Self AAR 5


ปีใหม่แล้ว ดิฉันขอถือเป็นฤกษ์ดี ที่จะตั้งต้นทำสิ่งดีๆ ในปีนี้อีกสักครั้ง

คำมั่นสัญญาของชีวิต ในปีนี้ คือ ต้องเป็นผู้มีวินัย ปีนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน  หรือเรื่องส่วนตัว จะไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง จะไม่เลิกล้มโปรแกรมดีๆ เสียกลางคัน เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  การเขียน Blog  การฝึกจิต ไม่นอนดึกเกินไป  ตื่นแต่เช้า ฯลฯ

วันที่ 4 มกราคม  ประเดิมวันแรกของการทำงานด้วยการรับเชิญเป็นวิทยากร เรื่อง การจัดการความรู้ ที่บัณฑิตวิทยาลัย มน.  ทำ สไลด์ ppt. ไปตั้ง 70 กว่าหน้า ด้วยอยากเสนอ idea และอธิบาย KM  ให้เชื่อมโยงกับ QA โดยไม่พยายามให้คำจำกัดความของ KM  ใช้เวลาบรรยายไปทั้งหมด 3 ชั่วโมง  9.00 - 12.00 น. 

ทบทวน แม้รู้สึกว่าผู้เข้ารับฟังให้ความสนใจดี  แต่หูในใจแว่วเสียงท่าน อ.หมอวิจารณ์ว่า เข้าใจยังงัยก็ไม่ซึ้งเท่าการได้ปฏิบัติจริง  และใจเองก็สัมผัสความรู้สึกนั้นได้เช่นกัน คราวหน้า ต้องหาวิธีใหม่ ที่ไม่ใช่ Lecture อย่างเดียว อาจเป็น Lect.+AAR feedback จากผู้ฟัง    

วันที่ 5 - 8 ไป UKM ที่มหาสารคาม ได้บันทึกไว้แล้วใน ความรู้สึกแท้ๆ ใน UKM ครั้งที่ 4/2548 และ AAR ทุกนาที AAR ทุกวิธี : UKM4/48 

วันที่ 9  รับเชิญเป็นวิทยากรร่วม ของหน่วยประกันฯ มน. ในโครงการประชุมวิชาการเรื่อง "แนวคิด หลักการและประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ให้กับตัวแทนจากคณะวิชาและหน่วยงานสายสนับสนุน รวมทั้งผู้สนใจใน มน. ดิฉันก็เอาของเก่าที่ยังไม่เก่ามาก (ของเมื่อวันที่ 4 มค.) มาขายต่อแหละค่ะ  แหม! ใครจะไปคิดอะไรแปลกใหม่ได้ทุกวัน เพียงแต่ครั้งนี้มีเวลาประมาณ 1 ชม. จึงเป็น version Lecture แบบย่อๆ ต่อจากบทนำโดยท่าน อ.วิบูลย์ (ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ มน.) มีคุณบอย สหเวชฯ (คุณอนุวัทย์  เรืองจันทร์ เลขานุการคณะสหเวชฯ) รศ.ดร.อรุณี อ่อนสวัสดิ์ และคุณไพฑูรย์  ช่วงฉ่ำ  มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย

ทบทวน  การทำความเข้าใจเรื่อง KM โดยฟังจากผู้ที่มีประสบการณ์การทำ KM มาบ้างแล้ว ก็เป็นกระบวนการหนึ่งของการจัดการความรู้นั่นอง หรือที่เรียกว่า Peer Assist  น่างงไหมค่ะ  เรากำลังเรียนรู้เรื่อง KM  ด้วยวิธีการ KM 

วันที่ 10 ประชุมกรรมการศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสหเวชฯ  ปีนี้  ทางคณะกะว่าขยายกิจการ ที่เดิมมีเพียงด้านกายภาพบำบัด โดยเพิ่มด้านเทคนิคการแพทย์ (ตรวจเลือด) และรังสีเทคนิค (ตรวจมวลกระดูก) ขึ้นมาอีก 

ทบทวน  เหตุผลสำคัญของการจัดให้มีห้องปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมให้มีโรงฝึกงานจริงๆ ทั้งของนิสิตและอาจารย์  วิชาชีพทางด้านสหเวชศาสตร์เป็นวิชาชีพที่กระทำกับมนุษย์และต้องการทักษะในการปฏิบัติจริง  ส่วนการวิจัยก็ต้องการตัวอย่างจริงๆ  (คนไข้จริง  สารตัวอย่างจริงๆ) ต้องหาทางให้มี case เยอะๆ

วันที่ 12 ประชุม กค. (ประจำเดือนมกราคม) เรื่องแจ้ง เรื่องพิจารณายังคงมีมาก  และประธานยังทำเวลาได้ไม่ดี (เกินเวลามื้อเที่ยง)

ทบทวน  

  • ใช้เวลาประชุมเกิน 3 ชั่วโมง คนประชุมก็เริ่มล้า เหมือนเรียน 3 ชั่วโมงไม่หยุดพัก
  • พัฒนาวัฒนธรรมการประชุม รูปแบบใหม่ คือ
    • ก่อนวาระแจ้งเพื่อทราบ ต้องรายงาน
      • ผลการปฏิบัติตามมติที่ประชุม กค.ที่ผ่านๆ มา (AAR นโยบาย)
      • สถานภาพทางการเงินเดือนล่าสุดที่ผ่านมา (AAR การเงิน)
    • หลังวาระเรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ต้อง
      • รายงานประเมินผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ โดยประธานโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา กค. พิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม (AAR แผน)

วันที่ 13 ประชุมกรรมการร่างหลักสูตร ป.โท ชีวเวชศาสตร์ (ครั้งที่ 3 ตามแผน) หลังจากเดือนที่แล้วสรุปเป้าหมายและกรอบของหลักสูตรได้ลงตัวแล้วว่าจะเดินไปในทิศทางใด (เน้นทางห้องปฏิบัติการ) การพิจารณาลงรายละเอียดก็เป็นเรื่องง่ายๆขึ้นมาก

ทบทวน การตั้งเป้าหมาย เป็นหลักการที่ดีที่สุดในการเริ่มดำเนินงานทุกเรื่อง

วันที่ 16 

  • ประชุมกรรมการรวบรวมประกาศของคณะฯ (เป็นกรรมการตั้งใหม่) ประมาณ 1 ชั่วโมง มีคุณอนุวัทย์เป็นพ่องานใหญ่ ต่อด้วย
  • ประชุมกรรมการจัดทำฐานข้อมูลคณะฯ (เป็นกรรมการตั้งใหม่) ประมาณ 1 ชั่วโมง มีอาจารย์ธันยวีร์  เพ็งแป้น เจ้าแม่ IT ของคณะสหเวชฯ เป็นแม่งานใหญ่ 
  • ดีเดย์  มาตรการการประหยัดค่าโทรศัพท์ของคณะ ด้วยการจำกัดการโทรไปยังมือถือจากเครื่องโทรศัพท์ภายใน (โทรศัพท์มือถือ ภัยมืดดูดเงินที่เงียบเชียบที่สุด  อย่าเผลอ!!)

ทบทวน 

  • เมื่อครอบครัวเริ่มเติบใหญ่ขึ้น  สมาชิกมากขึ้น กฏ ระเบียบต่างๆ ก็มากตาม ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ กฎเกณฑ์ไม่ควรมีมากนัก  ตั้งกฎมากเกินไป ก็ลืมเอง พอลืมก็ไม่ได้ทำตามกฎ  วนเวียนอยู่เช่นนี้
  • ก่อนที่จะมีฐานข้อมูลที่ใช้ง่าย เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะฉะนั้นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์นี้ขึ้นมาได้ อย่าลืมรางวัลอย่างงาม 

วันที่ 17  สัมภาษณ์เพื่อรับอาจารย์ใหม่ของสาขากายภาพบำบัด (อ.มัทนา) จบโทมาจาก UCL ประเทศอังกฤษ เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดในเด็ก  โชคดีที่มีครอบครัวอยู่พิษณุโลก คุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสม  ไชโย..  อาจารย์ในสาขานี้ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 9 ท่านแล้วในปีนี้  (ลาเรียนเอก 2 ท่าน)

ทบทวน  การปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ /เจ้าหน้าที่ใหม่ของคณะ จะต้องปรับปรุงให้เป็นระบบมากขึ้น องค์กรเล็กๆ อย่างคณะสหเวชฯ ตอนนี้อาจไม่มีปัญหามากนัก ที่ปฏิบัติกันมาแต่ต้น ก็คือการพบคณบดีเพื่อรับทราบนโยบายสำคัญของคณะฯ  พบหัวหน้าภาค เพื่อพาแนะนำสถานที่ต่างๆและบุคลากร ส่วนเจ้าหน้าที่บุคคลก็จะมอบเอกสารสำคัญที่ควรทราบให้ไปศึกษาเพิ่มเติม  ครั้งต่อไป เมื่อมีอาจารย์มาใหม่  จะรวมเป็นรุ่นแล้วจัดปฐมนิเทศให้เป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้     

วันที่ 18 ไปประชุมที่กองประกอบโรคศิลปะ เกี่ยวกับสาขาวิชาทัศนมาตร ซึ่งทาง ม.ราม เปิดเป็นหลักสูตร 6 ปี เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่เปิดสาขานี้ในปัจจุบัน และนิสิตชั้นปีที่ 6 รุ่นแรกกำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีหน้า (ประมาณ 5 คน)  ม.รังสิต มีความสนใจที่จะเปิดหลักสูตรนี้เช่นกัน  ปัญหาเกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพ และมาตรฐานของหลักสูตร ยังไม่ชัดเจน ถ้าสหเวชฯ มน.จะทำ คงต้องคิดหนัก เพราะขาดทั้งสถานที่ และครุภัณฑ์ ไม่รวมว่าต้องหาอาจารย์มาอีก

ทบทวน  มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ที่ยากยิ่งของการเปิดสาขาวิชาที่เป็นวิชาชีพเฉพาะคือ การหาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาสอน  และยังไม่นับรวมถึงครุภัณฑ์ สถานที่ และแหล่งฝึกงานอีกนานัปการ 

วันที่ 20 - 22  พิธีซ้อมรับปริญญาบัตรของบัณฑิตที่จบการศึกษา ปีการศึกษา 2547 คณบดีก็ต้องซ้อมขานชื่อ และอื่นๆ ด้วย

วันที่ 21  17.30 - 21.00 น. คณะฯ จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่บัณฑิต ณ เวทีกลางแจ้ง มน. ท่านรองฯ ฝ่ายกิจการนิสิต : อ.นพดล  จำรูญ โต้โผใหญ่ ไปสรรหาการแสดงของ นร.รร.อนุบาลโรจนวิทย์ มาให้ชมกันด้วย น่ารักมากๆๆ เด็กๆอนุบาล กล้าแสดงออกกันตั้งแต่เล็ก คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ต่างช่วยกันส่งเสริมให้กำลังใจ  นิสิตรุ่นน้องก็ตั้งใจเตรียมการแสดงมาเพื่อพี่บัณฑิต  พี่ๆ บัณฑิตก็สมนาคุณด้วยการรวบรวมสตางค์เป็นทุนสำหรับซื้อเครื่องดนตรีให้ชมรมดนตรีของน้องๆในคณะฯ  นับเป็นแบบอย่างที่ดี ที่น่าสรรเสริญ ปีนี้ชมรมศิษย์เก่าสหเวชฯ เริ่มมีกรรมการเป็นบัณฑิตที่จบตั้งแต่รุ่นแรก  ความเป็นชมรมเริ่มชัดเจนเป็นลำดับ

ทบทวน  ผู้ที่มาร่วมฉลองเป็นจำนวนมากที่สุด และรับประทานอาหารกันจนพุงกาง ก็คือ ยุง

วันที่ 23  วันรับปริญญาของ มน. รายละเอียด ดูใน วันรับปริญญา มน. ปี 49 

วันที่ 25  พวกเรายกขบวนผู้บริหารของคณะเกือบทุกท่าน ทั้งรองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าภาคทุกภาค ไปสวัสดีปีใหม่กับท่านนายกเทศมนตรีเมืองพิษณุโลก (คุณเปรมฤดี  ชามภูนุช) แม้ไม่ได้พบท่านนายกเปรมฯ เพราะท่านติดประชุมอีกงาน  ก็มีท่านรองนายก นายแพทย์สุธี   ฮั่นตระกูล  คอยต้อนรับอย่างอบอุ่น  เป็นงานแรกที่เราเริ่มออกชุมชนสัมพันธ์  และไปเยี่ยมชมศูนย์สุขภาพชุมชนของเทศบาลทั้ง 4 มุมเมืองด้วย

ทบทวน  มหาวิทยาลัยและชุมชน สามารถประสานประโยชน์ร่วมกันได้ มหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างจังหวัด ได้เปรียบอยู่แล้วในเรื่องนี้หากเทียบกับคนในเมืองหลวง 

วันที่ 27   ท่าน อ.วิบูลย์ ส่งตัวดิฉันไปแทนท่านในการเข้าร่วมประชุม UKM Bussiness meeting ครั้งแรกของปี 49  (เพราะท่านติดภารกิจสำคัญ) ซึ่งครั้งนี้  มอ. โดยท่าน อ.พิชิต เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย ต่อจากมหาวิทยาลัยมหิดล ดิฉันได้ทำ AAR กิจกรรมของ UKM ตลอดปี 48 ที่ผ่านมา ดังนี้

  • ความคาดหวังในการร่วมเป็นสมาชิก UKM
    • หวังจะได้ต่อยอดความรู้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้ามมหาวิทยาลัย ในทุกๆด้าน
    • หวังจะได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคลากรต่างมหาวิทยาลัย ในแวดวงต่างๆ
  • สิ่งที่ได้เกินคาดหวัง
    • เรื่อง Blog เป็นเรื่องเกินคาด ที่ช่วยทำให้ Model ปลาทูในส่วนหางปลาสมบูรณ์ ในเชิงปฎิบัติ
  • สิ่งที่ได้ต่ำกว่าคาด
    • ไม่มี
  • ข้อเสนอแนะในกรณีที่จะดำเนินเครือข่าย UKM ต่อไป
    • ปรับปรุงให้การประสานงานระหว่างกลุ่มสมาชิกเครือข่าย มีความราบรื่น ชัดเจน ก่อนถึงวันพบปะกันจริง
    • ตกลงกันให้ชัดเจน ถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะใช้สื่อสารกันเกี่ยวกับ UKM  ว่าเรื่องอะไรจะสื่อสารกันด้วย WEBSITE เรื่องอะไรจะสื่อสารกันด้วย Blog
    • กำหนดหัวปลาในการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ UKM แต่ละคราวให้ชัดเจนเป็นการล่วงหน้า และแต่เนิ่นๆ
    • มหาวิทยาลัยที่รับเป็นเจ้าภาพจัด เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ UKM ในแต่ละคราว ควรยึดหลัก จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทุกครั้ง  โดยเจ้าภาพมีอิสระที่จะจัดในรูปแบบใดใดก็ได้
    • UKM Bussiness meeting ไม่ควรจัดขนานไปกับกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ UKM ในแต่ละคราว เพราะกรรมการจะพลาดโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเรียนรู้กระบวนการ KM

ยังมีรายละเอียดในการประชุมร่วมกันอีกมาก คาดว่าทาง มอ. คงจะสรุปให้ทราบในเร็ววันนี้

วันที่ 30  ท่านรองอธิการบดีฝ่ายแผนฯ (ดร.สำราญ   ทองแพง) ส่งตัวดิฉันไปเข้าร่วมเจรจา เรื่องเกณฑ์ในตัวชี้วัดของ กพร. เพื่อตั้งค่าเป้าหมายในปีงบประมาณ 49 ที่ รร.เอเชีย  กทม. ร่วมกับคุณเบิร์ด (คุณธงชัย แสงจันทร์) และคุณกระป๋อง (คุณธนวรรธน์  ยอดบุรี) ความจริงเป็นเพียงตัวชี้วัดเดียวในมิติที่ 1 ของ กพร.เฉพาะผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของ สมศ. (น้ำหนักมากหน่อย  25%) และผู้ที่เจรจาด้วยก็คือ สมศ. ไม่ใช่ กพร.

ทบทวน  

  • นี่ปาเข้าไปเกือบครึ่งปีงบประมาณ 49 แล้ว  เพิ่งจะมาเจรจาต่อรองตั้งเกณฑ์การประเมินกัน  ดิฉันอยากให้มีการประเมิน สมศ. หรือ กพร. บ้างจัง 
  • ที่น่าประทับใจ คือ ท่านอธิการบดี มอ. ทั้งท่านเดิม (ที่เพิ่งหมดวาระ) กับท่านใหม่ (ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง) มาเจรจาในส่วนของ มอ. ทั้งสองท่าน  แว่วว่า ต่อรองเก่งจริงๆ แหม! เสียดาย ถ้าท่านอธิการของ มน. และท่านรองแผนฯ ของดิฉัน ไม่ติดภารกิจ งานนี้ มน. ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันแน่ๆ
คำสำคัญ (Tags): #ukm#km#self#aar
หมายเลขบันทึก: 13115เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วเห็นว่า เป็นสุดยอด self AAR เลยครับ

มี อ. สมลักษณ์ คอยให้กำลังใจเช่นนี้ ความตั้งใจในปีนี้ที่จะประพฤติตนให้อยู่ในร่องในรอย ของ Blog คงเป็นความจริงแน่แท้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท