การดูแลผู้ป่วยเบาหวานของ รพ.รามัน


แม้ว่าจะยังไม่ได้จัดกิจกรรมค่ายเพราะสถานการณ์ไม่อำนวย แต่ก็ได้เอาความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้

รพ.รามันเป็นโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดยะลา ขนาด ๖๐ เตียง อยู่ห่างจากตัวเมือง ๒๕ กม.เป็นถิ่นกำเนิดของช้างเผือกและถิ่นของปลามังกร ชาวบ้านแถบนี้ ๙๔% นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่มีรายได้จากสวนยางพารา ลองกอง อัตราการไม่รู้หนังสือสูงมาก

แม้จะอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ที่มีเหตุร้ายรายวัน แต่ รพ.รามันก็ยังสามารถพัฒนาคุณภาพการบริการได้อย่างต่อเนื่อง มีผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจมากมาย สำหรับสถานการณ์ในภาคใต้นั้น ทีมเบาหวาน รพ.รามันบอกว่า “ข่าวที่ออกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง จริงๆ เกิดเหตุการณ์มากกว่าที่เป็นข่าว” บุคลากรของ รพ.มีการเก็บเงินกันมาทำอาหารกลางวันรับประทานร่วมกันไม่ต้องออกไปรับประทานข้างนอก

 

 ทีมเบาหวาน รพ.รามัน

ดิฉันประทับใจการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของ รพ.รามันหลายเรื่อง เช่น
- การใส่รูปผู้ป่วยใน OPD card เพราะเจอคนที่มีชื่อ-นามสกุลเดียวกันบ่อย จะเช็คจากเลขบัตรประชาชนบางครั้งก็ทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านไม่ได้เอาบัตรมา
- จัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยเบาหวานตามระดับกลุ่ม (แบ่งกลุ่ม A, B, C ตามระดับน้ำตาลในเลือด) มี nurse manager ดูแล
- เชิญผู้นำศาสนามาให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนในเดือนถือศีลอด และปรับวิธีการใช้ยาของผู้ป่วยในเดือนถือศีลอด มีเอกสารเป็นภาษายาวีแจกด้วย

 

 เวลาหมอออกตรวจจะมีตะกร้ายาตัวอย่างไว้ใกล้ตัว

 

 สัญลักษณ์บอกการรับประทานยา

ทีม รพ.รามันเคยไปอบรมเรื่องการจัดกิจกรรมค่ายเบาหวานที่ รพ.เทพธารินทร์ แม้ว่าจะยังไม่ได้จัดกิจกรรมค่ายเพราะสถานการณ์ไม่อำนวย แต่ก็ได้เอาความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ เช่น การออกกำลังกายโดยใช้ยางยืด ได้ซื้ออุปกรณ์และเอกสารแนะนำไป จนท.แพทย์แผนไทยเอาไปสาธิต ปรากฏว่าชาวบ้านชอบ (ชาวบ้านไม่ชอบแอโรบิก) จึงเอาเงินของคลินิก (ได้รางวัลจากเรื่อง CQI) ซื้อยางวงมาทำอุปกรณ์ขายชาวบ้านชุดละ ๓๐ บาท (ต้นแบบที่ซื้อไปราคา ๑๐๐ บาท) ให้แผ่นพับท่าออกกำลังกายกลับไปด้วย มีผู้ป่วยที่ออกกำลังแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ ต่อมาชาวบ้านทำอุปกรณ์ยางยืดกันเองแล้วเอามาให้ รพ.ใช้ด้วย นอกจากนี้ยังจัดหาน้ำตาลเทียม โลชั่น ไว้จำหน่าย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้สะดวก

ความรู้อีกส่วนหนึ่งที่ได้จากประสบการณ์ในการอบรมการจัดกิจกรรมค่ายเบาหวานคือได้เจาะน้ำตาลในเลือดของตนเอง แล้วทีมผู้จัดอบรมเอาผลไป plot เป็นกราฟ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของค่าน้ำตาลได้ชัดเจน จึงเอาไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยใน ทำเป็นแบบบันทึกที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ใช้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดและการรับประทานอาหาร เพราะที่ผ่านมาสอนและบอกตัวเลขผู้ป่วยก็ไม่รู้เรื่อง เมื่อทำเป็นเส้นกราฟ ผู้ป่วยเข้าใจง่ายขึ้น

 

 กราฟแสดงค่าน้ำตาลในเลือด

ใน IPD จัดให้มี RN รับผิดชอบผู้ป่วยเบาหวาน ward ละคน ในวันที่ OPD มีคลินิกเบาหวาน RN ส่วนนี้ก็จะมาช่วยทำงานที่คลินิกด้วย

อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าประทับใจคือการนำความรู้เรื่องอาหารไปประยุกต์ให้เข้ากับอาหารท้องถิ่น มีรูปภาพอาหารท้องถิ่นที่ชาวบ้านนิยมรับประทานและเปรียบเทียบกับปริมาณอาหารชนิดอื่น เช่น
- โรตี ๑ ใบเล็กให้พลังงาน ๓๗๐ แคลอรี่ เท่ากับกินข้าวยำ ๒ จาน +แตออ ๑ แก้ว (ใส่น้ำตาลทราย ๑ ชช.)
- โรตีกล้วยหอมไข่ ๑ ที่ให้พลังงาน ๕๓๘ แคลอรี่ เท่ากับกินข้าวยำ ๓ จาน + แตออ ๑ แก้ว (ใส่น้ำตาลทราย ๑ ชช.) หรือเท่ากับกินน่องไก่ทอด ๒ ชิ้น

เรื่องดีๆ ของทีมเบาหวาน รพ.รามันยังมีอีกมาก ผู้สนใจสามารถติดตามได้ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๐ ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพ ดูโปรแกรมและเอกสารลงทะเบียนที่นี่

คุยรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นพ.ยุทธพงษ์ อุตสาหะตระกูล อายุรแพทย์ คุณรุ่งทิพย์ ฉัตรสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล คุณนูรีซัง ปารามัล RN ที่รับผิดชอบคลินิกเบาหวาน โทร ๐๗๓-๒๙๕-๐๙๘, ๐๗๓-๒๙๕-๐๒๓

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 136296เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอ.วัลลา

ศิษย์จากแพร่เมื่อ 11-13 ต.ค 50ค่ะ กำลังจะcopy

ไปให้น้องๆในตึกผู้ป่วยในอ่านค่ะ

หวังว่าอ.วัลลาคงกลับถึงที่พักด้วยความปลอดภัย

รพ.หนองม่วงไข่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท