มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

แฉการศึกษายุค “แม้ว-วิจิตร” เหลว ผลาญงบเมินคนจน บัณฑิตเตะฝุ่นเพียบ


       “วิทยากร เชียงกูล” เปิดผลวิจัยฟันยับนโยบายการศึกษาไทย ชี้ “รัฐบาลทักษิณ” ช่วงปีงบประมาณ 48-49 จัดสรรงบฯ ให้การศึกษาถึง 21% ของ GDP อัดแคมเปญเรียนฟรี 12 ปี แต่ตัวเลขเด็กเข้าเรียนระดับขั้นพื้นฐานกลับลดลง ทุ่มเงินให้การศึกษาระดับปริญญาสูงลิ่วแต่คุณภาพมหาวิทยาลัยไทยกลับอยู่แค่ระดับต้องปรับปรุงและพอใช้ บัณฑิตออกมาเตะฝุ่นสูงถึง 1 ใน 5 ของคนว่างงานปัจจุบัน ส่วนการศึกษาระดับพื้นฐานกลับไม่ได้รับงบฯ เท่าที่ควร
       
       รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนองานวิจัยเรื่อง “สภาวะการศึกษาไทยปี 2549-2550 จะแก้ไขและปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบองค์รวมได้อย่างไร” ว่า ตนใช้เวลา 6 เดือนในการศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ โดยสะท้อนปัญหาต่างๆ ของการปฏิรูปการศึกษาในช่วง 2 ปี พบว่าช่วงปีงบประมาณ 48-49 รัฐบาลจัดสรรงบด้านการศึกษาให้ถึง 21% ของ GDP มีนโยบายจัดการศึกษาฟรี 12 ปี แต่ตัวเลขของเด็กที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะโอกาสเข้าเรียนในระดับอนุบาลและประถมศึกษา พบว่าลดลงจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
       
       ขณะที่ในปี 2545 จำนวนเด็กวัย 3-5 ปี 2.96 ล้านคน มีโอกาสได้เข้าเรียนระดับอนุบาลถึง 2.67 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90.51 ของประชากรวัยดังกล่าว แต่ในปี 2550 จำนวนเด็กวัยนี้ทั้งหมด 2.83 ล้านคน มีโอกาสเข้าเรียนอนุบาลแค่ 2.43 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 86.07
       
       ส่วนระดับประถมศึกษาในปี 2545 จำนวนเด็กวัย 6-11 ปี 5.81 ล้านคน มีโอกาสเข้าเรียนครบ 100% แต่ในปี 2550 เด็กวัยนี้ จำนวน 5.88 ล้านคน กลับมีโอกาสเข้าเรียนประถมแค่ 5.59 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 95.01 เท่านั้น

       รศ.วิทยากร กล่าวว่า ระดับมัธยมศึกษา เด็กวัย 12-17 ปี มีโอกาสเข้าเรียนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เลือกเรียนสายสามัญจึงทำให้เด็กสายดังกล่าวล้น ทั้งที่รัฐตั้งเป้าว่าสัดส่วนนักเรียนสายสามัญกับอาชีวะต้องเป็น 50:50 เพื่อรองรับตลาดแรงงานในประเทศ แต่ปี 2550 สัดส่วนนักเรียนสามัญชั้นมัธยมศึกษาเรียนต่ออาชีวะอยู่ที่ 58:42 และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนักเรียนเข้าศึกษาสายอาชีวะอาจต่ำกว่านี้ เพราะมีนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนแต่ไม่มารายงานตัว
       
       “เด็กไม่สนใจเรียนสายอาชีพ เพราะภาพลักษณ์ที่ติดลบ มีค่านิยมเรียนเพื่อแสวงหาปริญญา กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่สนใจพัฒนาการศึกษาสายอาชีวะเท่าที่ควร งบประมาณแต่ละปีที่ได้มาก็ถูกใช้ผิดทิศทาง รัฐนำมาทุ่มพัฒนาระดับอุดมศึกษาอย่างสูง ซึ่งในปี 2550 รัฐจัดสรรงบประมาณการอุดมศึกษาให้มากถึง 16.48% ของงบการศึกษาทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่ได้งบเพียง 13.74% ของงบการศึกษาทั้งหมด
       
       ขณะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับงบในปี 50 แค่ 68.80 % ลดลงจากปี 45 ซึ่งเคยได้รับงบจากรัฐสูงถึง 71.27% สะท้อนว่า รัฐบาลทั้ง 2 รัฐบาลในช่วงปี 2545 กับ 2550 มีนโยบายอุดหนุนการศึกษาเพื่อคนรวย และคนชั้นกลางให้มีโอกาส ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่า จะคิดถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นฐานของคนยากจน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ใกล้เคียงประเทศไทย จะเห็นได้ว่าไทยจัดสรรงบฯ ให้การศึกษาระดับมัธยมน้อยเกินไป”

       
       รศ.วิทยากร กล่าวอีกว่า งบฯ ที่ทุ่มแก่ระดับอุดมศึกษานั้น ไม่สะท้อนถึงการช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับดังกล่าวแต่อย่างใด จากการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ประจักษ์ว่าสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งคุณภาพยังอยู่แค่ระดับต้องปรับปรุงและพอใช้
       
       “ตัวเลขการว่างงานในปัจจุบัน มีจำนวน 500,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีถึง 100,000 คน แสดงให้เห็นว่าการลงทุนที่รัฐลงไปนั้นค่อนข้างจะสูญเปล่า แค่ผลักดันให้คนเรียนเพื่อรับปริญญา แต่จบมาไม่มีงานทำ”
       
       รศ.วิทยากร กล่าวว่า ภาพรวมด้านการศึกษาในปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่เครื่องมือรับใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้น GDP เป็นตัววัด โครงการเพื่อการพัฒนาการศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงเน้นพัฒนาคนไปรับใช้เศรษฐกิจ เช่น โครงการให้ทุนนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศ การจัดซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา แต่ไม่มีการทุ่มเทงบประมาณที่จะปฏิรูปครู หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอนทั้งระบบอย่างจริงจัง ทั้งที่ ปัญหาใหญ่ทางการศึกษาขณะนี้มีทั้งเรื่องการขาดแคลนครู คุณภาพการสอนของครู ครูชนบทไม่มีเวลาสอนเพราะต้องทำทั้งงานสอน ธุรการ และออกประชุมนอกโรงเรียน
       
       ขณะที่การเรียนการสอนก็เน้นให้เด็กรับแต่ข้อมูลจากครูฝ่ายเดียว ไม่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นหลังปฏิรูปการศึกษาปี 2542 มา ปัญหาเหล่านี้ก็ดีขึ้นบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะการบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษายังไม่ดีพอ หลายประเทศที่ได้รับงบพัฒนาการศึกษาน้อยกว่าไทย ยังสามารถบริหารงบประมาณเพื่อผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษา มัธยมศึกษา ซึ่งเป็นฐานสำคัญให้มีประสิทธิภาพ และมีสัดส่วนที่เหมาะสมได้<p> </p><p>ที่มา : ข่าวการศึกษา ผู้จัดการออนไลน์     16 สิงหาคม 2550 16:36 น. </p><hr width="100%" size="2" /><p> </p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 120192เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2007 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท