เรณู แก้วนารี


-
เปิดผลวิจัยมะละกอ GMO ไม่กระทบความปลอดภัยชีวภาพจุลินทรีย์ในดิน-ผึ้ง-พืช 6 ชนิดโตปกติ

 

นางวิไล ปราสาทศรี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (งานพืชสวน) จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ผลการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพด้านสิ่งแวดล้อมของมะละกอจีเอ็มโอ (GMOs) โดยการทดลองปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ แตงกวา ถั่วลิสง ผักบุ้ง ข้าวโพด หัวผักกาด และมันแกวหลังการปลูกมะละกอจีเอ็มโอแต่ละรุ่น พบว่า พืชดังกล่าวและวัชพืชที่ขึ้นในแปลงสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เป็นปกติ นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบจำนวนจุลินทรีย์ในดินที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอและมะละกอปรกติ ยังไม่พบความแตกต่างทางสถิติของจำนวนไรโซเบียมและไมโคไรซ่า ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการเป็นปุ๋ยชีวภาพด้วย

ทั้งนี้ ยังได้มีการศึกษาการปลิวของเกสร(CP gene) มะละกอจีเอ็มโอ โดยตรวจสอบในมะละกอปรกติที่ปลูกอยู่รอบๆในหลายระยะ พบว่า เกสรมะละกอจีเอ็มโอสามารถปลิวได้ในระยะ 2- 2.5 เมตร และไม่พบการแพร่กระจายของยีน CP ในระยะห่าง 10-25 เมตร ส่วนการศึกษาผลกระทบต่อผึ้งและไรตัวห้ำนั้น พบว่า ตัวอ่อนผึ้งที่ดูดกินอาหารเหลวจากเกสรของมะละกอจีเอ็มโอ มีการเจริญดีและมีเปอร์เซ็นต์การรอดของตัวอ่อนไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับเกสรมะละกอปกติ โดยมีอัตราอยู่รอดของตัวอ่อนเป็นดักแด้ 90-96 % และผึ้งตัวเต็มวัยที่มีชีวิตรอดมีลักษณะรูปร่างเป็นปรกติเหมือนกัน สำหรับไรตัวห้ำไม่พบความผิดปกติ และไม่พบไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้นในธรรมชาติด้วย

นางวิไล กล่าวอีกว่า การทดสอบความปลอดภัยทางด้านอาหาร ภายใต้ข้อกำหนดของคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร และภายใต้คำแนะนำของคณะอนุกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพด้านอาหาร ตามมาตรฐานสากล พบว่า มะละกอจีเอ็มโอมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ในช่วงระดับปกติ ไม่พบว่ามะละกอจีเอ็มโอมีการสร้าง coat protein ในใบหรือในผลดิบและผลสุก น้ำยางของมะละกอจีเอ็มโอมีปริมาณ Benzyl Isothiocyanate(BITC) ไม่แตกต่างกับมะละกอที่ไม่เป็นจีเอ็มโอ จึงไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษหรืออาการแพ้ และหนูทดลองที่กินมะละกอจีเอ็มโอมีน้ำหนัก และความสามารถในการสืบพันธุ์ ไม่แตกต่างจากหนูที่กินมะละกอปกติ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13538เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท