ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่


การสร้างฐานล่างให้แน่นโดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงแม้ว่าอาจไม่เห็นผลรวดเร็วทันใจ แต่ผลที่เกิดขึ้นจะยั่งยืน
             ก่อนที่จะเข้าเรื่อง  ขอเล่าบรรยากาศในงานแต่งงานของเพื่อนให้ฟังก่อนค่ะ  งานจัดได้ดีมากค่ะ  กว่าผู้วิจัยจะไปถึงก็ 2 ทุ่มแล้ว  ที่ไปช้าอย่างนี้เป็นความตั้งใจนะคะ  เพราะ  ถ้าไปถึงงานตั้งแต่หัววันก็ไม่รู้ว่าจะไปนั่งโต๊ะไหน  กับใคร  เนื่องจากเท่าที่ทราบจะมีเพื่อนที่รู้จักกันไปแค่ 2-3 คน  รูปถ่ายที่จัดโชว์บริเวณงานสวยมาก  ดูเป็นธรรมชาติ  และสื่อให้เห็นความรักของคนทั้งสอง
ส่วนบรรยากาศในงานพิธีนั้นผู้วิจัยรู้สึกว่าค่อนข้างใช้เวลานานกว่างานอื่นๆที่เคยไป  อาจเป็นเพราะ  เป็นงานของตำรวจก็เลยมีหลายกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมา  เช่น  ลอดซุ้มกระบี่  เป็นต้น  แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับงานอื่นๆซึ่งผู้วิจัยขอยอมรับตรงๆเลยว่ารู้สึกไม่ชอบเลยก็คือ  เมื่อเริ่มเข้าสู่พิธีการ  ขณะที่ประธานหรือแม้แต่คู่บ่าวสาวกล่าวบนเวที  ผู้ที่มาร่วมงานจะคุยกันเสียงดังมาก  ผู้วิจัยนั่งอยู่ที่โต๊ะ  เชื่อไหมคะว่าแทบจะฟังคนที่พูดอยู่บนเวทีไม่รู้เรื่องว่าพูดอะไร  เป็นอย่างนี้ทุกงานเลยค่ะ  จนทำให้ผู้วิจัยรู้สึกว่าทำไมคนที่มาร่วมงานจึงไม่ให้เกียรติคู่บ่าวสาวเลย  (ไม่รู้ว่าเพราะตัวเองเป็นอาจารย์หรือเปล่า  ก็เลยไม่ชอบให้มีคนคุยเวลาที่สอนหรือมีคนอื่นพูด)  ไม่ทราบว่าในงานแต่งงานของคนชาติอื่นเป็นอย่างนี้หรือเปล่า  แต่งานก็ผ่านไปด้วยดีค่ะ  กว่าผู้วิจัยจะกลับก็ 4 ทุ่มกว่าแล้วค่ะ  กลับมาก็มานั่งทำงานต่อ  จนกระทั่งตี 2 จึงได้เข้านอน
            ตื่นเช้า (สาย) ขึ้นมา  พอดีได้เปิดโทรทัศน์ไปที่ช่อง 11  เห็นขึ้นที่หน้าจอโทรทัศน์ว่า “สด” ในจอเป็นภาพของท่านนายกรัฐมนตรี  และคณะรัฐมนตรี  นั่งอยู่ในวัด (จากการสังเกตค่ะ) บนเสื่อ  ข้างๆมีพัดลมเปิดอยู่   ส่วนข้างหน้าเป็นโต๊ะญี่ปุ่นวางเอกสารอยู่พอสมควร  และมีชาวบ้านนั่งตอบคำถามนายกฯ  โดยมีผู้ช่วยคอยถือไมล์ประกบชาวบ้านอยู่  พอเห็นภาพอย่างนี้ผู้วิจัยคิดออกเลยว่าสงสัยจะอยู่ที่ อ.อาจสามารถ  จ.ร้อยเอ็ด  เพราะ  เมื่อวานได้เย็นข่าวผ่านหูว่านายกฯและคณะจะที่นั่น
            ผู้วิจัยก็เลยนั่งดูซะหน่อยว่ากำลังทำอะไรกัน  ในที่สุดก็ถึงบางอ้อเมื่อมีตัวอักษรขึ้นที่หน้าโทรทัศน์ว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ  เมื่อเห็นอย่างนี้ผู้วิจัยก็เลยนั่งดูต่อ  ความจริงดูแรกๆก็เห็นว่าเข้าท่าดี  เพราะ  นายกฯสั่งเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง  โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินนอกระบบ  ที่ผู้วิจัยเห็นว่าเข้าท่าดี  เนื่องจาก  เห็นว่าถ้านายกฯสั่งรับรองว่าพวกเจ้าหนี้นอกระบบหัวหดแน่  รับรองว่าไม่กล้าหือ  ชาวบ้านได้ร้องเฮแน่นอน (เรื่องบางเรื่องต้องอาศัยการตัดสินใจและคำสั่งที่เด็ดขาด)
            แต่พอฟังไปฟังมารู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าท่าสักเท่าไหร่  เพราะ  เห็นว่าชาวบ้านตอบคำถามไม่ทันนายกฯ  นายกฯพูดอยู่คนเดียว  แถมพูดไทยคำ  อังกฤษคำอีก  ชาวบ้านจะรู้เรื่องไหมนี่  แถมนายกยังหันไปสั่งกระทรวง  ส่วนราชการต่างๆอีกว่าให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้  คนที่รับคำสั่งได้แต่จด  แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าใจหรือเปล่า  และถ้าเข้าใจจะเข้าใจผิดหรือถูกก็ไม่รู้  (ยังมีคำถามต่อเนื่องอีกเยอะแยะค่ะ  ถ้า list ออกมาสงสัยวันนี้คงไม่ต้องทำอะไรแล้ว)
            พอดีมีคนที่นั่งดูโทรทัศน์กับผู้วิจัยคนหนึ่งถามขึ้นมาว่าในฐานะที่ผู้วิจัยเป็นอาจารย์เห็นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบนี้จะได้ผลไหม
            ผู้วิจัยก็เลยตอบว่า  ขอตอบในฐานะที่ไม่ใช่อาจารย์แต่เป็นชาวบ้านคนหนึ่งก็แล้วกันนะคะว่า  คิดว่าไม่ได้ผล  เพราะ  เท่าที่ฟังจากโทรทัศน์บอกว่ามีชาวบ้านมา 200 คน  แสดงว่าต้องมีการคัดเลือกคนมา  เนื่องจากทั้งอำเภอมีคนยากจนเยอะแยะจะมาแค่ 200 คนได้ยังไง  คนที่มาก็อยู่ในวัยแรงงานที่สูญเสียที่ดิน  เป็นหนี้  ทำการเกษตรไม่ได้ผล  แล้วคนกลุ่มอื่นๆล่ะ  เช่น  คนชรา  คนถูกทอดทิ้ง  เด็ก  คนด้อยโอกาส  เป็นต้น  คนพวกนี้หายไปไหนหมด  (เท่าที่ดูไม่เห็นคนพวกนี้)  แถมยังพูดไม่ทันนายกฯอีก  สิ่งที่นายกฯเห็นว่าเป็นปัญหาอาจไม่ใช่ปัญหาของเขาก็ได้  และการที่นายกฯสั่งๆๆๆๆนั้น  ถ้าคิดในแง่หนึ่งก็ดี  เพราะ  ถ้านายกฯไม่สั่ง  คน (ระบบ) ก็ไม่ทำงาน  แต่อีกแง่หนึ่ง  การสั่งอย่างนี้ก็จะไปซ้ำรอยเดิมของการพัฒนาที่ผ่านมา  คือ Top down ชาวบ้านไม่เกิดการเรียนรู้  ฐานไม่แน่น  ในที่สุดก็ล้ม  การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่เกิด  ถ้าหากเสนอแนะได้  ผู้วิจัยอยากให้นายกฯศึกษาหลักคิดของ KM แล้วนำไปใช้ก็จะดี  โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างฐานล่างให้แน่นโดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  (ไม่รู้ว่าใช่หลักคิดของ KM หรือเปล่า  แต่ผู้วิจัยคิดว่าใช่) ถึงแม้ว่าอาจไม่เห็นผลรวดเร็วทันใจ  แต่ผลที่เกิดขึ้นจะยั่งยืน  และนายกฯคงไม่ต้องมานั่งเหนื่อยอย่างนี้  (ขอแสดงความคิดเห็นแค่นี้ก็แล้วกันนะคะ  เพราะ  ถ้ามากกว่านี้กลัวว่าจะกลายเป็นขาประจำไปอีกคน)
            มาเข้าเรื่องกันดีกว่าค่ะ  วันนี้ตั้งใจว่าจะเล่าเรื่องการขยายกลุ่มให้ฟังค่ะ (ตามที่สัญญาไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้) แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องนี้  ขอแทรกเรื่องเก็บตกจากกลุ่มเถินก่อนนะคะ  เมื่อคืนนี้กลับมานั่งอ่านโน้ตและทบทวนความจำของตัวเอง  เห็นว่ายังมีเรื่องที่ยังไม่ได้เล่าจากการไปที่กลุ่มเถินอีกประมาณ 2 ประเด็น  ก็เลยถือโอกาสแทรกเรื่องนี้ก่อนที่จะขึ้นต้นเรื่องใหม่ก็แล้วกันนะคะ
            ประเด็นแรก       ตอนนี้กลุ่มบ้านดอนไชย  ได้นำเงินกองทุนสวัสดิการคนทำงานมาลงทุนเปิด “ร้านค้าสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย” ได้ 3-4 เดือนแล้วค่ะ  พี่นกบอกว่าได้กำไรเพิ่มขึ้นทุกเดือน  เดือนแรกได้กำไรหลักร้อยค่ะ  ต่อมาก็เพิ่มเป็นหลักพัน  มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนทำงานด้วย  อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นกองกลางสำหรับเสริมสภาพคล่องและทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสาธารณะ  มีการแบ่งเวรกันเฝ้าร้าน  ผู้วิจัยจำได้ว่าก่อนที่จะเดินทางกลับได้พบกับพี่..... (ชื่ออะไรจำไม่ได้ค่ะ)  ซึ่งเป็นคนพิการ  ได้รับสวัสดิการคนด้อยโอกาสแล้ว (ทางกลุ่มออมให้ทุกเดือน) พี่นกบอกว่าพี่.... มาเข้าเวร  พี่เขาจะเข้าเวรในช่วงเย็นของทุกวัน นอกจากนี้แล้วพี่นกยังบอกว่าตอนนี้กำลังพัฒนาโปรแกรมบัญชี (คอมพิวเตอร์) ที่จะใช้กับร้านค้านี้ด้วย  โดยขณะนี้ได้รับการเสนอแนะจากพี่เบิ้ม (กลุ่มเกาะคา) ให้นำโปรแกรม SME มาใช้  ซึ่งพี่เบิ้มเอาโปรแกรมและคำอธิบายต่างๆมาให้ พี่นกกำลังศึกษาอยู่  โดยพี่นกบอกว่าเท่าที่ศึกษามาเห็นว่าเป็นโปรแกรมที่ดีมาก  แต่ก็ต้องดูอีกทีว่าจะนำมาใช้ได้แค่ไหน
            ส่วนประเด็นที่สอง          พี่นกได้ฝากมาว่าอยากจะให้ทางเครือข่ายฯพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้ในการเก็บข้อมูลสมาชิก (ตอนนี้มีแต่ของกลุ่ม) พี่นกให้ทัศนะในเรื่องนี้ว่า  นับวันเครือข่ายฯจะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น  การทำบัญชีหรือเก็บข้อมูลด้วยมืออย่างเดียวไม่พอ  ทำให้ตรวจสอบข้อมูลสมาชิกยาก  เสียเวลานาน  มีโอกาสผิดพลาด  ถ้าใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาจัดการจะช่วยได้มาก  นอกจากนี้แล้วเครือข่ายฯยังต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆเรื่อง  ไม่อย่างนั้นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆอาจไม่อยากเข้ามาเป็นสมาชิกก็ได้
            เรื่องเก็บตกก็คงมีอยู่แค่นี้ค่ะ (เท่าที่คิดออก) เรามาคุยเรื่องการขยายกลุ่มดีกว่าค่ะ  ตอนนี้เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีก 2 กลุ่มค่ะ (ยังไม่เป็นทางการ) คือ  กลุ่มบ้านศรีบุญเรือง  นำโดยลุงมนุษย์  เดชะ  กลุ่มนี้ตั้งอยู่ในเมือง  บริเวณชุมชนศรีบุญเรือง  คุณสามารถเดินทางไปขายความคิดหลายครั้ง  เนื่องจากกลุ่มนี้กำลังมีโครงการบ้านมั่นคงด้วยค่ะ  ซึ่งคุณสามารถดูแลอยู่  ก็เลยนำเรื่องการออมวันละ 1 บาท  เข้าไปด้วย  เท่าที่ผู้วิจัยทราบตอนนี้ตั้งกลุ่มมาได้ 1 เดือนแล้ว  แต่มีสมาชิกยังไม่ถึง 100 คน (ความจริงถ้ามีสมาชิกไม่ถึง 100 คน  ต้องเป็นสมาชิกสมทบค่ะ  แต่สำหรับกรณีนี้ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร  คงหารือกันในวันที่ 22 มกราคม  ซึ่งเป็นวันประชุมสัญจรค่ะ)  
            ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง  คือ  กลุ่ม พระบาทวังตวง  อยู่ที่ตำบลพระบาทวังตวง  อำเภอแม่พริก  จังหวัดลำปางค่ะ  เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการตั้งกลุ่มใหม่ค่ะ  เพราะ  กลุ่มนี้แยกมาจากกลุ่มแม่พริก  จะขอเล่ารายละเอียด (เท่าที่ทราบ) ให้ฟังนะคะว่า  เดิมที่อำเภอแม่พริก  เครือข่ายฯมีสมาชิกอยู่ 1 กลุ่ม  คือ  กลุ่มบ้านแม่พริก ประธานฯ  คือ  อ.ธวัช  ต่อมามีชาวบ้านจากตำบลพระบาทวังตวง ซึ่งอยู่ติดๆกับเทศบาลตำบลแม่พริก  เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกด้วย  พอมีคนจากพระบาทวังตวงมาสมัครมากๆเข้า  อ.ธวัชก็เลยแนะนำว่าน่าจะตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมา  ตอนแรกก็ยังไม่มีใครเป็นแกนนำ  เนื่องจาก ติดปัญหาในเรื่องคณะกรรมการ  คนทำงานที่หาไม่ได้  อ.ธวัช ก็พยายามผลักดันอยู่เรื่อยๆ  ทางกลุ่มแม่พริกก็ได้ช่วยเหลือ  โดยตั้งคนของพระบาทวังตวงให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการของกลุ่มแม่พริก  จะได้เรียนรู้งาน  เวลาไปประชุมที่ไหนก็จะพาไปด้วย  จนคณะกรรมการมีความพร้อมจึงแยกออกมาตั้งกลุ่มใหม่
            ดูเหมือนว่าจะเรียบร้อยและไม่มีปัญหาอะไร  แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาจนได้ว่าแล้วจะทำอย่างไรกับสมาชิกกลุ่มพระบาทวังตวงประมาณ 100 กว่าคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มแม่พริก  อ.ธวัช  ได้นำเข้าที่ประชุมในวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา (ประชุมเตรียมการตำบลละแสน) ข้อสรุปที่ได้คือ  ที่ประชุมขอนำไปคิดก่อน  แล้วค่อยมาหารือกันอีกทีในวันประชุมเครือข่ายฯประจำเดือนมกราคม
            ความจริงแล้วปรากฏการณ์นี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของอำเภอเถิน  ที่เดิมมีกลุ่มเดียว  คือ  กลุ่มบ้านดอยไชย  ต่อมากลุ่มบ้านเหล่าซึ่งมีสมาชิกมาสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มบ้านดอนไชยก็ขอแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่ของตนเอง  กลุ่มบ้านดอนไชยก็ยินดีไม่มีปัญหาอะไร  บ้านเหล่าก็ไปตั้งกลุ่มใหม่  ส่วนสมาชิกของบ้านเหล่าที่เป็นสมาชิกของกลุ่มบ้านดอนไชยนั้น  ทั้งสองกลุ่มได้หารือกัน  และได้ข้อสรุปว่า  สมาชิกของกลุ่มบ้านเหล่าที่มาเป็นสมาชิกของกลุ่มบ้านดอนไชยทั้ง 100 กว่าคนนั้นให้เป็นสมาชิกของกลุ่มบ้านดอนไชยเหมือนเดิม  เวลามีปัญหาหรือต้องการทำอะไรก็ให้มาติดต่อที่บ้านดอนไชย  เช่น  เมื่อป่วยไปนอนโรงพยาบาลก็เอาบิลมาเบิกที่กลุ่มบ้านดอนไชย  เป็นต้น  แต่  เวลาออมเงินในแต่ละเดือนไม่ต้องเดินทางมาที่กลุ่มบ้านดอนไชย  ให้ออมที่กลุ่มบ้านเหล่าได้เลย (เหมือนกับหารฝากเงินต่างสาขาของธนาคารนั่นแหละค่ะ) เพื่อความสะดวก  โดยพี่นก (กลุ่มบ้านดอนไชย) จะประสานงานกับ อาจารย์นวภัทร (กลุ่มบ้านเหล่า) ทุกเดือนว่าบ้านดอนไชยใช้บิลถึงเล่มไหน  เลขที่ไหนแล้ว  ให้ออกบิลสมาชิกของบ้านเหล่าที่มาเป็นสมาชิกของบ้านดอนไชยต่อได้เลย  ซึ่งทางกลุ่มบ้านเหล่าก็จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งของกลุ่มทำหน้าที่เก็บเงินและออกบิลเฉพาะสมาชิกกลุ่มบ้านเหล่าที่ไปเป็นสมาชิกของกลุ่มบ้านดอนไชย เพื่อไม่ให้เป็นการสับสน  เมื่อรวบรวมเสร็จแล้วทางกลุ่มบ้านเหล่าก็จะเอามาส่งให้กับทางกลุ่มบ้านดอนไชย  หลังจากนั้นทางกลุ่มบ้านดอนไชยก็จะนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ 
            วิธีการนี้พี่นกบอกว่าไม่มีปัญหายุ่งยากอะไร  ยิ่งพอเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยยิ่งง่าย  เพราะ  ถ้าข้อมูลที่นำมาส่งให้ผิด  พอคีย์เข้าคอมพิวเตอร์ก็จะรู้เลย  ถ้าหากยังใช้ระบบมืออยู่  รับรองได้ว่าต้องเกิดความผิดพลาด  ยิ่งกลุ่มที่มีสมาชิกมาก  ยิ่งมีโอกาสผิดพลาดมากตามไปด้วย  นอกจากนี้แล้วพี่นกยังบอกอีกว่า  ได้ให้คำแนะนำกับกลุ่มแม่พริก  และกลุ่มพระบาทวังตวงไปแล้ว 
            ในเรื่องนี้  ด้วยความจริงแล้วผู้วิจัยก็ไม่อยากจะออกความคิดเห็นหรือวิจารณ์อะไรมาก  เพราะ  กลัวว่าจะเกินบทบาทหน้าที่ของตนเอง  แต่ก็อยากตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ข้อหนึ่งก็แล้วกันนะคะว่า  การบริหารจัดการอย่างนี้ผู้วิจัยคิดว่าดี  ถ้าหากตกลงกันได้   แต่  ก็มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างหนึ่งก็คือ  ในกรณีของเงินออมนั้น  ส่วนหนึ่ง 30% ต้องเข้ากองทุนธุรกิจชุมชน  ซึ่งถ้ามีสมาชิกมากเงินก็จะมากตามไปด้วย   ในกรณีที่มีการแตกออกมาตั้งกลุ่มใหม่  ซึ่งสมาชิกเดิมของกลุ่มเก่า (บางส่วน) ซึ่งน่าจะยกยอดมาอยู่กลุ่มใหม่ด้วยแต่กลับไม่ได้มา  ก็เท่ากับว่ากลุ่มเก่ายังมีสมาชิกเท่าเดิม  แต่กลุ่มใหม่ต้องมาหาสมาชิกใหม่  ถ้าในภายภาคหน้าเกิดมีกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมทำแบบนี้ขึ้นมาจะทำอย่างไร  เพราะ  อย่าลืมว่ากลุ่มใหม่ก็ต้องเสียผลประโยชน์ในส่วนของเงิน 30% ที่จะตัดเข้ากองทุนธุรกิจชุมชน  (ที่เขียนมาไม่รู้ว่าคนอ่านเข้าใจหรือเปล่าค่ะ  ถ้าไม่เข้าใจก็เขียนมาถามกันได้นะคะ  จะพยายามอธิบายใหม่ให้เข้าใจค่ะ  หรืออยากจะเสนอแนะเพิ่มเติมก็ได้ค่ะ  ยินดีน้อมรับค่ะ)
           
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12488เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2006 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท