แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน


กระบวนการพัฒนาที่ใช้พลังทางวัฒนธรรม พลังแห่งจิตสำนึกอันเป็นแก่นแกนอันเป็นคุณค่าที่แท้จริงสังคมไทย กระบวนการพัฒนานี้ถือว่าเป็น เส้นทางที่เป็นไท
แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย : คนขอบๆ

    กระบวนการพัฒนาที่ใช้พลังทางวัฒนธรรม พลังแห่งจิตสำนึกอันเป็นแก่นแกนอันเป็นคุณค่าที่แท้จริงสังคมไทย ................กระบวนการพัฒนานี้ถือว่าเป็น เส้นทางที่เป็นไท [1]...........                  ความจริงเชิงประจักษ์ของการมองเห็นการต่อต้านของชุมชนท้องถิ่นต่อการคุกคามฐานชีวิตและฐานทรัพยากร ที่มาพร้อมสิ่งที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ (ไร้พรมแดน) เกิดขึ้นทุกหัวมุมเลี้ยวของโลก กรณีขบวนการเคลื่อนไหวพิทักษ์สิทธิชุมชนของชาวบ้านชุมชนมั่นยืนที่ขยับระดับปัญหาบรรดาเขื่อนไปในระดับสากล การต่อต้านเหมืองแร่ ใต้ดิน การแปรรูปน้ำ ฯล มีหลากหลายวิธีการจัดกระบวนการในชุมชนเพื่อต่อสู้และสร้างชุมชนทางเลือกมากกว่าแนวรบ ทางด้านวัฒนธรรม วิกฤติการแย่งชิงทรัพยากรในปัจจุบัน ล้วนเป็นดอกผลปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาตามโมเดลตะวันตก   การแปลงร่างของลัทธิทุนนิยมและลัทธิเสรีนิยมใหม่มาถึงบันไดขั้นที่นานาประเทศ ยินยอมพร้อมใจ เมื่อระบบทุนนิยมนั้นเปิดโอกาสให้เติบโตไปด้วยกันได้และเชื้อเชิญสู่การสลัดละทิ้ง รากเหง้าวัฒนธรรม ศีลธรรมแห่งตัวตนและชุมชน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ฐานล่างลุกขึ้นมาปะทะกับอำนาจหรือปะทะกับทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง และต่อมาเมื่อทุนหันมาสมคบกับอำนาจ ทำให้เกิดการแย่งชิงทุกอย่างไปจากชุมชนโดยตรง แย่งชิงไปแม้กระทั้งสิทธิในการจัดการตัวเองเพื่อให้มีชีวิตดำรงค์อยู่อย่างสงบสุข มีการสร้างพรหมแดนอำนาจที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึง สร้างวาทกรรมเพื่อการรักษาอำนาจและทุน คิดกลวิธีที่แยบยล เพื่อให้เชื่อว่าสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น และสิ่งที่ทำ นั้นมันล้าหลัง มันด้อยการพัฒนา ยัดเยียดความรู้ใหม่เข้าไปให้เต็มสมองเพื่อให้ละทิ้งตัวตนและเนื้อแท้ของความรู้ ที่แทรกลึก กระจัดกระจายในวิถีชีวิตและเลือดเนื้อของคนทุกชุมชน  เป็นความรู้ที่สะสมและปรับตัว สร้างเนื้อหาของชีวิตอันกลมกลืนด้วยมิติความสัมพันธ์ ผ่านการสั่งสมยาวนาน ซึ่งชุดความรู้นี้ คือ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน  อีกทั้งมีการดำรงอยู่ร่วมกันหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แบ่งปันพื้นที่และทรัพยากรกันตามประสบการณ์ ทุกกลุ่มมีการประยุกต์ความคิดความเข้าใจจากการใช้วิถีดำรงค์ชีพแบบ  หาอยู่ หากิน ที่อิงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ปรับตัวเองเข้ากับฤดูกาลและการแปลงเปลี่ยงของธรรมชาติ สู่วิถีแบบ เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน เป็นการริเริ่มปรับปรุงดัดแปลงธรรมชาติในเงื่อนไขที่ไม่ทำลาย ให้สามารถดำรงค์อยู่ด้วยการเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐานได้ เมื่อเกิดการตั้งถิ่นฐานแล้วรูปแบบการรวมกลุ่มกันก็เด่นชัดขึ้น สู่รูปแบบ เฮ็ดน่ำกัน  กินน่ำกัน ม่วนน่ำกัน (เป็นการยกตัวอย่างจากภาคอีสานแต่ในภาคอื่นๆก็ไม่ต่างกันในด้านเนื้อหา) จากพัฒนาการดังกล่าวได้เกิดพัฒนาความคิดเรื่อง สิทธิตามธรรมชาติ สิทธิบรรพบุรุษ สิทธิผู้อยู่มาก่อน โดยมีพิธีกรรมในการยึดโยง ถ้าวิเคราะห์ในหน่วยนิเวศน์ คือทรัพยากรกรมันจำกัด จึงกำหนดวัฒนธรรมเป็นวิถีในการปฏิบัติทั้งการใช้ประโยชน์ และการดูแลรักษา             วัฒนธรรมชุมชนไม่สามารถมองแบบหยุดนิ่งได้ เนื่องจากมันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ของสังคมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากปัจจัยภายในและนอกชุมชน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและเงื่อนไขทางสังคมที่ดำรงอยู่ในเวลานั้น รวมถึงระดับของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีการจัดการความสัมพันธ์ในระดับที่แน่นอนจนกระทั่งเกิดการแย่งชิงทรัพยากรโดยอำนาจรัฐตามแบบแผนของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม วัฒนธรรมชุมชนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังดำรงอยู่มาทุกยุคทุกสมัย ตรงนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ อ.ฉัตรทิพย์ ที่พูดไว้ว่าระบบเศรษฐกิจชุมชนโตกว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและเช่นเดียวกัน ระบบทุนนิยมก็มองและวิเคราะห์แบบนั้น เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจชุมชนนั้น โดยพื้นฐานก็คือชุมชนจะเป็นผู้ครอบครองทรัพยากร ฉะนั้น ใครก็ตามที่เป็นผู้ครอบครองทรัพยากรในด้านหนึ่งนั่นก็แสดงถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย ทีนี้เมื่อระบบทุนนิยมถูกพัฒนาขึ้น เป้าหมายของมันก็คือ การแย่งยึดทรัพยากร นี่คือหัวใจสำคัญของระบบทุนนิยม ฉะนั้น หากเราพูดถึงวัฒนธรรมชุมชนสิ่งสำคัญประการหนึ่งของนักพัฒนาที่เข้าไปในชุมชนต้องตระหนักก็คือ พวกเราล้วนเป็นลูกหลานที่แตกออกไปจากชุมชนแล้วรับเอาแนวคิดเอาความรู้ของระบบทุนนิยมไว้จนเต็มสมอง ผ่านระบบการศึกษา จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า พวกเราส่วนใหญ่จะเหินห่างจากวัฒนธรรมชุมชน วัฒนธรรมชุมชนไม่ใช่สิ่งที่เกิดใหม่ ซึ่งสมพล บุนนาค  [2]ใช้คำว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำรงอยู่และต่อสู้กับระบบทุนนิยมมาตลอดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 การปฏิวัติ 2475 ในด้านหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้ระบบทุนนิยม แฝงตัวเข้ามาเพื่อทำลายโครงสร้างของระบอบศักดินา ซึ่งเป็นตัวขัดขวางระบบทุนนิยมในเวลานั้น ซึ่ง 70 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบทุนนิยม เป็นฝ่ายได้เปรียบมากที่สุด จนกระทั่งมาถึงยุคสฤษดิ์ ที่เกิดแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อครอบครองทรัพยากรให้อยู่ในมือของรัฐมีการทำลายฐานทรัพยากรขนาดใหญ่ แต่ประเทศไทยก็ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพดำรงอยู่     แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองพัฒนาการที่ผ่านมาจะเห็นว่า ถึงแม้ระบบทุนนิยม จะยังไม่สามารถครอบครองฐานทรัพยากรได้ทั้งหมดแต่ในอีกด้านหนึ่งปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรกลับยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ขณะนี้ก็คือ กรณี เอฟทีเอ ไทย - ญี่ปุ่น ที่มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ การจดสิทธิบัตรจุลชีพกับเรื่องขยะพิษ ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า จุลชีพเมื่อก่อนมันไม่มีความสำคัญไม่ได้แยกชนิดของความหลากหลายเป็นหน่วยย่อยขนาดนี้ แต่มีวิถีการผลิตแบบสมดุลย์ มองระบบนิเวศน์องค์รวม แต่เมื่อทรัพยากรป่าไม้แร่ธาตุต่าง ๆ เริ่มหมดไปความรู้ทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น เรื่องนี้ก็มีความสำคัญขึ้นในรูปของคุณค่าที่มีราคา เป็นนัยสำคัญมาก เพราะว่าสิ่งนี้เป็นการรุกเข้าทำลายวัฒนธรรมชุมชน ในรูปการผูกขาด และลิดรอนสิทธิพร้อมกัน เป็นการยกระดับศักยภาพของระบบทุนนิยมและความสามานย์สูงขึ้น หากกลับไปศึกษาข้อมูลของประเทศคิวบาที่ ฟิเดล คาสโตรได้ประกาศวาระการพึ่งพาตนเองเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว           เช่นเดี่ยวกันในช่วงกลางและปลายทศวรรษ 2520 แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้พัฒนาเป็นระบบแนวคิดที่ชัดเจน และได้รับการเรียกขานในหมู่นักพัฒนาว่า แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน โดยมีสาระสำคัญของแนวคิดในช่วงต้นนี้มี ๓ ประการ คือ             ๑.มีการปฏิวัติความคิดความเข้าใจการมองชุมชนว่า สถาบัน ของชาวบ้านคือ ไม่ใช่แค่ชุมชน  แต่มีผืนป่า ที่ทำกิน ระบบนิเวศน์และคุณค่าทางวัฒธรรมทั้งหมดคือ ชุมชน  ปะทะกับความหมายของทำเลที่ตั้ง และหมู่บ้านของรัฐ ชุมชนคือ เขตแดนของการอยู่รอดของมนุษย์ ซึ่งอิงอยู่กับสภาพแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่แล้วกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมสิทธิในด้านต่างๆ ระบบวัฒนธรรมทำให้รู้ว่าขอบเขตสิทธิเราอยู่แค่ไหน ความเป็นญาติมิตร และความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน วิถีแห่งชุมชนไทย คือ ในคำของคุณบำรุง บุญปัญญา "การแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง" นั่นคือ อำนาจของชุมชน ซึ่งมันคือ ทรัพยากร ที่สังคมทุนนิยมไม่มี เน้นความเป็นปัจเจกชน ตัวใครตัวมัน และเอารัดเอาเปรียบ เหล่านี้เป็นริ้วรอยของความสัมพันธ์วัฒนธรรมรอง             ๒. จะพัฒนาชุมชนจะต้องเริ่มจากฐานวัฒนธรรมชุมชนซึ่งเป็นปราการที่แข็งแกร่งที่สุดของชาวบ้าน เป็นพลังผลักดันการพัฒนาชุมชนที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนสร้างขึ้นมาเอง มีประวัติยาวนานย้อนกลับไปไกลโพ้น เป็นของๆ ชาวบ้านเอง ถ้ามีวัฒนธรรมชุมชนเข้มแข็งการ รวมกลุ่ม ของชาวบ้านเพื่อทำกิจกรรมจะสำเร็จได้ไม่ยาก การต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกจะทำได้                 ๓.ในแง่วิธีการพัฒนา จะต้องทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกที่แจ่มชัดในวัฒนธรรมของเขา ปัญญาชนของชาวบ้าน (organic intellectual) เช่น ผู้เฒ่า หมอผี แถน ของชุมชนอีสาน ชาวบ้านควรร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชุมชน เพราะสิ่งที่ชาวบ้านปฏิบัติมาช้านานนั้น การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จะช่วยให้รื้อฟื้นค้นหาได้ว่า การปฏิบัติและพิธีกรรมมีที่มาอย่างไร ทำให้ชาวบ้านตื่นและรับรู้ รู้เอกลักษณ์และคุณค่าของตัวเอง ค้นพบจิตสำนึกอิสระของชุมชน เห็นคุณค่าของการรวมตัวเป็นชุมชน และซาบซึ้งในประวัติการต่อสู้ร่วมกันตลอดมา เห็นภัยของการครอบงำของวัฒนธรรมแปลกปลอมจากภายนอกในแง่เศรษฐกิจ ชาวบ้านควรทำการผลิตในขนาดที่เหมาะสม ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักก่อน ทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชนก่อน ในคำของบำรุง บุญปัญญา "สลัดพันธนาการแห่งการพึ่งพา พันธนาการแห่งระบบตลาด กลับไปสู่การพึ่งตัวเองให้ได้" [3]

และแน่นอนการพัฒนาสังคมด้วยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนยังเป็นที่ถกเถียงกับในเวทีวิชาการอย่างกว้างขวาง ชุมชนเองก็มีการปรับตัวปรับวิถีชีวิตตามกระแสโลกาภิวัตรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่หากมองย้อนกลับไปอย่างพินิจพิเคราะห์ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนเป็นการเลือกสรรตามวิถีทางวัฒนธรรมหรือเป็นการถูกครอบงำ ลิดรอนจำกัดสิทธิ์จากชนชั้นปกครองหรืออำนาจทุนกันแน่? แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าท้าทายหากจะเอาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนมาเป็นแนวคิดทางเลือกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาโดยใช้รากเหง้าและริ้วรอยทางวัฒนธรรมเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาชนบทต่อไป

 


[1]๓ ทศวรรษ  แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน บำรุง บุญปัญญา
[2] สมภพ บุนนาค :เรียบเรียงจากการบรรยายในเวทีปฏิรูปการเมืองจากฐานชุมชน๖ เมษายน ๒๕๕๐ ณ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยรุขเวช อ.นาดูน จ.มหาสารคาม จัดโดย สถาบันชุมชนอีสาน
[3]    ทศวรรษ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน บำรุง บุญปัญญา โรงพิมพ์เดือนตุลาคม กรุงเทพฯ,2549 (หน้า131-132)
หมายเลขบันทึก: 135326เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2007 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น.ส ชุติมา บรรทุกรรม

..ต้องขอขอบคุณมากเลยนะคะ เนื่องจากเป็นความรู้ในงานวิจัยของหนูค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท