แก่นKM


การจัดการความรู้จึงเหมือนไข่
           KM เป็นอะไรที่ยังหาคนสรุปให้เห็นชัดไม่ค่อยได้ เพราะมีความหลายหลายและยืดหยุ่นสูง มีหลายครู หลายแนว ซึ่งเป็นข้อดีเพราะทำให้เราไม่ยึดติด แต่การไม่เห็นขอบ ไม่เห็นแนว ก็อาจทำให้เราเตลิดออกไปไหนต่อไหนก็ได้ พอมีคนถามว่าแก่นของKMคืออะไร ก็เลยตอบยากเหมือนกัน หากบอกว่าแก่นคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ต้องดูว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นKMคืออะไร เพราะหลายๆการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ไม่น่าจะใช่KMจริง แต่ถ้าเรามีจุดประสงค์ว่าใช่หรือไม่ใช่ให้คนออกมาแลกเปลี่ยนกันมากๆก่อนเถอะ ก็โอเค ช่วยสร้างกระแสได้
           การเล่าว่าวันๆทำอะไรบ้าง เจอใครบ้าง หรือเล่าว่าได้ไปอ่านอะไรดีๆมาแล้วเอามาเล่าต่อ ยังไม่ใช่การจัดการความรู้ การเอาความรู้ที่เรียนมา ที่อยู่ในตำราโดยที่ยังไม่ได้ไปทดลองทำให้สำเร็จ ยังไม่ใช่การจัดการความรู้ การมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงยังไม่ใช่ตัวบอกว่ามีการจัดการความรู้
           แก่นของKMน่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ที่ใช้ได้จริงได้ผลสำเร็จที่ดีที่คนอื่นก็ยอมรับ ว่าใช่เป็นวิธีที่ดี ไม่ใช่แค่ความรู้สึกอย่างเดียว เพราะอาจจะเลื่อนลอยเกินไป เมื่อไม่มีสิ่งที่ช่วยวัดอาจทำให้ใช้ความชอบเป็นการตัดสินใจได้  เมื่อวัดกันได้แน่เป็นที่ยอมรับกันแล้วจึงถือเป็นBest practice ได้
           แต่ก็มีหลายระดับอีกเหมือนนางงามก็มีนางงามหมู่บ้าน นางงามตำบล นางงามอำเภอ นางงามจังหวัด นางงามประเทศ นางงามจักรวาล ในส่วนของ Best practiceก็เช่นกัน อาจแค่ในหน่วยงาน ในจังหวัดหรือในประเทศ ก็ได้
           ถ้าไม่ใช่การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง แล้วสร้างความรู้ออกมาจากการปฏิบัติที่สำเร็จ และเมื่อสำเร็จแล้ว ยังไม่ได้เอามาเผยแพร่ให้คนอื่นๆได้รู้และนำไปประยุกต์ใช้ ก็ยังไม่ใช่การจัดการความรู้ที่สมบูรณ์
           การจัดการความรู้จึงเหมือนไข่ บางคนต้ม บางคนเจียว บางคนทอด บางคนตุ๋น ก็เป็นไข่ทั้งหมด แต่อันไหนแบบไหนจะอร่อย อันไหนจะมีคนชอบ ก็ต้องแล้วแต่คนปรุง แล้วแต่ส่วนผสมอีก บางทีเอาไข่แดงไปก็เรียกไข่ เอาไข่ขาวไปก็เป็นไข่ เอาเปลือกไปก็เป็นไข่ แต่ไม่ใช่ไข่ที่สมบูรณ์ ไข่ที่สมบูรณ์จึงต้องเป็นไข่ทั้งฟองจึงจะสามารถฟักออกเป็นตัวได้
          สำหรับในโรงพยาบาลบ้านตาก ในความรู้สึกของผม ก็ยังรู้สึกว่าเราทำKMได้ตื้นๆ ยังไม่ลึกพอ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจริง มีการสร้างนวัตกรรมกันจริง มีลักษณะที่เป็นการทำงานแบบออโตเมติกกันจริง แต่เราก็ยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างทางด้านนวัตกรรมที่เรียกว่าแตกต่างอย่างสุดยอดหรือเป็นBest practiceได้ ซึ่งก็พยายามที่จะผลักดันและส่งเสริมให้เกิดขึ้นกันต่อๆไป เหมือนกับว่าได้เดินมาเจอเส้นกั้นอันยิ่งใหญ่ หากก้าวข้ามไปได้ก็จะสามารถขึ้นไปอีกระดับได้ แต่ถ้าก้าวไม่ได้ก็จะได้ในระดับเดิมๆเหมือนกับการเรียนรู้แบบวงจรเดียวกับการเรียนรู้แบบสองวงจรของเซงเก้หรือชไลเดอร์
หมายเลขบันทึก: 12835เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2006 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อ่านบทความของคุณหมอพิเชษฐ  แล้วมองเห็นภาพ KM ที่คมชัดขึ้นครับ

การเขียนบันทึกส่วนหนึ่งของผมก็เป็นคำบอกเล่า หากจะจัดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการความรู้ก็เป็นการวัดแค่ระดับกระบวนการหรือผลผลิต ยังไม่ไปถึงผลลัพธ์ หากจะเทียบเคียงกันว่าเป็นBest practice ผมคิดว่าน่าจะดูที่ผลลัพธ์ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นในเรื่องเดียวกันใครทำได้แปลกหรือวิจิตรพิสดาร ขั้นตอนมากกว่า ทำกิจกรรมเยอะกว่าเป็นBest practiceกว่า ทั้งๆที่เมื่อดูผลลัพธ์แล้วอาจเท่ากันหรือน้อยกว่าก็ได้หรืออาจดีกว่าเล็กน้อย แต่ถ้าดูเรื่องCost-Effectivenessแล้ว อาจไม่คุ้มก็ได้

เวลามีการจัดการประกวดหลายอย่างในเมืองไทยจึงต้องมีการดูที่เครื่องทรงมากกว่าผลงานจริง เช่นประกวดชมรมอะไรสักอย่างก็จะไปดูที่ขบวนต้อนรับ กิจกรรมผักชี ขบวนแห่ การแสดง ซึ่งเจอบ่อยๆ กลายเป็นแต่งองค์ทรงเครื่องดีกว่าคะแนนดีกว่าแต่ไม่ไดที่เนื้อจริงๆเท่าไหร่ ทำให้เราไม่ค่อยได้Best practice

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท