ตลึงไทยโหมโฆษณาขนมเด็ก มากที่สุดในโลก


โฆษณาขนมเด็กมากที่สุดในโลก

ตะลึงไทยโหมโฆษณาขนมเด็ก มากสุดในโลกแซงมะกัน-อังกฤษ

นักวิชาการจุฬาฯ แฉไทยโฆษณาขนมในรายการเด็กมากที่สุดในโลก42 ครั้งต่อชั่วโมงแซงหน้าอเมริกา-อังกฤษ4 เท่าผู้เชี่ยวชาญสมองโวย โฆษณาถี่จนฝังสมองกระตุ้นต่อมอยากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุเด็กไทยซื้อขนม-น้ำอัดลมเฉลี่ยวันละ135 ล้านบาท หนุนคุมเข้มโฆษณา อย.บังคับขนมขบเคี้ยวทุกชนิดต้องมีฉลากโภชนาการอย่างย่อ

เมื่อวันที่2 สิงหาคมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีการเสวนาเรื่อง "ถึงเวลาควบคุมโฆษณาขนมเด็กหรือยัง โดย รศ.ดร.ปาริชาตสถาปิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การศึกษาเรื่องอัตราความถี่การโฆษณาในรายการเด็กของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 13 ประเทศเมื่อปี 2549 ประเทศไทยมีการโฆษณาขนมในรายการเด็กสูงถึง42 ครั้งต่อชั่วโมงอาจจะมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลียโฆษณา 12 ครั้งต่อชั่วโมง อเมริกาโฆษณา 11 ครั้งต่อชั่วโมงอังกฤษโฆษณา 10 ครั้งต่อชั่วโมง

"ถ้าให้ห้ามการโฆษณาขนมเด็กคงเป็นไปไม่ได้ เพราะโฆษณาก็มีประโยชน์เช่นกัน แต่คนทำโฆษณาควรนึกถึงผลประโยชน์ของสาธารณชนด้วย ไม่ใช่เห็นแต่กำไร เช่น การสอดแทรกคำสอนการแบ่งปันไปในโฆษณาขนมเด็ก คนผลิตโฆษณาก็ทำได้ อนาคตหวังว่าคงมีโฆษณาเหล่านี้" รศ.ดร.ปาริชาต กล่าว 

ดร.ประภาพรรณจูเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กไม่อาจแยกแยะอาหารที่มีประโยชน์กับไม่มีประโยชน์ได้ จะกินแต่อาหารที่ถูกปาก ยิ่งหากมีตัวการ์ตูน ของเล่นมาล่อใจ เด็กจะยิ่งกินขนมนั้นๆ มากขึ้น การปล่อยให้เด็กดูโฆษณาขนม ซึ่งฉายซ้ำๆ ทำให้สมองเกิดการจดจำ ติดภาพขนมเหล่านั้นอยู่ในสมอง กระตุ้นสมองส่วนอยาก พอเห็นสินค้าก็ต้องการลอง เมื่อลองแล้วจะติดเพราะขนมมีเครื่องปรุงชูรส ทำให้เด็กติดต้องการกินมากขึ้น จนร่างกายไม่ได้สารอาหารที่มีประโยชน์ อีกทั้งการใช้เด็กมาโฆษณาด้วยการทำกิริยา ท่าทาง หรือพูดจาเกินวัย ทำให้เด็กเรียนรู้แบบผิดๆ

คนทำสื่อควรคำนึงถึงเด็กไม่ทำเฉพาะสื่อร้ายที่โฆษณาอาหารขยะ หรือตอกย้ำ ยั่วยุให้เด็กอยากกินแต่ขนมขบเคี้ยว จึงควรควบคุมสื่อสำหรับเด็ก ไม่ให้มีโฆษณาที่ไม่เหมาะสม  ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เด็ก" ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าว

ดร.ประภาพรรณกล่าวอีกว่า การปล่อยให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง มีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาของสมอง ทำให้พัฒนาการช้า มีผลต่อสติปัญญา และการดูโทรทัศน์ในวัย 0-3 ปีมีความสัมพันธ์กับโรคออทิสติก เพราะจากประวัติเด็กออทิสติกส่วนมากจะอยู่หน้าจอโทรทัศนมากกว่าเด็กปกติ จึงไม่ควรให้เด็กวัยนี้ดูโทรทัศน์ จะมีปัญหาการใช้ภาษา เช่น พูดได้ช้า ไม่เข้าใจคำ หรือความหมายของประโยค

นายอิฐบูรณ์อ้นวงษา หัวหน้ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การควบคุมโฆษณาขนมกรุบกรอบเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการบริโภคขนมเด็กเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับภาวะโรคร้ายที่เด็กไทยต้องเจอ และผลสำรวจของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานเมื่อปี 2548 พบเด็กอายุ3-12 ปีในไทย มีราว 9 แสนคนจ่ายเงินค่าขนมเฉลี่ย 8-10 บาทต่อวันค่าเครื่องดื่มหรือน้ำอัดลม 5 บาทต่อวันเด็กจ่ายเงินซื้อขนมและเครื่องดื่มวันละเกือบ 135 ล้านบาท

"วันที่ 3 สิงหาคมนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการควบคุมการโฆษณาขนม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะเปิดรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์การโฆษณาที่มีผลต่อเด็กและเยาวชน เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ นักโฆษณามาหารือ หัวหน้ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

นพ.นิพนธ์โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)    กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการอาหาร เรื่องปรับปรุงฉลากขนมขบเคี้ยวของเด็ก 5 ชนิดได้ข้อสรุปว่า ผู้ผลิตต้องแสดงฉลากโภชนาการอย่างย่อ ประกอบด้วย ปริมาณไขมัน โซเดียม น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และพลังงานทั้งหมด และต้องมีคำเตือนบนฉลาก คือ "บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกาย" และ"ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ" ทำให้ผู้ปกครองสามารถอ่านฉลากและเลือกขนมที่จะให้บุตรหลานรับประทานได้

ทั้งนี้จะเสนอปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182/2541 ที่ออกตาม พ.ร.บ.อาหารพ.ศ. 2522 เรื่องฉลากโภชนาการซึ่งระบุว่า อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย อาหารที่ระบุกลุ่มผู้บริโภคในการส่งเสริมการขายต้องระบุฉลากรูปแบบเต็ม คือ มีรายการสารอาหาร 15 รายการ หากใน 15 รายการมี 8 รายการที่มีค่าเท่ากับ0 จึงแสดงฉลากอย่างย่อแต่หากไม่มีการอวดอ้างสรรพคุณ ก็ไม่ต้องมีฉลากรายการส่วนประกอบ แต่จากนี้ฉลากขนมทุกชนิดต้องระบุฉลากรูปแบบย่อ เพื่อให้สะดวกแก่การเลือกซื้อของผู้บริโภค

นพ.ศิริวัฒน์ทิพย์ธราดล เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.จะจัดสัมมนาร่วมกันระหว่างมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติกรมอนามัย และสถาบันวิจัยโภชนาการ เพื่อหาทางแก้ปัญหาโภชนาการเกินที่ต้นเหตุ ว่าควรมีหลักการทำงานอย่างไร เช่น การปรับส่วนประกอบของอาหาร จะเพิ่มความสำคัญในแง่ส่วนประกอบของอาหารโดยเฉพาะปริมาณน้ำตาล เกลือ หรือส่วนประกอบที่จะทำให้เกิดโรคเรื้อรังขึ้น

คมชัดลึก 3 สิงหาคม 2550

หมายเลขบันทึก: 120137เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2007 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท