ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

การจัดการความรู้เกษตรกรรมแบบประณีต ตอนที่ 3


เกษตรกรรมแบบประณีต เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ดังนั้นใครไม่เรียนรู้ก็ยากที่จะสำเร็จได้ในอาชีพ

 วันนี้ขอนำสนอการจัดการความรู้เกษตรกรรมแบบประณีตเป็นตอนที่ 3 นะครับ เพื่อที่เราจะได้สร้างความเข้าใจร่วมกัน และสามารถนำไปบอกต่อ สำหรับคนที่กำลังหาทางออกให้กับชีวิตของตนเอง  ครั้นพอมาถึงวันนี้ และตอนนี้จึงมีคำถามว่า

มีปัจจัยพื้นฐานอะไรบ้างที่ต้องมีในที่ดิน  1  ไร่               

 1. ความรู้ และกระบวนการการเรียนรู้  นับเป็นหัวใจสำคัญในการทำเกษตรกรรมแบบประณีต  1 ไร่ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการพึ่งตนเอง ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรผสมผสาน              

  2. ทุนต่าง ๆ  ที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จ  ได้แก่                               

1)  ทุนทางสุขภาพ  ได้แก่ แรงงานที่แข็งแรงในครัวเรือนทั้งทางร่างกายและจิตใจ                               

 2)  ทุนทางสังคม  ได้แก่  ญาติสนิทมิตรสหายที่จะมีมารวมตัวกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ในการร่วมคิดร่วมทำ ทัศนคติ ความเชื่อความศรัทธา และวิสัยทัศน์                                

3)  ทุนที่เป็นเงิน  เพื่อจับจ่ายใช้สอยวัสดุที่ต้องใช้เงินซื้อ  เช่น  วัสดุ  อุปกรณ์ในการทำการเกษตร  เช่น  จอบ  เสียม  มีด  ขวาน  กากน้ำตาล  ถึงทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  เป็นเงินทุนสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย  สร้างคอกสัตว์  ซื้อพันธุ์พืช  พันธุ์สัตว์  และเงินทุนสำรองจ้างเครื่องจักรกลมาขุดสระเพื่อออมน้ำ  

 4)  ทุนทางสิ่งแวดล้อม  ได้แก่  ดิน  ซึ่งควรมีที่ดินไม่น้อยกว่า  1  ไร่  สภาพต้นไม้มีไม้ใช้สอย ไม้ผล พืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว เห็ด ไม้ดอกไม้ประดับ สัตว์ชนิดต่าง ๆ  เช่น  สัตว์น้ำ  ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง  หอย ปู ปลา กบ  สัตว์บก  เช่น  หมู่  วัว  ควาย  แพะ  แกะ  สัตว์ปีก  เช่น  เป็ด  ไก่  ห่าน นก เป็นต้น               

3. การจัดการ  ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด  เพราะการจัดการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้  และการจัดการบวกกับความรู้เดิมจะช่วยให้เกิดความรู้ใหม่ในการแก้ปัญหายาก ๆ  ได้  การจัดการประกอบด้วย                               

1)  แผนงาน ควรมีความสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิต  โดยมีการวางแผนพื้นที่โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนต่าง ๆ  ได้แก่  พื้นที่อยู่อาศัย  พื้นที่แหล่งน้ำ  พื้นที่เลี้ยงสัตว์  พื้นที่ปลูกไม้ใช้สอย  พื้นที่ปลูกสมุนไพร  พื้นที่ปลูกพืชล้มลุก  และพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ  โดยเน้นความสมดุล  และการเกื้อกูลกันของพืชและสัตว์ให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล  แผนการปรับปรุงบำรุงดิน  แผนการตลาด  เพื่อจำหน่ายผลผลิตเองไม่ได้รวมทั้งมีการวางแผนเวลาโดยต้องแบ่งเวลาในการทำงาน  เวลาในการเรียนรู้  เวลาในการวางแผนพัฒนางานและแก้ปัญหา  รวมทั้งเวลาในการพักผ่อน                              

  2)  องค์กร  ในครอบครัวต้องรู้ว่าบทบาทหน้าที่ของใครทำอะไร ที่ไหน  เมื่อไร อย่างไร  ในชุมชน และเครือข่ายต้องมีเวทีระดมสมอง  มีผู้รับผิดชอบและประสานงานเรื่องต่าง ๆ ตามแผนงาน                               

3)  การประเมินผล  มีการเตรียมการจดบันทึกบัญชีรับ -  จ่าย  บันทึกการใช้แผนงาน  บันทึกปริมาณผลผลิตที่ได้รับ

 4)  ทุนที่พอเพียง  เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ

 ปัจจัยที่นำเข้าที่สำคัญมีอะไรบ้าง               

1. ฉันทะ   กล่าวคือ  มีความพอใจ และศรัทธาด้วยใจรักในการทำเกษตรกรรมแบบประณีต               

2. วิริยะ  คือ  ความเพียรที่จะดำเนินการในเรื่องต่าง ๆได้แก่ การใช้แรงงาน  การลงทุนทำแหล่งน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดหาพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์รวมทั้งการปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น การใช้ทุนที่เป็นเงินในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ  เพิ่มเติม  การสร้างเรือนเพาะชำ  โรงเพาะเห็ด  เรือนเลี้ยงสัตว์  ซื้อวัสดุอุปกรณ์  และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต  และแปรรูปผลผลิตให้กินและใช้ได้นานขึ้น  เหลือกินได้ขายในราคาที่ดีขึ้น               

 3. จิตตะ  คือ  ใส่ใจในงานที่ทำอยู่ด้วยรักและศรัทธา  รวมทั้งด้วยใจจดจ่อ      

4. วิมังสา  คือ  ประเมินผลตลอดเวลา แล้วนำมาปรับปรุงงานเกษตรกรรมแบบประณีตที่ทำอยู่  พร้อมทั้งคอยหาเพื่อน  และหน่วยงานต่าง ๆ  ที่สนใจมาให้ความคิดเห็นข้อเสนอแนะรวมทั้งการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ

ครับทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่พอเพียง ซึ่งน่าจะเป็นทางในการดำเนินชีวิตของพี่น้องเกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปที่จะไปปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมสำหรับตนเอง อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ท่านจะต้องพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเอง และอย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์  

หมายเลขบันทึก: 136125เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรื่องนี้ควรเขียนเมื่อ ๓ ปีที่แล้วครับ

หรือรอให้หลังจากจบไปแล้ว ๓ ปี ก็ได้

จะคม ชัด ลึกกว่านี้ครับ

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์

จะพยายามปรับปรุงและสร้างสรรค์สิ่งที่ดี และมีประโยชน์ต่อไป ถึงแม้จะช้าบ้างก็คงไม่เป็นไรนะครับ

  • สวัสดีค่ะอ้าย
  • เป็นไงบ้างบายดีนะค่ะ

หวัดดีครับน้องกิ่ง

  • ตอนนี้กำลังปรับแก้งานอยู่ที่ ม.อุบลฯ ครับ
  • สุขภาพกาย ก็กำลังฟักฟื้นดีวันดีคืน
  • ส่วนสุขภาพใจยังต้องใช้เวลาพักฟื้น ควบคู่กับการศึกษาเกษตรประณีต ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไสมารถสรุปได้ในเร็ววัน เพราะนั่นคือวิถี...และชีวิตที่จะต้องฟันฝ่า และหาทางออกร่วมกับพี่น้องเกษตรกรครับ

ขอบคุณมากครับ

ด้วยความระลึกถึง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท