เขียนเรื่องสั้นมันยากตรงไหน


เรื่องสั้น คือวิกฤติการณ์ที่มีเหตุสัมพันธ์ต่อเนื่องไปสู่ผลซึ่งเรียกว่า จุดสุดยอด

เขียนเรื่องสั้นมันยากตรงไหน?

              เรื่องสั้น (short story)  เป็นงานเขียนสร้างสรรค์ 

 

              ความยากง่ายในการเขียนขึ้นอยู่กับว่ามีสิ่ง 4 สิ่งเรียงลำดับตามความสำคัญ ต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด 

 

                  * ความอยากเขียน

 

                  * ประสบการณ์ชีวิต

 

                  * ทักษะภาษา

 

                  * ทฤษฎีวิธีเขียน

  

              ยกเอาความอยากเขียน (want)

เป็นเรื่องใหญ่ก่อน ถ้าไม่อยากเขียน  ปิดฉากได้เลย เพราะนี่คือสิ่งเร้าภายในสำคัญ ยิ่งมีแรงบันดาลใจ คือ ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ด้วยแล้ว เรื่องก็พรั่งพรูออกมาได้  เช่น  เห็นคนอุ้มลูกมอมแมมเที่ยวขอทานกลางแดดแผดกล้า เกิดความสงสาร และกลายเป็นแรงบันดาลใจอยากเขียนเรื่อง ชีวิตของคนขอทานนี้

  

             ประสบการณ์ชีวิต (experience) 

คนที่มีประสบการณ์มากคือคนที่เห็นชีวิตมามาก เรียนรู้สิ่งต่างๆ มามาก ย่อมมีความคิดคมคาย มองเห็นแง่มุมต่างๆ หลากหลาย และหยิบยกมาอรรถาธิบาย พรรณนาได้ดี เรื่องสั้นก็จะดูมีพลังสมจริงสมจังมากขึ้น  

             ทักษะภาษา (skill) 

 คนที่ใช้สำนวนภาษาได้ดี รู้หลักการใช้ภาษา ย่อมเลือกสรรถ้อยคำมาถ่ายทอดได้ตรงใจ คนอ่านก็เข้าใจ ยิ่งเสริมเพิ่มความประณีตก็ยิ่งมีเสน่ห์  ยิ่งรู้คำหลายระดับก็ยิ่งเลือกมาถ่ายทอดตามฐานะคนได้สมจริง  โจรพูดก็เหมือนโจรพูด  แม่ค้าพูดก็ฟังเป็นแม่ค้า มันมีถ้อยคำอันบ่งบอกบุคลิกแต่ละคน แต่ละอาชีพได้ คนอ่านอ่านแล้วก็เชื่อได้อย่างนั้น

  

              ทฤษฎีวิธีเขียน (technical) 

  คือหลักวิธีการเขียนตามรูปแบบลักษณะของเรื่องสั้น คงต้องรู้บ้าง แต่ถามว่าจำเป็นมากไหม  ก็ตอบว่า ไม่จำเป็นนัก  เพราะถ้ารู้มากก็ยากนานห่วงนั่นห่วงนี่ เลยเขียนไม่น่าสนใจ  อยากให้เขียนตามความรู้สึก ตามธรรมชาติชีวิตมากกว่า การปล่อยวางบางทีอาจทำให้เรื่องสั้นดูเป็นธรรมชาติมากกว่าจะดัดแปลงผิดไป

  

เรียนรู้เทคนิคกันสักนิด

            เรื่องสั้น  คือวิกฤตการณ์ที่มีเหตุสัมพันธ์ต่อเนื่องไปสู่ผลซึ่งเรียกว่า  จุดสุดยอด  ของเรื่อง  มีลักษณะการดำเนินเรื่องที่มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว มีผลอย่างเดียว ใช้เวลาเดินเรื่องสั้นรวดเร็ว มีความยาวประมาณ 4-5 พันคำ มีทั้งเรื่องสั้นขนาดยาวและเรื่องยาวขนาดสั้น  มีโครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก และบทสนทนาที่รัดกุมกระชับ ไม่มีรายละเอียดมากนัก  (ประภาศรี สีหอำไพ 2531:92) 

           ถ้าเขียนเรื่องได้ตามคำจำกัดความนี้ก็เป็นเรื่องสั้นแล้ว วิธีเขียนจะเริ่มที่

 

           เปิดเรื่อง    คือ  ฉากแรกที่อยากจะฉายภาพให้เห็น เป็นจุดกำเนิดเรื่อง เพราะฉะนั้น เปิดได้ตามใจจะเป็นธรรมชาติ ตื่นเต้น หรือน่าสลดใจ สุดแต่เราจะคิด

 

           สร้างปมขัดแย้ง    คือ ต้องสร้างความขัดแย้งขึ้นในเรื่อง มันจะได้มีเรื่องเขียนต่อ ถ้าไม่มีเรื่องก็ราบเรียบไม่น่าสนใจ เราจะให้ตัวละครขัดแย้งกัน  ตัวละครขัดแย้งกับธรรมชาติ หรือสังคม สุดแต่จะกำหนด  แม้แต่ขัดแย้งภายในตัวเองก็เป็นเรื่องสั้นได้

 

           สู่จุดสุดยอด   คือ เรื่องความขัดแย้งนั้นจะต้องขมวดปมหรือบีบให้ต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหา หรือเกิดการแตกหัก เหมือนลูกโป่งที่เราอัดลมเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดแล้วมันก็จะระเบิดออกมา  นั่นคือวิธีการเดินเรื่องไปสู่จุดแตกหัก ก่อนจะคลี่คลาย

            ปิดเรื่อง   คือ การจบเรื่องซึ่งอาจจบแบบธรรมชาติปล่อยให้เรื่องเป็นไปอย่างนั้น หรือจบแบบหักมุม คาดไม่ถึง เพื่อสร้างกระแสช็อกความรู้สึกของคนอ่าน เช่น ตัวละครเอกตาย หรือจับฆาตกรได้แต่เป็นตัวปลอม ตัวจริงยังอยู่ เป็นต้น  ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านประทับใจ   

        เขียนเรื่องสั้นมันยากตรงไหน?  อ่านถึงตอนนี้ ลองหยิบกระดาษมาสักแผ่น เขียนเค้าโครงย่อๆ ก่อนว่าจะเขียนไปแบบไหน จะมีตัวละครกี่ตัว จะสร้างปมขัดแย้งอะไรดี เขียนร่างไปก่อนจากนั้นค่อยลงมือเขียน  ตรงนี้ต้องใช้จินตนาการเหมือนกันว่า เราให้เรื่องของเราหน้าตาออกมาอย่างไร

    

           ผมมีตัวอย่างผลงานการเขียนเรื่องสั้นของนักศึกษาที่ผมสอน  มาให้ท่านอ่านเล่นครับ (บันทึกต่อไป) ลองพิจารณาดูและตอบตัวเองว่า

  เขียนเรื่องสั้นมันยากตรงไหน?                               
หมายเลขบันทึก: 128262เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

 อ่านจบแล้วได้ความรู้มากค่ะ รู้ว่าตัวเองยังห่างไกล นัก แต่จะศึกษาต่อไป ขอบคุณค่ะ

  • มาสมัครเป็นลูกศิษย์คะอาจารย์
  • เพราะตัวเองถนัดแต่เรื่องไม่เป็นเรื่องคะ
  • มักเขียนตามใจตัวเองคะ
  • ขอลงทะเบียนเรียนเลยนะคะอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์ ได้รับความรู้มากเลยคะ ขอบคุณอาจารย์มากนะค่ะ และขออนุญาตนำบล็อกเข้าแพลนเน็ตด้วยคะ ขอบคุณคะ

 สวัสดีครับคุณP

        คุณตันติราพันธ์ลองเขียนเรื่องสั้นๆ ขนาดสั้นดูก่อนก็ได้ครับ ผมเชื่อคุณเขียนได้ เพราะประสบการณ์ของคุณมีมากย่อมมองเห็นแง่มุมชีวิตผู้คนได้ดี เขียนตามธรรมชาตินี่แหละครับ อยากเขียนบอกเรื่องอะไรก็เขียนแล้วค่อยๆ ผสมผสานเทคนิคการเขียนเข้าไป ผมว่า ไม่ยากอย่างที่คิดครับ ให้กำลังใจครับ

สวัสดีครับคุณP

             ลงทะเบียนเรียนแล้ว ถอนไม่ได้นะครับ วิชานี้ลงแล้วลงเลยครับ เกรดมีให้นะครับ(ตอนไหนก็ไม่รู้ครับ)

สวัสดีครับคุณP

        ยินดีอย่างยิ่งครับ  ผมจะเข้าไปแวะชมและขออนุญาตนำบล็อกเข้าแพลนเน็ตด้วยเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท