ความยากจนในสังคมไทยและภาคเกษตรกรรม(๑๖): ปัญหาจากระบบการศึกษาของไทยที่ถูกมองข้าม


จากบทความของท่านครูบาสุทธินันท์ เรื่อง “ยากที่จะหากำไรจากปัญญา” ที่สะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย ที่ครูบาได้สรุปประเด็นปัญหาที่ยังมิได้อธิบายถึงสาเหตุ ว่าทำไม
  หัวข้อนี้ผมได้แรงบันดาลใจจากบทความของท่านครูบาสุทธินันท์ เรื่อง ยากที่จะหากำไรจากปัญญา ที่สะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย ที่ครูบาได้สรุปประเด็นปัญหาที่ยังมิได้อธิบายถึงสาเหตุ ว่าทำไม 
  • การสอนจึงเน้นหนักไปทางภาคทฤษฎี ทั้งที่การจะเป็นมืออาชีพได้นั้นต้องเรียนเพื่อให้ทำเป็น
 ผมขอเพิ่มเติมว่า เพราะ อาจารย์ที่สอนก็มีความรู้อยู่แค่นั้น และอาจารย์ส่วนใหญ่ในสายวิชาการก็เรียนมาแต่ทฤษฎีไม่เคยปฏิบัติ แล้วจะสอนทักษะได้อย่างไร  เท่าที่ผมเคยเห็น ยังมีอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน ยังบอกจดเหมือนเด็กประถม และนักศึกษาก็ชอบ เพราะไม่ต้องคิดมาก จดตามคำบอกไปเรื่อยๆ ได้เนื้อหาครบถ้วนดี เวลาสอบ ก็มีกาถูกผิด เลือก ก ข ค ง (อ้างว่าตรวจง่าย) วัดว่าใครเลือกได้ตรงกับที่อาจารย์บอกจด หรือบรรยายไว้ หรือตรงกับเอกสาร ก็ถือว่าสอบผ่าน  แล้วจะเอาทักษะมาจากไหนครับ นอกจากทักษะการจด การท่องจำ และการตอบข้อสอบ ใครทำได้ดีก็ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ไม่ดีก็รองๆลงมา  
  • เมื่อจบไปแล้วจะต้องอาศัยทักษะชีวิตอย่างมาก แต่ด้านนี้เด็กๆได้เรียนกันน้อยมาก มีการสอนนิดหน่อยพอเป็นกระสายยา จบออกมาหางานยาก เพราะไม่รู้จริงสักอย่าง หน่วยงานต่างๆต้องเสียเวลาไปอบรมอีกหลายครั้ง 
 ผมขอเพิ่มเติมว่า ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยายในสังคมไทย เพราะมีให้เลือกอยู่แค่นั้น มีแค่จะรับหรือไม่รับ ดังนั้นส่วนใหญ่จะไม่สนใจความรู้ที่เรียนมา เพราะต่างคนก็ต่างไม่มี ไม่แตกต่างกัน การพิจารณาเลือกจึงเน้น แวว ส่วนตัวที่จะนำมาพัฒนาต่อในเนื้องานที่รับผิดชอบ 
  • ทั้งๆที่หลักสูตรที่ละภาควิชาเปิดสอนนั้นผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี ถึงได้รับการอนุมัติมาบรรจุในภาควิชาต่างๆ
 ผมขอเพิ่มเติมว่าหลักสูตรก็เป็นเรื่องหนึ่ง การสอนของอาจารย์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่า คิดใหม่ ทำเหมือนเดิม นี่เป็นภาวะปกติของการ พัฒนา หลักสูตร (เอกสาร) แต่ไม่จำเป็นต้อง พัฒนา เนื้อหา และ วิธีการ สอน (ความรู้ และทักษะ) เพราะเขาอ้าง เสรีภาพของระบบการสอน (Academic freedom) คนอื่นไม่เกี่ยว และในทางปฏิบัติเราก็ไม่ประเมินประเด็นนี้กัน เพราะถือว่า ยาก ใช้เวลา และ กระทบกระทั่งกันได้ง่าย 
  • แต่ในความเป็นจริงแล้วสถานการณ์มันเปลี่ยนไป ถ้าภาควิชาไม่ยกเครื่องอยู่เรื่อยๆ วิชาความรู้ก็จะตกรุ่นได้ เกิดวิกฤติศรัทธานักศึกษาไม่สนใจเรียน จำนวนลดลงๆไปทุกปี

 ผมขอเพิ่มเติมว่า นี่คือสาเหตุที่มาของการพัฒนาหลักสูตร สร้างภาพกันไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คนสอนยังเป็น เดิมๆ ก็มักจะไม่มีอะไรเปลี่ยน  ที่เปลี่ยนก็อาจเป็น ชื่อวิชา และ ชื่อหลักสูตร แต่เนื้อใน ส่วนใหญ่จะคงเดิม แบบ เหล้าเก่า ในขวดเก่า แต่ สลากใหม่ ราคาใหม่ ครับ 

·        ต่อไปภาควิชาไหนนักศึกษาเอาไปทำมาหากินไม่ได้โดยตรงจะอยู่ยาก ถ้าผู้เรียนหารายได้หรือหากำไรจากวิชาความรู้ของตนเองไม่ได้ มีหวังหายหน้ากันไปทีละรายสองราย   

ผมขอเพิ่มเติมว่าข้อนี้ตรงความจริงเกือบทั้งหมด ที่ชื่อสาขาที่เรียนจะทำให้หางานยากง่าย กว่ากัน แต่ในประเด็นวิชาความรู้ นั้น ไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ เพราะ เขาวัดกันที่ สอบผ่าน ไม่ได้วัดกันที่ความรู้ 

  • เด็กเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อยากเรียนสบายๆไม่ต้องฝึกงาน ขอให้แต่สอบผ่านได้กระดาษจบไปถึงไร้ฝีมือก็ไม่เป็นไร

 ผมขอเพิ่มเติมว่าข้อนี้ตรงกับความจริง เกือบ ๑๐๐%  ผมแทบจะไม่เคยเห็นนักศึกษาที่สนใจความรู้ นอกจากวิชาบังคับแล้ว ส่วนใหญ่จะลงเรียนวิชาอะไรก็ได้ที่ได้คะแนนง่ายๆ เกรด A B เป็นหลัก บางวิชาที่เป็นวิชา แจกเกรดจะมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนเป็น ๑๐๐๐ คน จากทุกคณะ แม้เปิดภาคฤดูร้อน ก็ยังลงเต็มห้องทุกภาคการศึกษา จะเรียนหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่จะได้ A หรือ B กันเป็นส่วนใหญ่  ผมเคยถามเหตุผลอาจารย์ที่สอนและให้คะแนนแบบนี้ เขาบอกว่าเป็นการช่วยให้นักศึกษาจบ เป็นการให้โอกาสคนไปพัฒนาตัวเองในภายหลัง 

 

  • ถ้าประเมินได้ความจริง โอกาสที่โรงเรียนจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นย่อมมีโอกาสสูงมาก เพราะทุกคนรับรู้ร่วมกัน จะช่วยเหลือร่วมมือกันแก้ไข ควรตรวจจุดสำคัญที่สุดคือตัวเด็ก ว่าเรียนอย่างไร อยู่ในสภาพใด ได้รับบริการอย่างไร จัดการเต็มที่แล้วหรือยัง

 ผมขอเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้ยังต้องฝันอีกนานเพราะ ส่วนใหญ่จะเน้นประเมินเอกสาร แม้จะฟังจากผู้เรียน ก็จะมีตัวจริงที่รู้ว่าควรจะเป็นอย่างไร ไม่กี่คน เขาจะกล้าพูดไหม  และถ้าเป็นต่างฝ่ายต่างรับประโยชน์นั้น จะไม่มีใครปริปากแน่นอน 

 

นี่คือ ปัญหาที่ผมพบอยู่ในระบบการเรียนการสอน (ไม่ใช่การ ศึกษา) ระดับสถาบันอุดมศึกษา

แล้วเราจะเอาอะไร ไปแข่งกับคนอื่น ที่เขากำลังพัฒนาอย่างจริงจัง

ดีนะ ที่เรายังมีการศึกษานอกระบบที่สามารถพยุงระบบ "การศึกษา"ที่อ่อนแอนี้ไว้

 ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ในเชิงการเกษตร (ที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน) และภาคธุรกิจที่เขาจะทำเล่นๆ ไม่ได้

นอกนั้น ที่ยังทำเล่นๆ อยู่อย่างนี้ ก็ยากจนกันต่อไปก็แล้วกันนะครับ
หมายเลขบันทึก: 128597เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2007 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

อ่านบันทึกนี้ก็คิดถึงนักวิชาการสายปรัชญาและศาสนา ...

เวลาบ้านเมืองหรือโลกมีเหตุการณ์เป็นที่สนใจทั่วๆ ไป ... มักไม่ค่อยเห็น สื่อ ไปสัมภาษณ์นักวิชาการสายนี้...

อีกความเห็นหนึ่ง คล้ายๆ กับว่า นักวิชาการสายนี้อาศัยอยู่บนหอคอยงาช้าง กระท่อมน้อยกลางป่าลึก หรือเกาะกลางทะเล แล้วก็คิดอะไรไปตามประสาท่าน....

เมื่อคำนึงว่า นักวิชาการสายนี้เน้นความเป็นนักคิดโดยเฉพาะ เมื่อท่านเหล่านี้ไม่ออกมา ก็น่าจะไร้ค่าในการลงทุนทางการศึกษาของประเทศ หรือการศึกษาสายนี้ไม่ได้ผล.......... ประมาณนั้น

ก็เข้ามาร่วมบ่นกับอาจารย์ ทำนองเทียบเคียง....

เจริญพร 

 

กราบนมัสการท่านมหาชัยวุธ

ผมก็ว่าอย่างนั้นแหละครับ

วิบากกรมของคนไทยที่มีช้างมาก ก็เลยเหลือเฟือที่จะมาทำหอคอยกันได้ไม่มีวันหมด

การลงทุนตรงนี้

สูญเปล่าแน่นอน ก็ยังไม่ปรับวิธีคิด

ผมจึงเคยเสนอแบบบ้าๆ ว่า

ให้ยุบกระทรวงศึกษาแล้วตั้งใหม่สักปีละครั้ง

สักสิบปี

แบบไล่ออกคัดเข้าใหม่ทุกครั้ง

ผมว่าน่าจะดีขึ้น เป็นลำดับ

ตอนนี้ กลุ่มคนที่ทำลายระบบการศึกษาก็ยังเสวยสุขลอยนวล

แล้วเราจะไปพึ่งใครได้

คงต้องบ่น และฝันไปเรื่อยๆละครับ

สวัสดีครับอาจารย์

         ผมแวะเข้ามาทักทาย และกำลังเห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์ครับ   ปัญหาการเรียนการสอนตอนนี้เป็นเรื่องที่ผมชักไม่แน่ใจว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยกำลังเดินทางไปในแนวถูกต้องเพียงใด หันมามองนักศึกษาแล้ว ก็ถามตัวเองว่า  กำลังของชาติที่กำลังเดินอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นกองกำลังที่เข้มแข็งแค่ไหน จะนำพาชาติไปอย่างไร เพราะเรากำลังหลงว่า นี่คือหนทางแห่งคุณภาพที่แท้จริง 

            เรากำลังวัดอะไรกันอยู่ครับอาจารย์

P
ผมคิดว่าเราวัดกระดาษกันครับ
ว่าใครทำเปื้อนแล้วรวมมาได้มากกว่ากัน
ข้างในก็งั้นๆ ใครก็รู้ว่ามีอะไร
การเอาอนาคตของชาติไปล้อเล่นนั้น
ควรได้รับโทษสถานใด ครับ

เราจะต้องร่วมมือกัน ดำเนินการอย่างจริงจัง เราจะไม่ล้มเหลว ตราบใดที่เราไม่ล้มเลิก และเราจะไม่ล้มเลิกด้วยครับ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท