คนดีวันละคน : (104) พญ. ภัทริรา ทางรัตนสุวรรณ แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี พ.ศ.2550


         แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ปีนี้มี 2 คน   คนแรกคือ นพ. ประชาชยาภัม จาก รพ.ยะลา   ท่านที่ 2 นี้คือ พญ. ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี

         ทั้ง 2 ท่านทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย  ทำงานด้วยใจ  และมีผลงานน่าชื่นชมมาก   คุณหมอภัททิรา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทำงานทั้งด้านบริหาร บริการ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่   และที่สำคัญเป็นขวัญใจของชาวบ้าน  ซึ่งเป็นคนมุสลิม

ประวัติของ พญ. ภัททิรา  ทางรัตนสุวรรณ มีดังนี้
ประวัติการศึกษา
 - แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี พ.ศ.2535
 - วุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์ สถาบันฝึกอบรม กรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ปี พ.ศ.2541
 - อนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ปี พ.ศ.2546
 - อนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงคุณภาพจิตชุมชน ปี พ.ศ.2548

ประวัติการปฏิบัติงาน
 - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2535 - พฤษภาคม พ.ศ.2536
 - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลยะหริ่ง จ.ปัตตานี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2536 - พฤษภาคม พ.ศ.2538
 - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2538 - พฤษภาคม พ.ศ.2541
 - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลปัตตานี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2541 - มีนาคม พ.ศ.2543
 - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งปัจจุบัน
 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี

สถานที่ทำงานปัจจุบัน
 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

ผลงานดีเด่น
 - เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลที่มีผลงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลดีเยี่ยมต่อเนื่องกันมา  มีความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานและการบริการอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี   แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของแพทย์  บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล  แต่ยังสามารถประเมินคุณภาพผ่านการประเมินและรับรองต่าง ๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นผลสำเร็จดังนี้
      - โรงพยาบาลลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ปี พ.ศ.2546
      - โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ปี พ.ศ.2547
      - สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน ระดับประกาศนียบัตรทอง ปี พ.ศ.2547 - จนถึงปัจจุบัน
      - โรงพยาบาลดำเนินงานสุขภาพจิตดีเด่น ปี พ.ศ.2547
      - รับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ปี พ.ศ.2548
 - เป็นแพทย์ที่เป็นแบบอย่างในด้านความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยแม้จะมีงานบริหารมาก  แต่ทุกครั้งที่มีผู้ป่วยจากสถานการณ์ความไม่สงบหรือมีผู้ป่วยหนักมาที่ห้องฉุกเฉิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะลงมาช่วยแพทย์รุ่นน้องเสมอทุกครั้ง  ทั้งทางวิชาการและการซักถามปัญหาผู้ป่วย  วางตัวเรียบง่าย  สามารถทำงานร่วมมือหรือมีกิจกรรมร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ชุมชน ผู้นำศาสนาและชาวบ้านได้อย่างเหมาะสม
 - ในสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้แสดงภาวะผู้นำโดยการวางยุทธศาสตร์  วางตัวเป็นกลาง  ดูแลผู้ป่วยอย่างเสมอภาคและเคารพในความเชื่อตามหลักศาสนาของผู้ป่วยและชุมชน  เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของบุคลากรต่างศาสนา  ลดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการแตกแยก  ดูแลขวัญกำลังใจ  ความปลอดภัยของบุคลากร  จนสามารถรักษาอัตรากำลังส่วนใหญ่ไว้ได้  โดยเฉพาะแพทย์ที่มาจากต่างถิ่น  ทำให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยได้โดยไม่ติดขัดและยังจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือโรงพยาบาลรอบข้างได้เป็นครั้งคราว
 - เป็นนักบริหารที่มีความรักท้องถิ่น รักชุมชน รักโรงพยาบาล  โดยยึดหลักว่าอยู่ที่ไหนตัองพัฒนาที่นั่น  บริหารโดยยึดหลักการโปร่งใส  วางตนเป็นแบบอย่างแก่ทีมงานในด้านความเสียสละและยึดหลักประโยชน์ของส่วนรวม ความละเอียดรอบคอบจนได้รับรางวัล
 - ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ครุฑทองคำจากสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี พ.ศ.2547
 - รางวัลนักบริหารโรงพยาบาลยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ.2549  ประเภทผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน จากสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย
 - รางวัลแพทย์สตรีผู้เสียสละและอุทิศตนเพื่อสังคม ประจำปี พ.ศ.2549 จากสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย
 - สามารถทำงานร่วมกับชุมชนในด้านการส่งเสริมสุขภาพ  การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องและการที่ชุมชนมาโอบอุ้มสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาล เช่น การดำเนินภารกิจอย่างเข้มแข็งของเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ  การร่วมมือกับสถานีอนามัย เทศบาล อสม. และชุมชนพัฒนาเชิงรุก  จนผ่านเกณฑ์ชี้วัดระดับหมู่บ้าน ตำบล และเป็นอำเภอเข้มแข็งในโครงการ Healthy Thailand ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547, 2548, 2549   เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสามารถทำงานร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ เครือข่าย อสม. ยังมีความเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แม้สถานการณ์ความไม่สงบ  คหบดีในอำเภอสายบุรีมาเป็นประธานกรรมการโรงพยาบาลช่วยจัดหาทุนและความร่วมมือต่าง ๆ ให้กับโรงพยาบาลเพื่อพัฒนาอย่างเต็มที่
 - มีความร่วมมืออย่างดียิ่งกับส่วนราชการต่าง ๆ ได้แก่ ศอบต.  มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  การบริหารราชการส่วนจังหวัดและอำเภอ  การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ได้รับความยอมรับและศรัทธาจากหัวหน้าหน่วยราชการต่าง ๆ จนสามารถจัดหาทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน  พร้อมอุปกรณ์มูลค่า 20 ล้านบาทในปี พ.ศ.2550 จัดหาเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่ของโรงพยาบาลออกไปอีก 9 ไร่ 2 งาน ในปี พ.ศ.2549

วิจารณ์ พานิช

 21 ส.ค.50

หมายเลขบันทึก: 121321เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2007 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท