น หลายๆครั้งการทำงานก็ไม่เป็นระบบอย่างที่ควรจะเป็น แบบแผนต่างๆก็ไม่เคร่งครัดนัก นี่เองเป็นความแตกต่างระหว่างการทำงานกับระบบ กับ การทำงานแบบชาวบ้าน บางครั้ง (หลายๆครั้ง) ก็ต้องทำใจและ (นักวิจัย) ต้องพยายามเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานแบบชาวบ้านด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีความสุข เพราะ งานไม่ได้ออกมาอย่างที่เราหวังทุกขั้นตอน (ความจริงแล้วคุณภีมก็เคยคุยเรื่องนี้กับผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์เหมือนกัน ตอนนี้เราก็กำลังพยายามอยู่ แต่เราก็อยากให้ชาวบ้านเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานแบบเราด้วย เราคิดว่าคงไม่มีแบบไหนถูกหรือแบบไหนผิด แบบไหนดีหรือแบบไหนไม่ดี ทุกแบบมีข้อดี ข้อด้อยที่แตกต่างกันออกไป จะใช้แบบไหนคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเงื่อนไข แต่ถ้าสามารถเรียนรู้และเข้าใจกับวัฒนธรรมการทำงานในรูปแบบที่แตกต่างได้คงจะดีที่สุด)
นอกจากจะได้คุยกับคุณสามารถแล้ว เช้าวันนี้ผู้วิจัยก็ได้มีโอกาสคุยกับคุณสุวัฒนา ศรีภิรมย์ด้วย (คุยทางโทรศัพท์ค่ะ) เพราะ กระทรวงการคลังเพิ่งมาเป็นเจ้าภาพจัดงานให้กับเครือข่ายฯเมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีโอกาสคุยกันเลยว่างานออกมาอย่างไร ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ จากการพูดคุยทำให้ผู้วิจัยทราบว่าขณะนี้มีหลายชุมชนที่ให้ความสนใจในเรื่องกองทุนสวัสดิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าดีใจมาก แต่สิ่งที่ทำให้ผู้วิจัยดีใจมากขึ้นไปอีกก็คือ การได้รับข้อคิดในการทำงาน คำพูดของคุณสุวัฒนาประโยคหนึ่งที่ทำให้ผู้วิจัยได้ฉุกคิดและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นก็คือ "ทุกคนที่เข้ามาทำงานนี้ล้วนแต่เป็นคนดีทั้งสิ้น เราจะทำอย่างไรที่จะรักษาคนดีเหล่านี้ให้ทำงานร่วมกันต่อไป" คำพูดนี้ทำให้ผู้วิจัยรู้สึกว่าเราต้องมองโลกในแง่ดี ทุกคนล้วนมีความดีอยู่ในตัว แต่แน่นอนว่าทุกคนก็มีข้อบกพร่องอยู่ในตัวเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราทำงานกับใครแล้วรู้สึกไม่ดี เราอย่าเพิ่งตัดความสัมพันธ์ อย่างเพิ่งทุกข์ใจ ท้อแท้ ในทางตรงกันข้ามเราควรคิดหาวิธีทำงานกับคนเหล่านี้ให้ได้อย่างมีความสุข เขาก็สุข เราก็สุข เราต้องทำงานกับเขาให้ได้ เพราะ เราได้ทำงานกับคนดี (คุณสุวัฒนาฝากความระลึกถึงถึงคุณภีมด้วยค่ะ คุณสุวัฒนาฝากบอกว่าติดต่อไปหาคุณภีม 2-3 ครั้งแล้วแต่ยังติดต่อไม่ได้ ถ้ายังไงคุณภีมก็ติดต่อกลับคุณสุวัฒนาด้วยนะคะ)
สำหรับข้อคิดที่สามารถนำมาใช้ได้กับการทำงาน (เป็นความรู้ค่ะ) เรื่องสุดท้ายที่จะเล่าในวันนี้ก็คือ เรื่องการดำเนินงานของกลุ่มบ้านดอนไชย (เป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุมที่3) ก่อนที่กลุ่มดอนไชยจะได้เล่ามีการพูดคุยกันอยู่สักพักใหญ่ๆเหมือนกันค่ะว่าจะเริ่มวางแผนก่อน แล้วค่อยให้กลุ่มดอนไชยนำเสนอปิดท้าย หรือ จะให้กลุ่มดอนไชยนำเสนอก่อนเพื่อเป็นแนวทางในการทำแผน แล้วค่อยวางแผนต่อไป ผู้วิจัยนั่งฟังอยู่นาน ประกอบกับนาฬิกาที่ข้อมือบอกเวลา 11.55 น.แล้ว แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ผู้วิจัยจึงยกมือขึ้นขอเสนอความคิดเห็นว่า น่าจะให้กลุ่มดอนไชยเล่าเรื่องการทำงานก่อน (แบบสรุป แต่ต้องครบทุกประเด็น) หลังจากนั้นก็หยุดพักรับประทานอาหาร ช่วงบ่ายค่อยเข้ามาว่างแผนต่อ ที่เสนอเช่นนี้เพราะ 1.เป็นเวลาใกล้เที่ยงแล้ว ถ้าวางแผนก่อนก็คงวางแผนไม่เสร็จ 2.ในการวางแผนต้องมีเป้าหมายและตัวชี้วัดแสดงให้ผู้เข้าร่วมวางแผนทราบ ดังนั้น จึงอยากจะให้กลุ่มดอนไชยนำเสนอก่อนเพื่อเป็นการคั่นเวลา ระหว่างการรับประทานอาหารเที่ยงผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์ก็จะนำเป้าหมายและตัวชี้วัดไปติดบนกระดานดำเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมาศึกษา ช่วงบ่ายก็เริ่มต้นวางแผนจะได้มีความต่อเนื่อง ปรากฎว่าที่ประชุมเห็นด้วย ดังนั้น ประธานฯจึงทำหน้าที่ต่อโดยขอให้บ้านดอนไชยเล่าเรื่องการทำงานว่าทำอย่างไร มีกระบวนการในการทำงานอย่างไรใน 3 เรื่อง คือ การบริหารจัดการ การขยายผล และการเชื่อมประสาน
คุณกู้กิจในฐานะประธานกลุ่มบ้านดอนไชยได้กล่าวสรุปเป็นประเด็นว่า
1.ในด้านการจัดการ มีทีมงานที่เน้นไปที่คุณภาพ มีคุณธรรมตามที่ทางกลุ่มได้รับการปลูกฝังมาจากเครือข่ายฯ มีการตั้งค่าตอบแทนให้กับคณะกรรมการและคนทำงาน วางแผนงานว่ามีการออมและการทำงานทุกวันเสาร์แรกของเดือน เมื่อดำเนินงานแล้วทีมงานจะมาประชุมร่วมกันในวันนั้นเลยเพื่อสรุปงานว่ามีปัญหาอะไรบ้าง มีข้อคิดเห็นอะไรบ้าง มีการจดบันทึกเอาไว้ นำข้อคิดเห็น ข้อสรุปต่างๆที่ได้จากการประชุมมาปรับใช้กับการทำงานไปเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนกรรมการที่ทำหน้าที่รับเงินออม สมัครสมาชิกใหม่ มีปัญหา คือ เมื่อหมดเวลาการออมหรือการสมัครแล้ว กรรมการที่ทำหน้าที่จะต้องมานับเงิน ตรวจเช็คเงิน ซึ่งให้เวลามาก (เนื่องจากกลุ่มนี้มีสมาชิกเยอะค่ะ) บางทีก็ไม่เสร็จ ต้องมาทำงานต่อในวันอาทิตย์ วันจันทร์จึงจะนำเงินไปฝากธนาคารได้ (ถ้าไม่เสร็จก็ต้องมาทำต่อในวันจันทร์ วันอังคารจึงจะนำเงินไปฝากธนาคารได้) เมื่อเป็นอย่างนี้ทางคณะกรรมการจึงมาประชุมตกลงหาทางแก้ปัญหานี้โดยการให้กรรมการเซ็นต์ชื่อในเล่มใบเสร็จ พอเสร็จแล้วกรรมการก็เช็คว่าตนเองเอาไปกี่เล่ม (เล่มหนึ่งสามารถบันทึกข้อมูลของสมาชิกได้ 50 คน) ก็จะเช็คเงินได้เร็วขึ้น
ขณะนี้ทางกลุ่มมีกรรมการ 12 คน มีเจ้าอาวาส ผู้ใหญ่บ้านเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการจะสรุปให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านในเทศบาลตำบลล้อมแรด (14 หมู่บ้าน) ฟังเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่ม (ทุกเดือน) เพื่อให้ทุกคนทราบ เขาจะได้ไปคุยต่อได้
2.การขยายผล ปี 2548 กำหนดไว้ว่ารับสมัครทุก 3 เดือน การขยายผลทำโดย การประชาสัมพันธ์ ตอนแรกทำในระดับอำเภอ ต่อมาทางเครือข่ายฯบอกว่าให้ทำระดับตำบล ทางกลุ่มจึงปรับเปลี่ยนแผนใหม่โดยการขยายสมาชิกในระดับตำบล ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 48 มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 1,949 คน การขยายผลนั้นเริ่มจากสมาชิกบอกปากต่อปาก เวลาสมาชิกไม่สบายเข้าโรงพยาบาลทางกลุ่มก็จะไปเยี่ยม นอกจากนี้แล้วยังได้ประสานงานกับโรงพยาบาลเถินในการอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกด้วย กล่าวคือ ถ้าใครเป็นสมาชิกสวัสดิการวันละ 1 บาทบ้านดอนไชยก็ขอให้ทางโรงพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ให้ด้วย ทำให้ชาวบ้านพอใจ จำนวนสมาชิกจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มปี 2549 เรามีการประชุมกัน มีการแสดงความคิดเห็นว่าพ่อชบที่อยู่สงขลามาเรียนรู้กับทางลำปางแล้วนำไปขยายผล ได้มีโอกาสคุยกับพ่อชบทำให้ได้ความรู้ว่าทางสงขลานั้นเปิดรับสมัครปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้จ่ายสวัสดิการเป็นรุ่นๆไป (เป็นสมาชิกครบ 180 วัน) เมื่อได้รับความรู้ตรงนี้แล้วทางกลุ่มจึงนำมาประชุมกันและได้ข้อสรุปว่าปี 49 กลุ่มจะรับสมัครสมาชิก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 คือ วันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา ได้สมาชิกทั้งหมด 162 ราย (ข้อมูลไม่ตรงกับที่ผู้วิจัยได้คุยกับทางกลุ่มก่อนหน้านี้ ซึ่งจากการพูดคุยในภายหลังทราบว่าคณะกรรมการทำรายชื่อสมาชิกใหม่บางคนตกหล่นไป เมื่อมีการตรวจสอบจึงพบรายชื่อที่ตกหล่น ทำให้สมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นกว่าข้อมูลที่ผู้วิจัยได้รับมาในตอนแรก) มีการอบรมให้สมาชิกใหม่เข้าใจแผนที่ภาคสวรรค์ สำหรับการรับสมัครสมาชิกใหม่ครั้งที่ 2 กำหนดไว้ในวันที่ 15 กรกฎาคม
ในเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อการขยายจำนวนสมาชิกนั้นปัจจุบันทางกลุ่มใช้ 3 ช่องทาง คือ 1.บอกต่อแบบปากต่อปาก 2.การประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทั้ง 14 หมู่บ้านให้ประกาศเสียงตามสาย 3.ประสานงานกับวิทยุคลื่น 99 กับ 102 เพื่อให้สถานีประกาศประชาสมพันธ์ให้ โดยที่ทางกลุ่มก็จะแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะเป็นผู้จัดทำรายละเอียดต่างๆไปให้กับสถานีวิทยุแล้วนำไปส่งให้กับทางสถานี
3.การเชื่อมประสานกับหน่วยงานสนับสนุน ตอนนี้ทางเทศบาลตำบลล้อมแรดได้สนับสนุนงบประมาณมาให้ทางกลุ่ม 15,000 บาท (ไม่เกี่ยวกับตำบลละแสนนะคะ)
เมือคุณกู้กิจเล่าการทำงานของกลุ่มบ้านดอนไชเสร็จ ประธานฯเป็นผู้สรุปต่อว่ากลุ่มบ้านดอนไชยมีคณะทำงานที่ชัดเจน มีที่ปรึกษา ทำให้ประสบความสำเร็จ คณะกรรมการมีคุณภาพ ทำงานด้วยใจ การทำงานเป็นจังหวะ แทนที่จะเปิดรับสมาชิกใหม่ทุกเดือนก็เปิดรับเป็นช่วงๆ ทุก 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง มีการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก วิทยุชุมชน ทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจ นอกจากนี้แล้วยังมีการเชื่อมประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย บทเรียนการทำงานของกลุ่มบ้านดอนไชยน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แต่ละกลุ่มนำไปปรับใช้กับกลุ่มของตนเอง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นางสาว วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ ใน lampang_network
คำสำคัญ (Tags)#uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13658, เขียน: 27 Jan 2006 @ 15:42 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 14:22 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, อ่าน: คลิก
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก