KM กรมอนามัย เมื่อวันวาน


แต่เดิม เราคิดว่า เมื่อมีปัญหา หรือต้องการพัฒนางาน เราก็จะมาพูดแต่เรื่องปัญหากัน และครั้งนี้เราก็เปลี่ยนเป็นการเล่าเรื่องความสำเร็จในการทำงาน

กรมอนามัยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า "จะเป็นผู้นำหลักในการสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ" โดยมีพันธกิจคือ "เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดการสนับสนุน ให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยการผลิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุน ให้การส่งเสริมสุขภาพเป็นไปตามมาตรฐาน"

จึงกำหนดการพัฒนาระบบบริหารความรู้ของกรมอนามัย ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ได้ออกแบบ และวางกรอบการพัฒนาระบบบริหารความรู้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบราชการกรมอนามัย ประกอบด้วย

  1. ระบบและกลไกการบริหารความรู้ และ
  2. กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะบุคลากรด้านต่างๆ

กรมอนามัยจัดตั้งคณะทำงานของกรมอนามัยขึ้นมา ทำงานเรื่องการบริหารองค์ความรู้ในองค์กร และมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมทำด้วยกัน อาทิเช่น กพร., กองแผนงาน กองการเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป

มีทีมบริหารความรู้ คณะสร้างเสริมกิจกรรมการจัดการความรู้ และหน่วยที่ช่วยอำนวยการ

การดำเนินการจัดการความรู้ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ กำหนดกรอบความคิดเบื้องต้นของกรมอนามัย ที่ประกอบไปด้วยคณะทำงานทั้ง 3 ฝ่ายนั้น กิจกรรมที่มาจัดการความรู้มี 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ตั้งเป้าหมายว่า น่าจะมีการจัดการความรู้ในเรื่อง การปฏิรูประบบราชการ
  2. จัดทำคลังความรู้ข้อมูล (Databases) เพื่อประโยชน์ ทั้งในหน่วยงาน และบุคคลภายนอกหน่วยงานได้มาค้นคว้าหาความรู้

เพราะว่าหน่วยงานราชการมีนโยบายสารพัดอย่าง ที่จะทำให้หน่วยงานนั้นๆ ทำงานให้ดีขึ้น มีกิจกรรมสารพัดประเภท ที่จะทำให้คนทำงาน ประชาชนมีความรู้ และเก่งมากขึ้น จึงนำ “การจัดการความรู้” มาเป็นแนวคิด และกิจกรรมสำคัญที่กรมวิชาการอย่างกรมอนามัยจำเป็นจะต้องใช้ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานผ่านคนอื่น หรือสนับสนนกระตุ้นหน่วยงานอื่นให้ทำงานส่งเสริมสุขภาพ โดยไม่ได้ทำเองทั้งหมด

และการจัดการความรู้ต้องมีทั้ง การรู้จักนำความรู้ที่มีอยู่แล้ว จากตำรา จากงานวิจัย มาใช้ประโยชน์ (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) ให้เหมาะสมกับเป้าหมายงานที่ต้องการ รวมทั้งรู้จักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในส่วนของความรู้แฝง และสกัดความรู้แฝงที่มีอยู่ มาให้คนอื่นได้รับรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ และสร้างเป็นความรู้ชุดใหม่ต่อไป

พญ.นันทา อ่วมกุล ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้ กรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากที่หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ดำเนินการเรื่อง KM แล้ว ยังมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ. สคส. มาช่วยเรื่องกระบวนการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น หลังจากนั้นก็พยายามประสานเข้าไปกับงานประจำของตัวเอง

“ช่วงนั้น สำนักส่งเสริมสุขภาพก็มีปัญหาเรื่อง การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และก็เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ และก็มาชวนคนที่ทำเรื่องมะเร็งเต้านมมาร่วมด้วย ซึ่งมีทั้ง อสม., สสจ. ฯลฯ ซึ่งเป็นการประชุมที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย เพราะทุกคนเห็นว่า ตัวเองมีส่วนร่วม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเวที แต่ทุกคนสามารถมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ทุกฝ่าย”

“แต่เดิม เราคิดว่า เมื่อมีปัญหา หรือต้องการพัฒนางาน เราก็จะมาพูดแต่เรื่องปัญหากัน และครั้งนี้เราก็เปลี่ยนเป็นการเล่าเรื่องความสำเร็จในการทำงาน ตามกระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งจะทำให้รู้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งทุกคนก็จะสะท้อนออกมาว่า สิ่งที่ได้เป็นสิ่งที่ดีมาก ในการนำไปใช้ และเป็นตัวอย่างในการพัฒนางานของตนเองต่อไป”

ซึ่งกรมอนามัยได้มีการจัดในส่วนที่ทำได้ก่อน โดยเอา รพ.นำร่องมาทำเรื่อง การจัดการความรู้ก่อน ซึ่งก็มีกลุ่มผู้ที่มาแชร์ความรู้กันเป็นร้อยคน และตัวผู้จัดก็ได้ประสบการณ์กับการจัดการกับคน 100 คน ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ซึ่งอย่างน้อยก็มีกว่า 30 โรงพยาบาล ซึ่งทุกหน่วยที่แลกเปลี่ยน ได้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม และรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วม และมีความกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

การจัดการความรู้ ของ รพ.นำร่อง

“เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน กลุ่มผู้สูงอายุก็คุยกันด้วยความสบายใจ มีเพื่อร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นแต่วันที่ไปเยี่ยมบ้านเท่านั้น แต่วันอื่นๆ ก็แลกเปลี่ยนกันอยู่เป็นประจำ กิจกรรมที่ผู้สูงอายุจะทำที่โรงพยาบาลจะเป็นกิจกรรมอย่างไร ใครดูแล และโครงสร้างการดูแลเป็นอย่างไร และสำนักส่งเสริมสุขภาพก็อยากให้ชุมชนนักปฏิบัติ สำนักส่งเสริมสุขภาพจึงเอาคนที่ปฏิบัติงาน กับหัวหน้าหน่วย หัวหน้าส่วน หัวหน้ากลุ่ม มาทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

แต่สิ่งสำคัญของการจัดการความรู้นั้น เราเห็นว่า ควรจะมีการจัดการความรู้ทุกระดับ จึงนำทั้งคนขับรถ เจ้าหน้าที่โสตศึกษา มาร่วมเรียนรู้เรื่อง การจัดการความรู้กัน และให้เข้ามาในกลุ่มด้วย และเป็นการสร้างพลังให้กับกลุ่มได้มาก เพราะทุกคนมีส่วนร่วม
ซึ่งคนขับรถก็ขึ้นมาเป็นคนสรุป ช่วยเขียนบอร์ดในการประชุมจัดการความรู้ ซึ่งทุกคนมีเรื่องเล่ามาเล่าให้กลุ่มฟัง ซึ่งจุดนี้เองทำให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจกระบวนการจัดการความรู้ เพราะที่ผ่านมามักจะมีคำถามอยู่เรื่อย อาจารย์ก็มาพูดบ่อยๆ เหมือนกันว่า เรามาเล่าแต่ความสำเร็จ ทำไมเราไม่พูดถึงปัญหาอุปสรรค แต่ตอนนี้ทำให้ทุกคนเข้าใจได้มากขึ้น และมีความสุขที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ปัญหาที่พบ คือ จะมีคนเกินครึ่งยังเล่าเรื่องไม่ค่อยได้ ไม่มีขุมความรู้ที่แน่ชัด เพราะอาศัยการเล่าแบบสรุป ไม่ได้เล่าเรื่องให้เห็นวิธีการในการทำงานในแต่ละขั้นตอน ไม่มีเกร็ดความรู้เล็กๆ ให้เห็น คล้ายๆ กับบอกปัจจัยมาเลยว่า มีอะไรบ้าง

และอีกส่วนหนึ่ง คือ ต้องการจะผลักดันในส่วนหน่วยงานที่จะสร้างอะไรให้สำเร็จ และให้ทำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างเช่น สิ่งที่เห็นจากเวที ที่เห็นผู้ปฏิบัติ เป็นรูปธรรมคือ ศูนย์อนามัยเขต 1 ที่มีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว และก็มีการจัดกับกลุ่มคนไข้ การแลกเปลี่ยนความสำเร็จของกลุ่มคนทำงาน ซึ่งคนไข้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกัน ด้วยการเล่าเรื่องตามเครื่องมือ สคส.

ตัวอย่างของการจัดการความรู้ขยายผลได้เอง

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บางเขน ศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย เป็นตัวอย่างของการจัดการความรู้ที่สามารถนำความรู้ และแนวคิดวิธีการมาใช้ในงานประจำ ดังตัวอย่างของ อัญชิษฐา วงศ์บุญมี เจ้าหน้าที่คลินิกสุขภาพตรวจโรคทั่วไป รพ.ส่งเสริมสุขภาพฯ เล่าว่า หลังจากที่กรมอนามัยจัดเวทีให้ รพ.นำร่องกว่า 30 โรงพยาบาลในสังกัดกรมอนามัย มาทำเรื่องการจัดการความรู้กันขึ้น ก็มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในเวที ซึ่งตนได้นำเครื่องมือ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้จากเวทีครั้งนั้น กลับมาใช้กับผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเบาหวาน

โดยวิธีการจัดเวทีจริง แล้วผู้ป่วยเบาหวานทุกคนมีศักยภาพในการดูแลตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่าอะไรควรกิน หรือไม่กิน แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่เมื่อมีการตั้งกลุ่มผู้สูงอายุขึ้นมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำให้เห็นมุมมองในการดูแลตัวเอง การควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีเพื่อนร่วมคิด ร่วมทำ มีมุมมอง และวิธีการในการดูแลตัวเองมากขึ้น

ซึ่งเมื่อเข้ากลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ทุกคนมีเรื่องเล่า และวิธีการลดน้ำหนัก และทุกคนก็มีเรื่องเล่าที่จะมาแลกเปลี่ยนกันในเวทีทุกวันจันทร์ หลังจากเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผู้ป่วยก็สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้มากขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเปิดเผยว่า “หลังจากได้ร่วมเวที การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เดิมตัวเองมีปัญหาเรื่องน้ำตาลสูง น้ำหนักเยอะ ไขมันในเลือดมาก ซึ่งจะส่งผลให้เจ็บป่วยบ่อย จากนั้นก็เลยมาสมัครเข้ากลุ่ม เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะตนเองก็ยังไม่มีความรู้ในด้านนี้

ซึ่งปกติเราเป็นคนไม่ทานผักผลไม้เลย ไม่ได้ปลูกฝังลูก เพราะที่บ้านไม่เคยทานเลย หมอก็เริ่มแนะนำ การกิน และจัดโปรแกรมมาว่า วันหนึ่งทานอะไรบ้าง แล้วพี่ก็มาสรุปให้ฟังว่า วันนี้ไม่ใช่แล้วนะ วันนี้กินอันนี้เยอะไป วันนี้อันนี้น้อยไป ก็เริ่มใหม่อีกครั้ง อีกเดือนหนึ่งก็เริ่มปรับตัวใหม่ เริ่มทานตามที่หมอบอก กินผัก ผลไม้ ก็เริ่มทานมากขึ้น จากเมื่อเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน คอเลสเตอรอล 200 กว่าๆ ก็ลดลง และกรดก็ลดลงมาเยอะ

ทำให้เอวจาก 33 เหลือ 29 ยังตกใจเลย ว่าหมอวัดผิดหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังแนะนำเรื่องออกกำลังกาย ในท่าที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน รู้สึกว่า มันสบาย ไม่เครียด นอนทำก็ได้ นั่งทำก็ได้ ทำตอนมีเวลาว่าง เพราะหมอ และเพื่อนให้กำลังใจตลอดเวลา

คุณอัญชิษฐา กล่าวและว่า ภายหลังจากที่โครงการเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่ง เครื่องมืออย่างหนึ่งของ สคส. คือ การเล่าความสำเร็จ เพราะเวลาถกปัญหาก็จะมีแต่ความถดถอยไม่มีกำลังใจ แต่ถ้าหากเล่าถึงความสำเร็จ ก็จะทำให้เกิดกำลังใจ ทำให้เรามีแรงกระตุ้น ที่จะพัฒนางาน พัฒนาตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากการนำเครื่องมือการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กรแล้ว ยังทำให้หน่วยงานอื่นๆ ในโรงพยาบาลหันมาสนใจ การจัดการความรู้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป

ศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล กรรมการและเลขานุการ สำนักที่ปรึกษา คณะทำงานส่งเสริมกิจกรรมสร้างความรู้ กรมอนามัย เล่าว่า โดยช่วงแรกๆ การจัดการความรู้ยังไม่ค่อยชัดเจน และบุคลากรจะเกร็งกับการนำเครื่องมือมาใช้ และต้องทำความเข้าใจ และตีความกันว่า การจัดการความรู้คืออะไร ซึ่งตนเห็นว่า กระบวนการจัดการความรู้จริงๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องนั่งทำความเข้าใจกัน หากแต่เริ่มทำ ก็จะรู้ว่าไม่ได้เป็นภาระงานที่แยกส่วนกันเลย ซึ่งหากทำแล้วเกิดปัญหาอะไร ก็จะนำมาคุยกันมากกว่า
มีการรวมตัวกัน โดยหน่วยงานกว่า 30 หน่วยงาน สังกัดกรมอนามัย มาร่วมเรียนรู้กัน ในลักษณะตลาดนัดความรู้ ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงการพัฒนางาน ซึ่งมีเป้าหมายเดียวหัน คือ ให้งานสำเร็จ แต่วิธีการอาจจะต่างๆ กัน ซึ่งโดยรวมแล้ว เป็นการเคลื่อนงานของทั้งองค์กร โดยหน่วยงานย่อย และส่วนกลาง เพื่อเป็นการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง และทันสถานการณ์ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน

การอบรม การบริหารจัดการความรู้

  1. อบรมผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดกรมอนามัย ว่าด้วยการบริหารจัดการความรู้
  2. ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการความรู้ของหน่วยงาน
  3. ประสาน สนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาเป็นชุมชนแนวปฏิบัติบริหารจัดการความรู้ และพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ของหน่วยงาน (COP-CKO กลุ่มแกนนำในการบริหารจัดการความรู้)
  4. จัดเวทีแลกเปลี่ยนบทเรียน การบริหารจัดการความรู้ของหน่วยงาน โดยแลกเปลี่ยน Best Practice Model
  5. ศึกษาดูงานหน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จ เกี่ยวกับการบริหารจัดการความรู้ เพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์ของบุคลากร
  6. จัดให้มีการประเมินผลการบริหารจัดการความรู้ของกรมอนามัย ทั้งในระดับหน่วยงาน และระดับกรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตลาดนัดความรู้ส่งเสริมสุขภาพ

ซึ่งโดยรวมแล้ว คณะทำงานหวังว่า ตัวอย่างของการจัดการความรู้ ที่กรมอนามัยอยากให้เป็น คือ ผู้ปฏิบัติคนนั้นทำเรื่องการจัดการความรู้ โดยคิดว่า เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงาน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่วิชาการชอบทำเสมอๆ คือ การแปลงความรู้ (Explicit Knowledge) ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยได้รับความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นที่ปรึกษาในการให้แนวทางการดำเนินการ เรื่อง การจัดการความรู้ในองค์กร ซึ่งมีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ได้หลากหลาย และกรมอนามัยก็เลือกเครื่องมือที่สอดคล้องกับการจัดการความรู้ ในการปรับประยุกต์ใช้ในองค์กรตามความถนัด

นี่ก็คือ เรื่องราวในปี 2548 ที่เป็นการเริ่มต้น ของการนำเรื่องการจัดการความรู้ มาใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กร แต่ในอนาคต การจัดการความรู้ในกรมอนามัยจะถูกขับเคลื่อนด้วยหน่วยเล็กๆ ในองค์กร ที่จะนำประสบการณ์ความสำเร็จในเรื่อง การจัดการความรู้มาต่อเป็นภาพใหญ่ของกรมอนามัย ที่กำลังย่างก้าวสู่การจัดการความรู้ได้อย่างเต็มรูปแบบได้ในไม่ช้า

หมายเลขบันทึก: 12218เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2006 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอแสดงความชื่นชมครับ ทั้งต่อกระบวนการที่กรมอนามัยดำเนินการ    และต่อการที่คุณนนทลีกรุณาเอามาเล่า    จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่ต้องการเริ่มทำ KM มากครับ

ผมอยากให้เล่าเพิ่ม ๒ เรื่อง

  1. ผลที่เกิดขึ้นจากการทำ KM
  2. แผนการทำ KM ในปี ๔๙

วิจารณ์  

ผมอยากทราบค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ครั้งแรกของ กรมส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัยเขต 1 (รพ.แม่และเด็กบางเขน) ว่าค่าใช้จ่ายแพงป่าวครับ..และเท่าไหร่เพราะผมจะพาแฟนไปฝากครรภ์ครับ ช่วยตอบเร็วๆหน่อยนะครับจะได้พาแฟนไปครับ

  • คิดว่าไปที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 บางเขน เลยดีกว่านะคะ เพราะว่าเป็นสถานที่ราชการ ค่าใช้จ่ายไม่น่าแพง
  • ปกติแล้ว เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ควรไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ ได้แล้วละค่ะ และเลือกที่ใกล้บ้านที่สุด จะได้ไปลำบากเรื่องการเดินทางละค่ะ
  • ขอโทษนะคะที่รอนาน คำถามนี้ อ.ขจิต ฝอยทองที่ปรึกษา~natadee เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ เพราะกลัวไปรับบริการไม่ทันค่ะ ... ไปเลยนะคะ ไม่ต้องรอแล้ว เดี๋ยว อ.ขจิต เป็นห่วง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท