"ตัวเป็นไทย....ใจเป็นไต" วาทกรรมจากงานวิจัยหลักสูตรท้องถิ่นบ้านเปียงหลวง


ผู้ใหญ่บ้าน เต็งยุ้น ได้เล่าให้พวกเราฟังว่าสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเป็นศูนย์รวมให้ทุกเผ่ามีความรักสามัคคีกันเนื่องจากมีพ่อคนเดียวกันคือ “ พ่อหลวง ” หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

         อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดนประเทศพม่า มีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 140 กิโลเมตร ในอดีตน้อยคนนักที่จะเดินทางไปถึงเนื่องจาดความทุรกันดารของเส้นทาง ในปัจจุบันเวียงแหงเป็นเมืองเปิดและเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว เนื่องจากมนต์เสน่ห์ของวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชนที่ยังรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น ประกอบกับมีทรัพยากรที่ล้ำค่าคือถ่านหินลิกต์ไนต์คุณภาพชั้นเยี่ยมที่กล่าวกันว่าสามารถขุดมาใช้อีก 50 ปีก็ยังไม่หมด ณ ที่สุดเขตชายแดนเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเปียงหลวงซึ่ง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ประกอบด้วยชุมชนชาวไทยใหญ่ ชาวจีนอพยพ และชาวเขาเผ่าลีซอซึ่งแต่ละชนเผ่ามี ภาษา ประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยปราศจากความขัดแย้งผู้ใหญ่บ้าน เต็งยุ้น ได้เล่าให้พวกเราฟังว่าสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเป็นศูนย์รวมให้ทุกเผ่ามีความรักสามัคคีกันเนื่องจากมีพ่อคนเดียวกันคือ “ พ่อหลวง ” หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจของผู้เขียนในการทำวิจัยเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ระดับโรงเรียน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการเลือกแบบเจาะจงจากโรงเรียนบ้านเปียงหลวงเนื่องจากเปิดสอนครบทั้งสามระดับได้แก่ ระดับอนุบาลศึกษา ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น


 

         ขั้นตอนการวิจัยเริ่มจาก การจัดตั้งคณะทำงานประกอบด้วยทีมวิจัยระดับโรงเรียนจำนวน 10 คน หลังจากนั้นดำเนินการเปิดเวทีชาวบ้านเพื่อค้นหาองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาและปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานในชุมชน นำผลจาการจัดเวทีชาวบ้านมาจัดเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง และจัดทำแผนการเรียนรู้ โดยครู ครูภูมิปัญญาและผู้เชี่ยวชาญภายนอก ดำเนินการฝึกอบรมการจัดทำหนังสือเด็กแก่คณะครูของโรงเรียนเปียงหลวง ขั้นตอนต่อไปคือการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแผนการเรียนรู้โดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริง การเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาและแหล่งวิทยาการในชุมชน ครูจะเป็นผู้บันทึกองค์ความรู้จัดเป็นหมวดหมู่เพื่อนำไปจัดทำสื่อการสอน เมื่อจัดทำแล้วนำมาทดลองใช้กับนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น โดยมีการประเมินผล นำผลงานมาวิพากย์โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งแก้ไขและปรับปรุงให้สมบูรณ์ ขั้นตอนสุดท้ายนำไปเผยแพร่ โดยบันทึกลงในแผ่น CD และทาง WEBSITE

         ผลของการดำเนินกิจกรรมทำให้ได้แผนการจัดการเรียนรู้จำนวน 3 แผน ได้สื่อประกอบการ สอนประเภทหนังสือสำหรับเด็กและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะมัลติมีเดีย ( E – Book Multimedia ) จำนวน 3 เรื่องได้แก่ เรามาเล่นหมากนิมกันเถอะ ก๋องคำนำเที่ยววัดฟ้าเวียงอินทร์และวัฒนธรรมสามเผ่าของชาวเปียงหลวง กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นได้สร้างจิตสำนึกใหม่ของชุมชน โรงเรียน ในการทำงานร่วมกันโดยผ่านกระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เกิดการเปลี่ยนทัศนคติที่ดีต่อกัน นักเรียนได้ศึกษาและเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า ทำให้เกิดความเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้บริบททางวัฒนธรรมที่ความแตกต่างอย่างสันติ ส่งผลให้เกิดความรักและผูกพันกับท้องถิ่น เป็นการพลิกฟื้นสิ่งที่กำลังจะสูญหายให้กลับมาอย่างเป็นระบบ ครูภูมิปัญญาได้รับการยกย่องสมกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ เกิดระบบการคลังของท้องถิ่นเป็นการสะสมทุนทางสังคมอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนส่งผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนในระดับรากหญ้าอย่างยั่งยืน

 


บทความ โดย เกรียงศักดิ์ มาลารัตน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 120625เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2007 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท