การฝึก Dialogue นอกสถานที่ของ สคส.


       สคส. ได้ใช้เวลาสองวันที่ผ่านมา (28 29 ส.ค.) ไปฝึก Dialogue กันนอกสถานที่ โดยมี คุณมนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร เป็น คุณประคอง  คอยประคับประคองไม่ให้ วงล่ม ยิ่งได้ฝึกฝนก็ทำให้ยิ่งเห็นชัดว่า Dialogue เป็นทักษะที่ได้จากการปฏิบัติ แรกๆ ทำก็ออกมาแบบเกร็งๆ พอเกร็งก็เลยไม่เป็นธรรมชาติ พอไม่เป็นธรรมชาติ ก็เลยไม่ ไหลเลื่อน คือไม่ “flow”

        ผมชอบที่อาจารย์มนต์ชัยใช้การเปรียบเปรยว่า การพูดของพวกเรานั้นออกมาคล้ายๆ กับการ จุดพลุ คือแวบขึ้นมาเป็นดวงๆ คนละทีสองที  แต่พอมีการ ไหลเลื่อน มันก็เหมือนกับเราเคลื่อนไปด้วยกัน ลักษณะคล้ายกับการ ลอยของบอลลูน (อันนี้เป็นข้อเปรียบเทียบของผม)  ค่อยๆ ลอยขึ้นไป แต่บางครั้งก็ลอยลงมา เรียกได้ว่า มีขึ้นมีลง ขึ้นอยู่กับสมาธิของคนในวง วงใดที่มีการเลื่อนไหล ก็จะรู้สึกได้ถึงพลัง ตรงนี้เองที่ทำให้ผมเริ่มเข้าใจสิ่งที่อาจารย์ใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) ใช้คำว่า มลฑลแห่งพลัง

        ผู้ใดที่ยังงงๆ อยู่ว่า สุนทรียสนทนา หรือ Dialogue” คืออะไร ลองเข้าไปอ่านที่อาจารย์ณัฐฬส วังวิญญูเขียนไว้ในมติชนรายวัน  ซึ่งท่านได้เอามา post ไว้ใน http://gotoknow.org/blog/sph/111597  หรือจะลองเข้าไปอ่านประสบการณ์ของผู้ที่ทำหน้าที่กระบวนกรในวง Dialogue ที่อาจารย์หมอสกลเขียนไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/phoenix-mirror/100399 ก็ได้ น่าจะทำให้เข้าใจ Dialogue มากขึ้นครับ
หมายเลขบันทึก: 123539เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถ้าเราพูดเป็นภาษาคนตรีน่าจะดีนะ แค่ตัวโนต7ตัวก็สามารถนำมาเรียงร้อยเป็นเพลงได้อเนกอนันต์ประกอบกับจังหวะจะให้เมามันพลันเศร้าสร้อยก็แสนอาดูร อันที่จริงการพูดนั้นทุกพูดได้ แต่ละคนก็จะมีความสามารถที่แตกต่างกันจึงต้องแยกแยะให้ออกแล้วใช้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการ พูดให้เชื่อถือ พูดจุดประกายความคิด พูดกระตุ้นให้อยากรู้ อยากเรียน อยากทดลอง พูดให้มีความเชื่อมั่นในตนเองเป็นต้น...

การเริ่มต้นที่ดีทำให้ทุกคนรู้สึกสบายคลายกังวลพูดเรื่องสบายๆเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถร่วมวงสนทนาได้ง่ายแล้วค่อยๆคุยเพิ่มเติมแยกแยะความเหมือนหรือความต่างในเรื่องฤดูกาลที่มีในแต่ละท้องถิ่นใครมีข้อสังเกตุในความแตกต่างความละเอียดละออความน่าเชื่อจะถูกแสดงออกผ่าน การแสดงความคิดเห็นจะทำให้แยกคนออกได้ง่ายขึ้น

ผมเองก็เคยไปร่วมประชุม World Religions Congress 2000 :Dialogue

ที่กรุงวาติกัน ที่คริสตจักร เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อปี คศ.2000 

ผมเองได้รับคำเชิญให้ไปร่วมในฐานะเคยมีบทบาทร่วมเผยแพร่กิจกรรมทางศาสนาพุทธที่ต่างประเทศกับพระภิกษุไทย คือพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ทอง สิริมังคโล ที่เม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา

 

บทบาทตอนนั้น ทางคริสตจักร โดยคณะกรรมการศาสนาสัมพันธ์โลกของกรุงวาติกัน ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มผู้มีบทบาทเผยแพร่คำสอนของทุกศาสนา

 

มีการให้บุคคลที่เป็นตัวแทนจากศาสนาต่างๆในที่ประชุมพูด คนละ ๕ นาที โดยเขียนหัวข้อที่จะพูดและนำมาหย่อนลงหีบ

 

ในขณะนั้น ได้มีการใช้เทคนิคการพูดที่ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นวิธีเดียวกันกับสุนทรีย์สนทนาหรือปล่าว?

 

แต่การพูดหรือบทสนทนานั้น เท่าที่ผมสังเกตดูและมีส่วนร่วมด้วย จะมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

 

  ผู้พูดและผู้ฟัง มีจุดหมายหรือเป้าประสงค์ร่วมกัน เช่นคราวนั้น เป็นการชุมนุมของกลุ่มผู้ทำกิจกรรมทางศาสนาทุกศาสนาจากทั่วโลก และใช้ dialogue เป็นวิธีการสื่อไปหามวลชน

 

  dialogue ต้องใช้ทักษะในการพูด แน่นอนครับ แต่ที่ลึกไปกว่านั้น ผู้พูดต้องมีทั้งแก่นของเนื้อหาที่จะพูดคือมีความเข้าใจอย่างดีและที่สำคัญคือมีเจตนาที่ดีต่อผู้ฟัง คือสื่อสารออกไปด้วยความรักและความปรารถนาดี คือมีจิตเมตตานั่นเอง

 

  ผมสังเกตเห็นว่า คำพูดที่ทรงพลังที่สุดในขณะนั้น ไม่ได้มาจากผู้พูดที่มีอำนาจมากที่สุด แต่มาจากบุคคลที่เป็นศูนย์กลางแห่งความรัก เช่น ท่านดาไลลามะ และ Pope ที่เพียงแค่ปรากฏตัว โบกมือ ก็ทำให้ผู้คนน้ำตาไหลแล้ว และเมื่อกำลังจะพูด ทุกคนเงียบกริบพร้อมที่จะฟัง...

   ผมเห็น ศรัทธา สมาธิ เกิดในขณะนั้น มีจุดศูนย์กลางที่รวมกัน คือการสื่อสารระหว่างใจถึงใจ...การน้อมจิตลงฟังด้วยศรัทธา ด้วยบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ไปด้วยเมตตาน้ำเสียงงที่จริงใจ ถ้อยคำที่ง่าย ตรงออกมาจากใจและประสบการณ์จริงกล่อมเกลาผู้คนที่ยังมีจิตที่กระด้างอยู่ให้อ่อนลง...เกิดการรับฟังอย่างจริงจัง...ใคร่ครวญและเกิดปัญญาตาม  

ดังนั้น สุนทรีย์สนทนา น่าจะมีส่วนร่วมที่สำคัญ ระหว่างผู้พูด ผู้ฟังและสาระสำคัญที่จะสื่อออกมา ด้วยความรักและปรารถนาดีซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง

 ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเท่านี้ก่อนครับ 

 

ดีใจด้วยครับ   ที่ ได้ไปฝึกกัน

ทำบ่อยๆ  เข้าวง สัก ๒๐ ครั้ง ขึ้นไป   โดยมีคุณประคอง คอยร่วมด้วย จะดีมากๆๆ

ตอนนี้ ชาวปูนฯ   จัดผู้บริหารไปเรียน กัน เป็น สิบรุ่นเลยครับ

ผมมั่นใจว่า Dialogue เนี่ย  ..... กู้ชาติได้ครับ

  • ชอบ comment ของท่าน อ.พิชัยค่ะ....การพูดง่ายๆออกมาจากใจที่พร้อมจะน้อมรับ..น่าจะดี 
  • ดิฉันไม่ทราบเรื่องทฤษฎี...แต่ดูง่ายๆจาก KM เชียงใหม่.....ทำไมการพูดคุยทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย(หากอาจารย์มาตั้งแต่คืนแรกจะเห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นตั้งแต่วันแรกค่ะ)...นั่นเป็นเพราะการเข้ามาพูดคุยกันบ่อยๆ...ไม่เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น   ทำให้อ่านใจกันออกในเบื้องต้น  เกิดความไว้วางใจตามมา...พอพบกันปุ๊บก็ต่อได้ปั๊บ 
  • ....มันอาจจะทำไม่ได้ง่ายนักในเรื่องงานหรือวิชาการค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท