การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (3.2)


การจัดการความรู้ คือ การปรับปรุง การสร้าง การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงงานของเราโดยใช้ความรู้ โดยความรู้ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้จากนักวิชาการ แต่อาจเป็นความรู้ที่เราแสวงหาเองก็ได้

      เมื่อเช้าตื่นสายไปหน่อย  เพราะ  เมื่อคืนนอนดึกมาก (ความจริงไม่ได้นอนดึกหรอกค่ะ  เรียกว่านอนเช้าของวันใหม่จะดีกว่าค่ะ)  สาเหตุมาจากการนั่งตรวจบันทึกการลงสนามศึกษาชุมชนของนักศึกษาชั้นปีที่ 2  จำนวน 100 กว่าคน  แต่ละคนเขียนได้น่าประทับใจมาก  น่าประทับใจซะจนอยากให้เรียนวิชานี้ใหม่อีกสัก 1 ปี  ส่วนใหญ่จะเขียนแต่หัวข้อไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมาเลย  ทั้งๆที่ผู้วิจัยก็พยายามในการอธิบายแล้ว  เขียนแบบฟอร์มให้ดูแล้ว  นักศึกษาก็ยังดูเหมือนว่าไม่เข้าใจ  ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  มีอยู่ "แวป" นึงคิดว่าจะเอาบันทึกที่ตัวเองเขียนใน Blog ไปเป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษา  แต่คิดไปคิดมาไม่เอาดีกว่า  กลัวจะเข้าป่าเข้าดงไปยิ่งกว่าเดิม  คงต้องหาวิธีการใหม่ค่ะ

      สำหรับในวันนี้จะขอเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจรต่อนะคะ  ยังอยู่ในวาระที่ 3 อยู่ค่ะ  วาระนี้ยาวนานมาก  คิดว่าคงเล่าได้อีกหลายวันค่ะ  (ที่ต้องใช้เวลาหลายวันเพราะ  ผู้วิจัยมีเวลาในการเล่าแต่ละวันจำกัดค่ะ) ขอเริ่มเลยก็แล้วกันนะคะ

      วาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)

      ประธานฯเริ่มต้นโดยการเกริ่นว่า ตอนนี้เครือข่ายฯมีโครงการการจัดการความรู้เข้ามาช่วยเสริมความสามารถในเรื่องการทำงาน   ทุกคนต้องมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ  เรากำลังทำงานเพื่อสังคม  เราไม่ได้ค่าตอบแทน  แต่เราได้บุญ  ในวันนี้ผมอยากให้นักวิจัยมาพูดคุยว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง

      ผู้วิจัยในฐานะหัวหน้าโครงการได้ชี้แจงให้กับผู้เข้าร่วมประชุมฟังว่า  นักวิจัยมีหน้าที่ช่วยเสริมในเรื่องกระบวนการกิจกรรมต่างๆ  รวมทั้งเก็บรายละเอียด  เก็บข้อมูลรายทางของการทำงานว่าตลอดเวลา 1 ปี   คำถามคือ  ที่ผ่านมา 6 เดือนเราทำอะไรไปแล้วบ้าง  ในเรื่องนี้ขออธิบายว่าบทบาทหลักของการทำงานในครั้งนี้  ก็คือ  เครือข่ายฯ  กลุ่ม  และสมาชิก  ไม่ใช่นักวิจัย  นักวิจัยเข้ามาเพียงช่วยหนุนเสริมหรือแนะนำ  อยากทำความเข้าใจว่านักวิจัยของโครงการนี้มี 2 คน  คือ  อ.อ้อม  และ  อ.พิมพ์  ส่วนทีมวิจัยประกอบด้วย  คุณสามารถ  อ.อ้อม  และอ.พิมพ์   โดยคุณสามารถเป็นประธานเครือข่ายฯ  เป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน  ส่วนเรา 2 คนเข้ามาในฐานะตัวแทนจากสถาบันการศึกษา  ผลงานที่ผ่านมา  รวมทั้งผลงานที่จะเกิดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นโครงการไม่ใช่ผลงานของนักวิจัย (2คน)  หรือ  ผลงานของทีมวิจัย (3คน)  แต่เป็นผลงานของเครือข่ายฯ  กลุ่ม  ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง  สำหรับงานที่พวกเรา (เราในที่นี้หมายถึง  พวกเราทุกคน) ร่วมกันทำที่ผ่านมามีหลายเรื่อง  เช่น 

      1.การจัดประชาสัมพันธ์โครงการ  ที่ห้องท 5 ธันวา  เทศบาลนครลำปาง   เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์  บอกกล่าวให้เครือข่ายฯ  กลุ่ม  สมาชิกทราบว่าเรากำลังทำอะไร  มีเป้าหมายอย่างไร  นอกจากนี้แล้วยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานสนับสนุนรู้จักเราในเบื้องต้น

     2.การลงพื้นที่ (รอบที่ 1) โดยนักวิจัย 2 คน  คุณสามารถ  ลุงคมสัน  ดาบไพศาล  ลุงมนุษย์  เราได้ข้อมูลของแต่ละกลุ่มมา  ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความรู้ จุดดี   มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไป  ต่อไปอาจเป็นหน้าที่ของทีมวิจัยในการที่จะถ่ายทอดข้อมูล  ความรู้ของแต่ละกลุ่มออกมา  เพื่อให้แต่ละกลุ่มเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เพราะ  แต่ละกลุ่มอาจไม่ทราบว่ากลุ่มอื่นเป็นอย่างไร  ตัวอย่างเช่นในวันนี้ที่เรามาประชุมสัญจรกัน  ทำให้เรารู้ว่ากลุ่มแม่ทะเป็นอย่างไร  ถ้าเราไม่มาเราจะไม่รู้   การประชุมสัญจรที่เกิดขึ้นจากมติของที่ประชุมเมื่อเดือนที่แล้วก็นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้หมือนกัน  ในงานจัดการความรู้  บางทีเราจะไม่ทราบว่าเราได้รับอะไรเข้าไปแล้วบ้าง  แต่การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้  การจัดการความรู้อาจแทรกเข้าไปในเนื้องานของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้

      3.การอบรมคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ลำปาง จำนวน 2 วัน เพื่อให้ทุกกลุ่มได้มีความรู้ในเรื่องโปรแกรมที่จะนำมาใช้ในการจัดการของกลุ่ม  เท่าที่สังเกตในตอนนี้เห็นว่าทุกกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  มีการจัดระบบข้อมูลมากขึ้น 

      4.การลงพื้นที่ (รอบที่2)  ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการความรู้เหมือนกัน  เพราะ  เราใช้ความรู้ในการทำงาน  ได้ทดลองลงทำงานจริงๆ  ได้เรียนรู้จากงานจริงๆ  กระบวนการเหล่านี้จะซึมเข้าไปในตัวผู้ปฏิบัติงานอย่างที่ผู้ปฏิบัติงานอาจไม่รู้ตัวก็ได้

       คำถามต่อมา  คือ  สิ่งที่เราจะทำต่อไปในช่วง 6 เดือนที่เหลือคืออะไร? เราต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่า 6 เดือนที่ผ่านมางานต่างๆหรือกิจกรรมต่างๆอาจมาจากทีมวิจัยทั้ง 3 คนเป็นหลักมากกว่าจะออกมาจากคณะกรรมการเครือข่ายฯ  หรือออกมาจากกลุ่มและสมาชิก  แต่จริงๆแล้วในการทำงานเครือข่ายฯเป็นคนทำ  กลุ่มเป็นคนทำ  ในช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าแต่ละคนคงได้ซึมซับว่าตนเองได้รับอะไร  มีการพัฒนาในด้านไหนบ้าง  มีจุดเด่น  จุดด้อยอะไร  ถือเป็นการทบทวนไปในตัว   เราไม่อยากใช้คำว่าการจัดการความรู้เลย  ขอไม่ใช้คำนี้ก็แล้วกันนะคะ  เพราะ  รู้สึกฟังแล้วดูยากจัง  เป็นวิชาการมากๆ  ถึงเราจะไม่ใช้คำนี้  แต่เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่  หากถามว่าการจัดการความรู้คืออะไร  ก็ขอตอบอย่างนี้ก็แล้วกันนะคะว่าการจัดการความรู้  คือ  การปรับปรุง  การสร้าง  การพัฒนา  การเปลี่ยนแปลงงานของเราโดยใช้ความรู้  โดยความรู้ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้จากนักวิชาการ  แต่อาจเป็นความรู้ที่เราแสวงหาเองก็ได้  เช่น  ในเรื่องการที่พวกเราเสนออยากให้มีการประชุมสัญจร  เพราะ  พวกเราอยากรู้ว่าที่อื่นๆเขาทำกันอย่างไร  เราจะได้นำมาใช้ทำกับกลุ่มของเราบ้าง  อันนี้ก็ถือว่าเป็นความรู้ของพวกเราอย่างหนึ่ง  แต่อาจเป็นความรู้ที่อยู่ในตัวเราโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้  พอสะท้อนออกมา  นักวิจัยก็จะเก็บข้อมูลเหล่านี้เพื่อสะท้อนกลับไปที่เครือข่ายฯ  เพราะฉะนั้นงานจะสำเร็จไม่ได้ถ้าหากว่าเราไม่ทำงาน  นักวิจัยคงจะไม่มีอะไรเขียน  เพราะฉะนั้นในวันนี้เราน่าจะมาดูกันว่าในช่วง 6 เดือนที่เหลืออยู่นี้กับงบประมาณที่มีอยู่  เราจะทำอะไรกันบ้าง  

      ประธานฯรับช่วงต่อ  โดยบอกว่าในการจัดการความรู้ที่ผ่านมาเรามีการพัฒนาขึ้นทั้งในส่วนของการบริหารจัดการ  การขยายผล  และการเชื่อมประสานภาคี   อยากจะทบทวนอีกสักหน่อยว่าในเรื่องการจัดการนั้น  เรามีการพัฒนาคน  โดยการที่เราจัดโครงสร้างการบริหาร  มีการแบ่งบทบาทหน้าที่คณะกรรมการอย่างชัดเจน  โครงสร้างจะทำให้เรารู้ว่าเรามีบทบาทหน้าที่อะไร  การที่ได้ลงพื้นที่โดยนำทีมบริหารลงไปในกลุ่มต่างๆ  (ลงพื้นที่ครั้งที่ 2)  ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาคน  เราไม่ได้ลงไปจับผิด  แต่ลงไปเพื่อให้คณะกรรมการได้ทำงานจริงๆ  หลายๆคนที่ลงไปได้พัฒนางานของตัวเอง  จากการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่ายังมีกลุ่มที่มีปัญหา  เราต้องมาคุยกันว่าเราจะช่วยเหลือกันอย่างไร  เช่น  ในกรณีของกลุ่มบ้านหลุกนั้น  พอลงพื้นที่ไปพบว่า  คณะกรรมการบริหารยังไม่มีความชัดเจน  ระบบบบัญชี  ข้อมูล  ยังไม่ชัดเจน  หรืออย่างกรณีบ้านเกาะคาที่กำลังอยู่ระหว่างช่วงหัวเลี่ยวหัวต่อว่าจะแยกหรือจะรวม  (กรณีกลุ่มนี้ผู้วิจัยขออธิบายเพิ่มเติมว่า  เดิมกลุ่มเกาะคานั้นมีสมาชิกที่มาจากหลายหมู่บ้าน  แต่เมื่อมีการบริหารจัดการมาได้สักระยะหนึ่งเกิดปัญหาบางประการขึ้นในกลุ่ม  ทำให้มีสมาชิกบางส่วนที่อยู่ในกลุ่มนี้ต้องการแยกออกไปตั้งกลุ่มในบ้านของตนเอง  แต่พอเอาเข้าจริงๆปรากฎว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถแยกออกไปได้  เพราะ  ยังไม่มีคนทำงานที่ชัดเจน)  หรือกรณีบ้านสบตุ๋ยก็มีปัญหาเรื่องระบบบัญชี  เรื่องคนทำงาน  ที่เกิดขึ้น  เราได้รับทราบแล้วและนำมาหารือกันว่าจะช่วยเหลืออย่างไร  การลงพื้นที่ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันนี่คือพัฒนาการที่เกิดขึ้น

     ที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหาในเรื่องการทำระบบข้อมูล  ตอนนี้แต่ละฝ่ายมีแบบฟอร์มกะดาษทำการที่ชัดเจน  พร้อมที่จะรายงานได้   เรื่องระบบบัญชีตอนนี้เอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการทำงาน  เข้าใจว่าบางกลุ่มทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่บางกลุ่มยังไม่เรียบร้อยเพราะ  มีปัญหาเรื่องบุคลากร  เอกสารต่างๆ  เพราะ  ต้องมีการคีย์ย้อนหลัง  บางกลุ่มยังไม่มีศักยภาพ 100 % เพราะ  ต้องทำงานของตนเองเป็นหลัก  งานนี้เป็นงานส่วนรวม  เราเข้าใจ  ไม่อยากเร่งรัดมาก  ขอให้ทำ  ค่อยๆทำไป  อย่างที่ลงไปที่กลุ่มบ้านร้อง  มีคนทำอยู่คนเดียว  เราก็ได้ให้คำแนะนำไปว่าขอให้หากรรมการเพิ่ม   บ้านหลุก  กรรมการหนีหายไปหมด  คิดว่าพวกเรามาจับผิด  เมื่อลงไปเห็นแล้วเราในฐานะที่เป็นพี่น้องกันก็ไม่ได้จะตัดออกไปเลย  เราต้องมาคุยกัน  มาช่วยเหลือกัน 

     ตอนนี้ทางเครือข่ายฯได้กระจายกองทุนให้คณะกรรมการบริหารได้รับผิดชอบ  เพราะ  ที่ผ่านมาเงินที่แต่ละกลุ่มส่งมาจะกองอยู่ที่ตรงกลางกองเดียว  แต่เดี๋ยวนี้กระจายออกไปให้คณะกรรมการบริหารแล้ว 

     กรรมการบริหารมีทั้งสิ้น 6 คน  คือ

     1.ลุงคมสัน       เป็นรองประธานฯ

     2.ดาบไพศาล    เป็นรองประธานฯ

     3.คุณอุทัย        เป็นรองประธานฯ

     4.อ.ชุติกานต์    เป็นรองประธานฯ

     5.อ.สมพิศ       เป็นเลขาฯ

     6.ลุงบุญเทียม   เป็นผู้ประสานงาน

     ช่วงแรก 6 คนนี้ต้องได้รับการถ่ายทอดในเรื่องความรู้  เรื่องวันละบาทเกิดจากคน 1 คน  แต่ตอนนี้กำลังขยายออกไป  เราต้องหาคนที่จะมาช่วยขยายเรื่องนี้  คน 6 คนต้องถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวันละบาทได้  และต้องถ่ายทอดอย่างเป็นศิลปะด้วย  ทีนี้ถ้า 6 คนมีทักษะ  มีความรู้แล้ว  ก็ต้องถ่ายทอดไปให้คนอีก 20 คน  ซึ่งเป็นกรรมการกองทุนต่างๆของเครือข่ายฯ  คน 20 คนนี้ต้องพูดได้  ต้องรายงานกองทุนของตนเองได้  นี่คือ กระบวนการและขั้นตอนที่ต้องทำ 

     ประเด็นก็คือ  ที่ผ่านมา 6 เดือน  บางคนก็รู้  บางคนก็ไม่รู้ว่ากระบวนการจัดการความรู้ทำกันอย่างไร  ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีคน 3 คนที่ลงไปกระตุ้น  ลงไปสร้างงานให้เกิดขึ้น  ในเรื่องการขยายผล  คิดว่าตอนนี้เริ่มมีการปรับตัวกันบ้างแล้ว  เริ่มมีสมาชิกเข้ามาแม้ว่าจะน้อยก็ไม่เป็นอะไร

     ว้า!  อยากเล่าต่อจังเลย  แต่ดูเวลาแล้วเห็นท่าว่าจะต้องขอลาค่ะ  เพราะ  นัดไปทำธุระกับอาจารย์พิมพ์  ส่วนเรื่องข้อสังเกตหรือความคิดเห็นของผู้วิจัยขอยกยอดไปก่อนนะคะ  เนื่องจากว่ายังเล่าเรื่องนี้ไม่จบค่ะ  คิดว่าคงอีกยาว 

     

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13452เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ผมเพิ่งกลับจากสงขลา คืนวันที่25ได้ไปนั่งจิบกาแฟคุยกับเชในเมืองหาดใหญ่ ตอนแรกกะว่าจะไปบ้านครูชบ แต่ครูชบไปประชุมรุ่นที่พัทลุง เพิ่งกลับมาติดตามอ่านงานของอ.อ้อมในฐานะแฟนพันธุ์แท้วันนี้เองครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท