พระอาจารย์มั่น : ตอน กำเนิดอริยบุคคลและปฐมสุบินนิมิต


เหมือนกับดวงชะตาของท่านจะถูกลิขิตไว้แล้วว่า ท่านจะต้องอยู่ในสมณเพศและได้ธรรมวิเศษบรรลุพระอรหัตผลพ้นกิเลสในชาตินี้เป็นแน่แท้

 

 

www.dhammathai.com.

 

ตอน  กำเนิดอริยบุคคลแห่งยุค

 

             ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๑๓    ณ หมู่บ้านคำบง  ตำบลโขงเจียม  ซึ่งปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี 

               ณ เวลานั้น   ชาวบ้านคำบงเพ่งผ่านการเฉลิมฉลองปีใหม่มาได้ไม่นานนัก  แต่ครอบครัวของนายคำด้วง  นางจันทร์  แก่นแก้ว  กลับมีการฉลองปิติยินดีอีกวาระหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะ  นางจันทร์ได้ให้กำเนิดทารกชาย ซึ่งมีลักษณะดี ท่าทางเฉลียวฉลาด   วันนั้นตรงกับวันพฤหัสบดี  เดือนยี่  ปีมะแม  หรือตรงกับวันที่  ๒๐  มกราคม  พุทธศักราช  ๒๔๑๓   บิดามารดาขานชื่อทารกนี้ว่า  "มั่น"

                  เด็กชายมั่น  แก่นแก้ว  ได้รับการเลี้ยงดูจนเจริญวัย  มีอุปนิสัยว่องไว  ปราดเปรียว  สมรูปร่างเล็กบาง ผิวขาวแดง  แต่กลับมีความเข้มแข็ง มั่นคง   ด้วยดวงชะตากำเนิตรงกับวันพฤหัสบดี  อันทางโหราศาสตร์ถือว่าเป็น "วันครู"   ผู้ใดมีเรือนชะตาตกวันครูเช่นนี้  ย่อมมีสติปัญญาฉลาดเฉลียว  เชี่ยวชาญสรรพวิทยา  ถูกลักษณะต้องตามตำรา   เป็นพราหมณาจารย์ดียิ่งนัก

                    คุณลักษณะดังกล่าวมานี้  ล้วนมีอยู่ในตัวของเด็กชายมั่น ครบถ้วน   ครั้นเจริญวัยได้ ๑๕ ปี  บิดามารดาจัดการบรรพชาให้เป้นสามเณร  ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักวัดบ้านคำบง  ซึ่งเป็นที่ถูกอัธยาศัยแก่เด็กชายมั่นอย่างยิ่ง   สามเณรมั่น มีความสนใจใฝ่เรียน  เพียรศึกษาธรรมะ  พระสูตร   และพระวินัยได้รวดเร็ว  กอปรกับประพฤติตัวเรียบร้อย  อัธยาศัยไมตรีดีสม่ำเสมอ  ทำให้สามเณรมั่น เป็นที่รักใคร่ของครูอาจารย์มาโดยตลอด   สามเณรมั่นมีจิตใจยินดีอยู่ในเพศบรรพชิต ใคร่บรรพชาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์อย่างยั่งยืน ยาวนาน   

                      แต่...ชะตามิได้เป็นดั่งใจคิด  เพียงสองปี สามเณรมั่นก็จำต้องลาสิกขา  มาอยู่ในเพศฆราวาสอีกครั้ง ตามคำร้องขอของบิดา อันเนื่องมาจากความจำเป็นในครอบครัว  เพราะขณะนั้น ท่านมีน้องๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายคน

                         อย่างไรก็ตาม   ท่านมิได้ลดละความศรัทธาตั้งใจมั่น  ในอันที่จะกลับมาอุปสมบท ดำรงอยู่ในสมณเพศอีกครั้ง

                             เหมือนกับดวงชะตาของท่านจะถูกลิขิตไว้แล้วว่า  ท่านจะต้องอยู่ในสมณเพศ  และได้ธรรมวิเศษบรรลุพระอรหัตผล  พ้นกิเลสในชาตินี้เป็นแน่แท้  ดังนั้นอีก ๔ ปีต่อมา เมื่อท่านอายุได้  ๒๒  ปี   ท่านก็บังเกิดความศรัทธาแรงกล้า  ใคร่อุปสมบท    จึงกราบลาบิดามารดาเข้าอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีทอง หรือ วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน   เมื่อวันที่  ๑๒  มิถุนายน  พุทธศักราช  ๒๔๓๖

 

ตอน  ปฐมสุบินนิมิต อันเทพยดาบันดาล

 

                 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  อุปสมบทโดยมีพระอริยกวี เป็นพระอุปัชฌาย์   พระครูสีทา  ชยเสโน  เป็นพระกรรมวาจาจารย์   พระครูประจักษ์  อุบลคุณ  เป็นพระอนุศาสนาจารย์  และได้นามฉายาว่า  "ภูริทัตโต"

                      อันว่านามฉายา ภูริทัตโต นี้  ไปพ้องกับนามของพระโพธิสัตว์  "ภูริทัต"   ผู้ทรงบำเพ็ญศีลบารมี ในชาดกสำคัญพระชาติหนึ่งในมหาชาติชาดก ที่เราทั้งหลายทราบกันดีแล้ว   ราวกับพระอุปัชฌาย์จะทราบโดยญาณว่า   พระภิกษุมั่นผู้นี้ จะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลบริสุทธิ์มั่นคง ต่อไปในภายภาคหน้า

                          เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว  ก็มาพำนักอยู่ในสำนักพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล  ณ  วัดเลียบ  อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี  และยึดถือปฏิบัติวิปัสนา บริกรรมภาวนาบท  "พุทโธ"  เป็นประจำนิสัย   แต่จะบริกรรมเท่าใด  ใจก็มิได้สงบสุขดังหวัง   จึงครุ่นคิดสงสัยเป็นกำลัง  ในแนวปฏิบัติตนเรื่อยมา   แต่กระนั้น  ท่านก็มิได้ลดละความเพียรในการปฏิบัตินั้น  และแล้ว...ความสงสัย ก็ไขกระจ่างในคืนวันหนึ่ง

                        คืนนั้น...ท่านสุบินนิมิตไปว่า   ท่านเดินทางออกจากหมู่บ้านไปสู่ป่าอันรกชัฎ  เต็มไปด้วยขวากหนาม  ยากที่จะฝ่าออกไปได้โดยง่าย  แต่กระนั้น  ท่านก็เพียรพยายามฝ่าฟันจนหลุดพ้นไปสู่ทุ่งกว้างสุดสายตาจนได้  ท่านได้พบซากขอนไม้ที่ตายแล้วทอดขวางอยู่บนพื้นดิน   ทำให้ท่านเกิดสติปัญญา  พิจารณาน้อมนำมาเปรียบเทียบกับชาติภพของท่านว่า   สามารถดับสิ้นไปไม่เกิดอีก  ดุจซากขอนไม้ที่ตายแล้วนี้  ย่อมไม่กลับงอกขึ้นมาอีก   หากท่านมีความเพียรพยายามอย่างที่สุด

                      ขณะนั้น...ปรากฏม้าสีขาว รูปร่างสูงใหญ่ เหยาะย่างตรงเข้ามาหาท่าน  ท่านจึงปีนขึ้นหลังม้าตัวนั้นด้วยใจยินดี   ม้าสีขาวพาท่านวิ่งทะยานโลดแล่นไปข้างหน้าอย่างลมพัด เต็มกำลัง   ท่านรู้สึกได้ว่า ระยะทางที่ม้าวิ่งไปนั้น ไกลแสนไกล    จนกระทั่ง  มาหยุดยังเบื้องหน้าตู้พระไตรปิฎกสีเงินยวงอันงามวิจิตรใบหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ ณ ขอบทุ่งกว้าง  ที่เบื้องหลังเต็มไปด้วยป่ารกชัฎและขวากหนาม  ท่านมีใจปรารถนาจะเปิดตู้พระไตรปิฎกนั้น  แต่ยังมิทันจะได้เปิด  ท่านก็กลับสะดุ้งตื่นขึ้นจากภวังค์เสียก่อน

                      พระภิกษุมั่น  พิจารณาสุบินนิมิตนั้นด้วยสติปัญญาแล้ว  ก็บังเกิดความมั่นใจในแนวทางวิปัสนา บริกรรมภาวนาบท "พุทโธ"  นั้นว่า    ถ้าท่านกอปรด้วยความเพียรถึงที่สุดแล้ว ย่อมสำเร็จหลุดพ้นทุกข์ได้ดังใจปรารถนาเป็นมั่นคง

                    ดังนั้น   ท่านทั้งหลาย พึงใช้สติปัญญาตริตรองถึงผลแห่งความเพียรนั้นเถิดว่า

                  " วิริเยน  ทุกขมัจเจติ  คนเรานั้น  พ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร  และความเพียร    ย่อมนำผลสำเร็จมาสู่ผู้ประพฤติธรรมโดยแท้"

(ติดตามตอนต่อไป) 

       

หมายเลขบันทึก: 127466เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับอาจารย์ P นายกรเพชร  

  • เข้ามาอ่านครับ
  • และจะรอตอนต่อไปนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

เรื่องของท่านอาจารย์มั่น ได้อ่านก็เป็นมงคลแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ

 ขณะอ่าน เกิดความสุขสงบแห่งใจ และศรัทธาท่าน

สวัสดีครับคุณP

          ขอบคุณครับที่แวะมาครับ

สวัสดีครับคุณP

              ขอความเจริญจงมีแด่ท่าน ธรรมรักษาครับ

สวัสดีครับคุณP

               อนุโมทนาครับ  ขอท่านจงเจริญมงคลแก่ตนตลอดไปครับ

แวะมาขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังกันค่ะ อ่านแล้วรู้สึกปิติมากค่ะ ขอบคุณนะคะ ..

สวัสดีครับคุณP

         ยินดีมากครับ ขอความปิติ มงคล

         จงมีแด่คุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท