สวัสดิการชุมชนคนไร้สัญชาติ


ที่ผ่านมาพวกเราคนวงที่ทำงานเรื่องคนไร้สัญชาติก็พยายามไปนำเสนอให้รัฐแก้ไขนโยบายยอมรับการจัดสวัสดิการเพื่อคนไร้สัญชาติ

ได้ติดตามอ่านบันทึกที่ อ.ปัทมาวดี และ อ.ภีม สนทนาเรื่องสวัสดิการชุมชนกันข้ามบล็อกแล้ว เด็กข้างเวทีอย่างเราเก็บอะไรดีๆ ได้เยอะเลย

โดยเฉพาะช่วงนี้ ที่กำลังเริ่มทำงานสวัสดิการชุมชนกับคนไร้สัญชาติในพื้นที่ ทำให้ได้เข้าใจมุมมองใหม่ๆ ในเรื่องสวัสดิการชุมชน ที่จัดโดยชุมชนเพื่อชุมชน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้ ซึ่งเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้น้อยมาก อย่างตารางที่ อ.ภีมสรุปให้ดูนั้น ดูๆ แล้วชาวบ้านของเราเข้าถึงเพียงเรื่องการศึกษาเท่านั้น นอกนั้นไม่มีสิทธิเลย

ยิ่งตัวเองอยู่นอกวงเรื่องนี้ ก็มองเห็นแค่ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าถึง "สวัสดิการของรัฐ"  ที่ผ่านมาที่หันเหออกจากประเด็นเรื่อง สถานะทางกฎหมายหรือสัญชาติ ก็เพราะมองเห็นว่า แม้พวกเขาจะไร้สัญชาติก็ไม่น่าจะไร้สิทธิ โดยเฉพาะสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

แล้วที่ผ่านมาพวกเราคนวงที่ทำงานเรื่องคนไร้สัญชาติก็พยายามไปนำเสนอให้รัฐแก้ไขนโยบายยอมรับการจัดสวัสดิการเพื่อคนไร้สัญชาติ จนค่อยๆ ได้มา เช่นเรื่องการศึกษา หรือหลักประกันสุขภาพที่กำลังพูดถึงกันอยู่  หรือแม้แต่พยายามเพื่อให้ได้เข้าระบบประกันสังคม

แต่มุมเรื่องสวัสดิการที่ว่า ชุมชนสามารถจัดสวัสดิการโดยชุมชนและเพื่อชุมชน ยังไม่ได้ลองโดยตรงกับคนกลุ่มนี้ !!

ความจริงแล้วเรื่องนี้น่าจะไปด้วยกันได้ดีกับงานเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (stateless) เพราะถ้าถามกันดีๆ แล้ว ที่พวกเขาดิ้นรนอยากได้ "สัญชาติไทย" แม้จะต้องเสียเงินมากมาย ก็เริ่มต้นจากความจำเป็นในดำเนินชีวิตพื้นฐาน หรือสวัสดิการ อาทิ เพื่อการศึกษา เพื่อสุขภาพอนามัย หรือเพื่อให้เดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมไปทำงาน ไปโรงพยาบาล ไปเรียนหนังสือได้อย่างอิสระ  แต่ถ้าสวัสดิการทั้งหมดสามารถจัดเองได้ในชุมชน หรือเขตพื้นที่ควบคุม พวกเขาก็น่าจะสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้ในพื้นที่ สมดังที่ดิ้นรนหลบหนีจากแผ่นดินเกิดมา สิ่งเดียวที่เหลือที่ต้องต่อสู้คือ บริโภคนิยมวัตถุนิยม ที่จะทำให้พวกเขาไม่พอ และต้องดิ้นรนอพยพเข้าเมืองกันต่อ

ยิ่งถ้าสวัสดิการที่จัดโดยชุมชนนี้ อิงกับฐานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและฐานทรัพยากรได้อย่างที่อาจารย์เสนอ คงจะเป็นรากให้พวกเขายืนหยัดได้ท่ามกลางกระแสวัตถุนิยม

อยากไปร่วมงานที่ อ.จะจัดวันที่ 14 นี้มากค่ะ แต่คงไม่มีโอกาส จะรอติดตาม อ.แบ่งปันความรู้และตัวอย่างดีๆ ทาง gotoknow นี้แล้วกันนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 127153เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2007 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

รู้จักบริบทของชุมชนเพิ่มเติมได้ที่

http://gotoknow.org/blog/pilgrim/94818

จะว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการจัดสวัสดิการโดยชุมชนเพื่อชุมชนในพื้นที่เลย ก็ไม่ถูกนัก เพียงแต่เป็นการจัดโดยมีการกระตุ้นจากองค์กรภายนอก

http://gotoknow.org/blog/pilgrim/98787

การประชุมมี2วันคือ13และ14 ก.ย. ถ้าPพอมีเวลาปลีกตัวมาได้ก็เรียนเชิญครับ

วันที่13เป็นวงวิชาการ

วันที่14เป็นวงนักพัฒนา เน้นส่วนราชการก่อน

ต่อไปจะจัดวงชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนด้วย

จะมีทั้งวงของหน่วยจัดการกลางซึ่งส่วนใหญ่รวมศูนย์อยู่ที่กทม. และวงเรียนรู้ในพื้นที่ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดหรือภูมินิเวศนอกเหนือเขตปกครองที่รัฐแบ่ง

หวังว่าเราจะมีโอกาสร่วมงานกันครับ

 

ขอรบกวนปรึกษาอาจารย์ปัทมาวดี

ถ้าดิฉันจะต้องตั้งโจทย์วิจัยหรือทำแบบสอบถามเพื่อการเริ่มต้นงานการจัดสวัสดิการชุมชนให้คนไร้สัญชาติในพื้นที่

ควรจะเป็นอย่างไร ? เพื่อจะให้ได้สวัสดิการที่ผลิตเองโดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างที่อาจารย์เสนอ ไม่ใช่เป็นสวัสดิการที่คนนอกอย่างดิฉันคิดว่าจำเป็นสำหรับชาวบ้าน

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

P
1. ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ
เมื่อ พ. 12 ก.ย. 2550 @ 08:33 [381853] [ลบ]

คุณ pilgrim คะ

เริ่มต้นด้วยการที่คุณ pilgrim  ช่วย list ปัญหาของชาวบ้านออกมาก่อนดีไหมคะ    ดูปัญหาและสาเหตุของปัญหาก่อน  สาเหตุของปัญหาอาจมีหลายข้อ และปัญหาอาจพันกันนัวเนีย

ใช้ตรงนั้นเป็นตัวตั้งต้น แล้วค่อยมาตั้งโจทย์วิจัย สร้างแบบสอบถาม  ดูความต้องการของชาวบ้าน ดูศักยภาพของชาวบ้าน  แล้วค่อยสรุปว่า  เรื่องไหน สำคัญอันดับต้นๆ  เรื่องไหนที่ชุมชนพอทำกันเองได้   แล้วค่อยออกแบบวิธีการขับเคลื่อนอีกทีค่ะ

P
1. นาย ภีม ภคเมธาวี
เมื่อ พ. 12 ก.ย. 2550 @ 11:36 [382057] [ลบ]

สวัสดิการเป็นคำที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคยหรือเข้าใจไปอีกอย่าง ผมแปลตามศัพท์ว่า เป็นการกระทำเพื่อความสวัสดี

เพื่อความสวัสดีคือ เพื่อชีวิตที่เป็นปกติสุขทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม

สวัสดิการชุมชนคือ การกระทำตามความหมายข้างต้นโดยคนในชุมชนร่วมกันทำ

ดังนั้นต้องถามว่าชีวิตที่เป็นปกติสุขทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคมคืออะไร

ผมใช้ปัจจัย4 และวงจรชีวิตของคนคือ เกิด แก่ ป่วย ตายเป็นแนวในการคลำหาความเป็นปกติสุขทางร่างกาย จิตใจและสังคม

กลไกชุมชนคือระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและคนกับธรรมชาติที่ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของชุมชนแต่ละแห่งจะเป็นฐานสำคัญในการจัดสวัสดิการโดยชุมชน

คงต้องดูว่าตามนิยามสวัสดิการและสวัสดิการชุมชนข้างต้นในพื้นที่ของเรามีสภาพอย่างไร? ถ้าใช้กลไกดั้งเดิมก็ต้องคลำหากลไกวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการจัดสวัสดิการชุมชนที่ยังมีอยู่ ถ้าใช้กลไกพัฒนาก็ควานหาผู้นำจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อสวัสดิการ

ขอเมล์ติดต่อดีกว่าครับ จะได้ส่งfileมาได้ ทางเหนือมีอาจารย์วิไลลักษณ์ ม.ธรรมศาสตร์ลำปาง อ.ชัยวัธน์ หน่อรัตน์ ม.ราชภัฎลำปางที่จะเข้าร่วมประชุมด้วย   คงได้ประสานการทำงานกันต่อไปครับ

ภีม

P
1. วิมลศรี ศุษิลวรณ์
เมื่อ ศ. 14 ก.ย. 2550 @ 14:19 [385064] [ลบ]
สวัสดีค่ะคุณpilgrim กิจกรรมเปิดใจให้ผ่อนคลายและคิดสร้างสรรค์ในสิ่งดีงามร่วมกัน เช่นกิจกรรมสมาธิแสงสว่างของอาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา น่าจะเหมาะนะคะ เมื่อทุกคนรู้สึกร่วมกันว่าจะทำแต่สิ่งที่ดีแล้วก็ลองมาดูกันว่าชุมชนของเรามีเป้าหมายอะไร เช่นคาดหวังว่าจะเป็นชุมชนที่อุดมปัญญาในด้านใด เรามีสิ่งดีอะไรอยู่บ้างที่จะมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างทุนให้กับชุมชน แล้วลองทำแผนที่คนดีของชุมชน หาจุดแข็งที่เรามีให้พบ ลองทบทวนดูว่าเรื่องความต้องการของเราสอดคล้องกับสิ่งดีที่เรามีอยู่ไหม ถ้าใช่ก็แปลว่า ความฝันกับความเป็นจริงใกล้กันเข้ามาแล้วค่ะ ยิ่งสวัสดิการที่ต้องการเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเสริมจุดดีของชุมชนด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะสวัสดิการที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับชุมชนต่อไปได้ไม่รู้จบ :)

มาอ่านแล้วครับผม รู้สึกดีมากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท