เยี่ยมศึกษาหารือการจัดการข้อมูลและความรู้เพื่อการพัฒนาสุขภาวะระดับพื้นที่จังหวัดน่าน


          ได้ร่วมไปกับคณะ สสส. นำโดย ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการ สสส. พร้อมเจ้าหน้าที่สำนัก 3 (สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน) เมื่อ 22 – 23 ม.ค. 49 ไปที่จังหวัดน่าน เพื่อศึกษาเรียนรู้และหารือ เรื่อง “การจัดการข้อมูลในระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะแบบบูรณาการ”
          เป็นการไป “เยี่ยมศึกษาหารือ” ที่ใช้เวลาเต็มที่ ประทับใจในการตอนรับและการให้ความร่วมมือของเจ้าของพื้นที่หลายฝ่าย ได้ข้อมูล สาระ ความรู้ ความคิด มากมาย คุ้มค่ากับเวลาและการลงทุนต่างๆอย่างน่าพอใจ
          วันที่ 22 เดินทางถึงสนามบินจังหวัดน่าน 10.20 น. ไปศึกษาเรื่องการจัดการข้อมูลระดับตำบลของตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง (ผู้นำหลัก คือ ประธาน “องค์กรพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตำบลน้ำเกี๋ยน” – ชูศิลป์ สารรัตนะ) หลังอาหารกลางวันเดินทางไปอำเภอนาน้อย ศึกษาการจัดการข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาน้อย ของเทศบาลตำบลนาน้อย ของสถานีอนามัยตำบลสถานและองค์การบริหารส่วนตำบลสถาน และของชุมชนตำบลศรีษะเกษ (ร่วมกับ อบต.ศรีษะเกษ) (กรณีตำบลศรีษะเกษผู้นำเสนอหลัก คือ กำนันเกษตร ยศบุญเรือง 0-1951-0669) โดยใช้ชม “ศูนย์การเรียนรู้แผนแม่บทชุมชน” ของตำบลศรีษะเกษ การพัฒนาที่อยู่อาศัยแก้ความยากจนแบบ “บ้านมั่นคง” ของตำบลศรีษะเกษ (เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ภายใต้ชื่อ “โครงการบ้านมั่นคงชนบท” ซึ่งตำบลศรีษะเกษถือเป็นตำบลนำร่องภายใต้โครงการนี้) และได้ชมการเลี้ยงหมูในระบบ “หมูหลุม”ซึ่งน่าชื่นชมและน่าประทับใจมาก (หมูดูมีความสุขและสุขภาพดี ไม่มีกลิ่นเหม็นจากคอกหมู ได้ผลทางเศรษฐกิจจากมูลหมูนอกจากตัวหมู ฯลฯ)
          จากอำเภอนาน้อยกลับไปตัวเมืองน่าน ทานอาหารค่ำ ณ วัดอรัญญาวาส และพบปะสนทนากับส่วนหนึ่งของ “ประชาคมจังหวัดน่าน” พร้อมด้วยท่านพระครูพิทักษ์นันทคุณ เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและอดีตประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา โดยมีคุณสำรวย ผัดผล เป็นประธาน)
          วันที่ 23 ไปประชุมที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ) พร้อมด้วยนายแพทย์สาธารณสุขอำเภอหลายอำเภอ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองน่าน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานีอนามัยที่คณะฯได้ไปเยี่ยมศึกษา ตัวแทนประชาคม ฯลฯ รับฟังการนำเสนอ และหารือเรื่อง การจัดการข้อมูลระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนการสร้างสุขภาวะอย่างบูรณาการและประเด็นที่เกี่ยวข้อง
          ความคิดเห็นของผมอันเนื่องจากการไปเยี่ยมศึกษาหารือครั้งนี้
          1. ประทับใจในความตั้งใจมุ่งมั่นและความเข้มแข็งสามารถของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลและการพัฒนาสุขภาวะในพื้นที่ของตนอันได้แก่
                   (1) ฝ่ายประชาชน โดยเฉพาะที่ตำบลน้ำเกี๋ยน ที่ตำบลศรีษะเกษ และเครือข่ายฮักเมืองน่าน (จังหวัดน่านได้รับการประเมินโดย UNDP ในปี 2546 ว่าเป็นจังหวัดที่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ)
                   (2) ฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลตำบล และเทศบาลเมือง
                   (3) ฝ่ายราชการส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และสถานีอนามัย (ตำบล)
          2. เรื่องที่น่าจะได้รับการพิจารณาดำเนินการต่อไป คือ “การจัดการข้อมูลและความรู้เพื่อการพัฒนาสู่สุขภาวะอย่างบูรณาการ” ซึ่ง “คำสำคัญ” (Key Words) ที่เกี่ยวข้องสามารถแยกได้ดังนี้
                   · การจัดการข้อมูล
                   · และ(การจัดการ)ความรู้
                   · เพื่อการพัฒนา
                   · สู่สุขภาวะ
                   · อย่างบูรณาการ
          3. ควรพิจารณากำหนด “วัตถุประสงค์” ของการจัดการข้อมูลและความรู้ให้ชัดเจน เช่น
                   · เพื่อการวางแผนและดำเนินการพัฒนาสุขภาวะ ทั้งโดยตรงและผ่านกิจกรรมการพัฒนาในลักษณะอื่นๆ
                   · เพื่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานรวมถึงการให้บริการแก่ผู้อื่น
                   · เพื่อการศึกษาเรียนรู้ รวมถึงการจัดการความรู้
                   · เพื่อการขับเคลื่อนทางสังคมรวมถึงการกระตุ้นจิตสำนึก การสร้างทัศนคติ และการตลาดเชิงสังคม (Social Marketing)
          4. “ระบบข้อมูลและสารสนเทศ” ที่สำคัญ อาจประกอบด้วย
                   · ข้อมูลเกี่ยวกับ “ภาวะ” (อะไร เป็นอย่างไร)
                   · ข้อมูลเกี่ยวกับ “กิจกรรม” (ใคร ทำอะไร)
                   · ข้อมูลเกี่ยวกับ “ทรัพยากร” (อะไร อยู่ที่ไหน)
                   · สารสนเทศที่เป็น “ความรู้” (อะไร ทำอย่างไร)
          5. คำว่า “บูรณาการ” ควรหมายรวมถึง
                   · การบูรณาการ “วัตถุประสงค์” ของการจัดการข้อมูลและความรู้
                   · การบูรณาการข้อมูล / สารสนเทศ / ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
                   · การบูรณาการ “สุขภาวะ” ซึ่งเป็น ผลลัพธ์ที่พึ่งประสงค์ของกิจกรรมการพัฒนา
                   · การบูรณาการ “กิจกรรม” การพัฒนา
                   · การบูรณาการ “ทรัพยากร” ที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมการพัฒนา
          6. ในการที่จะดำเนิน “โครงการการจัดการข้อมูลและความรู้เพื่อการพัฒนาสู่สุขภาวะอย่างบูรณาการ” ผู้สมควรจะเป็น “เจ้าภาพ” หรือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ น่าจะได้แก่ 3 ฝ่ายหลัก ที่เป็น “เจ้าของพื้นที่” หรือเป็นผู้ดูแลพื้นที่ อันได้แก่
                   (1) ภาคประชาชน ซึ่งรวมถึง ชุมชน องค์กรชุมชน ประชาคม และเครือข่ายภาคประชาชน
                   (2) องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบต. เทศบาล และอบจ.
                   (3) ราชการส่วนภูมิภาค ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด


 ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
24 มกราคม 2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13206เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อยากเห็นภาพบ้างครับ ว่าเขาจัดกันยังไงบ้าง

อยากให้ blog เป็นส่วนหนึ่งของระบบพวกนี้ด้วย
น่าจะอยู่ในเรื่อง  "กิจกรรม" หรือ "ความรู้" ได้

     ข้อ 6 ที่อาจารย์เสนอ เหมือนตอกย้ำให้ชัดขึ้นว่าทางที่เดินอยู่น่าจะไม่หลงทิศ "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" เพียงแต่ยังเดินไม่ไปถึงไหนเลยเท่านั้น
ศิษย์เก่าอาจารย์โชคชัย ครับผม

ต้นตำรับการแก้ปัญหาความยากจนโดยการให้การอบรมเกษตรธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือการเลี้ยงหมูแบบเกษตรธรรมชาติ ( หมูหลุม )  ต้นตำรับการเลี้ยงหมูหลุมเจ้าแรกในประเทศไทยคือ อาจารย์โชคชัย  สารากิจ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนายั่งยืนภาคเหนือ เวียงป่าเป้า เชียงราย  ณ สถานที่แห่งนี้เป็นต้นกำเนิดการเลี้ยงหมูหลุมในประเทศไทย จนแพร่หลายทั่วประเทศ อบรมลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมืองในขณะนี้  แต่ว่า...ข้าพเจ้าไม่เห็นมีกลุ่ม/บุคคลไหนที่บอกว่าเรียนมาจากอาจารย์  เห็นแต่ว่าคิดเองทำเองทั้งนั้น   ข้าพเจ้าศิษย์เก่าเห็นแล้วเศร้าใจ

ศิษย์อาจารย์โชคชัย อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน
เป็นศิษย์อาจารย์โชคชัยเหมือนกัน ได้นำความรู้ที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์มาใช้และเกิดเป็นเครือข่ายของอาจารย์ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องหมูหลุมในอ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ก็ถามที่อื่น ๆ ที่เลี้ยงหมูหลุมเขาก็บอกว่าเป็นต้นแบบการเลี้ยงเหมือนกัน ไม่ทราบว่าอยากเป็นต้นแบบเพราะอะไร มันคงจะเท่ห์น่าดู แล้วคุณเอาไปสอนชาวบ้าน คุณมีวัตถุประสงค์อะไรในใจ สุดท้ายขอให้กำลังใจอาจารย์และศิษย์คนอื่นๆ ที่ได้นำความรู้ของอาจารย์ไปเผยแพร่

ผ่านมาเจอ เคยไปอบรมที่ อ.โชคชัย มาแล้วครับ ใครไม่เคยไปก็จะไม้รู้ว่า เยี่ยมขนาดไหน เพิ่งเคยเจอการอบรมแบบนี้ ( เกิดมาตั้งนานนนน ) อยากไปอีกครั้ง ได้ข่าวมาว่าเทคโนโลยีของอาจารย์ update ไปเยอะเลย

อ้าว เข้ามาหาข้อมูลเครือข่ายเพื่อนๆ และวิชาการเรื่องหมูหลุม มาเจอศิษย์พี่ ( หรือว่าศิษย์น้องก็ไม่แน่ใจ ) ตั้ง สอง สามคน โลกมันกลม หรือว่าอาจารย์โชคชัย มีลูกสิษย์แพร่ขยายเต็มบ้านเต็มเมืองก็อาจเป็นได้ ไปอบรมมาเมื่อปี 50 สนุกมาก ไม่เคยหลับ ได้รับในสิ่งที่ไม่คาดว่าจะได้รับ มันเกินความคาดหมายจริงๆ ยืนยันอีกเสียงหนึ่งค่ะว่า อาจารย์เราท่านเยี่ยมยุทธจริงๆ คิดว่า ปี2552 จะพากลุ่มไปเพิ่มเติมอีก ใครที่ผ่านการอบรมมานาน ไปอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท