TOOKIE
นางสาว ทรงศรี ตุ๊ก ศิริเขตกรณ์

อัจฉริยะภายใน


"ความสามารถในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น"
วันนี้วันหยุดเลยได้มีโอกาสหาอาหารสมองให้กับตนเองและเผื่อแผ่มายังเพื่อนๆด้วยจ้า พอดีเราอ่านเรื่องนี้เจอในมติชน เลยอยากมาเล่าสู่กันฟังชั้นเองก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าศาสตร์ทางตะวันตกมีการจัดแบ่งความสามารถหรืออัจฉริยะภาพของคนไว้หลายประเภท ความสามารถด้านหนึ่งที่เป็นทักษะที่คนเราน่าจะสามารถพัฒนาตนเองให้มีความเป็นเลิศได้ก็คือ ความสามารถในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น   และอุปกรณ์ที่ดีเยี่ยมในการทำความเข้าใจโลกภายในของคนเราก็คือการพัฒนา สติ ตามแนวสติปัฏฐานสี่(ใช้อาการยุบหนอพองหนอเป็นหลัก) ของพระพุทธเจ้า เค้าบอกว่าหากเราได้ทำความรู้จักอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเองให้ถ่องแท้จนสามารถเป็น นาย ใจตัวเองได้ การที่จะเข้าใจผู้อื่นก็เป็นเรื่องที่ไม่เกินความสามารถเป็นแน่  นพ.จำลอง ดิษยวานิช ผู้เขียนเรื่อง วิปัสสนากรรมฐานและเชาวอารมณ์ ได้กล่าวถึงงานศึกษาเกี่ยวกับเชาวอารมณ์ของนักจิตวิทยาสองคน คือ Peter Salovey และ John Mayer ว่าหากฝึกฝนทางด้านนี้ต้องรู้ว่า เชาวน์อารมณ์มีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ

 การรู้จักอารมณ์ของตนเอง

การรู้จักอารมณ์ ความรู้สึกและความนึกคิดในขณะที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นหลักสำคัญของเชาว์อารมณ์ คนเราควรมีความสามารถที่จะวัดความรู้สึกจากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่งได้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การหยั่งรู้ทางจิตใจและการเข้าใจตนเอง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการอ่านอารมณ์หรือจิตของตัวเองคนที่ไม่มีความสามารถสังเกตอารมณ์ที่แท้จริงของตนมักจะตกเป็นทาสของอารมณ์นั้นๆ แต่คนที่มีความมั่นใจเกี่ยวกับอารมณ์ของตนจะเป็นคนนำร่องที่ดี มีความรู้สึกมั่นใจในการที่จะตัดสินใจทำอะไร

การจัดการกับอารมณ์

การจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมมีส่วนเกี่ยวข้องกับความตระหนักแห่งตน หรือการรู้จักอารมณ์ของตนเอง เมื่อมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะอารมณ์ที่ไม่ดี ต้องพยายามหาทางจัดการให้บรรเทาลงหรือหมดไปในที่สุด ถ้าขาดทักษะในการจัดการกับอารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้น ย่อมก่อให้เกิดผลเสียกับจิตใจได้

การจูงใจตนเอง

เมื่อรู้จักและสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนได้ก็สามารถใช้อารมณ์นั้นเปรียบเสมือนแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าประสงค์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จในการทำงานต่างๆ การควบคุมอารมณ์ของตนเอง เช่น การรู้จักอดทนและรอได้ การระงับความหุนหันพลันแล่น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเราไปถึงจุดหมาย คนที่มีทักษะในด้านนี้จะผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล และสามารถจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล

การรู้จักอารมณ์คนอื่น

การที่คนเราจะรู้จักอารมณ์คนอื่นได้ จำเป็นต้องรู้จักอารมณ์ของตนเองเสียก่อน สิ่งหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การมีสมารมณ์หรือความร่วมรู้สึก ซึ่งหมายถึงภาวะจิตของการที่เราเอาใจของเราเข้าไปแทนบุคคลอื่นหรือกลุ่มอื่น หรือที่เรียกว่า "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" กระบวนการเช่นนี้จะทำให้เราทราบถึงอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่นได้ ความรู้สึกเช่นนี้จะนำไปสู่ความรักเพื่อนมนุษย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความปรารถนาดี คนที่มีความร่วมรู้สึกมักประสบผลสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัว การงาน และการเข้าสังคมด้วย

ปฏิบัติการเกี่ยวกับสัมพันธภาพ

ศิลปะของการสร้างสัมพันธภาพส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับทักษะในการจัดการกับอารมณ์ของผู้อื่น คือ ต้องรู้จักอารมณ์ของผู้อื่น มีการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

เมื่อรู้ถึงคุณสมบัติของสิ่งที่เรียกว่าเชาวน์อารมณ์แล้ว หากจะลงไปในรายละเอียดของวิธีการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการที่จะรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่น ก็ต้องรู้ต่อไปอีกว่าคนเรามีวิธีที่จะใส่ใจและจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้หลายแบบ ในหลายแบบนี้น่าลองตรวจสอบดูว่า เรากำลังถูกจัดอยู่ในประเภทไหน เพราะจะได้ปรับเปลี่ยนได้ทันเวลาถ้าต้องการ

-คนที่มีความตระหนักในตนเอง หมายถึงความเข้าใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนพวกนี้มักเป็นตัวของตัวเอง มีสุขภาพจิตดี เมื่อเกิดอารมณ์ไม่ดีจะไม่หมกมุ่นครุ่นคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และสามารถขจัดออกไปได้ในเวลาอันสั้น

-คนที่ดูดซึมอยู่กับอารมณ์ คนกลุ่มนี้ไม่รู้จักอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวเอง จะจมปลักอยู่กับอารมณ์ของตนเองและหาทางออกไม่ได้ ไม่รู้จักการปล่อยวาง ถูกดูดหรือซึมซับไปกับอารมณ์จนมองอะไรไม่ออก ผลที่ตามมาคือ ไม่พยายามหลีกหนีอารมณ์ที่ไม่ดี อารมณ์อาจจะสะสมมากขึ้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ชอบหงุดหงิด เครียด วิตกกังวล ฟุ้งซ่าน เบื่อหน่าย ท้อแท้

-คนที่ยอมรับอารมณ์ คนประเภทนี้รู้จักและยอมรับอารมณ์ของตน แต่ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข

อยากเป็นคนที่อ่านตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น ก็ต้องมีคุณสมบัติแบบประเภทที่หนึ่ง แต่หากยังไม่ใช่ หรือใช่บ้าง-ไม่ใช่บ้าง ก็ยังมีวิธีเรียนรู้ให้ก้าวไปในจุดนั้น ซึ่งนักจิตวิทยาทั้งหลายต่างให้การยอมรับว่า สติปัฏฐานสี่ เป็นฐานที่จะส่งให้เราก้าวกระโดดด้วยแรงส่งที่มากกว่าการฝึกในรูปแบบอื่นๆ

เราจะสามารถจัดการกับอารมณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดี หรืออารมณ์ที่ไม่ดี จะรู้จักตัวแท้ของเราแบบที่ไม่ใช่อยากจะเป็น หรือเป็นไม่ได้ เข้าใจคนอื่นตามที่เขาเป็น ไม่ใช่ตามที่เราอยากจะเข้าใจเอาเอง

ความจริงที่ซ่อนอยู่จะถูกเปิดเผยด้วย สติปัฏฐานสี่ !
ข้อมูลจาก คอลัมน์ร้อยเหลี่ยมพันมุม โดยวีณา โดมพนานคร
มติชน ออนไลน์เจ้า
 

หมายเลขบันทึก: 124148เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2007 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...ถ้าหลายคนทำได้โลกนี้คงจะน่าอยู่มากเลย นะครับ

   ผมขอนำบางตอนในปกหลังของหนังสือ best saler เล่มหนึ่ง ซึ่งภรรยาผมพยายามให้ผมอ่านในช่วงวิกฤติของชีวิต แต่ผมก็ยังไม่ได้อ่านซักทีมาฝากครับ

      ดร.แชปมัน กล่าวถึง การที่คนเราสื่อสารให้ผู้อื่นรู้ว่ารักเขา และรับรุ้ว่าเขารักเราด้วยวิธีแตกต่างกัน 5 แบบ 

  • ให้เวลาที่มีคุณค่า
  • ใช้คำพูดที่ให้กำลังใจ
  • ให้ของขวัญ
  • ปรนนิบัติเอาใจใส่
  • สัมผัสทางกาย

... ถ้าคุณแสดงความรักแต่ชีวิตคู่ไม่เข้าใจ เขาไม่รับรู้ว่าคุณกำลังแสดงความรัก และรู้สึกว่าคุณไม่รักเขา เพราะว่าคุณทั้งสองใช้ภาษารักที่ไม่ตรงกัน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท