จิตตปัญญาเวชศึกษา 24: เป็นครู ได้อะไรตอนไหน?


เป็นครู ได้อะไรตอนไหน?

ใน series จิตตปัญญาเวชศึกษา ผมเขียนไว้มากมายหลายครั้งเรื่องนักศึกษาแพทย์ควรจะได้อะไรตอนไหน แล้วผมก็บอกว่า ผมคิดว่า "นักศึกษาแพทย์ ควรจะได้ ตอนที่คนไข้ได้" จึงจะเป็นการเรียนรู้ และซึมซับ จิตวิญญาณแห่งวิชาชีพแพทย์ได้อย่างแท้จริง วันก่อนไปร่วมทำกลุ่มสนทนากับ CoRDial (Contemplative Research Dialogue) คุยกันไป คุยกันมา ก็มีเสียงใครไม่รู้ จำไม่ได้ เปรยว่า "ไปๆมาๆ ชักรู้สึกว่าจิตตปัญญาศึกษานี่ มันของนักเรียน หรือของครูกันแน่เอ่ย?" เพราะพยายามเขียนหลักสูตรไปเรื่อยๆ ปรากฏว่ามีอะไรที่เราต้องไปแตะต้องตัวครู ตัวอาจารย์เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ แตกต่างจากการเขียนหลักสูตรวิชาอื่นๆที่เคยช่วยกันทำมา

ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ

ตัวผมเอง ค่อนข้างลงตัวกับ concept สำหรับนักเรียนแพทย์ที่ว่า "นักเรียนแพทย์ควรจะรู้สึกได้ ตอนที่คนไข้ได้" เพราะจะเป็นการตั้งสมาธิ ตั้งทิศทาง วางพื้นฐานที่มาของฉันทาไว้ที่ตัวคนไข้ หากวางหลักอันนี้ไว้ให้หนักแน่นมั่นคง ถือเข็มทิศดีๆ จบออกมาน่าจะเป็นบัณฑิตแพทย์ที่เจริญรอยตามรอยพระบาทของสมเด็จพระราชบิดาแห่งวาการแพทย์ได้ไทยอย่างอบอุ่นวางใจพอสมควร

ก็น่าจะมีอะไร คล้ายๆกันบ้างไหม สำหรับคนที่จะมาเป็นครูแพทย์ หรือคนเป็นครูเฉยๆก็ได้

ใช้หลัก TQA ก็ต้องถามที่มาของตัวตนเสียก่อน ทำไมถึงมีครู? ครูทำหน้าที่อะไร? อะไรคือผลผลิต คือผลตามของการมีครู ที่อยากจะให้มี หรือจำเป็นต้องมี กันนักกันหนา?

อันวิชาความรู้ หรือความจริงต่างๆนั้น อาศัยการสังเกตเป็นสำคัญ และ "เวลา" ก็เลยมาเกี่ยวพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Man knows himself only to the extent that he knows the world;

He becomes aware of himself only within the world,

and aware of the world only within himself.

Every object, well contemplated, opens up a new organ of perception within us. 

Johann Wolfgang v. Goethe

คนเรารู้จักตนเองได้เท่าที่เขารู้จักโลกเท่านั้น รู้จักตัวตนทั้งหมดที่มีอยู่ภายใต้โลกใบนั้น

และเขาก็หมายรู้โลกใบนั้น ได้จากตัวตนที่เขาสำนึกเท่านั้น

ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อถูกพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ก็จะเปิดอวัยวะแห่งการรับรู้ขึ้นมาใหม่แก่ตัวเรา

โจฮาน วูฟกัง เกอเธ

เราวาดโลกของเรา จากการวาดตัวเรา และในทำนองกลับกันด้วยเสมอ คือวาดตัวเราจากโลกที่เรามองเห็นว่าเป็นเช่นไร

เมื่อศาสตร์ต่างๆ เกิดจากการใช้เวลาสังเกต สังเกต สังเกต ครูจึงเกิดขึ้น เพราะเรื่องราว ความจริงๆต่างๆนั้น ก็จะเคยมีคนที่สังเกต สังเกต สังเกต มาก่อน และมีคำตอบให้เราแล้ว เราก็อาจจะไม่ต้องเสียเวลานั่งสังเกตซ้ำ แต่เอาเวลาไปสังเกตสิ่งอื่น หรือสังเกตต่อเนื่องจากของเดิมก็ได้ คนที่สังเกต "มาก่อน" ก็จะสะสมความรู้ และศาสตร์ หรือความจิรงนี้ เยอะเข้าๆ ก็จะกลายเป็นคลังความรู้ ที่คนอื่นๆจะมาขอเบิกไปใช้คราจำเป็น

ความรู้นั้น น่าจะเป็น "ความรู้ที่เป็นประโยชน์" เขียนแบบนี้ก็จะกว้างมากเลย แต่มันเขียนละเอียดกว่านี้จะลำบาก เอาเป็นว่าเป็นความรู้ที่เกี่ยวพันกับ BIG QUESTION ก็คือ ทำไมเราถึงมีชีวิต และทำไมเราอยู่ในสังคม

ที่น่าสนใจคือ เมื่อคนเราไม่รู้มากก่อน และกลายเป็นรู้ ตรงนี้นี่เองที่เป็น "กระบวนการเรียนรู้" ดังนั้น การศึกษาเกิดขึ้นเมื่อมี "การเปลี่ยนแปลง" นั่นเอง การเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้ง profound changes ก็จะทำให้ชีวิตที่เปลี่ยนนั้นก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งของระดับจิตร่วม ใกล้ไปสู่จุดหมาย ความเข้าใจ ความหมายของชีวิตเข้าไปอีกระดับหนึ่ง

จากเรื่องของ "ความรู้" และหน้าที่หรือคุณลักษณะของครู งานของครูก็คือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ความรู้นั่นเอง ก็จะออกมาเป็น motto ของครู คู่ขนานไปในทางเดียวกับนักเรียนว่า

ครูควรจะได้ เมื่อสังเกตและหว่านเมล็ดแห่งการเปลี่ยนแปลงลงไปให้นักเรียน

ถ้าหากครูเปรียบเสมือนชาวสวน ก็จะเป็นนักเพาะกล้า เพาะต้นอ่อน เพาะพันธุ์ ที่เน้นกิจกรรมการทำนุ บำรุง การเติบโตนั้นเป็นเรื่องของเมล็ดแต่ละเมล็ดเอง ครู หรือ คนสวน ไม่ได้เป็นคนทำให้โต และไม่ได้เป็นคนโตกับเมล็ดด้วย แต่มีหน้าที่ประคบ ประหงม ดูแล ตัดเล็มวัชพืช ทำลายอุปสรรค ดูแลอากาศ น้ำ อาหาร ให้อดมสมบูรณ์

สิ่งที่จะหล่อเลี้ยงงานครู หรืองานคนสวนให้ชุ่มชื่นหัวใจน่าจะเป็นการมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมล็ดแต่ละเมล็ดที่หว่านลงมา ไม่ว่าบางเมล็ดจะแกร็น บางเมล็ดจะเหี่ยวแห้ง แต่ทุกๆการเปลี่ยนแปลงนั้น เป้นจิตวิญญาณของคนสวนอย่างแท้จริง ที่มานั่ง tender สวน นั่งประคบประคมดิน อยู่ ทุกขณะนี้

ครูอาจจะเผลอตั้งความคาดหวังไปบ้าง ซึ่งก้จะทำให้เกิดความผิดหวังได้ แต่นั่นก้เป็นสัจธรรมที่ครูพึงเรียนรู้ ว่างานหล่อเลี้ยงดูแลเป็นงานของครูก็จริง แต่งานเติบโต งอกงามนั้น เป็นส่วนของลูกศิษย์ต่างหาก ที่แต่ละเมล็ด ก็จะมีวิบาก มีธาตุเดิม มี The Source ที่เป็นที่มาของแต่ละเมล็ด แต่ละพันธุ์ ตามวิถีของตน ที่ครูและคนสวนจะใช้อุเบกขา เพื่อสังเกตจนเกิดปัญญาต่อไป

ดังนั้นครูที่ใส่ใจ จะแอบเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ทุกขณะจิต บางคน บางขณะ โชคดี ที่ได้ "เห็นการเปลี่ยนแปลงต่อหน้าต่อตา" จากประกายตาเปี่ยมหวัง ประกายตาที่ gain พลังขึ้นมา ทอแสงแห่งการเปลี่ยนแปลงภายใน เมื่อนั้นครูจะได้โอกาสตักตวงความสุขที่มาเป็นครูได้อย่างสดๆ เป็นความปิติที่มีทรงพลัง มีชีวิตชีวา และเป็นความรู้สึกแห่งชีวิตที่แท้จริง

การสอน หรือ การเป็นครู ก็จะไม่เป็นที่น่าเบื่อหน่าย แต่จะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงไปจนจวบวาระสุดท้ายแห่งชีวิตทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 126144เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอค่ะขออนุญาตนำบล็อกเข้าแพลนเน็ตนะค่ะ ขอบคุณคะ

ยินดีและเป็นเกียรติครับ

สวัสดีค่ะด้วยความระลึกถึงยิ่งค่ะอาจารย์หมอPhoenix

ดิฉันอ่านบันทึกนี้ด้วยความรู้สึกจับใจอย่างยิ่งค่ะ  วันนี้เพิ่งถามตัวเองไปหยกๆว่าเรากำลังทำอะไรอยู่  เพราะความรู้สึกคาดหวังอยากเห็นผลตรงหน้า  ลืมคิดไปว่า"กล้วยไม้งามนั้น....ออกดอกช้านัก"

การมีหน้าที่งานนอกเหนือจากงานสอน ทำให้ออกจะหนักใจอยู่บ้างที่มีเวลาให้ลูกศิษย์น้อยลง  แต่ก็พยายามตั้งใจฝึกเขาอย่างเต็มที่   ฝึกแล้วฝึกอีกก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้สักที  ....ลืมคิดไปว่าการปลูกต้นวันนี้แล้วหวังให้ออกเป็นผลทันทีนั้นหาได้ไม่        

"งานหล่อเลี้ยงดูแลเป็นงานของครูก็จริง แต่งานเติบโต งอกงามนั้น เป็นส่วนของลูกศิษย์ต่างหาก"

ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้ง (อ่านแล้วสบายใจเหลือเกิน) ดิฉันขออนุญาตเก็บใจความนี้ของอาจารย์ ติดที่โต๊ะทำงานไว้เตือนใจนะคะ   : )

ดีใจที่มีส่วนเป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ เราเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ และแสวงหาอรรถรสบนการเรียนรู้เช่นเดียวกัน น่ายินดีในสังฆะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท