จิตตปัญญาเวชศึกษา 16: แพทย์ไทย หัวใจพระโพธิสัตว์ ภาค 2


แพทย์ไทย หัวใจพระโพธิสัตว์

ท่านมหาวุฒิชัยกล่าวต่อถึงการตระหนักถึง "เทวฑูตแห่งความตาย" อันเป็นสัจธรรม ที่เราพึงมองเห็น ใคร่ครวญ และสานให้สอดคล้องกับวิถีการมอง การคิด การพูด การกระทำ ได้แก่ การเกิด เด็ก เจ็บ แก่ สมณเพศ ที่เสมือนกระจกสะท้อน ที่เราเพียงแค่ "มองให้ลึกซึ้ง" ก็จะได้บทเรียนมากมาย

ดังตัวอย่างประสบการณ์เฉียดตายที่ท่านได้เล่า พอผ่านครั้งนั้น มุมมองของชีวิตท่านก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รับทราบถึงความเปราะบางของชีวิต อะไรๆที่เราหามาเพื่อความมั่นคง เพื่อความแน่นอน เพื่อความควบคุมได้นั้น เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น สักแต่ว่าลวงใครบ้างนอกเหนือจากตัวเราเอง จะลวงครอบครัวเราไหม ลูกหลานเราไหม แต่ที่แน่ๆนั้นก็คือได้ลวงตนเองไปแล้ว ที่จะเชื่อว่าเราอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ควบคุมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง

ท่านวุฒิชัยได้ไปเยี่ยมวัดฉือจี้ที่ไต้หวัน ที่นำเอา วิถีชีวิตแบบมหายาน เข้ามาบูรณาการในระบบความคิด จิตใจ หัวใจ และความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง เปรียบได้กับการ open mind, open heart, open will ของ Otto Scharmer นั่นเลยทีเดียว นิกายมหายานนั้นจะมีการทำปวารณาตัวจะประพฤติดำรงชีวิตเยี่ยงพระโพธิสัตว์ คืออยู่เพื่อช่วยเหลือคนอื่น (for the benefit of mankind เหมือนปรัชญาแพทย์) ที่ไต้หวันนั้นมีเปิดโรงเรียนแพทย์ ที่ประสมประสานหลักศาสนาข้อนี้เข้าในวิถีความเป็นอยู่ ก่อให้เกิดการเห็น การคิด การพูด และการกระทำ อย่างลึกซึ้ง โรงเรียนแพทย์ฉือจี้ ไม่มีปัญหาเรื่องหาอาจารย์ใหญ่ (คนบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษากายวิภาคศาสตร์) ไม่ได้ เพราะมีคนจำนวนมากต้องการบริจาค พอบริจาคแล้ว ญาติ ครอบครัว ของเจ้าของร่างกาย จะได้มีการติดต่อกับนักศึกษาแพทย์ผู้ได้มีโอกาสร่ำเรียนจากร่างกายของผู้บริจาค ได้อ่าน ได้พูดคุย ได้รับทราบความคิด ความปราถนา ว่าทำไมเขาถึงบริจาคร่างกายให้นักศึกษาได้เรียน บางท่านเขียนจาดหมายไว้ก่อนตาย ก่อนบริจาค ถึงนักเรียนว่า "ขอให้ใช้ร่างกายท่านเพื่อการฝึกหัด เรียนรู้ร่างกายมนุษย์ จะผ่าผิดสักกี่ครั้งก็ตามที ขออย่าให้ทำผิดกับร่างกายคนไข้จริงๆเลย" นักศึกษาผู้เรียนก็จะน้อมรับคำสั่งเสีย คำสั่งสอน และรับทราบว่าตนนั้นได้รับความเมตตา กรุณา จากคนที่มีชีวิตจริงๆ มีเลือดเนื้อ ความปราถนา และครอบครัวจริงๆ พอเรียนจบก้จะมีพิธีงานศพอลังการ สมศักดิ์ศรี เถ้าประดูกจะเก็บไว้ในโกฏฺ crystal สวยงามวิจิตร เก็บไว้ในห้อง เรือนเก็บโกฏิโดยเฉพาะ

ที่โรงพยาบาลฉือจี้ มีอาสาสมัครจำนวนมากมาช่วยเหลือผู้ป่วย เรียกว่าต้องรอคิว จะมากวาดลานโรงพยาบาลอาจจะต้องรอคิวหลายเดือน ที่วัดฉือจี้นั้นมีหลักการว่า "วันไหนไม่ทำงาน ไม่ต้องกินข้าว" นั่นคือกินเพื่อทำงาน มูลนิธิฉือจี้มีสถานีโทรทัสน์เป็นของตนเอง และถ่ายทอดเฉพาะเรื่องราวของผู้คนที่ได้ทำดีต่อผู้อื่นและสังคมเท่านั้น

อาชีพแพทย์ พยาบาลนั้น กล่าวได้ว่ามีความใกล้ชิดกับเทวฑูตแห่งสัจธรรมทั้งหลายอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆ ในขณะที่เราได้ฟังเรื่องราวของท่านมหาวุฒิชัยที่ช่วยนำความตายดีไปให้ชาวบ้าน เรื่องราวของหลวงพ่ออลงกตที่ช่วยคนไข้ติด AIDS เรื่องราวของหลวงตาวัดคำประมงที่ช่วยเหลือคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่มีที่พึ่งพา ที่จริงในสังคมปัจจุบัน แพทย์ พยาบาล หากสังเกต สังเกต และสังเกต เรียนรู้ เรียนรู้ เรียนรู้ ด้วยความใกล้ชิดกับเทวฑูตทั้งหลาย เราเสมอืนกับมีบทเรียนภาคปฏิบัติของมรณวิทยา (Thanatology) อยู่แล้ว ก็น่าจะเสริมบทบาทการช่วยเหลือ ชี้นำการตายอย่างศานติให้คนไข้ได้เหมือนกัน ช่วยเหลือญาติผู้กำลังโศกเศร้าได้อย่างมากเหมือนกัน แทนที่จะถ่ายโอนไปให้คนอื่นดูแทนหลังจากเทคโนโลยีทางการแพทย์หมดหนทางลง

จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย วิถีชีวิตของแพทย์ พยาบาล บุคคลผู้ช่วยเหลือทางสาธารณสุขนั้น กล่าวได้ว่าสอดคล้องกับวิถีชีวิตแห่งพระโพธิสัตว์อยู่แล้ว ไม่เพียงในระดับ I you/we เท่านั้น แต่เป็นระดับ all of us นั่นเลยทีเดียว

ความท้าทายอยู่ที่ในปัจจุบันนี้ เริ่มมีคนกล้าท้าทายหลักการที่ว่านี้ พูดออกมาว่าถ้าจะช่วยคนอื่นนั้น ขอให้ช่วยตัวเองให้เพียงพอเสียก่อน ตรงนี้พระมหาวุฒิชัยได้ให้คำสั่งสอนอย่างน่าคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว การช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ก้เป็นการช่วยเหลือตนเองอยู่นั่นเอง การให้นั้นจะมีอะไรตอบกลับไปสู่ผู้ให้เสมอ และมากกว่าคนรับเสียด้วยซ้ำ เรียกว่ามีดอกเบี้ยแถมให้ทบต้น เมื่อคนเราเป็นผู้ให้ เราก็จะเปลี่ยนผู้รับ จาก "เธอ" เป็น "เรา" ไปในทันที และสานเชื่อมโยง "ตัวฉัน" กับเธอมาเป็น "พวกเรา" ไปด้วยในขณะเดียวกัน

   

การมองเห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงตรงนี้ น่าจะอยู่ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ถ้าจะการันตีอะไรสักอย่างในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ผมยอมให้ตัดฝีคัณฑสูตร ฝีในปอด และโรคอีกร้อยโรคออกไป ขอให้แพทย์ที่จบออกมามีหัวใจแห่งพระโพธิสัตว์ น่าจะเป็นสิ่งทดแทนที่เกินพอแล้ว

 

 


หมายเลขบันทึก: 120912เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

          -ขณะที่เราให้ ใจเราก็สุขแล้ว

           เคยอ่านเรื่องของ รพ.ฉือจี้มาหลายครั้ง ทึ่งทุกครั้งเลยค่ะ

คุณอนิศราครับ

มีสำนวนหนังสือกำลังภายในว่า "มีเรื่องราวบางเรื่องพึงกระทำ บางเรื่องไม่พึงกระทำ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวของฉือจี้นี่เป็นแบบที่สามคือ ไม่เล่าต่อไม่ได้แล้ว"

 มันเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังที่คนได้ยิน อยากเล่าต่อ เพราะตอนเล่ามันมีความสุข คนฟังก็มีความสุข เป็นพลังบริสุทธิ์ของเรื่องราวดีๆ ที่มนุษย์พึงจะฝากให้กันและกันให้มากๆไว้กระมังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท