หมอบ้านนอกไปนอก(7):เรียนรู้ตลอดชีวิต


ตอนแรกผมคิดว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับเศรษฐานะและความมีหน้ามีตาในสังคมเท่านั้น แต่พอโตขึ้นสิ่งที่สำคัญยิ่งใหญ่กว่าของการเรียนรู้และการอ่านหนังสือก็คือการยกระดับตัวเราเองจากไม่รู้เป็นรู้ จากรู้น้อยเป็นรู้มาก ความไม่รู้ทำให้คนถูกเอารัดเอาเปรียบ

(7):เรียนรู้ตลอดชีวิต

ชีวิตของเด็กบ้านนอก สมัยผมส่วนใหญ่จบชั้นปอสี่ ก็ออกมาทำไร่ทำนากันแล้ว แต่ก็มีบางคนที่พ่อแม่พอมีเงินส่งเรียนหนังสือต่อได้ ก็จบมาเป็นครู ผมดูแล้ว รู้สึกว่าจะทำงานสบายกว่าการทำไร่ทำนา พ่อแม่ผมทำไร่ปีหนึ่งเหลือเงินไม่ถึงสองหมื่นบาท และก็ต้องเป็นหนี้เถ้าแก่ที่รับซื้อพืชไร่ ที่ให้เอาเงิน เอาปุ๋ย เอาเมล็ดพืชไปใช้ก่อนแล้วหักเงินปลายปีบวกกับดอกเบี้ยที่มากพอดูและตราชั่งที่แก่กว่าปกติ แม้เราจะรู้ว่าถูกเอาเปรียบ เราก็ไม่มีทางเลือก ปีหนึ่งเราขายถั่วเหลืองได้ 1 ครั้ง และขายฝ้ายหรือถั่วแขกได้ 1 ครั้ง ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3 เดือน ก็ว่างงาน ต้องยืมเงินสำรองเถ้าแก่มาใช้ก่อน ส่วนครูก็ได้เงินเดือนทุกเดือน

ที่เปรียบกับครูเพราะในหมู่บ้านไม่มีอาชีพรับราชการอื่นๆให้เทียบนักและครูถือเป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้เกียรติเคารพและนับถือมาก ผมก็เลยคิดในใจว่า ถ้าไม่อยากเหนื่อยมากแต่รายได้น้อยและถูกเอาเปรียบแบบพ่อแม่ก็ต้องเรียนหนังสือ ทำให้ผมตั้งใจเรียนและอ่านหนังสือมาตลอดจนติดเป็นนิสัย

ตอนแรกผมคิดว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับเศรษฐานะและความมีหน้ามีตาในสังคมเท่านั้น แต่พอโตขึ้นสิ่งที่สำคัญยิ่งใหญ่กว่าของการเรียนรู้และการอ่านหนังสือก็คือการยกระดับตัวเราเองจากไม่รู้เป็นรู้ จากรู้น้อยเป็นรู้มาก ความไม่รู้ทำให้คนถูกเอารัดเอาเปรียบ

การเรียนรู้ทางสำคัญที่จะทำได้คือการอ่านหนังสือ การฟังผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาก่อนเล่าประสบการณ์ให้ฟัง การเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน ไปดูเขาทำงานทำไร่ทำนาแล้วลองทำฝึกไปกับเขาด้วยและอีกทางหนึ่งคือการศึกษา

หลังจากจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2535 แล้ว ผมก็กำหนดทิศทางชีวิตที่ตนเองจะก้าวไปโดยมุ่งหวังที่จะทำงานในโรงพยาบาลอำเภอซึ่งจะหนีการเป็นผู้บริหารหรือเป็นผู้อำนวยการไม่พ้น เราจึงต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม จากการเรียนรู้งานในขณะทำงานแล้ว ผมคิดว่า ถ้าเราจะเป็นผู้บริหารให้ดี เราต้องถูกหล่อหลอมมาให้เป็นผู้บริหารด้วย และนั่นคือการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้และจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เราอ่านหนังสือเรียนเนื่องจากต้องสอบ สถาบันที่จะช่วยผมได้โดยไม่ต้องลาไปเรียนคือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ มสธ. มหาวิทยาลัยเปิดที่ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยดีเด่นระดับโลก

มีเพื่อนหลายคนบอกว่า ทำไมต้องไปลงทะเบียนเรียน ซื้อหนังสือมาอ่านก็เหมือนกัน แต่ผมว่ามันไม่ใช่ ผมเรียนรู้จากการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำมหาวิทยาลัย ผมหัดว่ายน้ำเป็นเองทุกท่าทั้งฟรีสไตล์ ผีเสื้อ กรรเชียงและกบ โดยหัดจากแม่น้ำยม ตอนแข่งว่ายน้ำปีแรก ผมว่ายได้เร็วก็จริง แต่ท่าไม่ดี ทำให้เปลืองแรงมาก พอมาเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย มีโคชคอยสอน ทำให้ผมเรียนรู้วิธีการว่ายให้เร็วโดยใช้แรงไม่มาก เรียนรู้แทคติคต่างๆ ที่ไม่มีเขียนในตำรา เรื่องการเรียนก็เช่นกันประสบการณ์ของอาจารย์ที่สอนที่ไม่ได้เขียนไว้ในหนังสือก็มีค่ามาก ผมก็เพิ่งเข้าใจว่าความรู้มีอยู่สองแบบคือความรู้ในตำรา (Explicit knowledge) กับความรู้ในตัวคน (Tacit knowledge)

ผมเลือกเรียนการบริหารรัฐกิจ (Public Administration) เพื่อจะเก็บเกี่ยวความรู้ด้านการบริหารภาครัฐไปใช้ในการบริหารโรงพยาบาลรัฐบาล ผมเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ (ไม่ใช่รัฐศาสตร์) เอกบริหารงานบุคคล โดยเน้นการบริหารคน ตามที่อาจารย์หมอเกษม เคยสอนไว้ว่าต้องเก่งงาน (ซึ่งผมคิดว่าการเป็นแพทย์ที่ได้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของผมน่าจะพอเพียงในการทำงานในโรงพยาบาลอำเภอแล้ว) เก่งคน และเก่งชีวิต เป็นหลักสูตร 3 ปี ผมจบได้ รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (BPA) ในปี 2539 แต่ไม่ได้ไปงานรับปริญญาเนื่องจากมีแพทย์อยู่คนเดียว ไม่มีใครมาอยู่โรงพยาบาลแทน  

ก่อนจบหลักสูตรจะมีวิชาฝึกที่จะทำให้นิสิต มสธ.ที่จะจบพร้อมกัน สาขาเดียวกันในปีนั้นๆได้พบปะเจอะเจอกัน ได้รู้จักกับมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดคือวิชาประสบการณ์วิชาชีพบริหารรัฐกิจ มากินนอนร่วมกับเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย 6 วัน ได้ร้องเพลงมหาวิทยาลัย เล่นเกมส์ สร้างสัมพันธ์และรู้จักอาจารย์ในสาขาวิชา มีการเรียนเพื่อฝึกประสบการณ์โดยแบ่งเป็นห้องย่อยๆห้องละ 25-30 คน ตอนนั้นห้องผมมีอาจารย์วิรัช วิรัชนิภาวรรณ เป็นอาจารย์ประจำกลุ่ม อาจารย์น่ารักมาก สอนแบบผู้ใหญ่ อาจารย์พาผมกับเพื่อนๆ 5-6 คนไปทานอาหารด้วย อาจารย์มีความเป็นตัวของตัวเองมาก ขยัน ทำงานเร็ว มีความรับผิดชอบสูงและสนุกสนาน อาจารย์บอกว่า อาจารย์ตั้งสนามกุลใหม่โดยใช้ชื่อแฟนกับชื่ออาจารย์มาเป็นนามสกุลคือวิรัช กับ นิภาวรรณ กลายเป็นนามสกุล วิรัชนิภาวรรณ ผมไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นแพทย์ ทำให้เพื่อนๆพูดคุยกับผมได้อย่างไม่เกรงใจ ไม่ได้เรียกว่าหมอ ตอนแนะนำตัว ผมบอกแค่ว่าทำงานอยู่อำเภอแม่พริก เพื่อนๆก็ไม่ได้ถามเพิ่มและก็คิดว่าผมทำงานบนอำเภอเป็นปลัดอำเภอ อะไรทำนองนี้ ผมก็ไม่ได้โกหกอะไร อีกทั้งหน้าตาท่าทางผมก็ไม่ค่อยเหมือนหมออยู่แล้ว ตอนเรียนที่เชียงใหม่เวลาไปทำกิจกรรมนอกคณะ เพื่อนๆยังไม่ค่อยเชื่อว่าผมอยู่คณะแพทย์ ต้องเอาบัตรนักศึกษาให้ดู จึงจะเชื่อกัน บางคนคิดว่าผมอยู่คณะเกษตร บางคนคิดว่าผมอยู่คณะวิศวะหรือคณะศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ค่อยมีนักศึกษาแพทย์มาร่วมกิจกรรมนอกคณะมากนัก

เพื่อนในห้องจึงเรียกผมว่า เชฐ เฉยๆ ไม่มีคำว่าหมอเชฐ ผมก็รู้สึกสบายๆดี ไม่เกร็ง สนุกสนานเฮฮา ได้เต็มที่ เพราะคำว่าหมอ บางทีอาจทำให้คนอื่นๆคาดหวังว่าเราต้องเอาจริงเอาจัง เคร่งขรึม แต่ผมไม่ใช่ ก่อนกลับหนึ่งวัน เพื่อนคนหนึ่งไม่สบาย ผมพาไปที่ห้องพยาบาล มีพยาบาลหนึ่งคน กำลังทำแผลที่นิ้วให้คนงานก่อสร้างของมหาวิทยาลัยอยู่ แผลค่อนข้างใหญ่ เขาก็ไม่กล้าเย็บแผล ผมก็เลยบอกว่า ผมจะจัดการให้ ให้เขาไปช่วยจัดยาให้เพื่อนผม ผมใช้เวลาครึ่งชั่วโมงเย็บ ตกแต่งแผลเสร็จ ทั้งพยาบาลทั้งคนไข้ก็ขอบคุณผม พอกลับมาห้องเรียน ความลับก็เลยแตก ทั้งชั้นก็เลยรู้ว่าผมเป็นหมอ จากที่เคยเรียกว่าเชฐ ก็กลายเป็นหมอเชฐ ไปทันทีทันใดเลย ในชั่วโมงที่เรียนจบผมได้แต่งกลอนเกี่ยวกับชื่อของเพื่อนๆทุกคนในห้องแล้วเขียนเป็นเฟรนด์ชิพให้เพื่อนๆทุกคนในห้อง เป็นที่ประทับใจมาก

การฝึกอบรมเข้มใน มสธ. เป็นกิจกรรมที่ผมชอบมากและเป็นเหตุดลใจให้ผมเรียนต่อสาขาอื่นๆอีก การฝึกอบรมเข้มทำให้ผมได้แนวทางของนักบริหารเพิ่มมาอีก 1 คำจากที่อาจารย์หมอเกษมสอนก็คือเก่งงาน เก่งคน เก่งชีวิต ได้เพิ่มเก่งคิดเข้าไปด้วย เป็น Conceptual skill ที่สำคัญมากเช่นกันสำหรับผู้บริหารผมเลือกเรียนสาขานิเทศศาสตร์ต่อทันที ในชีวิตการทำงานเป็นแพทย์ทักษะการสื่อสารสำคัญมากที่จะต้องคุยกับผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจตรงกัน บทบาทของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนต้องมีการสอน การให้สุขศึกษา และบทบาทผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ต้องสื่อสารกับชาวบ้าน หน่วยงานอื่นๆและสื่อมวลชนให้ได้ดี ผมจึงเลือกเรียนสาขานี้ โดยเลือกวิชาเอกประชาสัมพันธ์ สาขานี้มีวิชาฝึก 2 วิชา ที่จะต้องไปใช้ชีวิตร่วมกันในมหาวิทยาลัยคือวิชาประสบการณ์นิเทศศาสตร์และวิชาการผลิตสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ทำให้ผมสามารถเขียนข่าวเป็น เขียนบทความได้ เรียนรู้การใช้สื่อมวลชนต่างๆ การทำจดหมายข่าว ซึ่งส่งผลให้ช่วงหนึ่งผมได้ไปร่วมจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับสุขภาพได้โดยที่มีคนติดตามฟังมาก โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกับผมในรายการทุกวันที่ไปจัด ผมใช้เวลาเรียน 2 ปีครึ่งก็จบได้รับปริญญานิเทศศาสตรบัณฑิต ตอนอบรมเข้มผมมีอาจารย์ประจำกลุ่มที่น่ารัก ใจดี เป็นกันเองคืออาจารย์สุภาภรณ์ ศรีดี

ในการทำกลุ่มผมจะเน้นกับเพื่อนๆเสมอว่าอย่าซีเรียสแล้วก็ห้ามเลิกหลังสามทุ่ม ผมเห็นบางกลุ่มเลิกกลุ่มเที่ยงคืนตีหนึ่ง ผมว่ามันโหดไป กลุ่มเราเลิกเร็ว วางแผนดี แบ่งงานดี ประมาณสองทุ่มครึ่งก็เลิกกลุ่มได้แล้ว

หลังจากนั้นผมก็สมัครเรียนสาขาวิทยาศาสตร์สุภาพต่อ ในวิชาสาธารณสุขศาสตร์ เอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อนำหลักการต่างๆมาทำเรื่องความปลอดภัยของคนทำงาน แต่ที่หวังมากคือเรื่องการประยุกต์ใช้ในเรื่องความปลอดภัยทางการเกษตร (Farm Safety) แต่ก็ยังไม่กล่าวถึงมากนัก ยังเน้นในโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ ผมจบได้รับสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตภายใน 1 ปีครึ่ง ตอนอบรมเข้มก่อนจบผมได้อาจารย์ประจำกลุ่มที่น่ารัก เป็นกันเอง ใจดี ชื่ออาจารย์ปีติ พูนไชยศรี เป็นที่ประทับใจมากเช่นกัน ผมมาคิดดูแล้ว ผมโชคดีตลอดในชีวิตเจอแต่คนดีๆ ทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียนและเรื่องครอบครัว

การที่เราจะเรียนจบได้เร็วในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนั้นไม่ยาก ข้อแม้สำคัญคือต้องไม่ตกเลย เพราะถ้าตกจะเสียเวลาไป 1-2 เทอม และต้องรู้จักการเทียบโอนวิชาในหลักสูตร เนื่องจากผมเรียนต่อเนื่องกัน สาขาหลังๆวิชาพื้นฐานที่ซ้ำกันก็ไม่ต้องเรียนขอโอนได้เลย และสามารถลงเรียนวิชาสัมฤทธิบัตรได้อีก 3 วิชาต่อเทอม พอจบแล้วก็นำไปโอนเข้าในหลักสูตรปริญญาตรีได้ แต่ก็ต้องอ่านหนังสือมากหน่อย ผมก็ทำแบบนี้ทำให้จบได้เร็ว แต่วิชาฝึกประสบการณ์จะต้องเรียนในเทอมสุดท้ายของการจบการศึกษาเท่านั้น

ผมมีความใฝ่ฝันอีกอย่างหนึ่งคือการบูรณาการแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนไทยเข้าด้วยกัน ก็ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า ตอนนี้ผมมีความรู้เรื่องแพทย์แผนปัจจุบันพอสมควร แต่ขาดความรู้เรื่องแพทย์แผนไทย ผมก็ไปดูหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิตของ มสธ. มีเรียนสำหรับคนที่จบอนุปริญญาหรือสอบได้เภสัชกรรมแผนโบราณหรือ บ.ว. ผมก็เลยเอาหลักสูตรนั้นมาลงเรียนสัมฤทธิบัตร ทั้งหมด 13 วิชา ตอนนี้เก็บได้ 4 วิชา รอผลสอบอีก 3 วิชา น่าจะรู้ผลภายในเดือนนี้ จริงๆแล้วประกาศผลไป 5 วิชา แต่ผมสอบตกไป 1 วิชา เป็นครั้งแรกในชีวิตที่สอบตกคือวิชาเวชกรรมแผนไทย เป็นวิชาที่ยาก ต้องอ่านเยอะมาก ผมต้องเดินทางบ่อยทำให้อ่านได้ไม่เต็มที่ กะว่ากลับจากเบลเยียมจะไปลงเพิ่มเติมและสอบวิชานี้ให้ผ่าน คิดเอาเองว่า ถ้ามีความรู้ทั้งสองด้านทั้งไทยและฝรั่ง น่าจะพอบูรณาการได้ง่าย ถ้ารู้ด้านเดียว อีกด้านรู้ไม่มากก็เกรงว่าจะเอนเอียงโดดเด่นไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่แมทช์กันจริง นี่เป็นนิสัยอย่างหนึ่งของผมคือจะทำอะไรต้องรู้มากพอที่จะทำได้ ถ้าจะเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงแบบเตรียมพร้อม หาทางหนีทีไล่ไว้ด้วย

ผมเรียนรู้กับ มสธ.เยอะมาก เกิดความรักความผูกพันในสถาบันไม่น้อยกว่าที่เรียนในมหาวิทยาลัยปิด เป็นโอกาสทางการศึกษาของคนจำนวนมาก ตำราของ มสธ.อ่านเข้าใจง่าย การที่ผมเรียนได้ปริญญาหลายใบนี่ อาจถูกมองว่าบ้าเรียน มัวแต่เรียน ไม่ค่อยทำงาน แต่โชคดีที่ผลการทำงานในหน้าที่รับผิดชอบที่ผ่านมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และผมเองทำงานมา 14 ปี ไม่เคยใช้เวลาราชการไปเรียนเลย ครั้งที่มาเบลเยียมนี่เป็นครั้งแรกที่ลาเรียน 10 เดือน

การพัมนาตนเองในทางการแพทย์ ก็พยายามไม่ให้อยู่นิ่ง ผมไม่ได้ลาเรียนต่อเฉพาะทางด้านการแพทย์ เพราะส่วนหนึ่งผมคิดว่า ผมมีตำราเรียนเล่มใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาลและพื้นที่อยู่แล้ว ทำงานไป เรียนรู้ไป อบรมเพิ่มเติมปีละ 1-2 ครั้ง เจอปัญหา เจอโรคก็อ่านหนังสือเพิ่มเติม ค้นคว้าเพิ่มเติม หรือปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางสาขานั้นๆ

พอจบได้ 4 ปี ผมก็สมัครสอบวุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป การสอบก็สอบพร้อมๆกับแพทย์ประจำบ้านที่เรียนทางด้านนี้ 3 ปีในโรงเรียนแพทย์ แต่ผมเรียนในโรงพยาบาลชุมชน ผมสอบผ่านในปี 2540 ได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านเวชกรรมสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า บอร์ดหรือแพทย์เฉพาะทาง สาขาหนึ่ง ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนชื่อและเพิ่มแนวคิดทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเข้าไป เรียกเป็นแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว เลิกใช้คำว่าเวชปฏิบัติทั่วไปแล้ว ในอังกฤษและออสเตรเลียยังใช้คำว่าเวชปฏิบัติทั่วไปอยู่หรือGeneral practitioner ส่วนอเมริกา แคนาดาใช้คำว่าเวชศาสตร์ครอบครัวหรือ Family physician

ในปี 2544 ผมจึงต้องสอบบอร์ดอีกครั้งเพื่อจะได้รับอนุมัติบัตรเวชศาสตร์ครอบครัว หลังจากทำงานในโรงพยาบาลชุมชนได้ 5 ปี ในปี 2541 ผมก็สมัครสอบอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขได้ในปี 2550 ก่อนเดินทางมาเบลเยียม ผมก็สมัครสอบอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงสุขภาพจิตชุมชน ได้อีกสาขาหนึ่ง

คำว่า วุฒิบัตร หมายถึง การที่แพทย์ได้เรียนในสถานที่เปิดเรียนสอนที่ทางแพทยสภาอนุมัติจนครบตามหลักสูตรแล้วสอบผ่าน ส่วน อนุมัติบัตร หมายถึง การที่แพทย์ได้ทำงานในสาขานั้นๆเป็นเวลาตามที่แพทยสภากำหนด ส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ส่งคุณสมบัติให้ผ่านการพิจารณาและสอบผ่านแล้ว ทั้งสองบัตรนี้มีศักดิ์เท่ากัน คือ ก.พ.ให้เทียบเท่าปริญญาเอก

ความรู้ทางการแพทย์ก้าวเร็วมากควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แพทย์จึงต้องอ่านหนังสือตลอดเวลาและไม่มีใครอ่านหรือติดตามได้ทั้งหมด จึงต้องแบ่งออกตามความถนัด แพทย์ไม่ได้หมายถึงต้องทำการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่สามารถไปทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพและรวมทั้งเป็นผู้รักษาหรือดูแลระบบสุขภาพของชุมชน สังคมด้วย ดังนั้น การรักษาครอบครัว ชุมชนหรือสังคม ก็ยังคงเป็นหมอเหมือนกัน 

ผมรักษาคนไข้เป็นคนๆมาหลายปี ก็รู้สึกว่าตรวจคนไข้ด้วยโรคเดิมๆอยู่ ก็เลยจะปรับตัวเองไปรักษาทั้งระบบบ้าง เหมือนกับปลาในอ่างน้ำป่วยตายจากน้ำเป็นพิษ ถ้ามัวแต่รักษาให้ยาปลาเป็นตัวๆ ก็คงแก้ปัญหาได้ยาก เราต้องเปลี่ยนน้ำที่เป็นพิษนั้นออกไปแล้วใส่น้ำใหม่ที่เหมาะสมต่อการมีชีวิตอยู่ของปลา ปลาส่วนใหญ่ก็จะอยู่รอดได้ อันนี้เป็นมุมมองที่ผมชอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ดูแลรักษาปลาเป็นรายตัว ไม่สำคัญนะ ใครชอบหรือถนัดแบบไหนก็ทำแบบนั้น ทำตามความถนัดของแต่ละคน ตามความสามารถของแต่ละคน แต่ภายใต้เป้าหมายร่วมอันเดียวกัน

การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ บางคนเรียนแต่ไม่รู้ก็มี การเรียนรู้จะต้องดำเนินการไปตลอดชีวิต เป็น Lifelong Learning ตามกระบวนการเรียนรู้ของการจัดการความรู้ ต้องเรียนรู้หลายๆวิธี จะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ทั้งความรู้ในตำราและความรู้ในตัวคนได้

ทั้งนี้กระบวนการเรียนรู้ต้องผ่านขั้นตอนของการนำเอาข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ที่พบเห็น ได้เจอมาประมวลผล จัดหมวดหมู่ ให้สามารถบอกอะไรเราได้ เห็นภาพบางอย่างได้ชัดขึ้นบ้างจนได้เป็นข่าวสารหรือสารสนเทศ แล้วนำสารสนเทศนั้นมาวิเคราะห์ เชื่อมโยง สังเคราะห์ได้เป็นความรู้ขึ้นมา หลังจากนั้นก็นำความรู้นั้นไปปฏิบัติจริงเพื่อจะได้รู้ว่าทำอย่างนี้ ได้อย่างนั้น ทำอย่างนั้นได้อย่างนี้ สำเร็จได้อย่างไร ล้มเหลวจากอะไร เกิดเป็นปัญญา ขึ้นในตัวคนๆนั้น นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง ถ้ารู้แต่ทฤษฎี ไม่ได้ลงมือปฏิบัติก็เป็นแค่การเรียน เป็นครึ่งเดียวของการเรียนรู้

เมื่อคืนได้คุยกับลูกชาย น้องแคนอยู่ชั้นปอห้า เล่าให้ฟังว่า ได้เขียนเรียงความส่งครู ผมก็ขอให้ลูกพิมพ์ส่งอีเมล์มาให้ คุณแม่เอ้ก็เลยจัดการส่งมาให้ ผมก็ชื่นชมว่าลูกมีความคิดที่ดีสามารถเรียงความออกมาได้ น่าสนใจ ดังนี้ครับ 

ชีวิตพอเพียงของครอบครัวฉัน

ครอบครัวของฉันอยู่กันอย่างมีความสุขและประหยัดอดออมฉันอยู่กับพ่อ แม่ ย่า และน้องอีก 2 คน  ถึงจะใช้จ่ายกันแต่ละคนก็ไม่มากนัก  แต่ว่าฉันและครอบครัวก็ช่วยกันประหยัดอย่างมาก  ฉันได้ค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 15 บาท  ฉันฝากออมทรัพย์วันละ 5 บาท  กินขนมวันละ 10 บาท  ฉันใช้ไฟอย่างประหยัดและน้ำด้วย  ฉันปลูกผักไว้กินเองและวิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น  เพราะเราควรทำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เราจะได้อยู่กันอย่างพอเพียง                                          

เด็กชายพชร  บัญญัติ                                         

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5                                         

โรงเรียนอนุบาลรอดบำรุง

อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก 

บันทึกนี้ เขียนมายาวมาก เสร็จช้าเพราะเขียนตั้งแต่เมื่อเช้า พอดีก่อนเที่ยง เจ้าของบ้านเช่าได้มาที่บ้าน ตั้งแต่มาอยู่ก็เพิ่งพบกัน ชื่อจอร์จส ลาเน่นมากับภรรยา ลูกสาวและสามีพร้อมหลานอีกสองคนอายุ 6 ขวบกับสี่ขวบ เขาพักอยู่อีกเมืองหนึ่งห่างไปราว 100 กิโลเมตร ขับรถประมาณ 1-3 ชั่วโมง ได้คุยรายละเอียดและลงนามสัญญาเช่ากันเรียบร้อย เขาน่ารักมากทั้งคู่ ผมกับพี่เกษมได้คุยกับเขาและช่วยเขายกของ เขาพาไปดูห้องใต้ดิน เป็นห้องเก็บไวน์ที่มีอายุนานมากและให้ไวน์เรามา 1 ขวด ปี 1989 ได้คุยกันอยู่นานเลย ตอนนี้บ่ายสองโมงแล้ว เริ่มหิว ผมหุงข้าว พี่เกษมทำกับข้าว ต้องขอตัวไปทานอาหารกลางวันก่อน แล้วก็รีบทำการบ้านส่งครูพรุ่งนี้ สวัสดีครับ 

พิเชฐ  บัญญัติ

บ้านพัก Verbondstraat 52

Antwerp, Belgium

13.55 น. (18.55 น. เมืองไทย)

16 กันยายน 2550

หมายเลขบันทึก: 128816เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2007 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดี ค่ะคุณหมอ ....

ไม่ทราบว่า ยังพอจำ กันได้ไหม
เข้ามาอ่าน เรื่องยาว ๆ ของคนไกล
ขอยกให้ ได้เป็นคน คงแก่เรียน

มาวันนี้ ท่านนั้นอยู่ ถึงเบลเยี่ยม
สุดยอดเยี่ยม ท่านเปี่ยมล้น ชอบค้นหา
ไปเติมเต็ม เร่งเรียนรู้ ดูวิชา

สิบเดือนหนา ลาเมืองไทย ไปไม่นาน
ขอคุณหมอ สุขสนุก ทุกวันผ่าน
ให้เบิกบาน สดโปร่งใส  สบายสมอง

ได้เรียนรู้ ทุกสิ่งอย่าง ที่อยากลอง
ได้จับต้อง ทุกสิ่งของ ที่อยากเรียน

....เป็นกำลังใจให้คุณหมอค่ะ....

สวัสดีค่ะ

  เข้ามาขอบคุณกับมิตรภาพ ที่ส่งมาให้ ได้รับเรียบร้อยแล้ว และขอส่งมิตรไมตรี ที่อบอุน ให้กับคุณหมอเช่นกัน เส้นทางระหว่างเราเป็นเส้นทางเดียวกัน คือทำงานเพื่อมวลชน ระยะทางเป็นแค่ตัวเลข และทางนี้ไม่มีทางแยกออกไปไหนอีกเลยค่ะ

 

ขอขอบคุณ มิตรไมตรี ที่มีให้

 

แม้อยู่ไกล เหมือนได้ชิด สนิทเสมอ

 

กำลังใจ จากมวลมิตร ใกล้ชิดเธอ

        

ไม่มีเผลอ ใจรักไทย ให้มวลชน

 

บนเส้นทาง ไม่ร้างเพื่อน หมั่นเตือนจิต

 

ปรับชีวิต ปรับจิตใจ ได้ฝึกฝน

 

หมั่นเรียนรู้ วิทยา ยกค่าตน

 

ปิติล้น ล้ำลึกใน ใจเปรมปรีดิ์

 

ขอวิงวอน พรสวรรค์ ช่วยสรรค์สร้าง

 

แผ้วถางทาง ให้คนดี มีสุขศรี

 

ปวีณา ตันติราพันธ์ นั้นแสนดี

 มอบกลอนนี้ จากใจ ให้เธอเอย
  • ติดใจเลยตามมาอ่านอีกค่ะ
  • หว้ารหัส 32 จริงๆค่ะ 
  • รู้สึกดีจังกับบันทึกนี้   หว้าเคยคิดว่าจะลงเรียนมสธ.เหมือนกันค่ะ  แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองยุ่งๆเลยเลิกล้มความตั้งใจ  แต่เห็นพี่(ขอเรียกแบบนี้ละกัน) แล้ว   ถ้ารู้จักแบ่งเวลาเราก็สามารถเรียนได้นะคะ
  • เห็นเรียงความที่ลูกชายพี่เขียนแล้ว  ไม่แปลกใจเลยค่ะ  เพราะเขาได้รับการหล่อหลอมที่ดีจากพี่นี่เอง...

ตามเข้าไปอ่านบล๊อคของอ.ลูกหว้าแล้วครับ และก็เข้าไปอ่านประวัติด้วย จนถึงตอนสุดท้ายว่าไว้ ดังนี้

อิอิ......ขอบอกว่ารักคนที่ทนอ่าน

 จนจบทุกคนค่ะ แสดงว่ารักกันจริง

ขอมอบความรักให้กับทุกท่าน  เมื่อรับรัก

ไปแล้วเรามาเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้

กันนะคะ

และก็ยินดีมากกับน้องมหาวิทยาลัย ลูกช้างคนเก่งครับ

บันทึกของคุณหมอมีคุณค่ามากครับ ทั้งที่เป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ผมอ่านแล้วมองกลับมาที่ตนเองทุกครั้ง

ขอบคุณครับ

ดิฉันเพิ่งอ่านบันทึกของคุณหมอ ด้วยเคยเป็นชาวสาธารณสุข ออกทำงานวิจัยด้านวางแผนครอบครัว ต้องติดต่อกับ รพอ สสจ สสอ และสอ เคยต้องไปขอที่พักใน รพอ  ดิฉันพูดถึงสมัยคุณหมอมรกตยังเป็นผอ.กองด. นานมากเลยค่ะ

อ่านเรื่องคุณหมอแล้วชื่นชมในความสำเร็จที่มาจากความขยัน พยายาม มานะอดทน และความโชคดี ขอให้คุณหมอประสพความสำเร็จในหน้าที่การงานค่ะ(คุณหมอกระแส นะคะ)

ดีใจมากค่ะ ที่ได้อ่านบันทึกของพี่จนครบ

รู้สึกดีมากๆค่ะ

พี่เชฐรักษาสุขภาพด้วยนะคะ

(มันอยู่ที่ใจ)

ขอบคุณน้องโบมาก สบายดีนะครับ ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ไหนเอ่ย ประโยคที่ว่า "มันอยู่ที่ใจ" เราใช้กันบ่อยมาก ตอนออกค่ายอาสา

ตอนหน้าพี่จะเล่าประสบการร์ตอนออกค่าย พอช. เข้ามาร่วมแจมได้เลยนะ

ขอให้น้องโบมีความสุขในการทำงานและในชีวิตครอบครัวด้วยครับ

 ไม่ไปเรียนแล้วสอบวุฒิบัตรได้ด้วยเหรอ

น่าจะเป็นอนุมัติบัตรเวชปฏิบัติทั่วไปมากกว่านะ

แต่อ่านแล้ว ก็ยอมรับเลย

ว่าหมอมีความพยายามและใฝ่สูงมาก ๆ

อนาคตจะก้าวหน้าแต่น่าจะถ่อมตัวให้เป็น 

สุดท้ายฝากข้อคิดจากนักการตลาดและประชาสัมพันธ์

ไว้ให้เอาไปคิดซักนิด 

 "การประชาสัมพันธ์นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง  และเพื่อประโยชน์ของประชาชน

หาไม่แล้วก็เป็นเพียง   การโฆษณาชวนเชื่อ   (Propaganda)  เพื่อประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น"

 

 

 

สวัสดีครับคุณChaiya

               ขอบคุณมากนะครับสำหรับข้อคิดเห็นที่แตกต่างและข้อคิดเห็น ข้อเตือนใจดีๆที่แนบมาด้วย

               สำหรับเรื่องการสอบวุฒิบัตรเวชปฏิบัติทั่วไป ตอนนั้นยังไม่มีเวชปฏิบัติครอบครัวนั้น จะมีการสอบสองแบบคือสอบอนุมัติบัตรสำหรับคนที่ทำงานอยุ่ในโรงพยาบาลที่ไม่แบ่งแผนก เช่นโรงพยาบาลชุมชน ครบ 5 ปี ส่วนอีกทางคือสอบวุฒิบัตร สำหรับหมอที่เรียนต่อเฉพาะทางด้านนี้ 3 ปี และสำหรับคนที่ทำงานในโรงพยาบาลที่ไม่แบ่งแผนกไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยไม่ได้เรียนต่อที่โรงเรียนแพทย์หรือสถาบันฝึกอบรม แต่ต้องทำผลงานย้อนหลังในเรื่องการให้บริการ 3 ปี และทำผลงานวิชาการในสาขาสูติ-นรีเวช ศัลยศาสตร์-ออร์โธ-วิสัญญี อายุรกรรม และกุมารเวชกรรม 4 สาขาๆละ 1 เรื่อง อาจเป็นวิจัย review literature หรือ case study ก็ได้ รวมแล้วเป็น 4 เรื่อง ส่งเอกสารทั้งหมดให้แพทยสภาเพื่อให้กรรมการสอบบอร์ดพิจารณา ถ้าผ่านก็ได้สอบวุฒิบัตรครับผมใช้หลักเกณฑ์ในส่วนหลังนี้ในการสอบวุฒิบัตรครับ

            ส่วนเรื่องที่เล่ามาก็ใช้แนวทางของการจัดการความรู้ในส่วนของเรื่องเล่าเร้าพลังในการนำเสนอ คือ พูดเรื่องจริงที่ประสพมาด้วยตัวเองในอดีต ครับ  

ถึงคุณหมอ ศิษย์รัก

อ่านพบบล็อคนี้โดยบังเอิญ เพราะใช้ google หาบทความของตัวเอง ที่เคยขึ้นเว็บไว้ แต่ต้นฉบับเดิมได้หายไป รู้สึกภูมิใจกับลูกศิษย์ตัวโตคนนี้มากๆ จำได้ว่า ช่วงที่คุณหมอเข้าอบรม ก็เป็นคนที่น่ารัก เพื่อนๆ ก็รักคุณหมอทุกคน พอกลับไปแล้ว ปีใหม่ทุกๆ ปี คุณหมอก็ส่งบัตรอวยพร ส.ค.ส. ให้ครูไม่เคยขาด นับว่าเป็นผู้ที่มีจิตกตัญุตา แม้จะได้พบและเรียนกับครูเพียงช่วงสั้นๆ จึงขอชื่นชมด้วยความจริงใจ

ในช่วงนี้ ที่สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ.ของเรา กำลังปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่ และจะมีมุมของศิษย์เก่าดีเด่น จึงอยากให้คุณหมอเข้ามาอยู่กับพวกเราตรงนี้ด้วย ครูจะยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ

เมลที่ให้ไว้ ออนตลอดที่เปิดคอม เพราะมีลูกศิษย์ตัวโต ทั้งป.ตรี ป.โท และอีกไม่นาน ก็จะมี ป.เอก อีก ทุกคนต้องการคำแนะนำในยามเดือดร้อนทั้งสิ้น (แต่ตอนเป็นสุข จะคิดถึงครูมั้ยเอ่ย) คุณหมอแวะมาคุยได้เสมอนะคะ

อ.สุ

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ศรีดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท