ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (19): ระบบที่น่าประทับใจของการเรียนระดับประถม


เห็นคุณครูหญ้าบัว ก็ตามมาอ่าน เลยอยากเอามาเล่าต่อเลยค่ะ ถึงแม้ว่าเราจะปรับระบบใหญ่ๆไม่ได้แต่กระบวนการของที่เขาใช้ที่เพิร์ธก็น่าจะสามารถเอามาปรับใช้กับบริบทที่เรามีๆอยู่ได้บ้างนะคะ ส่วนที่เอามาลงนี้คือเรื่องที่เขียนลงในวารสารสายใยพยาธิ ของภาควิชาเราค่ะ ตอนนี้ล่วงหน้าไปจากที่ลงในนี้หลายตอนอยู่ค่ะ ก็เลยมีวัตถุดิบเหลือเฟือ เอามาลงแล้วก็มีปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมบ้าง เพราะเวลาลงในวารสารจะพยายามไม่ให้ยาวเกินไป บางรายละเอียดก็เลยไม่ได้ใส่ก็มีค่ะ


ระบบที่น่าประทับใจของการเรียนระดับประถม

ยังมีเรื่องที่ประทับใจอีกหน่อย ต้องขอเล่าเกี่ยวกับโรงเรียน Nedlands Primary School คือ ที่โรงเรียนนี้เขาจะจัดให้มีสภานักเรียน ที่เรียกว่า Student Council โดยมีนักเรียน Year 7 เป็นกรรมการ เป็นระบบที่ดีมากๆเพราะเขาสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบ คิดเป็นทำเป็น คนที่ประพฤติตัวดีถึงจะได้เป็นกรรมการในเทอมแรกๆ จะมี badge ติดหน้าอก และมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรุ่นน้องและเพื่อนๆ สามารถตักเตือนคนอื่นได้ เป็นผู้ช่วยคุณครูว่างั้นเถอะ เด็กๆก็จะอยากได้เป็นกรรมการนักเรียนลักษณะนี้ เด็กๆจะรู้กันมาตั้งแต่ชั้นเล็กๆเลย ทุกคนก็จะให้เกียรติคนที่เป็นกรรมการ แต่จริงๆเขาก็จะเลือกให้ทุกคนได้เป็น เพราะมีกรรมการประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนนักเรียน year 7 ทั้งหมด แล้วก็โรงเรียนมี 4 เทอม แต่คนที่ได้เป็นเทอมสุดท้าย ก็จะได้เป็นน้อยที่สุด เพราะเวลาเรียนเหลือนิดเดียว วันหยุดเยอะกว่า นอกจากนั้นก็มีการเลือกหัวหน้านักเรียนฝ่ายหญิงและชาย โดยให้เด็กสมัครเอง แล้วก็ต้องแถลงนโยบาย ให้น้องๆชั้นเด็กกว่าเป็นคนเลือก อันนี้เป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่เขาทำกันมานานมากแล้ว ซึ่งทำให้เด็กชั้น ป.7 ของเขามีวุฒิภาวะค่อนข้างสูง บางคนถึงขนาดมีจิตใจสาธารณะชวนเพื่อน ชวนชาวบ้านแถวโรงเรียนหารายได้ช่วยนั่นช่วยนี่ แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่ด้วยว่า เด็กๆที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาดีๆและมีฐานะดี ก็เลยเรียกได้ว่ามีทุนดีอยู่แล้ว เสริมศักยภาพอะไรก็เลยง่าย

ส่วนตอนที่น้องฟุงไปเรียน Year 1 – Year 3 ทางโรงเรียนเพิ่งมีกิจกรรมใหม่อีกอันที่ดีมากๆ คือมีการให้มี buddy ข้ามชั้น เช่นให้พี่ชั้น Year 7 คู่กับน้อง Year 1 โดยให้น้องเป็นคนเลือกพี่ แต่ต้องเป็น 1 ต่อ 1 และคุณครูจะเป็นคนกำหนดชั้นที่เป็นคู่กัน รู้สึกจะเป็นกันอยู่ทีละครึ่งปี คนที่เป็นคู่กันก็จะมากินข้าวกลางวันด้วยกัน มีกิจกรรมกลุ่มอะไรบางอย่างที่ต้องทำด้วยกัน ทำให้เด็กทั้งโรงเรียนรู้จักกัน ดูแลช่วยเหลือกัน น่ารักมากๆ

นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังมีวิธีการส่งเสริมให้เด็กทำความดี โดยการมีกล่องเอาไว้ให้คุณครูเขียนชื่อนักเรียนและชั้นใส่ไว้ทุกครั้งที่พบว่านักเรียนทำอะไรดีๆ เช่น เก็บขยะที่เห็นไปทิ้งถังขยะ ช่วยเพื่อนเวลาเพื่อนหกล้ม ฯลฯ ทุกวันศุกร์ซึ่งจะมีการประชุมนักเรียนตอนเช้า คุณครูจะเอามาจับฉลากให้รางวัลต่างๆ เช่น กระบอกน้ำ ดินสอสี หนังสือ กล่องดินสอ ทำให้เด็กๆอยากทำความดีแล้วก็คอยรอลุ้นกัน แต่เท่าที่เห็นเวลาได้ไปประชุมด้วย ก็เห็นทุกคนก็เฮดีใจกับเพื่อนๆคนอื่นที่ได้ของกัน ไม่ได้คาดหวังเอาเป็นเอาตายอะไรว่าตัวเองต้องได้  

อีกอย่างที่ทางโรงเรียนส่งเสริมให้เด็กทำดีก็คือ การให้ประกาศเกียรติคุณโดยคุณครูประจำชั้นเป็นคนเลือก เขาจะมีหลายๆแบบแล้วแต่คุณครูจะพิจารณาเป็นครั้งๆไป เช่น ตั้งใจเรียนมากๆ (ถึงแม้จะไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่พัฒนาจากที่เคยเป็นมากๆ) คุณครูก็จะให้ประกาศฯโดยบอกด้วยว่าได้รับเพราะคุณครูชื่นชมเรื่องอะไร หรือคนที่คอยช่วยเพื่อน ช่วยครู หรือทำดีอะไรอื่นๆที่คุณครูรู้หรือสังเกตเห็น คุณครูก็จะให้ แต่เขาจะมีวิธีการมอบที่ทำให้ดูมีค่า โดยจะให้มอบกันวันศุกร์หน้าที่ประชุมโรงเรียนต่อหน้าเพื่อนๆ โดยคุณครูใหญ่หรือผู้ช่วยครูใหญ่เป็นคนมอบ พร้อมทั้งอ่านในใบประกาศด้วยว่าได้เพราะอะไร เจ้าตัวก็จะยืนยิ้มหน้าบานรอรับอยู่ข้างๆ พอรับแล้วก็ให้ไปยืนเข้าแถวเรียงกันอยู่ข้างหน้าเวที เพื่อให้เพื่อนๆปรบมือให้อีกรอบ เรียกว่าคุณครูและโรงเรียนสนับสนุนให้เด็กทำดี และภาคภูมิใจในตนเองกันสุดๆไปเลยค่ะ เห็นแล้วก็ไม่แปลกใจว่าทำไมเด็กๆของเขาจึงเป็นคนกล้าหาญ และมีความร่าเริง สนุกสนาน และทุกๆคนดูเท่าเทียมกัน อยากช่วยเหลือกัน ไม่แข่งขันกันเองมาก ไม่ดูมีคนเก่งที่สุด ดีที่สุดอยู่จำนวนไม่มาก แล้วเด็กอื่นๆก็ธรรมดา ไม่มีใครสนใจเท่าไหร่แบบเด็กประถมบ้านเรา


จำได้เลยว่า เด็กๆจะมองจุดดีๆของเพื่อนๆ เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนจะมีดีเสมอ ซึ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ เพราะเขาจะรักษาสิ่งที่เขาดีและพยายามทำดีเรื่องอื่นๆเพิ่มขึ้น

หมายเลขบันทึก: 127244เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2007 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ..

  • อ่านแล้วได้ข้อคิดมากค่ะ 
  • อยากทราบว่า พรบ.การศึกษาบ้านเรา กำหนดอายุเด็กที่เข้าเรียน  น้อยกว่า ออสเตรเลียหรือเปล่าค่ะ  ไม่มั่นใจค่ะว่าบ้านเขา เด็กเข้าเรียนอายุเท่าไร?   บางทีวุฒิภาวะ ของเด็ก ก็มีส่วนนะค่ะ
  • กิจกรรมที่เขาจัด  ดูๆ เมืองไทยเราก็เลียนแบบอยู่บ้างนะค่ะ  เช่น  
  1. สภานักเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมของทุกโรงเรียนในบ้านเรา ต้องมีค่ะ  ซึ่งต้องผ่านการประเมินด้วยค่ะ 
  2. กิจกรรมส่งเสริมการทำความดี นั้นมีทุกโรงเรียนค่ะ  บันทึกความดี   แต่การจัดรางวัลคงแล้วแต่โรงเรียนค่ะ
  3. โครงการพี่ช่วยน้อง ของเราก็มีค่ะ  แต่ จะเน้นหรือเปล่าก็แล้วแต่โรงเรียนค่ะ
  • เด็กบ้านเราโดยเฉพาะเด็กบ้านนอก จะขาดความมั่นใจในการแสดงออก  เราคงต้องมาวิเคราะห์ปัญหา....  บางที่เราจะโทษเด็กไม่ได้  อาจจะอยู่ที่การจัดกิจกรรมของครู   โรงเรียนบ้านเราบางโรงเรียนเด็กๆ เก่งๆ  กล้าคิดกล้าทำก็พอมีอยู่บ้างหรอกค่ะ   โดยเฉพาะโรงเรียนที่พื้นฐานทางสังคมสูง 
  • รู้สึกว่าแสดงความคิดเห็นยาวมากขอแค่นี้ก่อนนะค่ะ.................ขอบคุณค่ะ..

คุณครูหญ้าบัวคะ ขอบคุณที่มาคุยแลกเปลี่ยนกันนะคะ เห็นเหมือนที่คุณครูบอกนะคะว่าในระบบโรงเรียนบ้านเราก็มีสิ่งที่คล้ายๆกับของที่โน่น แต่ยังไงๆบ้านเราก็ยังคงให้ความสำคัญกับคุณค่าของ"จิตใจ"น้อยกว่า "วัตถุ" ทำให้เราใช้ตัวชี้วัดเป็นคะแนนกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่แต่นักเรียนนะคะ รู้สึกคุณครูก็ยังโดนวัดผลงานกันด้วยคะแนนการเขียนรายงาน หรือการเขียนอะไรๆ ไม่ใช่จากวิธีการสอนหรือความรักความเข้าใจเด็กเลย

ได้แต่ให้ความเห็นนะคะ ยังนึกไม่ออกจริงๆว่าจะช่วยระบบบ้านเราได้ยังไง

อ้อ...เกือบลืมตอบคำถาม ที่โน่น (Western Australia) เริ่มให้เด็กเข้า kindergarten ได้เมื่ออายุ 4 ขวบ แล้วก็มีอีกชั้นเรียกว่า pre-primary ก่อนที่จะขึ้นชั้น ป.1 มีข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาของเขาให้เห็นชัดเจนที่เว็บไซต์นี้ค่ะ http://www.det.wa.edu.au/

ส่วนของระดับต้นก็ที่นี่ http://www.det.wa.edu.au/schoolinginwa/kindergarten.html

แล้วก็ยังมีทรัพยากรสำหรับพ่อแม่ คุณครูด้วยนะคะที่ http://www.det.wa.edu.au/education/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท