ชุมชนนักปฎิบัติ "เกษตรปลอดสารพิษ"


ควันหลง KM สัญจร นักวิจาการ & ปราชญ์ชาวบ้าน ความเข้าใจของสื่อมวลชนและการนำเสนอเป็นข่าว

หลังจาก สคส.จัด KM สัญจร นักวิชาการ & ปราชญ์ชาวบ้านที่พิจิตร เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นี่เป็นอีกหนึ่งข่าวที่ถูกนำเสนอตามแง่มุมและความเข้าใจของนักข่าวที่ร่วมกิจกรรม คือ คุณสุดทีวัล  สุขใส  จากหน้าจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เลยเอามาลงให้ดูกันค่ะ  

http://www.bangkokbiznews.com/2006/01/23/w006_70193.php?news_id=70193#  

ชุมชนนักปฏิบัติ 'เกษตรปลอดสารพิษ'
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, January 23, 2006 


          "ขอให้แต่ละคนมีความสำเร็จพอสมควร เศรษฐกิจพอเพียง คือทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียง ไปไม่ได้ แต่ถ้าทำพอเพียง สามารถที่จะนำพาประเทศให้ดี ไปได้ดี ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ" กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
        
          และนี่ก็เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชาวเกษตรกรจังหวัดพิจิตรหลายคนยึดเอาเป็นแนวทางการประกอบอาชีพที่พูดค่อนข้างอย่างเป็นเสียงเดียวกัน
          เมื่อในอดีตที่ผ่านมา จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตข้าวและพืชผักแหล่งใหญ่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน มีการทำการเกษตรมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ การผลิตอยู่บนพื้นฐานการพึ่งพาธรรมชาติ เน้นเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นไปอย่างแน่นแฟ้นและพึ่งพาอาศัยกัน
          กระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยการพัฒนาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมากขึ้น วิถีชีวิตของชาวเกษตรกรก็เปลี่ยนไปเป็นวิธีการผลิตเพื่อขาย ขณะเดียวกันสารเคมีทางการเกษตรก็เริ่มเข้ามามีบทบาทผ่านการส่งเสริมการใช้โดยรัฐ รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงชุมชน สุดท้ายจึงมีการใช้สารเคมีอย่างเต็มรูปแบบของการเกษตรจนถึงปัจจุบัน
          เมื่อ 2-3 ปีก่อนชาวพิจิตรต้องตื่นตะลึงเมื่อรายงานจากสาธารณสุขพบว่า ชาวพิจิตรมีอัตราสารเคมีตกค้างในเลือดสูงและอยู่ในภาวะอันตราย ขณะที่ในภาคเกษตรก็มีสารเคมีในการเกษตรมากเป็นอันดับสองของประเทศ จึงเกิดการตื่นตัวกันทั้งจังหวัด เพื่อยกระดับสุขภาวะของคนทั้งจังหวัดให้กลับมาสู่ภาวะปกติ
          ปี 2543 มีการศึกษาการใช้ข้อมูลทางเคมีของเกษตรกรพบว่า พิจิตรเป็นจังหวัดที่มีการใช้สารเคมีที่สูงมาก และผลจากการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งปัญหาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ตรวจพบว่า มีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดและเจ็บป่วยสูงในอันดับต้นของประเทศไทย รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของชาวเกษตรกร
          ดังนั้น เครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษ ของจังหวัดพิจิตร จึงได้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหานี้ และทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้มาตลอด เน้นการทำงานร่วมกับเกษตรกร และเริ่มมีการจัดหาแนวทางเพื่อขยายแนวคิดในระดับการปฏิบัติ กลายเป็นที่มาของการจัดทำหลักสูตรในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการพึ่งพาอาศัยกันเองว่า 'วิทยากรกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งพาตนเองและการพึ่งพากันเอง' หรือเรียกย่อว่า 'วปอ.ภาคประชาชน' นั่นเอง
          หลังจากนั้นพบว่าเมื่อนำเทคนิคการจัดการความรู้มาใช้ก็ได้ระบบการทำงานที่ดีขึ้น การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย วิสันต์ ทองเต่ามก และมนูญ มณีโชติ เกษตรกรชาวพิจิตรได้พัฒนาเครื่องมือและมีการจดบันทึกเพื่อรวบรวมองค์ความรู้มากขึ้น
          ปัจจุบันจังหวัดพิจิตรกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจ โดยเฉพาะการเกิดเครือข่ายให้กับชาวจังหวัดพิจิตร และกลไกที่ทำให้การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีได้เดินหน้าอย่างรวดเร็วเป็นที่หน้าพอใจ ซึ่งปี 2548 พบว่าชาวพิจิตรมีอัตราสารเคมีในเลือดลดลงมาอยู่อันดับที่ 6 ของประเทศ และเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาเดินหน้าที่จะนำคนทั้งจังหวัดสู่สุขภาวะที่ดีในอีก 1-2 ปีนี้ข้างหน้า และยังเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ เพื่อไปปรับใช้ได้อีกด้วย
          นอกจากนี้ชาวเกษตรกรที่เห็นความสำคัญก็ได้มีการรวมกลุ่มกันทำเกษตรปลอดสารพิษแบบจริงจัง ปลูกไว้กินไว้ใช้เองโดยใช้สารชีวภาพที่ทำขึ้นในชุมชนด้วยวิธีการลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ ผลผลิตได้มาก็กินใช้ภายในครัวเรือน เหลือก็นำไปขายในตลาดชุมชนที่ชาวบ้านได้คิดรวมกลุ่มตั้งกันขึ้นมาอย่างพอมีพอกิน ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความสุขที่ไม่มีหนี้ สุขภาพร่างกายก็ดีขึ้นจากแต่ก่อนที่ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งการใช้สารชีวภาพทำให้มีสุขภาพดี ลดต้นทุน เพิ่มพูนกำไร
          ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ขยายเป็นเครือข่ายตามความถนัดของตนเองที่หันมาทำเกษตรปลอดสารพิษถึง 4 เครือข่ายด้วยกัน ได้แก่ เครือข่ายข้าวขาวสะอาด โดยมี ผดุง เครือบุษผา เป็นแกนนำชาวบ้าน อ.ตะพานหิน เขาบอกว่า "หลังจากได้ลดเลิกการใช้สารเคมีมา 2 ปี แล้วหันมาทำสารน้ำหมักปุ๋ยหมักจากธรรมชาติจำพวกพืชสมุนไพรไว้ใช้เอง เช่น ตะไคร้หอม ผลไม้สุกๆ ข่าแก่ๆ สะเดา ฯลฯ ปรากฏว่าจากที่ทำนาปกติได้ข้าว 50-60 ถังต่อไร่ ตอนนี้ได้ 106 ถังต่อไร่ ถ้าทำนาในแนวทางนี้เราไปรอดแน่"
          แต่คำถามตอนนี้ก็คือเกษตรพร้อมที่จะเริ่มตอนไหนเท่านั้นเอง แรงบันดาลที่ทำก็เกิดจากพบปะพูดคุยกันของแกนนำ 5 ตำบล ทำให้รู้ปัญหา ความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้เรียนรู้ว่านาปลอดสารพิษเป็นทางออกที่ดีที่สุด การรวมตัวของแกนนำที่ทำนาสนใจเรื่องการพัฒนาศักยภาพชาวนาให้รู้เท่าทัน พึ่งตนเอง และอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติ รวมถึงมีการรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริงๆ เช่น การคัดพันธุ์ข้าวเอง ปัจจุบันก็สามารถคัดพันธุ์ข้าวได้เอง การทำนาไม่เผาฟาง การใช้น้ำหมักชีวภาพ ทำให้ลดต้นทุนการผลิตจนประสบความสำเร็จปลดหนี้ได้ภายในไม่กี่ปี
          นอกจากนี้ยังมี เครือข่ายเกษตรรวมมิตร จุดเด่นอยู่ที่ความหลากหลายของพืชเกษตรหลายเผ่าพันธุ์ในสวน ซึ่งมีระบบนิเวศน์แบบเกื้อกูล พืชผักผลไม้ปลอดภัยรับประทานกันได้ตลอดทั้งปี มีทั้งที่ตั้งใจปลูกและไม่ตั้งใจปลูก แต่มีผู้ช่วยจากภายนอก เช่น นก แมลง ลม ดังที่ลุง สมพงษ์ ธูปอัน หนึ่งในเครือข่าย ต.ทับหมัน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร บอกว่า "ที่สวนมีเห็ดโคนขึ้นทุกปี อย่างไก่ที่เลี้ยงไว้ก็ถ่ายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ผลไม้ที่เหลือกินหรือเสียก็โยนให้ปลาและไก่กิน ไม่เป็นขยะรบกวน และมีสูตรสมุนไพรทำให้ไก่กิน ไก่จึงไม่เป็นไข้หวัดนก เพราะแข็งแรงด้วยสมุนไพร"
          สำหรับลุงสมพงษ์เป็นปราชญ์ชาวบ้านรุ่นหนึ่งที่ร่วมประจำจังหวัดเฉลี่ยทุก 3 เดือน และประชุมเกษตรรวมมิตรมา 3 ครั้งแล้ว ที่ในสวนไม่โทรศัพท์เพิ่งมีโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสวนของเขาเป็นอย่างมาก
          ส่วน เครือข่ายโรงเรียนทายาทเกษตร โรงเรียนวัดหนองปลาหมอ ต.หนองปล้อง อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ก็เป็นหนึ่งโรงเรียนที่ร่วมเป็นเครือข่ายทายาทเกษตร ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมที่จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนมีกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมาสอนการทำนาปลอดสารพิษ การปลูกต้นไม้ร่วมกัน การทำอาหารในการประชุมต่างๆ
          โดยมี อ.ทิพวรรณ จันทรสุกรี ครูใหญ่เป็นผู้อำนวยให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน เชื่อมประสานการพัฒนาเป็นเครือข่ายพื้นที่ และระดับจังหวัดในเครือข่ายโรงเรียนทายาทเกษตร จุดประสงค์เพื่อให้เด็กเมื่อโตขึ้นสามารถมีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุขแบบพอเพียง โดยที่ไม่ต้องมาหางานทำในเมืองหลวงและเป็นการสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษต่อๆ ไปด้วย
          สุดท้ายได้มีโอกาสไปเยี่มมชม เครือข่ายผักปลอดสาร ของลุง อินทร์ สงคราม ที่ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษที่มีแนวคิดอยากให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยบอกว่า "เมื่อลองทำก็ได้ผลดี ผลผลิตออกมาก็ร่วมกันไปขายชุมชน กลุ่มผักนี้ปลูกกระหล่ำปลีในฤดูหนาวได้งามมาก ที่ยังไม่มีกลุ่มไหนทำได้นอกจากกลุ่มนี้
          รวมทั้งปลูกคะน้า กวางตุ้ง ผักชี พริก ฟักทอง บวบ ปลูกผักปลอดสารมาได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีสารเคมีมากและคนส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจหาสิ่งดีๆ ให้ตนเองได้กิน แต่กลับหาสิ่งอื่นๆ เสื้อผ้าสวยๆ ทองเส้นสวยๆ ใส่ได้แม้จะมีราคาแพง ดังนั้นจึงอยากให้คนหันมาหาสิ่งดีๆ ให้ตนเองจะได้มีอายุยืนปลอดโรค"
          ตอนนี้มีสมาชิกที่สนใจและร่วมกันทำอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จวน ผลเกิด หนึ่งในเกษตรกรปลอดสารพิษจังหวัดพิจิตร กล่าวทิ้งท้ายว่า
          "ผลจากการทำเกษตรแบบพอเพียง ถึงแม้ว่าจะไม่รวย แต่ก็ไม่จนปัญญา สบายใจที่ไม่เป็นหนี้ใคร ได้เพื่อนเยอะเหมือนพี่น้องกันทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขทางใจ ถ้าเข้าถึงแล้ว ชีวิตก็เป็นสุข..."--จบ--

          ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

จากข่าวนี้จะเห็นว่า ความหมายของคำ "จัดการความรู้" คือการรวมกลุ่มกัน มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ เป็นความหมายในเชิงปฎิบัติ และเครื่องมือเพื่อทำให้ดีขึ้น ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องบันทึก ต้อง update อยู่ตลอดเวลา   ด้วยเวลาเพียง 2 วันของกิจกรรม KM สัญจร ทำให้ผู้สื่อข่าวเข้าใจได้ขนาดนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดี  หรือใครมีความคิดเห็นอย่างไร ก็เขียนมาแลกเปลี่ยนกันได้ค่ะ.......

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13204เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท