รู้จักสถาปนิก


สถาปนิก,architect,สถาปัตยกรรม

คำว่า สถาปนิก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Architect ดูจะเป็นคำและอาชีพที่คุ้นเคย คุ้นหูกับเราท่านเป็นอย่างดีคำหนึ่งไม่แพ้คำไหนๆ ที่เรามักได้ยินและรู้จักกัน  ไม่แน่ว่าบางทีหลายต่อหลายท่านอาจมีญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนไม่สนิท รุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือคนรู้จักใกล้ชิดที่เป็นสถาปนิกอยู่ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะถามต่อไปอีกว่า  สถาปนิกคือใคร? ทำงานอย่างไร? คำถามเหล่านี้ก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยตอบได้แน่ๆ แต่ก็คงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกันที่ตอบไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากลองถามต่อไป ต่อไป และต่อไปว่า สถาปนิกมีคุณสมบัติอย่างไร ? เรียนอย่างไร? มีประโยชน์อย่างไร ? ทำงานแตกต่างจากวิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง มัณฑนากร หรือไม่? และอีกหลายต่อหลายคำถามที่เกียวข้องกับสถาปนิก แน่ใจได้เลยยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่ตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้แหงๆ ครับ ฟังแบบนี้แล้วก็รู้สึกน้อยใจเล็กๆ แทนสถาปนิกทั้งหลายว่าทั้งๆ ที่วิชาชีพออกแบบอาคารบ้านเรือนเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ทำไมสถาปนิก และบทบาทการทำงานของสถาปนิกจึงไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปเหมือนอาชีพอื่นๆ ก่อนจะไขข้องใจต่อไป

เราลองมาดูความหมายของคำว่า “สถาปนิก” จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545 กันก่อนครับ ตามพจนานุกรมท่านได้ให้ความหมายไว้ว่า “สถาปนิกคือ ผู้ออกแบบก่อสร้างในทางสถาปัตยกรรม” แต่คำจำกัดความนี้ ฟังแล้วยังก็งงๆ กันต่อไปเพราะดูยังเป็นนามธรรมอยู่มาก เราลองงงๆ ต่อไปด้วยการดูความหมายภาษาอังกฤษของคำว่าสถาปนิก หรือ Architect จากสารานุกรมออนไลน์ www. wikipedia.org ที่อธิบายทั้งความหมาย และการทำงานของสถาปนิกไว้อีกหนว่าเป็นอย่างไรกันครับ  “An architect, also known as a building designer, is a person involved in the planning, designing and oversight of a building's construction, whose role is to guide decisions affecting those building aspects that are of aesthetic, cultural or social concern.”

ข้อความดังกล่าวแปลได้ใจความว่า สถาปนิกหรือที่รู้จักกันดีว่าผู้ออกแบบอาคารบ้านเรือน เป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการวางผัง การออกแบบและองค์ประกอบในการก่อสร้างอาคาร โดยบทบาทการทำงานของสถาปนิกจะให้คำแนะนำต่อลูกค้าเพื่อแก้ปัญหาทางกายภาพในประเด็นต่างๆ ที่มีผลต่ออาคารได้แก่ ความสวยงาม องค์ประกอบทางวัฒนธรรมและสังคม ความรู้ด้านกฎหมายอาคาร ข้อกำหนด ระเบียบข้อบัญญัติท้องถิ่น สถาปนิกจะใช้ความรู้ที่ศึกษามาใช้วิเคราะห์ และสังเคราะห์ผ่านการทำงานออกแบบตามขั้นตอนจนกลายแบบบ้าน หรือแบบอาคารเพื่อใช้ก่อสร้างได้ที่สุด สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะได้บ้านหรืออาคารขึ้นมาสักหลัง สถาปนิกต้องผสมผสานองค์ความรู้หลายต่อหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเรา รวมทั้งความรู้ทางเทคนิคในการออกแบบ การประหยัดพลังงาน หรือแม้แต่ประเด็นพิเศษเพิ่มเติมอื่นใดตามความต้องการของลูกค้าครับ

จากความหมายและบทบาทข้างต้นคงพอจะนึกออกได้แล้วนะครับว่าสถาปนิกเป็นใคร คราวนี้มีประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้ท่านเข้าใจการทำงานของสถาปนิกได้ละเอียดขึ้นไปอีกคือ สถาปนิก จะเป็นผู้มีความสามารถแปลงความต้องการใช้สอยของลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง แก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ตามสภาพแวดล้อมของที่ดิน ที่ตั้งโครงการนั้น ให้ออกมาเป็นแนวทางรูปธรรมหรือกายภาพ ผ่านกระบวนการออกแบบอาคารอย่างสร้างสรรค์บนแผ่นกระดาษจนกลายอาคารบ้านเรือนให้คนเข้าไปใช้งานได้ในที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งคือ สถาปนิกเป็นอาชีพที่ทำหน้าที่แปรข้อมูล (โปรแกรมการออกแบบ) ทั้งหมดจาก 0 มิติ คือจับต้องไม่ได้อยู่ในอากาศ จากคำพูด จากความต้องการของลูกค้า รวมทั้งข้อกำหนดต่างๆ ด้านกฎหมาย ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความสวยงาม ผนวกกับความรู้ด้านวัสดุและเทคโนโลยีก่อสร้าง ฯ ตลอดจนปัจจัยสนับสนุนตามชนิดอาคาร จนกลายเป็นโปรแกรมการออกแบบ และงานออกแบบในลักษณะข้อมูล 2 มิติ (เห็นความกว้าง ความยาว) ผ่านแบบอาคาร แบบพิมพ์เขียว ภาพทัศนียภาพอาคาร และกลายเป็นแบบ 3 มิติ (กว้าง*ยาว*สูง/ลึก) ผ่านหุ่นจำลองอาคาร เป็นตัวแทนลูกค้าติดต่อประสานงานกับวิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง และบุคคลอื่นๆ จนพัฒนาแบบ (กระดาษ) สู่กระบวนการก่อสร้างให้กลายเป็นอาคารจริงที่เป็น 4 มิติคือ มีเวลาการใช้สอยและสามารถเข้าอยู่อาศัยได้จริงในที่สุด


ดังนั้นผู้ที่จะเป็นสถาปนิกที่ดีได้ นอกจากจะต้องฝึกฝนทักษะการออกแบบด้วยการเล่าเรียนมาทางสถาปัตย์แล้ว ควรเป็นผู้ที่ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะความสามารถด้านขีดๆ เขียนๆ เพื่อความสะดวกในการถ่ายทอดความคิดของตนเองให้ลูกค้าและผู้อื่นเข้าใจ มีทักษะในการนำเสนอข้อมูลรูปแบบต่างๆ เป็นอย่างดี มีความสามารถในการสื่อสารอธิบายความให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายทั้งปากเปล่า และสามารถใช้สื่อทางสถาปัตย์แสดงความคิดของตนเองได้ชัดเจน มีมนุษยสัมพันธ์ดี ประสานงานเก่ง กระตือรือร้น และชอบทำงานเป็นทีม เป็นต้นครับเท่านี้ คิดว่าท่านผู้อ่านคงพอจะรู้จักสถาปนิกกันมากขึ้นแล้วนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13221เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สถาปนิก ต้องเรียนมาจากคณะอะไรหรอคับ
วิศวะโยธา หรือ สถาปัตยกรรมศาสตร์

หนูอยากเป็นสถาปนิกมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท