หมอบ้านนอกไปนอก(6):แพทย์ชนบทดีเด่น


ผมว่าคนเรา ถ้าเปิดใจ ไม่เห็นแก่ตัว เห็นคุณค่าของคนอื่น ช่วยคนอื่นด้วยใจ อยู่ที่ไหน ทำงานกับใคร ก็ไม่มีปัญหา

                 (6):แพทย์ชนบทดีเด่น

                     ช่วงที่อยู่บ้านตาก 10 ปี สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ พัฒนาหลายๆอย่างได้ด้วยปัจจัยเอื้อมากมาย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ประสบการณ์พิ่มเติมและได้รับความภาคภูมิใจหลายๆอย่างเข้ามาในชีวิตทั้งในส่วนตัวและโรงพยาบาล            

                     อยู่บ้านตากได้ 3 ปี ทาง สสจ.ตากได้ส่งชื่อเพื่อคัดเลือกแพทย์ดีเด่นของศิริราชพยาบาล อาจารย์ได้มาดูที่โรงพยาบาลและก็ได้เกียรติบัตรผู้มีผลงานดีเด่นในชนบท ปีต่อมาก็ได้อีก แต่ยังไม่ใช่แพทย์ดีเด่นของปีนั้นๆ ทาง สสจ.ตากจะส่งชื่อผมอีก ผมก็บอกขอไม่ส่งแล้ว เพราะได้รางวัลหรือไม่ได้ก็ทำงานเต็มที่อยู่แล้ว

                  พอมาปี 2547 ทางนายอำเภอบ้านตากชื่อนายพัลลภ ศรีภา ที่ผมได้ทำงานร่วมกับท่านทั้งงานสาธารณสุขและงานอื่นๆของอำเภอ ได้ส่งชื่อผมไปให้กับมูลนิธิแพทย์ชนบทและทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่ผมเรียนท่านว่าผมขอไม่ส่งไป ท่านบอกว่าการเสนอชื่อเป็นเรื่องของท่านและให้ผมทำเอกสารสรุปผลงานไปให้ท่าน ผมก็ทำไปแบบธรรมดาๆ ท่านก็ตีกลับมาขอข้อมูลและให้ทำใหม่ ให้ใส่รูปผลงานไปด้วย ผมเคารพและศรัทธาท่านมาก ก็ไม่อยากขัดใจ ก็ทำส่งไปให้ใหม่ ปรากฏว่า พอคณะกรรมการมาคัดเลือกทั้งสองรางวัล ก็ได้ตัดสินให้ผมได้รับรางวัล

                     แพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร มูลนิธิแพทย์ชนบท มีคณะกรรมการจากมูลนิธิแพทย์ชนบท มาพิจารณาที่โรงพยาบาล หนึ่งในกรรมการคือพี่สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ท่านก็ชมว่าผลการดำเนินงานและการพัฒนาโรงพยาบาลและชุมชนโดดเด่นมาก ตอนหลังที่ผมได้รับรางวัลแล้ว ท่านเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ท่านก็ได้พาทีมงานทั้งใน สสจ. โรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอมาดูงานด้วย ปี 2547 ผมได้รับรางวัลร่วมกับพี่ซุลกิฟลี ยูโซะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น พี่เขาน่ารักมาก เป็นคนดีมาก เป็นมุสลิม สนิทกันมากหลังจากไปเที่ยวที่คุนหมิงด้วยกัน ยังติดต่อกันทุกวันนี้ ผมดูแล้วเรื่องศาสนาไม่ใช่อุปสรรคของมิตรภาพเลย อีกคนที่มารุ้จักทีหลังก็เป็นมุสลิมชื่อพี่อั๋นหรืออนุชิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนที่ปัตตานีอีกคนที่น่ารักมาเช่นกัน เพิ่งได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร มูลนิธิแพทย์ชนบท ปี 2550 พร้อมกับหมอธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งธวัชชัยเคยเป็นแพทย์ประจำอยู่กับผม 1 ปี ก็เป็นคนน่ารัก นิสัยดีเช่นกัน ก่อนมาเบลเยียมผมได้มีโอกาสไปปัตตานี ได้พบกับพี่ซุลกิฟลี ได้คุยกันพักใหญ่เหมือนกัน พี่ซุลยังคงน่ารัก เป็นกันเองอยู่เหมือนเดิม

               ตอนรับรางวัล ผมรับโล่รางวัลจากอาจารย์หมอมรกต กรเกษม ตอนนั้นท่านเป็นประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท ตอนหลังผมก็ได้มีโอกาสใกล้ชิดอาจารย์จากการที่ไปเป็นทีมงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามอาจารย์หลายครั้ง อาจารย์เป็นคนดีที่น่ารักมาก

                  หลังจากนั้นประมาณ 4 เดือน ผลการประกาศรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี 2547 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ประกาศผลว่า ผมได้รับรางวัล วันที่ไปรับรางวัลก็มีครอบครัวไปด้วย ผมได้กล่าวปาฐกถาอุดม โปษกฤษณะ ในเรื่อง ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้หลักการ (อ่านได้ในบันทึกก่อนๆครับ) ได้รับความสนใจมาก หลังจากนั้นก็มีหนังสือพิมพ์ วารสารและรายการทีวีมาสัมภาษณ์หลายรายการ การเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราจะต้องรู้จักวางตัวมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด จะได้ไม่เสียชื่อรางวัลเขา ก็ทำให้สุขุมรอบคอบมากขึ้น จนต้องเตือนตัวเองเสมอว่า ต้องกล้าที่จะผิดพลาด หากเป็นการทำสิ่งดีๆในงาน เนื่องจากเราอาจพบกับความล้มเหลวได้มากกว่าความผิดพลาด ถ้ากลัวเสียชื่อ กลัวล้มเหลว เราก็จะไม่กล้าทำสิ่งใหม่ กลายเป็นติดอยู่ในกับดักความสำเร็จไปได้ ถ้าเป็นนักกีฬาก็จะมีประโยคหนึ่งที่ว่า การเป็นแชมป์ยาก แต่การรักษาแชมป์ยากกว่า อันนี้สอดคล้องกับที่พ่อเคยสอนไว้ว่า จงเป็นดั่งเกลือรักษาความเค็ม และ ต้นตรงปลายตรง ก็คือทำความดีเป็นคนดีเสมอต้นเสมอปลาย หรือเคยปฏิบัติกับคนอื่นๆดีอยางไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้นไปตลอด ไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีตำแหน่งหรือมีทรัพย์สินมากขึ้นหรือน้อยลง เราก็ยังคงเป็นเรา

                 ในปีเดียวกันนี้ ตอนจัดงานประชุมวิชาการสาธารณสุขที่จังหวัดภูเก็ต ก็ได้มีการคัดเลือกบุคลากรสาขาต่างๆของกระทรวงให้ได้รับโล่รางวัล คนดีศรีสาธารณสุข ผมก็เป็นหนึ่งใน 18 คนที่ได้รับรางวัลด้วย โดยผู้ที่คิดรางวัลนี้ขึ้นมาคืออาจารย์หมอจรัญ อดีตรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุขในปีนั้น

                 ในปี 2545 ผมก็ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ระดับ 6-8 ได้รับเกียรติบัตรพร้อมครุฑทองคำจากนายกรัฐมนตรีด้วย

                ตอนที่ทีมงานผู้ประเมินของศิริราชมาประเมินที่โรงพยาบาล อาจารย์บอกแต่วันที่ แต่ไม่บอกเวลา ตอนพักเที่ยงอาจารย์ก็มากัน 6 ท่าน มาเดินดูโรงพยาบาลในภาพรวมทั้งหมด พอบ่ายโมงอาจารย์ก็มาคุยด้วยบอกว่า โรงพยาบาลหมอนี่สะอาดจริงๆ ไม่มีผักชี ทั้งด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาล มีคำถามจากอาจารย์ว่า ผมจะอยู่โรงพยาบาลชุมชนไปนานแค่ไหน ผมบอกอาจารย์ว่าผมคงตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่คิดจะไปไหน ยังสนุกกับงานที่บ้านตากอยู่ และอีกคำถามหนึ่งก็คือภายใน 5 ปี จะเล่นการเมืองไหม ผมตอบได้อย่างมั่นใจเลยว่าไม่เล่น สำหรับผมแล้วการรักษาคำพูดเป็นเรื่องงสำคัญมาก ผมจะไม่รับปากอะไรถ้าผมไม่มั่นใจ แต่ถ้าผมรับปากไปแล้ว ผมก็จะต้องทำให้ได้

                ตอนรับรางวัลที่ศิริราช หลังจากผมกล่าวปาฐกถาจบ อาจารย์หมอปิยสกล คณบดี ได้มาพูดกับผมว่า เป็นปาฐกถาที่ดีมาก

                 หลังจากได้รับรางวัลแล้ว มีรูปและประวัติผมลงหนังสือพิมพ์มติชน พี่ศิริ เป็นเจ้าของร้านถ่ายเอกสารที่บ้านตากได้ถ่ายเอกสารเอามาติดที่หน้าร้านแก ทุกวันนี้รูปนี้ก็ยังอยู่ เราสนิทกันมากเหมือนกัน พี่ศิริเป็นคนน่ารัก ตอนผมปิดคลินิก แกบอกว่า ถ้าผมไม่สบายแล้วผมจะไปหาใครล่ะ ผมก็บอกว่าไปที่ไหนก็ได้ คอนหลังแกก็ไม่บ่นอีกเลย ตอนที่น้องตุ๊กตาลูกสาวพี่ศิริจะสอบเข้าเรียนพยาบาลหลังจบชั้น ม. 6 พี่เขาก็โทรมาปรึกษาผม ผมก็ให้คำปรึกษาไป ก็เลยยิ่งมีมิตรภาพที่ดีต่อกันมาก ผมว่าคนเรา ถ้าเปิดใจ ไม่เห็นแก่ตัว เห็นคุณค่าของคนอื่น ช่วยคนอื่นด้วยใจ อยู่ที่ไหน ทำงานกับใคร ก็ไม่มีปัญหา

          ที่จังหวัดตาก มีหมอที่ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นหลายคน ได้แก่พี่วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ได้รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบททั้งของมูลนิธิแพทย์ชนบทและของศิริราชพยาบาลได้รับก่อนผมหลายปี พี่กนกนาถ พิศุทธกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอดได้รับรางวัลแพทย์สตรีดีเด่น พี่รณไตร อายุรแพทย์ที่โรงพยาบาลแม่สอดได้รางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภา พี่วิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์ แพทย์ระบาดวิทยา โรงพยาบาลแม่สอดได้รางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสมาคม ล่าสุดปีนี้หมอธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของมูลนิธิแพทย์ชนบท ส่วนอีกคนที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลอำเภอชายแดนมานาน มีการพัฒนาโรงพยาบาลที่ดีมาตลอด แต่ไม่ยอมให้ใครเสนอชื่อเข้ารับรางวัลเลยคือพี่จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยกาโรงพยาบาลแม่ระมาด ทำงานในชนบทมายี่สิบกว่าปีแล้ว

            รางวัลที่ผมได้รับ เป็นผลจากการทำงานอย่างเต็มที่ ต่อเนื่องร่วมกับทีมงานโรงพยาบาลบ้านตาก ภายใต้การสนับสนุนของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานที่เป็นหน่วยงานในอำเภอบ้านตาก รวมทั้งผู้ที่มาบริจาคให้กับโรงพยาบาลทุกท่าน จึงน่าจะเรียกว่ารางวัลทีมงานพัฒนาสาธารณสุขชนบทดีเด่น ด้วย

               สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ผมชอบอ่านประวัติพี่ๆแพทย์ดีเด่น ศึกษาวิถีชีวิต การปฏิบัติตัว การทำงานของพี่ๆ เช่น อาจารย์ประแส ชนะวงศ์ อาจารย์ประเวศ วะสี อาจารย์ไพจิตร ปวะบุตร และแพทย์ชนบทอื่นๆอีกหลายท่าน นอกจากนี้ผมชอบเข้าไปที่ห้องสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการพัฒนาชนบท การพัฒนาชุมชน และชอบเช่าหนังสือนิยายที่เกี่ยวกับชีวิตหมอบ้านนอกมาอ่าน รู้สึกว่าช่วยสรางแรงบันดาลใจได้ดีมาก เช่น เกิดเป็นหมอ หมอเมืองพร้าว ดาบในเสื้อกาวน์ เขาชื่อกานต์ กระท่อมไม่ไผ่ ถนนลูกรัง หรือชีวิตของเด็บ้านนอกยากจนหรือด้อยโอกาสที่พยายามพัฒนาตัวเอง เช่น เกิดแล้วต้องสู้ เป็นต้น ทำให้เกิดพลังในการพัฒนาตัวเองและกำลังใจในการเรียนและการทำงานมาก

               ผมมีความเชื่อว่า การทำความดี เปรียบเสมือนการสร้างแสงให้กับตัวเองดุจดังดาวฤกษ์ที่สามารถส่องแสงในตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอแสงจากดาวดวงอื่นมาส่องให้สว่างเหมือนดาวเคราะห์ การพัฒนาตนเองจะช่วยทำให้เราสามารถส่องแสงโดยตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาส่องแสงให้ จึงไม่ต้องไปคอยเลียแข้งเลียขาใครหรือซื้อตำแหน่งเมื่อต้องเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ เพราะคุณความดีในตัวจะช่วยให้เราส่องสว่างจนผูใหญ่มองเห็นได้

               ก่อนจบบันทึกนี้ ก็ได้นึกถึงเพลงเพื่อมวลชน ของวงกรรมาชน ที่เคยร้องตอนออกค่ายอาสาพัฒนา “ถ้าหากฉันเกิดเป็นนก ที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกลๆแสนไกล จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี... ถ้าหากฉันเกิดเป็นเมฆบนนภา จะนำพาความร่มเย็นสู่ท้องนา หากฉันเกิดเป็นเม็ดทราย จะน้อมกายปูทางเพื่อมวลชน ชีวายอมพลีให้ มวลชน ผู้ทุกข์ทน ขอพลีตน...”

 พิเชฐ  บัญญัติ

บ้านพักที่ Verbondatraat 52,

Antwerp, Belgium

23.45 น. (04.45 น. เมืองไทย)

14 กันยายน 2550

หมายเลขบันทึก: 128589เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

 เป็นคนแรกที่มาแสดงตัวในวันนี้ พร้อมชี่นชม สุขใจ ไปกับคุณหมอ และรางวัลแห่งความดีค่ะ รักษาสุขภาพ กายใจให้ดีพร้อม เพราะมวลชนที่คุณหมอรัก ยังรออยู่

 

เหมาะสมมากแล้วครับ   กับรางวัลชีวิตที่ได้ 

ร่วมแสดงความยินดีและชื่นชมแพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร มูลนิธิแพทย์ชนบท ประจำปี 2550 กับพี่อั๋น(อนุชิต วังทอง) โรงพยาบาลหนองจิก ปัตตานี และหมอหนึ่ง (ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์) โรงพยาบาลท่าสองยาง ตาก ครับ

คัดลอกรายละเอียด ข่าวการมอบรางวัลมาให้อ่านด้วยครับ

หมอมงคล” มอบรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นแก่ “2 หมอจากชายแดนปัตตานีและตาก”

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบรางวัล 2 แพทย์ชนบทดีเด่น ปี 2550 เผยเป็นผู้มีอุดมการณ์และเสียสละอย่างมาก มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่น แม้จะอยู่ในพื้นที่มีปัญหาความไม่สงบ เสี่ยงต่อชีวิต รวมทั้งห่างไกลทุรกันดาร เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน

    เช้าวันนี้ (20 กันยายน 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชน ประจำปี 2550 และมอบรางวัล “แพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร” ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต จ.ปทุมธานี

    นายแพทย์มงคล กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชน เป็นหน่วยบริการที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของระบบบริการสุขภาพ ช่วยขยายโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน ด้วยการสร้างศักยภาพในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง จัดระบบบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้แทนชุมชน ผู้นำศาสนา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหาร กำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานของโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้การจัดบริการสุขภาพสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนมากที่สุด และการบริหารจัดการมีความยั่งยืน เพราะทุกคนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

    “การทำงานในพื้นที่ชนบท ท่ามกลางปัญหาและความขาดแคลน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและเสียสละอย่างมาก ต้องขอขอบคุณน้องๆ ทุกคน ที่ยึดมั่นอุดมการณ์ในการทำงาน เพื่อประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ โดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสความกดดัน และความเย้ายวนของความเจริญทางวัตถุ กระทรวงสาธารณสุขจะคอยดูแลให้การสนับสนุน เพื่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่” นายแพทย์มงคล กล่าว

    นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ฯ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จ.สระแก้ว ที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2527 โดยมีการสรรหาและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่น ให้กับแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และอดทน เป็นประจำทุกปี โดยแพทย์ดีเด่นประจำปี 2550 มี 2 คน ได้แก่ 1.นายแพทย์อนุชิต วังทอง เป็นคนกรุงเทพฯ เริ่มรับราชการเมื่อปี 2535 ที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี ตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ แต่ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ จนได้รับมอบป้าย “หมอของประชาชน” จากผู้นำชุมชนท้องถิ่น และโรงพยาบาลได้รับรางวัลส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้การรับรองของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลประจำปี 2549

    2.นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ เป็นคน จ.นครปฐม เริ่มรับราชการเมื่อปี 2542 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช และย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน เป็นผู้ที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและเสียสละอย่างมาก เนื่องจาก อ.ท่าสองยางเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ รถยนต์เข้าไปไม่ถึง ประชาชนร้อยละ 90 เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง การออกไปให้บริการในหมู่บ้าน ต้องเดินเท้ากว่า 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการ “หมอบนดอย ปันน้ำใจเพื่อน้อง...ผู้ด้อยโอกาส” เพื่อเป็นสื่อกลางให้ผู้ด้อยโอกาสทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้รับความช่วยเหลือด้านทรัพย์สินและสิ่งของต่างๆ ด้วย
  • ########

    2 หมอ จังหวัดชายแดนปัตตานีและตาก คว้ารางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น

  • 2 หมอ จังหวัดชายแดนปัตตานีและตาก คว้ารางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ปี 2550 เผยเป็นผู้มีอุดมการณ์และเสียสละผลการปฏิบัติงานโดดเด่น แม้จะอยู่ในพื้นที่มีปัญหาความไม่สงบ เสี่ยงต่อชีวิต รวมทั้งห่างไกลทุรกันดาร เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน

    วันนี้ (20 ก.ย.) นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชน ประจำปี 2550 และมอบรางวัล “แพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร” โดยมีแพทย์เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

    นพ.มงคล กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชน เป็นหน่วยบริการที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของระบบบริการสุขภาพ ช่วยขยายโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน ด้วยการสร้างศักยภาพในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง จัดระบบบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้แทนชุมชน ผู้นำศาสนา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหาร กำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานของโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้การจัดบริการสุขภาพสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนมากที่สุด และการบริหารจัดการมีความยั่งยืน เพราะทุกคนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

    “การทำงานในพื้นที่ชนบท ท่ามกลางปัญหาและความขาดแคลน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและเสียสละอย่างมาก ต้องขอขอบคุณน้องๆ ทุกคน ที่ยึดมั่นอุดมการณ์ในการทำงาน เพื่อประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ โดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสความกดดัน และความเย้ายวนของความเจริญทางวัตถุ กระทรวงสาธารณสุขจะคอยดูแลให้การสนับสนุน เพื่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่”นพ.มงคลกล่าว

    ด้านนพ.มรกต กล่าวว่า กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ฯ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จ.สระแก้ว ที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2527 โดยมีการสรรหาและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่น ให้กับแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และอดทน เป็นประจำทุกปี โดยแพทย์ดีเด่นประจำปี 2550 มี 2 คน ได้แก่ 1.นพ.อนุชิต วังทอง เป็นคนกรุงเทพฯ เริ่มรับราชการเมื่อปี 2535 ที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี ตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ แต่ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ จนได้รับมอบป้าย “หมอของประชาชน” จากผู้นำชุมชนท้องถิ่น และโรงพยาบาลได้รับรางวัลส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้การรับรองของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลประจำปี 2549

    2.นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ เป็นคน จ.นครปฐม เริ่มรับราชการเมื่อปี 2542 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช และย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน เป็นผู้ที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและเสียสละอย่างมาก เนื่องจาก อ.ท่าสองยางเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ รถยนต์เข้าไปไม่ถึง ประชาชนร้อยละ 90 เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง การออกไปให้บริการในหมู่บ้าน ต้องเดินเท้ากว่า 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการ “หมอบนดอย ปันน้ำใจเพื่อน้อง...ผู้ด้อยโอกาส” เพื่อเป็นสื่อกลางให้ผู้ด้อยโอกาสทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้รับความช่วยเหลือด้านทรัพย์สินและสิ่งของต่างๆ ด้วย

    นพ.อนุชิต วังทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี แพทย์ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ กล่าวว่า ในการทำงานยึดหลักแบบพี่แบบน้อง บริการประชาชนด้วยใจ ให้มากกว่ารับชาวบ้าน ซึ่งคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขได้จะต้องยึดหลักตรงนี้ ส่วนการทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่กลัวที่จะถูกปรองร้ายหรือ เพราะมีชาวบ้านที่เขารักเราและดูแลคุ้มครอง ปกป้องเราอยู่แล้ว หากทำงานแล้วต้องระหวาดระแวง ก็จะทำให้การทำงานไม่มีความสุข

    “คนที่ทำงานที่นี่จะต้องอาศัยกำลังใจซึ่งกันและกัน มีอะไรก็ช่วยกันแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพราะโรงพยาบาลที่อยู่ชานแดนจะขาดแคลนอยู่แล้ว ทั้งหน่วยสนับสนุนบริการ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ยา แพทย์ พยาบาล ซึ่งปัจจุบันที่โรงพยาบาลมีแพทย์เพียง 4 คนเท่านั้น ขณะที่ต้องดูแลประชากรในพื้นที่ เกือบ 70,000 คน ทำให้ทุกคนทำงานกันหนักพอสมควร อีกทั้งการจัดสรรคนมาลงทำงานในพื้นที่ก็มีน้อย เพราะการเดินทางลำบาก การสื่อสารที่ต้องใช้ภาษาถิ่นอย่างภาษายาวี แต่สิ่งที่ได้กับการเป็นแพทย์ที่นี่ 15 ปี คือ ความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนไข้ หรือข้าว ของเล็กๆ น้อยๆ ขนม ผลไม้ ที่ชาวบ้านหยิบยื่นให้”นพ.อนุชิตกล่าว

    นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก แพทย์ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ กล่าวว่า ความประทับใจในการทำงานตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ก็คือ ความยากลำบาก ท้าทาย ในการได้ลงพื้นที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือคนที่ได้รับความทุกข์ยาก จากโรคภัยต่างๆ ในถิ่นที่ห่างไกลต้องเดินทาง 5-6 ชั่วโมง เพื่อเดินทางเข้าไปในหมู่บ้าน ที่ระยะทางอาจเพียงแค่ 60 กิโลเมตร การได้รับความไว้วางในจากชาวบ้าน ซึ่งการทำงานเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ก็เสมือนกับการพัฒนาชนบทเพียงแต่บทบาทของแพทย์เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

    “การทำงานของโรงพยาบาลและบุคลากรจะเน้นความร่มมือกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหมู่บ้าน ครู ซึ่งเรามีโครงการที่จะอบรมให้ความรู้ครูในการดูแลสุขภาเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ของเด็ก นักเรียน ก่อนจะส่งต่อมาที่โรงพยาบาล ส่วนการบริหารโรงพยาบาลก็จะนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้”นพ.ธวัชชัยกล่าว
  • คุณหมอนามสกุลเหมือนหนูเลยค่ะ

    เราได้เป็นญาติกันรึป่าวค่ะ

    ไม่แน่ใจครับ ต้องลองคุยกันดูครับ อาจะใช่ก็ได้ครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท