ประสบการณ์การจัด "สวัสดิการชุมชน" บนดอย


ณ วันนี้ สวัสดิการชุมชนแบบเดิมยังคงมีอยู่ในบางหมู่บ้าน แต่เป็นกองทุนเล็กๆ ที่ยังคงเป็นที่พึ่งได้สำหรับบางคนที่ไม่ค่อยมีญาติพี่น้องหรือไม่มีคนค้ำประกันให้ หรือบางคนที่เข้าไม่ถึง เช่นคนที่ไม่มีบัตรประชาชน

ช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมทบทวนประสบการณ์การจัดสวัสดิการชุมชน สำหรับชนเผ่าบนดอย ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่าที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำกินในประเทศไทยหลายสิบปีแล้ว

องค์กรที่ดำเนินการนี้ ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องชนเผ่าในพื้นที่นี้มากว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชน พร้อมๆ กับร่วมจัดสวัสดิการให้ครอบครัว ในรูปแบบต่างๆ เช่น ธนาคารข้าว ธนาคารกระบือ ธนาคารสุขภาพ กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน และทุ่งนาส่วนรวม เป็นต้น

โดยแต่ละโครงการ จะให้ชาวบ้านร่วมกันสบทบเงิน หรือข้าว เข้าส่วนรวมคนละเท่าๆ กัน ตามจำนวนที่ตกลงกันในแต่ละหมู่บ้าน ได้จำนวนรวมเท่าไร ทางองค์กรจะสบทบเพิ่มจำนวนเท่านั้น เพื่อเป็นกองทุนประเภทต่างๆ ของชุมชนดังที่กล่าวมาแล้ว โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีคณะกรรมการที่ชาวบ้านเลือกกันเอง เพื่อบริหารและติดตามงานโดยเฉพาะ มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย รูปแบบการยืมคืน การติดตามหนี้ หรือการจัดการการใช้ประโยชน์ต่างๆ กันเองในแต่ละหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ขององค์กรนี้จะช่วยให้คำปรึกษาเป็นระยะ

จากผลการดำเนินงาน ในแต่ละหมู่บ้านแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ได้ผลดีและมีส่วนร่วมกันอย่างดีในช่วงเริ่มต้น บางหมู่บ้านที่มีวินัยก็มีเงินกองทุนเพิ่มมากขึ้น แต่หมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีการสมทบเพิ่มเติมเข้ากองทุน จึงเป็นเพียงกองทุนขนาดเล็กที่เพิ่มเติมขึ้นจากดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ยังพอเป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้อยู่พอสมควร

แต่เมื่อช่วงนโยบายประชานิยมเข้ามา มีเงินกองโตให้หมู่บ้านละล้าน มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข ชาวบ้านก็พากันไปฝากชีวิตทั้งหมดไว้ที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง การลงทุนเพาะปลูก การเจ็บไข้ได้ป่วย การส่งลูกเรียนหนังสือ การสร้างบ้าน หรือแม้แต่การซื้อมอเตอร์ไซด์ ทีวี ใหม่ๆ หรือการกู้ยืมเงินไปทำงานต่างประเทศ มีการกู้เงินจากกองทุนโน้นไปใช้หนี้กองทุนนี้ เป็นงูกินหางเหมือนที่หลายชุมชนประสบ

ณ วันนี้ สวัสดิการชุมชนแบบเดิมยังคงมีอยู่ในบางหมู่บ้าน แต่เป็นกองทุนเล็กๆ ที่ยังคงเป็นที่พึ่งได้สำหรับบางคนที่ไม่ค่อยมีญาติพี่น้องหรือไม่มีคนค้ำประกันให้ หรือบางคนที่เข้าไม่ถึง เช่นคนที่ไม่มีบัตรประชาชน เป็นต้น  แต่สำหรับบางหมู่บ้านก็ล้มเลิกไป ทั้งด้วยปัญหาของคณะกรรมการบางชุดที่เอื้อประโยชน์แต่ญาติพี่น้องของตน  มีหนี้สูญ หรือแม้แต่ปัญหาการไม่มีคนยอมเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ (บางหมู่บ้านไม่มีคนวัยทำงาน เพราะเข้าไปทำงานในเมืองกันหมด)

รูปแบบสวัสดิการชุมชนบนดอย (สำหรับพื้นที่นี้) อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนตามวิถีชีวิตและปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ที่สำคัญคงต้องอยู่ที่การเห็นประโยชน์ของชาวบ้านเอง ซึ่งอาจเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก ในยุคที่ความเป็น "ปัจเจก" เริ่มเข้ามาแทนที่วิถีที่เคยเกื้อกูลกันแบบชุมชนชนเผ่าในอดีต

หมายเลขบันทึก: 98787เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

อยากขอคำแนะนำสำหรับผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้

โดยเฉพาะการจัดสวัสดิการพื้นฐานสำหรับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ เช่นชนเผ่าที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีปัญหาในการใช้ชีวิตหลายด้าน ทั้งการทำมาหากิน การเดินทาง ทุนการศึกษา โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข

กลุ่มเป้าหมายคือ ชนเผ่าที่ยังไม่มีสัญชาติไทย

ถ้าวิเคราะห์จากปัจจัยที่ผู้รู้กล่าวไว้คือ การเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจ-ภูมินิเวศ-วัฒนธรรม

ประเด็นแรกคือ
การเมืองการปกครองในเขตดังกล่าวเป็นอย่างไร?

ไม่มีสัญชาติไทย แล้วใครเป็นผู้นำ/ดูแลในเขต?เป็นระบบความสัมพันธ์อย่างไร?


วิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับปัจจัย เศรษฐกิจ-ภูมินิเวศ-วัฒนธรรม มีรายละเอียดอย่างไร?

การช่วยเหลือตัวเอง จากกำลังแรงงาน ความรู้ที่พอมีในการดำรงชีวิตเพื่อปัจจัย4 เป็นอย่างไร?

หากไม่มีระบบ"เครือญาติ" ชีวิตย่อมบอบบาง หากไม่มี"ชุมชน"ซึ่งเป็นโครงข่ายความสัมพันธ์ของคนกับคนและคนกับธรรมชาติภายใต้ความเชื่อและระบบความสัมพันธ์เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกัน ชีวิตย่อมบอบบาง

หากมีสิ่งเหล่านี้ ระบบสวัสดิการชุมชนพื้นฐานย่อมมีอยู่

ถ้ามีโอกาสจะขอเรียนเชิญมาร่วมวงนำเสนอด้วย

คุณpilgrim พอให้ข้อมูลพื้นที่ทำงานเพื่อเป็น       เครือข่ายเรียนรู้พัฒนางานด้วยกันได้มั้ยครับ

ขอบคุณอาจารย์ภีมค่ะ ที่ช่วยแนะนำและซักถาม

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ

ประเด็นแรก ระบบความสัมพันธ์ในชุมชน

ชุมชนชนเผ่าทางเหนือที่ดิฉันมีโอกาสได้ไปสัมผัส ไม่แตกต่างกันนักกับในพื้นที่ที่ดิฉันทำงาน ในแง่ที่อยู่เป็นหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้ระบบการปกครองท้องถิ่นทั่วไป คือมีผู้ใหญ่บ้านทางการดูแล บางหมู่บ้านเล็กหน่อย อยู่ตามหุบเขา หรือดอยห่างไกล ประชากรไม่มากนัก ก็เป็นหมู่บ้านบริวาร ขึ้นกับหมู่บ้านใหญ่อีกที มีผู้นำทางการเช่นกัน แต่ไม่ใช่ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเหมือนหมู่บ้านหลัก

แต่ที่เป็นลักษณะเฉพาะ คือยังคงมีผู้คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศพม่า เข้ามาอาศัยปะปนอยู่กับคนในชุมชนที่อยู่มาก่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นญาติพี่น้องกันใกล้บ้าง ห่างบ้าง คนที่มาอยู่ก่อนนานๆ หลายรุ่นแล้ว ก็จะมีสัญชาติไทย เข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ ส่วนคนใหม่ๆ ก็มีบัตรชนกลุ่มน้อยที่กรมการปกครองสำรวจให้ ซึ่งสิทธิต่างกัน แต่สวัสดิการไม่ค่อยมี

หลายคนที่ยังไม่มีบัตรประชาชน จึงดูเหมือนต้องขึ้นกับผู้ใหญ่บ้าน ที่จะอนุญาตให้เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้หรือไม่ โดยเฉพาะคนที่มาใหม่ๆ และยังไม่มีบัตรชนกลุ่มน้อย ซึ่งถือเป็นคนผิดกฎหมาย

 

ประเด็นที่สอง ระบบเศรษฐกิจในชุมชน

ความรู้ความสามารถในการแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีพ แตกต่างกันไป คนที่เข้ามานานแล้ว จะมีที่ดิน สื่อสารภาษาไทยกับคนภายนอกได้ดี ปรับตัวกับสังคมไทยได้ดี (หลายคนก็เป็นคนไทยนั่นแหละค่ะ แม้จะได้สัญชาติไทยภายหลัง)  ก็พวกเขาเองที่ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ดูแลกันเอง (บางครั้งก็เอาเปรียบกันเอง)

 โดยเฉพาะรุ่นเด็กเยาวชนที่มีโอกาสเรียนหนังสือ หรือฝึกอาชีพ ก็สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ บางคนยังเป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวด้วย โดยเฉพาะกรณีครอบครัวที่ไม่มีที่ทำกินและลูกๆ ต้องเข้าไปรับจ้างในเมือง

ส่วนคนที่เข้ามาใหม่ หรือเข้ามายังไม่นานก็จะมีโอกาสน้อยกว่า ทั้งขาดที่ดินทำกิน ขาดการศึกษา การสื่อสารกับภายนอกก็ลำบาก ถ้ามีญาติพี่น้องที่พอมีฐานะก็ช่วยกันได้บ้าง แต่หลายคนก็ลำบากพอกัน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นแรงงานรับจ้างในสวนในไร่ของคนอื่น

 

อาจารย์ลองอ่านบันทึกนี้เพิ่มเติมนะคะ เผื่อจะเห็นบรรยากาศผู้คนในพื้นที่เพิ่มขึ้น

http://gotoknow.org/blog/pilgrim/94818

สวัสดีค่ะคุณpilgrim

ขออนุญาติแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยอีกคนนะคะ

ตัวเองได้มีโอกาสทำงานกับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลและได้สัมผัสวิถีชีวิตของกลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ต่าง ๆ มาบ้างค่ะ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การที่ชุมชนจะสามารถดำรงอยู่ภายใต้ระบบเกษตรนิเวศน์ ซึ่งมี "ฐานทรัพยากร" เป็น "ตัวแปร" สำคัญของระบบนั้น สิ่งที่ต้องทำงานเป็นอันดับแรกคือ การศึกษาให้เข้าใจถึง "ความสามารถ" ของฐานทรัพยากรในพื้นที่นั้น ๆ ที่จะ "รองรับ" ความต้องการในการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนภายใต้มิติของ "เวลา" หมายความว่า เราต้องทราบหรือมีข้อมูลเพื่อกำกับทิศทางในการทำงานว่าด้วยเรื่องการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ

ชุมชนนั้นสามารถ "ผลิต" อะไรที่จะทำให้ตอบสนองต่อ "ปัจจัยสี่" ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

โดยทั่วไปในทุกชุมชน สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ "อาหาร" ซึ่งชุมชนแต่ละพื้นที่จะมี "วิถีการบริโภค" ที่แตกต่างหลากหลายตามความคุ้นชิน ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่สืบเนื่อง เช่น เพื่อนชาวอาฟริกันกินพืชประเภท "หัว" เช่น เผือก มัน แต่ไม่ได้กิน "ข้าว" อย่างที่เรากิน

ชุมชนมีผู้คนเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ด้วยจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นนั้น ฐานทรัพยากรและการผลิต สามารถตอบสนองความต้องการอาหารของ"จำนวนปาก" ได้หรือไม่อย่างไร

 ตรงนี้ต้องทำ "การบ้าน" โดยจัด "วงเรียนรู้" ร่วมกันระหว่างคนทำงานอย่างเราและชุมชนค่ะ

 

 

จากนั้น ต้องเอา "ความรู้" เข้าไป "จัดการ" กับโจทย์หรือปัญหาที่ว่าด้วยเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร" ซึ่งถือว่าเป็น "โจทย์หลัก" ของชุมชน

ในพื้นที่ที่ชุมชนรวมตัวกันอยู่นั้นจะมีการใช้และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง "จำกัด" ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ยั่งยืนที่สุดได้อย่างไร

ตรงนี้เราต้องทำงานทาง "ความคิด" กับชุมชนด้วยค่ะ

หมายความว่า เราต้องให้ "ข้อมูล" และ "ความรู้" แก่ชุมชน โดยใช้ "เครื่องมือ" คือ การตั้ง "คำถาม" ให้ชุมชนตอบ ใช้วิธี ถาม-ตอบ ถาม-ตอบ ในเวทีที่เราจัดอย่างต่อเนื่อง จนชุมชนได้เรียนรู้ที่จะ "คิด" เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น 

ทำเช่นนี้จนกระทั่งชุมชนเข้าใจ "ปัญหา" และ "วิกฤติ" ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน หากฐานทรัพยากรถูกทำลายภายใต้การบริโภคที่ไม่มีขีดจำกัด เช่น ปัจจัยที่ 5 (มือถือ) ปัจจัยที่ 6 (วิทยุ/เครื่องเสียง) ฯลฯ

แม้จะจำกัดความต้องการของชุมชนเพียงแค่ปัจจัย 4 ที่จำเป็นในชีวิต การทำงานให้บรรลุผลในพื้นที่ห่างไกลอย่างที่คุณ pilgrim กำลังทำอยู่นั้นก็เป็นเรื่องที่ "ยาก" แล้ว (ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ) มาวันนี้วันที่ชุมชนมีความต้องการ "เทียม" ในชีวิต โจทย์นี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ค่ะ

ความรู้ที่จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการทรัพยากรและการผลิตค่ะ ตรงนี้อาจต้องเชิญทั้งผู้รู้ที่เป็น "ภูมิปัญญา" ทั้งในพื้นที่ และผู้รู้ที่เป็น "นักเกษตร" ที่เป็นคนนอก เข้าไป "ร่วมด้วยช่วยกัน" ค่ะ

ที่ตัวเองกำลังทำอยู่ตอนนี้เป็นชุมชนในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรีค่ะ  พยายามนำ "เทคนิคการผลิต" ที่เหมาะสมเข้าไปในชุมชน ดินในพื้นที่ค่อนข้างเสื่อมโทรมเพราะใช้มานานและไม่ได้บำรุงดูแล ปลูกข้าวพื้นเมืองได้ 20-30 ถังต่อไร่ ไม่พอต่อการบริโภคของชุมชน (ไม่ต้องไปคิดเรื่องขายเลยค่ะ) ซึ่งพื้นที่การปลูกข้าวก็มีจำกัดเพราะอยู่ในเขตป่าสงวน เป็นแหล่งต้นน้ำด้วยค่ะ จึงต้อง "ชวนคุย" และ "พาดู" เพื่อให้ชุมชน "มั่นใจ" ว่ายังคงมี "ทางออก" มากกว่าการบุกรุกป่าหรืออพยพแรงงานเข้ามาหากินในเมือง ที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนปัญหาชุมชนอ้างว้างและอาจล่มสลายในที่สุด เพราะคนหนุ่มสาวที่เป็น "พลังการผลิต" ไม่อยู่ในชุมชนอีกต่อไป

 

เรื่องเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ของระบบการผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืนนั้น คุณ Pilgrim สามารถหาข้อมูลความรู้ได้จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ได้นะคะ มี website ค่ะ หรือจะติดต่อทางเมล์และโทรศัพท์ได้ค่ะ

พอมาถึงเรื่องสวัสดิการชุมชนซึ่งจะมีแนวคิดและวิธีการหลายรูปแบบ เรื่องนี้อาจารย์ภีมจะช่วยเป็น Key Person ให้ได้มากค่ะ คุณpilgrim ติดตามเวทีและวงคุยของอาจารย์ภีมเป็นระยะ ๆ นะคะ

ในพื้นที่บนดอยห่างไกล ตัวเองชื่นชมวิธิคิดและเคลื่อนงานของคุณพ่อบาทหลวงนิพจน์ เทียนวิหารมากค่ะ ท่านพยายามขับเคลื่อนผ่าน "เครือข่าย" คือให้เกิดการ "พึ่งพา" และ "ช่วยเหลือ" กันและกันของพี่น้องชนเผ่าต่าง ๆ เช่น กองบุญข้าวของพี่น้องชาวปกากะญอ ที่ข้ามเขตพื้นที่หลายจังหวัด ใช้มิติของ "วัฒนธรรม" มาร้อยเรียงผู้คนและชุมชนเข้าด้วยกัน ดึง "ความรัก" ที่มีอยู่ในใจของพี่น้องชนเผ่าเดียวกันมาเป็น "แกน" ในการขับเคลื่อนงานผ่าน "เรื่องเล่า" ที่เป็นความเชื่อของชุมชน เช่น เรื่องหญิงม่ายและลูกกำพร้า ที่ทำให้เกิดการเกื้อกูลของคนในชุมชน หากมีโอกาสคุณ pilgrim อ่านงานของคุณพ่อนิพจน์หรืออาจลองขอนัดพบพูดคุยกับท่านที่เชียงใหม่นะคะ

วันที่ 15 มิถุนายนที่จะถึงนี้ มีเวทีนำเสนอข้อคิดเห็นต่องานวิจัยด้านสังคมของมูลนิธิโครงการหลวงที่เชียงใหม่ค่ะ หากคุณ pilgrim อยู่ไม่ไกลอาจมีโอกาสได้พบกันและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันนะคะ (เป็นคนที่พิมพ์งานช้า จึงใช้เวลาในการพิมพ์มากค่ะ หากใช้การพูดคุยสื่อสารกันจะเร็วกว่าค่ะ )

ขอเป็น "กำลังใจ" ให้เสมอนะคะ

 

 

 

พวกเรา  คือ อาจารย์ทิพวัลย์ อาจารย์ภีม ปัทมาวดี  ทำงานโครงการองค์กรการเงินชุมชนและสวัสดิการชุมชนด้วยกันค่ะ   

อาจารย์ทิพวัลย์เป็นพี่ใหญ่ของพวกเรา มีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนมากจริงๆ 

อาจารย์ภีมเป็นผู้ประสานงานโครงการ  รู้เรื่ององค์กรการเงินชุมชนดีมาก  เป็นคนหนึ่งที่เข้าใจระบบการทำงานและกลไกการทำงานระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและชุมชน  เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการความรู้ค่ะ

ตอนแรกคิดว่าจะแนะนำเพื่อนๆให้รู้จักบล็อกคุณ pilgrim  แต่ปรากฎว่า ทุกคนได้เข้ามาเยี่ยมเยียนแล้ว   ดีใจที่พวกเราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไปค่ะ

อ้อ ... จะลองส่งอีเมล์มาอีกทีไหมคะ  ส่งเป็น attached file ก็ได้ค่ะ

จะลองส่งข้อมูลที่คุณ pilgrim สอบถามให้เพื่อนๆที่อยู่คณะสังคมสงเคราะห์นะคะ  เผื่อจะมีบางคนช่วยตอบได้

โชคดีค่ะ

ขอบคุณท่านอาจารย์ทิพวัลย์ และอาจารย์ปัทมาวดีมากนะคะ สิ่งที่อาจารย์แนะนำแบ่งปันมา เป็นสิ่งที่ดิฉันกำลังคลำหาอยู่ทางนี้ค่ะ

ต้องขอบคุณอาจารย์ทิพวัลย์ที่แนะนำอย่างละเอียดมาก แบบรู้ใจมากเลยค่ะ เพราะพอเริ่มอ่านดิฉัน ซึ่งไม่มีประสบการณ์ทำงานชุมชน ก็มีคำถามตามมา เช่น "การทำงานความคิดกับชาวบ้าน" แต่อาจารย์ก็อธิบายความสงสัยของดิฉันได้ทันที ช่วยให้ดิฉันเห็นภาพเลยว่าคืออะไร และจะต้องทำอย่างไร จะพยายามทำอย่างที่อาจารย์แนะนำนะคะ และจะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะค่ะ

ดิฉันกำลังคิดว่าจะไปขอคำปรึกษาจากคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ด้วยค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านมากค่ะ สำหรับกำลังใจ และการแนะนำเครือข่ายผู้มีประสบการณ์ที่อาจารย์ช่วยกันแนะนำให้ค่ะ เป็นประโยชน์มากๆ ค่ะ

ต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้เข้ามาอ่านคำแนะนำดีๆ จากอาจารย์มา ๑ สัปดาห์ เพราะกลับบ้านมาค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท