การย้ายถิ่นเป็นภาวระการณ์ทางประชากร


การย้ายถิ่นเป็นภาวระการณ์ทางประชากร

การย้ายถิ่นเป็นภาวะการณ์ทางประชากร

ที่สำคัญซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางประชากรนอกเหนือจากการเกิดและการตาย ซึ่งการย้ายถิ่นมีผลทั้งทางบวกและทางลบต่อถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทาง สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาวะสุขภาพและการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ (สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล) ของแรงงานย้ายถิ่นในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2547 การสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2547 และการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2547 มาศึกษาร่วมกัน สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ลักษณะทั่วไป

ในปี พ.ศ. 2547 มีแรงงานย้ายถิ่นอายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 3.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.4 ของประชากรในวัยแรงงาน เป็นชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ แรงงานย้ายถิ่นมีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า (ร้อยละ 72.3) เกือบ 1 ใน 4 ของแรงงานย้ายถิ่นมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา มากกว่าครึ่งของแรงงานย้ายถิ่นเป็นผู้กำลังสมรส (ร้อยละ 56.3) รองลงมาเป็นโสด (ร้อยละ 38.1)

แรงงานย้ายถิ่นส่วนใหญ่มีงานทำ (ร้อยละ 81.6) อาชีพที่ทำคือพนักงานบริการและพนักงานขายในร้านค้าและตลาดแรงงานย้ายถิ่นที่มีงานทำมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 7,900 บาท ชายมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าหญิง แรงงานย้ายถิ่นในภาคใต้มีรายได้สูงกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่แรงงานย้ายถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ต่ำสุด แรงงานย้ายถิ่นมีชั่วโมงการทำงานค่อนข้างสูง คือประมาณ 49 ชั่วโมง

ภาวะสุขภาพ

สุขภาพที่ดีนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลทั้ง
ตนเองและต่อการพัฒนาประเทศ ผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะสุขภาพของแรงงานย้ายถิ่นมีดังนี้

1. การเจ็บป่วย

แรงงานย้ายถิ่นรู้สึกป่วยหรือไม่สบายประมาณ
ร้อยละ 19.3 ของแรงงานย้ายถิ่นทั้งสิ้น ชายรู้สึกเจ็บป่วยหรือ
ไม่สบายสูงกว่าหญิงเล็กน้อย กว่า 1 ใน 3 ของแรงงานย้ายถิ่นชายและหญิงที่อยู่ในภาคเหนือมีสัดส่วนที่รู้สึกป่วยหรือไม่สบายค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่นๆ

2. กลุ่มโรคที่ป่วย

แรงงานย้ายถิ่นที่รู้สึกป่วยหรือไม่สบายมากกว่าครึ่งป่วยด้วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ (ร้อยละ 50.2) รองลงมาคือกลุ่มโรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ (ร้อยละ 16.5) และกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร (ร้อยละ 10.5) แรงงานย้ายถิ่นทั้งชายและหญิงในทุกๆ ภาคส่วนใหญ่ป่วยหรือไม่สบายด้วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับทั่วราชอาณาจักร

3. วิธีการรักษาพยาบาล

แรงงานย้ายถิ่นประมาณร้อยละ 22.2 เมื่อรู้สึกป่วยหรือไม่สบายจะไปสถานีอนามัย/ศูนย์บริการสาธารณสุข/ศูนย์
สุขภาพชุมชน ร้อยละ 19.9 ไปโรงพยาบาลชุมชน และร้อยละ 18.0 ซื้อยากินเอง แรงงานย้ายถิ่นชายส่วนใหญ่ใช้วิธีการรักษาพยาบาลด้วยการไปสถานีอนามัย/ศูนย์บริการสาธารณสุข/ศูนย์สุขภาพชุมชน ขณะที่หญิงมีวิธีการรักษาพยาบาลด้วยการไปโรงพยาบาลชุมชน (ร้อยละ 21.6)

4. โรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว

แรงงานย้ายถิ่นไม่น้อยมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว (ร้อยละ 15.2) แรงงานย้ายถิ่นที่อยู่ในภาคเหนือมีสัดส่วนที่มีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวสูงกว่าภาคอื่นๆ (ร้อยละ 22.9) แรงงานย้ายถิ่นชายมีสัดส่วนที่มีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวสูงกว่าหญิงเล็กน้อย

 

แรงงานย้ายถิ่นที่มีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว
ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด (ร้อยละ 19.4) ชายและหญิงมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวเป็นกลุ่มโรคเดียวกันคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด แต่แรงงานย้ายถิ่นหญิงมีสัดส่วนสูงกว่าชายเกือบเท่าตัว (ร้อยละ 24.7 และร้อยละ 14.4 สำหรับหญิง และชาย ตามลำดับ)

หลักประกันด้านสุขภาพ (สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล)

แรงงานย้ายถิ่นส่วนใหญ่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 94.1) ชายและหญิงมีสัดส่วนไม่แตกต่างกัน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่แรงงานย้ายถิ่นได้รับส่วนใหญ่จากบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ประเภทไม่มี ท. (เสีย 30 บาท) รองลงมาได้รับจากบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ประเภทมี ท. (ไม่เสีย 30 บาท) แรงงานย้ายถิ่นในทุกๆ ภาคได้รับสวัสดิการจากบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ประเภทไม่มี ท. (เสีย 30 บาท)

แม้ว่าส่วนใหญ่แรงงานย้ายถิ่นจะได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ แต่ก็ยังมีแรงงานย้ายถิ่นบางส่วนที่ไม่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ ซึ่งพบว่ามีประมาณร้อยละ 6 กรุงเทพ-
มหานครมีสัดส่วนที่ไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ เลยสูงถึงร้อยละ 14.0 และต่ำสุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แรงงานย้ายถิ่นชายและหญิงในกรุงเทพมหานครไม่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ เลยสูงกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่ต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งชายและหญิง

การได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลกับการมีโรคเรื้อรัง/
โรคประจำตัว

การศึกษาการมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวของแรงงาน
ย้ายถิ่นกับการได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลพบว่า แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 95.2) มีแรงงานย้ายถิ่นเพียงเล็กน้อยที่ไม่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ เลย (ร้อยละ 4.8)

แม้แรงงานย้ายถิ่นจะมีสัดส่วนที่ไม่ได้รับสวัสดิการ
ค่ารักษาพยาบาลไม่มากนัก แต่จะพบว่าแรงงานย้ายถิ่นหญิงมีสัดส่วนที่ไม่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ สูงกว่าชายมากกว่า 2 เท่า (ร้อยละ 6.9 สำหรับหญิง และร้อยละ 2.8 สำหรับชาย)

แรงงานย้ายถิ่นที่มีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวในภาคใต้
มีสัดส่วนที่ไม่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าภาคอื่นๆ (ร้อยละ 8.6) ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนต่ำสุด (ร้อยละ 0.9) แรงงานย้ายถิ่นชายในภาคกลางมีสัดส่วนที่ไม่ได้รับ
สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสูงสุด (ร้อยละ 8.2) ขณะที่แรงงานย้ายถิ่นหญิงในภาคเหนือมีสัดส่วนที่ไม่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ สูงสุด (ร้อยละ 11.6)

ข้อเสนอแนะ

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็น "สิทธิ" ขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นการสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนให้สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน จากมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับเกณฑ์พื้นฐาน 10 ประการในการดำรงชีวิตของคนไทย โดยกำหนดเป็นเป้าหมายขั้นต่ำที่คนไทยควรบรรลุภายใน 6 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2547-2552) เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่ง 1 ในเกณฑ์พื้นฐาน 10 ประการ ก็คือ การได้รับการประกันสุขภาพที่ได้มาตรฐาน

 

แม้แรงงานย้ายถิ่นส่วนใหญ่จะได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ประเภทไม่มี ท. (เสีย 30 บาท) แต่ก็ยังมีแรงงานย้ายถิ่นบางส่วนที่ไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ เลย นั่นอาจหมายถึงความไม่ครอบคลุมประชาชนให้ได้รับหลักประกันด้านสุขภาพได้ทั่วถึงของโครงการฯ และการปรับเปลี่ยนจาก “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" ไปสู่ “โครงการ 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค" ที่ "เน้นสร้าง นำซ่อม" ซึ่งรัฐควรเร่งปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชากรได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งควรหามาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

หมายเลขบันทึก: 123834เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท