ทุกบทความ กลั่นกรองมาจากความทรงจำครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสทางเลือกแห่งความอยู่รอดมิติใหม่ ในมุมมองที่คนภายนอกไม่สามารถเข้าถึงได้ ถ้ามิได้สัมผัสจริง
จุมพต โฉมงาม นักเรียนชาวนาบ้านหนองแจง คนหนุ่มรุ่นใหม่ อายุ 34 ปี เกิดวันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2514 อาชีพเกษตรกรรม อยู่บ้านหนองแต้ เลขที่ 158 หมู่ 4 ต.ตลิ่งชัน อ.เมือง สุพรรณบุรี เรียนประถมจบ ป.6 โรงเรียนวัดสระประทุม (หนองบัว) เรียน ม.ต้น ก.ศ.น. จบ ม.3 ที่ศูนย์วัดพระธาตุสวนแตง อ.เมือง สุพรรณบุรี
ชีวิต ความผูกพันกับการเกษตรตั้งแต่อดีต ทำการเกษตรแบบผสมผสานมาโดยตลอด ชีวิตช่วงเด็กชอบมากที่สุด เคยคิดย้อนอยู่ประจำ อยากกลับไปอยู่กับชีวิตแบบเดิมๆมากกว่า เพราะวารายจ่ายก็ไม่สูงสูง ชีวิตความเป็นอยู่ไม่อดไม่อยาก ทางกาย บางครั้งอาจอาจไม่ค่อยสะดวก แต่สบายใจมากกว่าปัจจุบัน
ตั้งแต่จำความได้ ก็คือ ช่วยพ่อแม่ทำงานมาโดยตลอด ช่วยเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เช้า-เย็น พอโตมาช่วยก็ก็ช่วยเลี้ยงหมู เลี้ยงควาย และช่วยแม่ปลูกพืชผักสวนครัว หน้าแล้ง ก็มีตัดฟืนเผาถ่าน เพื่อเตรียมไว้ในในฤดูฝนหรือช่วงทำนา ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องฟืนหรือถ่านในการเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร พอถึงฤดูทำนา ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องฟืนหรือถ่านในการเป็นเชื้อในการประกอบอาหาร พอถึงฤดูทำนา เช้าก็ช่วยเอาควายออกไปล้าง เพราะควายนอนในปลักโคลน เพื่อป้องกันยุงในเวลากลางคืน ไม่ต้องนอนกางมุ้งเหมือนปัจจุบัน พอล้างเสร็จจูงไปให้พ่อเทียมไถแล้ว เราก็เลี้ยงควายที่เหลือ พอโตขึ้นก็ช่วยพ่อไถ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคัน จากเดิมพ่อไถกับพี่สาว 2 คน ก็เพิ่มเป็น 3 คัน นาก็เสร็จไวขึ้นกว่าเดิม พอช่วงไถพ่อก็จะแรกนาก่อน โดยไถแบบแรกนาขวัญเลย แล้วก็แรกหว่าน มีจุดธูปบอกเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อนำแม่โพสพลงนา และข้าวก็เจริญงอกงามดี ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เพียงรอน้ำหลากในฤดูฝนเท่านั้นเอง เมื่อน้ำมาปลาก็มีตามน้ำ อาหารก็ไม่อดไม่อยาก มี กุ้ง หอย ปู ปลา กบ มากับน้ำอย่างมากมาย แทบไม่มีการจ่ายตลาดเลย จะมีก็เพียงซื้อน้ำมันพืช หรือน้ำมันหมู กับน้ำตาล และน้ำมันก๊าดเพื่อจุดตะเกียงยามค่ำคืน เพื่อสานไซดักปลา เพราะช่วงกลางวันก็ทำงานในนา ก่อนการเก็บเกี่ยว ช่วงก่อนเก็บเกี่ยวข้าว ก็มีงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนามีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทำบุญเข้าพรรษา สารทไทย ออกพรรษา และประเพณีที่สำคัญที่สุดที่สุด ก็คือ ประเพณีไหว้เข หรือลอยกระทง จะมีการเผาข้าวหลามเพื่อไปร่วมงานเสี่ยงเทียน เพราะเป็นวันลอยกระทงเพ็ญเดือน 12 เพื่อเสี่ยงทายน้ำในปีต่อไป ว่าน้ำจะมากหรือน้อย เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เป็นประเพณีที่มหัศจรรย์มาก เพราะเทียน 6 เล่ม ต้มเทียนใส่กระบอกเหมือนกันจากหม้อต้มเดียวกัน แต่เมื่อมาจุดไฟ ทำไมไม่ลุกเหมือนกัน เมื่อจุดแล้วพราหมณ์ก็จะเสี่ยงทายและชี้แจงให้ฟัง คือ เทียนแท่งไหนไหลดี โดยไม่มีไฟแลบมากับน้ำตาเทียน แสดงว่าน้ำดี หากมีไฟแลบมาด้วย แสดงว่ามีลมแรง มีฟ้าร้องฟ้าผ่า ให้ระวัง เมื่อเทียนหยดหมดทั้ง 6 เล่ม โดยเริ่มจากเดือน 6 ถึงเดือน 11 พอดี ก็จะมาดูที่ใบตอง หากน้ำตาเทียนไหลติดต่อถึงกัน แสดงว่าปีนั้นดี น้ำดี ทำมาหากินง่าย แต่หากใบตองไหม้ไฟลุก ปีนั้นก็จะฝืดเคือง ทำมาหากินลำบาก การจุดเทียนต้องเป็นช่วงพระจันทร์เต็มดวงและตรงหัว จึงจะเริ่มจุดเทียนเสี่ยงทาย คนที่ทำนาทำไร่ก็จะมาดูกันอย่างมากมาย เพราะส่วนมากจะตรง และใกล้เคียงกับการแรกนาขวัญของหลวง หลังจากวันลอยกระทงเพียงไม่กี่วันก็จะเริ่มเกี่ยวข้าวเบา เพราะว่าเมื่อก่อนทำข้าวหลายอย่าง ก่อนเกี่ยวก็จะมีการแรกข้าว โดยเลือกเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น พ่อ บอกว่าเป็นวันดี เมื่อแรกแล้วก็นำไปเก็บไว้ในยุ้งฉางและเก็บไว้อย่างดี หลังจากนั้นก็เกี่ยวได้ตลอดจนเสร็จ ไม่ต้องแรกอีก แม้ว่าจะมีหลายแปลง เพราะบางคนทำหลายไร่ ก็มากแปลง
เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อไฟฟ้าเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิต อยากได้อยากมี เริ่มฟุ่มเฟือย รายจ่ายมากกว่ารายรับ ไม่พอใจกับผลผลิต ต้องเพิ่มผลผลิต เริ่มใช้ปุ๋ย ใช้ฮอร์โมนและยาเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ขายควายซื้อขลุบรถไถเดินตาม ซื้อโทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น จ่ายค่าไฟฟ้า ใช้แก๊สแทนถ่าน โดยเผาถ่านขายเพื่อเติมแก๊ส และตัดต้นไม้มากขึ้นเพื่อเผาถ่านขาย และได้พื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น โทษต้นไม้ ว่าเป็นที่พักพิงของแมลงบ้าง ก็ยิ่งตัดทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ หารู้ไม่ว่า เป็นการทำลายอย่างไม่รู้ตัว เดิมบริเวณแถวบ้านเมื่อมีเมฆ ตั้งเค้าขึ้นมา ฝนต้องตกแน่นอน แต่ปัจจุบันไม่มีอะไรแน่นอนเลย สุขภาพร่างกายเริ่มแย่ลง ผลผลิตได้มากเพียงแค่ปี 2 ปี ต่อมาผลผลิตเริ่มน้อยลง ใส่ปุ๋ยมากขึ้น ชาวนาเริ่มบ่น ต้องจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ประเพณีการลงแขกหายไป ความเป็นหมู่คณะเริ่มแตกแยก มีการชิงดีชิงเด่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง เพราะว่าลูกหลานต้องออกไปทำงานต่างถิ่น แต่ก็สู้ค่าครองชีพไม่ไหว ปัญหาหนี้สินเริ่มรุนแรงขึ้นเกือบทุกพื้นที่ แม่แต่ในเขตชลประทาน ก็ยังสู้ไม่ไหวกับการทำนาเพียงอย่างเดียว ต้องมีอาชีพเสริมช่วย ผัก ผลไม้ก็ไม่กล้ากิน กุ้ง หอย ปู ปลา ก็หายาก ถูกยาตายหมด ชาวบ้านเริ่มไม่มีทางออก บ้างต้องขายนา บ้างย้ายที่อยู่ทำอาชีพอื่น ตัวผมเองก็เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ รู้สึกอ่อนเพลียไม่อยากทำงาน รายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย เริ่มเป็นหนี้เพราะต้องลงทุนตลอด ไม่มีความแน่นอน มีทุกปัญหา เรื่อง ต้นทุนการผลิต โรค แมลง เมล็ดพันธุ์ไม่ดี ซ้ำหนักยังมีภัยแล้งเริ่มเกิดขึ้นมา สู้ต้นทุนไม่ไหว จึงชวนเพื่อนๆปรึกษาหาทางออก เพื่อลดต้นทุนและหารายได้เสริมต่างๆ เริ่มทำน้ำหมัก ฮอร์โมน น้ำหมักสมุนไพรต่างๆและปุ๋ยหมัก โดยศึกษาจากวารสารเกษตรต่างๆ และเริ่มทำจากจุดเล็ก เพื่อทดลองดูความแตกต่าง ผิดบ้างถูกบ้าง ได้บ้าง เสียบ้าง ปรึกษาเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ก็ได้แต่แนะนำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วลองทำดู ไม่เป็นกิจจะลักษณะที่แน่นอน ทดลองทำมาก็หลายปี ก็พออยู่ได้ สุขภาพดีขึ้น รายได้ก็ไม่มาก แต่ต้นทุนก็ลดต่ำลงได้ไม่มาก เป็นการทำแบบผสมผสาน ใช้ได้เมื่อจำเป็นจริงๆ ทำมาอย่างนี้อยู่ 6 ปี แล้ว จึงมาเจอมูลนิธิข้าวขวัญ เพราะพี่จันทรอยู่หนองแจง จึงรู้ว่าไปฝึกงาน ดูงาน ทำงานร่วมกับมูลนิธิข้าวขวัญ พี่จันทร ชวนไปด้วย ก็พอเหมาะ กำลังต้องการอยากรู้อยู่พอดี เพราะในหมู่บ้านเป็นแกนนำอยู่เพียงคนเดียว หาแนวร่วมยาก ก็เลยสมัครเป็นสมาชิกกับกลุ่มบ้านหนองแจง แม้จะอยู่นอกหมู่บ้านของตนเองก็ยอม เพราอยากรู้ อยากเจอประสบการณ์กับตนเอง
เมื่อเข้าเป็นสมาชิกก็ได้เรียนรู้กับสิ่งต่างๆมากมาย ได้ไปดูงานนอกสถานที่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้เข้าโรงเรียนชาวนา แม้ทำนามากว่า 20 ปี ก็ยอมเข้าโรงเรียนใหม่ เพราะเราสงสัย แต่ว่าไม่รู้ เมื่อเข้าเรียนก็รู้มากขึ้น เพราะว่าสมองไม่ได้ขัดแย้ง ก็ได้รับเต็มๆ และได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำนามาก็หลายปีแต่ไม่รู้ว่า ข้าวเดือนหนึ่งการเจริญเติบโตได้กี่ใบ แตกกอได้กี่ต้น รู้แต่เพียงว่า ข้าวขึ้นเขียว ไม่เขียวใส่ปุ๋ย ดูอีกทีก็เริ่มกลัดหางปลาทูหรือตั้งท้องแต่งตัว ข้าวออกรอวันเก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย ฉีดยา แล้วก็ขาย ได้เงินมาก็ใช้หนี้ค่าปุ๋ยยาเคมี เก็บเกี่ยว หักแล้วเหลือไม่เหลือก็แล้วแต่ปีนั้นๆ พอเข้ามาเรียนก็รู้ว่า สิ่งที่เราทำมานั้นไม่ใช่เลย แมลงมีทั้งดีและร้าย สามารถแยกได้ว่า แมลงอะไรดีอะไรร้าย จากที่มีแต่ความโหดเหี้ยม เจอเป็นไม่ได้ ต้องฆ่าสถานเดียวก็เริ่มรัก และเสียดาย อยากให้กลับมาใหม่ ตอนนี้ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น พวกมวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต ที่เคยอยู่ตามต้นนุ่น ต้นกระเจี๊ยบหนัก ก็เริ่มมีให้เห็น ไส้เดือน ตามไร่นาก็เริ่มมีเยอะ เรื่องของพืชผัก จากเดิมพืชผักสวนครัวก็ปลูกยาก แต่ทุกวันนี้ พริกมะเขือ ใบกระเพรา ดอกสลิด สะระแหน่ ก็เจริญงอกงามดี ไม่ต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องฉีดยา เพียงรดน้ำใส่ปุ๋ยหมัก ราดรดด้วยจุลินทรีย์ ก็มีพืชผักสวนครัวกินไมได้ขาด ไม่ว่าหน้าแล้งหรือหน้าฝน เพียงมีน้ำรดตลอดก็สบายใจได้ ที่ชอบมากที่สุดคือเรื่องขยายพันธุ์ข้าว เพราอยากได้พันธุ์ข้าวดีๆ แต่ไม่รู้จำอย่างไร เมื่อก่อนทำได้ก็แค่เพียงเลือกเอารวงที่สวยๆใหญ่ๆ ไม่มีเมล็ดแดงก็ใช้ได้ แต่เพียงปีสองปีก็เริ่มปนเหมือนเดิม เพราะข้าวในหนึ่งรวง บางครั้งก็มีปนอยู่หลายเมล็ดในบางพันธุ์ ก็ทำสืบทอดกันมา แต่พอได้มาเรียนรู้วิธีการคัดเมล็ดโดยการคัดข้าวกล้อง ก็รู้ว่าใช่เลย ว่าเจอของแท้แน่ไม่ใช่ของปลอมอีกต่อไป จึงตั้งใจเรียนรู้และทดลอง แม้ธุระอื่นมีก็พยายามปลีกตัวมาเรียนรู้ เพราะรู้ว่าสิ่งไหนคืออะไร และเราต้องการอะไรต่อไปในอนาคตข้างหน้ากับอาชีพเกษตรกรรม ต่อไปในวันข้างหน้าก็จะสืบทอดวิธีการ และถ่ายทอดแนวคิดและการปฏิบัติ เพราะว่าได้อุทิศตนเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลืออย่างจริงจังแล้ว ต้องขยายเครือข่ายให้ได้มากที่สุด เพราะเครือข่ายเป็นวิธีที่ง่าย โดยเริ่มจากวิธีคิดก่อน เมื่อคนคิดได้ การการะทำก็จะเกิดและเครือข่ายนี้เป็นเครือข่ายที่ดี และสร้างพันธะสัญญาร่วมกัน หากไม่มีพันธะสัญญา เครือข่ายใหญ่แค่ไหนก็ล่มได้เช่นกัน บางอย่างแม้ผมจะรู้มาบ้างแล้ว แต่ผมก็ต้องรู้เพิ่มอีกให้แน่นขึ้น กลุ่มคนที่อยากรู้แบบผมนี้มีอีกมาก เพียงแต่เค้ายังขาดแนวร่วมและแนวทางที่ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันกับการที่จะลงมาทำอย่างจริงจัง แม้แต่คนที่เรียนจบเกษตรมา บางครั้งก็ยังสับสนว่าจะเริ่มต้นตรงไหนก่อน เพราว่าทุกวันนี้มีอยู่หลายกลุ่มมาก ชาวบ้านไม่รู้จะเชื่อใคร เพราะบางครั้งก็สู้สื่อโฆษณาไมได้ ชาวบ้านอื่น ทำไมไม่ทำ ทำคนเดียวจะสู้โรคแมลงไหวเหรอ แต่สำหรับผมคิดว่าทำได้ แต่ให้เริ่มจากจุดเล็กๆไปก่อน แล้วให้คิดคำนวณต้นทุนและผลที่ได้รับแล้ว เฉลี่ยเปรียบเทียบเป็นพื้นที่ขึ้นมา แล้วดูความแตกต่าง แม้บางครั้งผลผลิตอาจได้น้อย แต่เมื่อมาหักต้นทุนแล้ว ยังมีกำไรมากกว่า เป็นการทดลองกึ่งบังคับนิดหน่อย ขอให้มูลนิธิอยู่เป็นหลักชัยให้กับพี่น้องที่มีความหวังแต่ขาดที่ปรึกษาแนะนำ และช่วยเหลือในบางโอกาสอย่างจริงใจ จากใจจริง เป็นมิ่งขวัญคู่แม่โพสพของชาวนาไทยตลอดไป
จุมพต คนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่ให้หัวใจใฝ่เรียนรู้ เค้ามีความมุ่งมั่นว่า ในสักวันหนึ่งชุมชนของเขา เพื่อนบ้านของเขา จะต้องหันมา ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีได้อย่างแท้จริง ถึงจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย แต่เขาคนนี้นี่เองที่ตั้งปณิธานอันแน่วแน่ว่าจะขันอาสาทำหน้าที่เปลี่ยนบทบาทจาก “คุณกิจ” ให้เป็น “คุณอำนวย” ด้วยตัวของเขาเอง....และข้าวขวัญจะเป็นกำลังใจให้วันนั้น ของ จุมพต มาถึง.....เพราะเราจะร่วมพลิกฟื้นแผ่นดินด้วยกัน