อิทธิพลพ่อแม่สู่"จิตสำนึก"ลูก


การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมของบุตร
อิทธิพลพ่อแม่สู่"จิตสำนึก"ลูก


รศ.ดร.อรพินทร์ ชูชม หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตสังคมที่สัมพันธ์กับจิตสำนึกทางปัญญาและคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงสถานการณ์ของกลุ่มเยาวชนไทยว่า จากการที่ช่วงวัยรุ่นถือเป็นวัยวิกฤตและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อยู่ท่ามกลางการปรับตัว จะพบว่าวัยรุ่นไทยเกิดปัญหา ขาดจิตสำนึกที่พึงประสงค์ มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ คุณภาพชีวิตตกต่ำ สร้างภาระต่อสังคม ตลอดจนสร้างปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ฟุ้งเฟ้อทางวัตถุนิยม และมีปัญหาทางอารมณ์ จิตใจอ่อนแอควบคุมไม่ได้

รศ.ดร.อรพินทร์นำเสนองานวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับชั้นม.1–ม.3 จำนวน 1,312 คนในกรุงเทพมหานคร พบว่าการถ่ายทอดทางปัญญาสังคม อารมณ์ของบิดามารดา การปลูกฝังอบรมทางปัญญาสังคม อารมณ์จากทางโรงเรียน การเห็นแบบอย่างทางอารมณ์และพฤติกรรมจากเพื่อน และการควบคุมตนเอง พยากรณ์จิตสำนึกทางปัญญาได้ร้อยละ 69


นอกจากนี้ยังพบว่าการถ่ายทอดทางปัญญาสังคม อารมณ์ของบิดามารดามีอิทธิพลต่อจิตสำนึกทางปัญญาของเยาวชนวัยรุ่นมากที่สุด อีกทั้งยังพบว่าปัจจัยทางจิตสังคมและจิตสำนึกทางปัญญาสามารถอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมเอื้อสังคมได้ร้อยละ 60 ความสามารถในการแก้ปัญหาได้ร้อยละ 32 และคุณภาพชีวิตของเยาวชนวัยรุ่นได้ร้อยละ 69

รศ.ดร.อรพินทร์กล่าวอีกว่า เยาวชนวัยรุ่นหญิงมีจิตสำนึกทางปัญญาสูงกว่าเยาวชนวัยรุ่นชาย นอกจากนี้ยังพบว่าความฉลาดทางอารมณ์ จิตสำนึกการบริโภคด้วยปัญญา ตลอดจนจิตสาธารณะของเยาวชนวัยรุ่นหญิงสูงกว่าวัยรุ่นชาย



การที่เยาวชนวัยรุ่นหญิงมีจิตสำนึกทางปัญญาสูงกว่าเยาวชนวัยรุ่นชาย เป็นเพราะสังคมวัฒนธรรมไทยกล่อมเกลาให้ผู้หญิงเป็นคนละเอียดอ่อน เอาใจใส่ความรู้สึกอารมณ์ของตัวเอง รู้จักยับยั้งการแสดงออกของอารมณ์ที่รุนแรง ทำให้ผู้หญิงมีเวลานึกคิดใคร่ครวญได้มาก และสังคมไทยยังให้ผู้หญิงรับผิดชอบกิจกรรมภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค ค่าใช้จ่ายสิ่งของในบ้าน ตลอดถึงใส่ใจในเรื่องของสมบัติส่วนตัวและส่วนรวมดีกว่าผู้ชาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงได้รับการปลูกฝังการมีจิตสำนึกทางปัญญามากกว่าผู้ชาย

ผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่าความสำคัญของบิดามารดาซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดปัญญาสังคมให้กับเด็กและเยาวชนมีความผูกพันกับเด็กตั้งแต่ประสบการณ์ชีวิตแรกเริ่ม และยังมีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง แม้เด็กจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอิทธิพลจากบิดามารดาก็ยังไม่ลดลง โดยเฉพาะการอบรมสั่งสอนและการเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกทางปัญญาสังคม อารมณ์และความประพฤติที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริโภค การใช้เงิน สิ่งของเครื่องใช้ เวลา ทรัพยากร การดูแลรักษาและแบ่งปันของส่วนรวม สาธารณสมบัติ หรือการไม่ดูถูกคนที่ต่ำต้อยกว่าตัวเอง รวมทั้งแสดงออกให้ลูกรู้ถึงความรักความเอาใจใส่เข้าใจจิตใจและปัญหาของลูก เยาวชนจะเรียนรู้ เลียนแบบซึมซับเข้าไปในจิตใจ ฝังรากให้เยาวชนคนนั้นมีจิตสำนึกทางปัญญาที่ดีตามไปด้วย จะเอื้อให้เยาวชนแสดงพฤติกรรมที่มีคุณภาพในชีวิต รู้จักแก้ปัญหาและมีพฤติกรรมเอื้อสังคม ในขณะเดียวกันถ้าบิดามารดาไม่มีการถ่ายทอดปัญญาสังคม อารมณ์เยาวชนวัยรุ่นจะได้รับการหล่อหลอมให้มีจิตสำนึกทางปัญญาสังคมที่เหมาะสมน้อย

ที่มา  เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่  17 ส.ค. 50 

หน้า 35

คำสำคัญ (Tags): #ครอบครัว
หมายเลขบันทึก: 120131เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2007 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท