ทำไมบางคนอ้วนยาก


เราๆ ท่านๆ อาจจะสงสัยว่า ทำไมบางคนอ้วนยาก ผู้ร่วมงานท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลผู้เขียนกล่าวว่า ท่านกินอะไรดูจะกลายเป็นน้ำมันไปหมด(อ้วนง่าย) ทำไมคนอื่นกินอะไรดูจะกลายเป็นน้ำไปหมด(อ้วนยาก)...

Hiker 

พวกเราอาจจะสงสัยว่า ทำไมบางคนอ้วนยาก เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลท่านหนึ่งบอกว่า ท่านกินอะไรดูจะกลายเป็นน้ำมันไปหมด(อ้วนง่าย) ทำไมคนอื่น(บางคน)กินอะไรดูจะกลายเป็นน้ำไปหมด(อ้วนยาก)

เว็บไซต์ของโรงพยาบาลโฮลีครอส สหรัฐอเมริกากล่าวว่า “ทำไมบางคนอ้วนยาก” นั้นมีส่วนจริงอยู่เหมือนกัน เพราะอัตราการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงาน(เมทาโบลิซึม)ของคนเราต่างกัน

ปัจจัยที่ทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานของคนเราต่างกัน “ไม่มากนัก” ได้แก่ พันธุกรรม อุณหภูมิภายนอก เพศ อายุ ไข้ การตั้งครรภ์ การให้นมลูก และการมีประจำเดือน ปัจจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่เราปรับเปลี่ยนไม่ได้

  • พันธุกรรม:
    พันธุกรรมส่งผลให้คนเรามีรูปร่างต่างกัน(ใหญ่ กลาง หรือเล็ก) และมีอัตราการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานมากน้อยต่างกัน

  • อุณหภูมิ:
    อุณหภูมิภายนอกที่ร้อนจัดทำให้ร่างกายใช้พลังงานในการระบายความร้อนออกมากขึ้น เช่น ขับเหงื่อ หายใจแรงขึ้น ฯลฯ อุณหภูมิภายนอกที่เย็นจัดมีส่วนทำให้ร่างกายสร้างความร้อนมากขึ้น กล้ามเนื้อบางส่วนอาจจะสั่นเพื่อสร้างความร้อนมากขึ้น

  • เพศ:
    เพศชายมีอัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่าเพศหญิง

  • อายุ:
    คนที่อายุน้อยมีอัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่าคนที่อายุมาก

  • ไข้:
    คนที่เป็นไข้มีอัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่าคนทั่วไป

  • การตั้งครรภ์, ให้นมลูก, มีประจำเดือน:
    การตั้งครรภ์ ให้นมลูก และมีประจำเดือนทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่าคนทั่วไป

ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานมาก และเป็นปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนได้ (modifiable) มี 3 ปัจจัยได้แก่ มวลกล้ามเนื้อ การออกแรง และการงดอาหารเป็นบางมื้อ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดมี 2 ปัจจัยได้แก่ มวลกล้ามเนื้อ และการออกแรง

  1. มวลกล้ามเนื้อ:
    กล้ามเนื้อเป็นอวัยวะที่มีอัตราการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานสูงตลอด 24 ชั่วโมง คนที่มีมวลกล้ามเนื้อมากมีแนวโน้มจะเพิ่มน้ำหนัก(ไขมัน)ยากกว่าคนที่มีมวลไขมันมาก

    การออกกำลังกายต้านแรง เช่น การยกน้ำหนัก ฯลฯ มีส่วนช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
  2. การออกแรง:
    การออกแรงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินหรือขี่จักรยานแทนการใช้รถยนต์ การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ฯลฯ และการออกกำลังกายช่วยให้เราได้ใช้พลังงานมากขึ้น

    นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยเพิ่ม หรือช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อ(ไม่ให้ลดลงตามอายุที่มากขึ้น)
  3. การงดอาหารเป็นบางมื้อ:
    การงดอาหารเป็นบางมื้อทำให้ร่างกายปรับตัวลดระดับการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานคล้ายกับภาวะการขาดอาหาร คนที่กินอาหารมื้อละน้อยๆ วันละหลายมื้อมีโอกาสอ้วนน้อยกว่าคนที่กินอาหารมื้อละมากๆ วันละน้อยมื้อ(หรือ 1 มื้อ)

    มื้อที่ไม่ควรงดเลยคือมื้อเช้า เพราะช่วงเช้าเป็นช่วงที่ร่างกายขาดอาหาร และขาดน้ำติดต่อกันเป็นเวลานาน ถ้างดมื้อเช้าอีกจะทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานลดลง ทำให้อ้วนง่ายขึ้น...

แหล่งข้อมูล:

หมายเลขบันทึก: 12482เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2006 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้โดยวิธีการที่คุณหมอเขียนไว้ แต่โดยปกติดิฉันเองก็เป็นคนทีชอบเดินอยู่แล้ว เวลาไปติดต่องานหน่วยอื่น ชอบเดินขึ้นบันได ห้องน้ำชั้นล่างมีก็ไม่เข้า(มันสกปรก) ชอบเดินขึ้นไปเข้าข้างบน แล้วก็มื้อเช้าเป็นมื้อที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับดิฉัน ต้องกินข้าว หรือไม่ก็ก๋วยเตี๋ยว จะกินแค่กาแฟ ขนมปัง ปาท่องโก๋ นี่ไม่ได้เลย แต่ดิฉันก็ไม่อ้วนนะคะ เพื่อนร่วมงานยังอิจฉาเลยว่าทำไมกินแล้วไม่อ้วน
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
ขอแสดงความยินดีด้วยครับ อาหารเช้าพอประมาณ บวกกับการใช้แรงในชีวิตประจำวันช่วยป้องกันโรคอ้วนได้ การขึ้นบันไดนใช้แรงค่อนข้างมาก มีลักษณะคล้ายการออกกำลังแบบต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ ทำให้กล้ามเนื้อขาและลำตัวท่อนล่างแข็งแรง ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพดี และมีความสุขความเจริญครับ...
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท