สร้างทีมสุขภาพ มวล.


เพื่อให้นักศึกษาทางด้านสุขภาพเกิดความคุ้นเคยระหว่างกันและรู้จักทำงานเป็น teamwork

สืบเนื่องจากบันทึกของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (อ่านที่นี่) ทำให้ดิฉันมองเห็นโอกาสในการทำงานใหม่ๆ ที่ท้าทาย และเมื่อดิฉันไปรายงานตัวต่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ศ.ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ก็ได้รับทราบเรื่องของโครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาการสุขภาพและศูนย์วิจัยวิทยาการสุขภาพ และได้เอกสารฉบับปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องนี้มา ๑ เล่ม

เมื่อศึกษาเอกสารเกี่ยวกับโครงสร้าง ภารกิจ และหน้าที่ของวิทยาลัย ก็รู้สึกว่า “ไม่น่าจะใช่” แบบที่ควรจะเป็น พอมีจดหมายเชิญให้เข้าประชุมคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยวิทยาการสุขภาพในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๐ ดิฉันจึงพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในสำนักวิชาอื่น ๒-๓ คน เพื่อสำรวจว่าคนอื่นเขาคิดกันอย่างไร ข้อมูลที่ได้สนับสนุนความคิดของดิฉัน

ในการประชุมเมื่อบ่ายวันที่ ๔ กันยายน มีการทบทวนเรื่องที่มีการปรึกษาหารือกับท่านนายกสภามหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ท่านอธิการบดี รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล กล่าวตามที่ท่านเข้าใจว่าในเรื่องของวิทยาลัยนั้น ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องมี การดำเนินงานให้ทำร่วมกัน ทั้งการจัดหลักสูตร course placement การจัดบริการวิชาการ การลงชุมชน ส่วนเรื่องวิจัย อยากให้วิจัยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ

ผู้เข้าประชุมไม่มีใครคัดค้าน จึงมาถึงเรื่องที่ฝ่ายเลขานุการได้เตรียมวาระการประชุมไว้ว่าจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ๕ ชุดคือคณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอนชั้นปรีคลินิกและหมวดวิชาศึกษาทั่วไป คณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอนชั้นคลินิกและเวชศาสตร์ชุมชน คณะอนุกรรมการกิจการนักศึกษาวิทยาการสุขภาพ คณะอนุกรรมการวิจัยและบริการวิชาการ และคณะอนุกรรมการชุมชนสัมพันธ์

คนเคยอยู่มาเก่าแบบดิฉัน เล่าเรื่องเดิมที่มีการจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์กับสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ที่ระยะหลังๆ ไม่เข้าใจว่าคนมาใหม่คิดอย่างไร มาแยกย้ายกลายเป็นวิชาของใครของมันไป แถมด้วยเรื่องหลักคิด “รวมบริการ ประสานภารกิจ” ไม่อยากให้ตั้งคณะอนุกรรมการที่จะทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยบริการที่มีอยู่แล้ว เช่น ศูนย์บริการการศึกษา ศูนย์บริการวิชาการ ส่วนกิจการนักศึกษา เป็นต้น ให้ใช้กลไกปกติที่มีอยู่ ส่วนการเรียนด้านคลินิกและชุมชน ควรจะแยกจากกัน เพราะ approach แตกต่าง

หลังจากอภิปรายให้ความเห็นกันพอสมควร ที่ประชุมได้ปรับคณะอนุกรรมการเหลือ ๓ ชุด ทำหน้าที่ดูแลการจัดการเรียนการสอนทางด้าน (๑) หมวดวิชาศึกษาทั่วไปและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (๒) คลินิก และ (๓) เวชศาสตร์ชุมชน ดิฉันเสนอให้รวมเรื่องของชุมชนสัมพันธ์ไว้ในเรื่องเดียวกับเวชศาสตร์ชุมชน เพราะต้องเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว และเสนอตัวเป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้

รศ.ดร.สุรสีห์ วัฒนวิกย์กิจ คณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน อาจารย์สุรสีห์นับว่า “เก๋า” สุด คลุกคลีกับการทำหลักสูตรหลายหลักสูตรมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก คณะอนุกรรมการชุดนี้จะมีผู้แทนจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และจากสำนักวิชาที่สอนวิชาศึกษาทั่วไปเข้ามาร่วมด้วย

ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาคลินิก เราเห็นพ้องต้องกันให้เป็นหน้าที่ของ รศ.นพ.กิจประมุข ตันตยาภรณ์ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์

หลักการทำงานคือการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ถ้าทำได้ วางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดิฉันเสนอว่าถ้าไม่สามารถจัดการเรียนการสอนร่วมกันได้ ก็ควรมีกิจกรรมให้นักศึกษาทุกสาขาวิชาได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน (ฝันอยากเห็นมาก)

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้นักศึกษาทางด้านสุขภาพเกิดความคุ้นเคยระหว่างกันและรู้จักทำงานเป็น teamwork ในที่สุดจะเกิดเป็น “ทีมสุขภาพ” ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นเป้าหมายเพียง "ผิวๆ" คงมีอะไรที่ "ลึก" กว่านี้แน่นอน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 127158เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2007 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท