ชีวิตที่พอเพียง : (357) คุยกับลุงริน


         ลุงรินคือครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ปราชญ์คนหนึ่งของเมืองไทย      เป็นคนที่สนใจการแก้ปัญหาสังคม  สนใจเรื่องการเรียนรู้     และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 (การเรียนรู้สู่สุขภาวะ)  ของ สสส.

          ลุงรินเป็นกรรมการนโยบาย สคส. ด้วย

          ลุงรินตั้งข้อสังเกตว่า สมาชิกสาวหนุ่ม (เอาสาวขึ้นก่อนเพราะจำนวนต่างกันมาก) ของ สคส. เป็นคนอายุน้อย     แต่ทำงานได้สารพัดด้าน     และมีความมั่นใจตนเอง      เมื่อถูกกรรมการ (ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มาก และท่าทางน่าเกรงขาม) ซักถามด้วยคำถามที่ซับซ้อนและตอบยาก    ก็มีคำตอบเสนออย่างฉะฉานและเชื่อมั่น     ลุงรินเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนเหล่านี้ได้รับโอกาสให้รับผิดชอบ   ได้รับโอกาสให้ตัดสินใจเองในการริเริ่มพัฒนางานของตน   

         ลุงรินถามผมว่า คำ “คุณเอื้อ”  “คุณอำนวย”  “คุณลิขิต” ฯลฯ มาจากไหน     ผมคิดขึ้นอย่างไร     มันเป็นคำที่ให้ความหมายลึก     และมีอำนาจเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้โดยง่าย     ไม่ต้องไปนั่งอธิบายหรือถกเถียงกัน      จะเห็นว่าลุงรินมีความลึกซึ้งมาก  มีความช่างสังเกตสูงมาก      และมุ่งใช้ความสามารถของตนทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนและบ้านเมือง     ผมจึงเคารพนับถือท่านว่าเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของประเทศ       

          นี่คือการคุยกันบนโต๊ะอาหารเที่ยง  วันที่ 25 ส.ค. 50 ที่สวนสามพราน     หลังประชุมคณะกรรมการนโยบาย สสส. จบ

          ที่จริงในการประชุมคณะกรรมการ สสส. วันนี้ มีการพูดกันถึงการ reform วิธีทำงานของ สสส.     เพื่อกระจายงานจัดการออกภายนอกองค์กร     และ สสส. มุ่งทำงานเชิงนวัตกรรม     เพื่อสร้างนวัตกรรมของการเสริมสร้างสุขภาพ (health promotion) ต่อเนื่อง     ไม่ถูก “งานรัดตัว” เพราะงานมาก อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          ในคณะกรรมการของ สสส. มีกรรมการของ สคส. อยู่ 2 ท่าน      คือลุงรินกับ ศ. สุมน อมรวิวัฒน์     ศ. สุมน จึงแนะนำว่าให้พัฒนาบุคลากรของ สสส. แนว สคส.     เพราะจะทำให้พนักงานมีความคิด กล้าคิด กล้าริเริ่ม กล้าแสดงออก     สารารถทำงานในลักษณะ “จัดการเครือข่าย” ได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์ 

         เล่าอย่างนี้อย่าคิดว่า สสส. มีปัญหานะครับ     สสส. คือ success story ของสังคมไทย     เป็นนวัตกรรมของการสร้างและจัดการองค์กร (และภาคี) สร้างเสริมสุขภาพของประเทศ      ที่เป็นตัวอย่างให้แก่โลกทีเดียว

         นั่งคุยกับลุงรินสักครู่ ศ. ดร. ปรัชญา เวสารัชช์  ประธานคณะกรรมการติดตามประเมินผล สสส.    และ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 7 ก็มาสมทบ     หมอสุวิทย์เริ่มตามสไตล์ “โครงการ สคส. ของ อาจารย์วิจารณ์ เป็นโครงการที่มีปัญหาที่สุดของสำนักผม”     หยุดสักครู่ให้คนงง ก็พูดต่อ     “เพราะใช้เงินไม่หมด     ต่อเวลาให้แล้ว ก็ยังใช้ไม่หมด”   “และผลงานก็มากกว่าที่ตกลงกันไว้”     “แต่คงหาคนทำแบบนี้ไม่ได้     เพราะต้องทำนอกแบบสุดๆ     ไม่ทำงานแบบทำตามแผนที่กำหนดไว้”

         เอามาบันทึกไว้ด้วยความภูมิใจ     ว่าผู้บริหาร สสส. มีความมั่นใจแล้วว่า สคส. ทำงานรับทุนจาก สสส. มาทำงาน 5 ปี     ใช้เงินประมาณครึ่งหนึ่งของที่ได้รับ     แต่ได้ผลงานมากกว่าที่สัญญาไว้      ถือเป็นเกียรติประวัติและความภูมิใจของพวกเราชาว สคส. และภาคี      และช่วยเพิ่มชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ ทำงานเพื่อส่วนรวมให้แก่ชีวิตของผม     แม้จะมีคน (นักการเมืองบางคน) สงสัยว่ากรณีของ สคส. และผม     ที่เงินสำหรับทำงานสร้างระบบ KM ให้แก่ประเทศ มาจาก สสส.      จะเป็นกรณีที่ไม่เหมาะสม เพราะมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน”      คือผมเป็นกรรมการ สสส. ด้วย  และเป็น ผอ. สคส. ด้วย

         ศ. สุมน ถึงกับแนะในที่ประชุมว่า     วิธีทำงานแบบเครือข่ายให้ดูตัวอย่าง สคส.     ที่มียุทธศาสตร์กระจายงานไปสู่ภาคีเครือข่ายอย่างแนบเนียน     ทำให้ สคส. มีคนไม่มาก และทำงานนวัตกรรมได้

         ผมมีความเชื่อชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า      การทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ (public service) นั้น     ไม่ได้มีจำกัดเฉพาะงานภาคราชการและการเมือง      แต่มีงานในภาคประชาชน และภาคธุรกิจด้วย     ผมทำประโยชน์แก่สังคมด้านการพัฒนาระบบ KM ให้แก่ประเทศในฐานะภาคประชาชน หรือประชาสังคม (people sector, third sector)     มีการตรวจสอบจากสาธารณชน     ว่าไม่ได้รับเงิน สสส. มาถลุง หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยไม่ก่อผลคุ้มค่าต่อบ้านเมือง      ตรงกันข้าม เราได้สร้าง นวัตกรรมให้แก่บ้านเมืองทีเดียว      โดยใช้เงินน้อยมาก    

         ผมชวนลุงรินไปร่วมประชุมเครือข่ายองค์กรที่ทำงานส่งเสริมเยาวชน     ลุงรินรับปากทันที     นี่คืองานที่ผมไปทำเพื่อสังคม โดยใช้ทรัพยากรและกลไกของภาคธุรกิจ คือมูลนิธิสยามกัมมาจล     ของธนาคารไทยพาณิชย์      เราจัดประชุมองค์กรที่ทำงานด้านเยาวชนมาแล้ว 2 ครั้ง      ครั้งที่ 3 มีสถาบันพัฒนาประชากรและชุมชน ของคุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นเจ้าภาพ     ประชุมวันที่ 18 ก.ย. 50     เครือข่ายนี้ผมไปริเริ่มขึ้น    และภาคีที่มาร่วมกันอย่างหลวมๆ บอกว่า      มีประโยชน์ต่อการทำงานของแต่ละภาคี     เพราะจะได้มีลู่ทางขอและให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน   มูลนิธิสยามกัมมาจลรับภาระด้านธุรการ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายนี้     ผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์พอใจมาก     ที่ธนาคารจะได้ทำประโยชน์แก่สังคมในด้านการพัฒนาเยาวชน โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านเยาวชน   

        ชีวิตของผมจึงเป็นชีวิตที่มีความสุข เพราะได้รับความไว้วางใจจากหลายวงการ     ให้เข้าไปใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ทำงานเชิงนวัตกรรมให้แก่สังคม   โดยใช้ทรัพยากรของเขา     ผมเดาว่าเขาไว้ใจ ว่าผมไม่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง      หากเรามีจุดยืนเช่นนี้ แม้จะมี Potential Conflict of Interest เราก็ยืนหยัด ว่าเรายึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง      ไม่ได้เข้าไป “ปล้น” เงินภาษีของประชาชน

         คุยกับลุงรินอยู่ดีๆ ทำไมออกมาที่การปล้นบ้านเมืองก็ไม่รู้   

         อ้อ!  รู้แล้ว!   การทำงานเพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง กับการปล้นบ้านเมือง มันเป็นสิ่งที่ซ้อนทับกันอยู่      คนที่ปล้นบ้านเมือง จำแลงตัวอยู่ในคราบของผู้ทำประโยชน์แก่บ้านเมือง      สังคมต้องมีวิธีแยกแยะให้ดี  

         ผมคอยถามตัวเองอยู่เสมอ   ว่าผมได้ทำสิ่งที่เห็นแก่ตัวและเป็นโทษต่อสังคมหรือเปล่า     พฤติกรรมถามตัวเองอย่างนี้ เรียกว่าสติ ได้หรือไม่  

                       

ลุงรินกำลังอภิปรายในการประชุมระดมความคิดปรับปรุงแผนหลักของ สสส. วันที่ 24 ส.ค. 50

วิจารณ์ พานิช
26 ส.ค. 50  

หมายเลขบันทึก: 124803เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2007 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่านอาจารย์หมอคะ 

เห็นด้วยกับข้อความที่เขียนนี้ตรงกับความรู้สึกและจิตใจพวกเราชาวภาคีที่ได้ทำงานร่วมกับ สคส.

ผู้บริหาร สสส. มีความมั่นใจแล้วว่า สคส. ทำงานรับทุนจาก สสส. มาทำงาน 5 ปี     ใช้เงินประมาณครึ่งหนึ่งของที่ได้รับ     แต่ได้ผลงานมากกว่าที่สัญญาไว้      ถือเป็นเกียรติประวัติและความภูมิใจของพวกเราชาว สคส. และภาคี      และช่วยเพิ่มชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ ทำงานเพื่อส่วนรวมให้แก่ชีวิตของผม  

มีหลายคนทึ่งกับ staff สคส. ทำได้ทุกหน้าที่และสามารถประสานงานจนทำให้ภาคีเต็มใจและยินดีร่วมงานกับสคส. เพียงแค่เอ่ยปากเท่านั้น หาองค์กรเช่นนี้ได้ยากนักในสังคมไทย

 

ขอกราบคารวะงามๆ ค่ะ

ยินดีที่สังคมไทยมีผู้ใหญ่ดีๆ อย่างท่าน และทีมงานค่ะ

ชื่นชมและศรัทธาแนวทางที่อาจารย์ใช้ในชีวิตและการบริหารสคส.มากๆค่ะ ขอบคุณที่อาจารย์นำมาบอกเล่าถ่ายทอดเสมอๆด้วย อยากให้สิ่งเหล่านี้แพร่ขยายเข้าไปในใจของผู้บริหารองค์กรท่านอื่นๆบ้างนะคะ บ้านเมืองเราคงจะอบอุ่น ร่มเย็นกว่านี้เป็นแน่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท