มหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้ ๔ ภูมิภาค โครงการ EdKM ครั้งที่ ๔ : ภาคใต้ ตอนที่ ๑


          วันที่  ๔-๕  สิงหาคม  ๒๕๕๐  ณ  โรงแรมพาวีเลี่ยน   จังหวัดสงขลา  มีการจัดงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้  ๔  ภูมิภาค  เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษา  ครั้งที่  ๔  ภาคใต้  ของโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษาด้วยการจัดการความรู้  และเป็นภาคสุดท้ายแล้ว 

          โดยรูปแบบกิจกรรมยังคงคล้ายคลึงกับรูปแบบเหมือน  ๓  ภาคที่ผ่านมา  และในครั้งนี้  ยังได้รับเกียรติจาก  ดร.สมเกียรติ  ชอบผล  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นประธานเปิดงาน   ซึ่ง ดร.สมเกียรติ  ได้กล่าวสาระสำคัญดังนี้ 

         KM  เป็นจุดร่วมระหว่างความรู้สองประเภท  แต่ต้องไม่ลืมความรู้ใหม่ๆ  ที่ได้มาจากทางทฤษฎี  อย่างไรก็ตาม  หวังว่า KM  จะเป็นเครื่องสำคัญหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของไทย

         สำหรับการปาฐกถาพิเศษ  หัวข้อ  “การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้”  ได้รับเกียรติจาก  นายวิชม  ทองสงค์  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญของการปาฐกถาได้ดังนี้

          หัวข้อปาฐกถาเป็นหัวข้อใหญ่  เพราะเน้นเรื่องสังคม  แนวทางการสร้างฐานความรู้  เรื่องหนึ่ง คือ การสร้างความรู้ และการจัดการความรู้  สำหรับการศึกษาเป็นเครื่องมือการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ในสังคม  

          สพท. สกศ. มีความมุ่งมั่นในการใช้ KM  เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษา  ซึ่งหมายความว่า  เราต้องมีกิจกรรมอยู่เสมอต่อเนื่อง

         KM  เป็นเครื่องมือ  เราต้องใช้ KM  เป็นเครื่องมือ  เพื่อให้กิจกรรมมีคุณภาพ   กิจกรรมที่เราทำที่ผ่านมา  ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ  แต่หากใช้  KM  เข้าไปเสริมจะทำให้งานหรือกิจกรรมมีคุณภาพมากขึ้น  ไม่เฉพาะในวงการศึกษา  แต่ทุกวงการ 

        KM  ช่วยทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้  บางแห่งเข้าใจผิดว่า  เราทำ  KM  แต่จริงๆ  แล้วเราต้องทำกิจกรรมโดยใช้  KM  เป็นเครื่องมือ 

         KM  มี  ๓  มิติ  ได้แก่
- Knowledge  Vision  
- Knowledge  Sharing  
- Knowledge  Assets

         แต่หัวใจสำคัญ   คือ  Sharing  เพื่อนำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นไปดำเนินกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ  เมื่อทำแล้วก็บันทึกไว้  ทำซ้ำหลายๆ  ครั้ง  บันทึกไปทุกครั้ง  ก็จะได้เป็นคลังความรู้

          การเรียนรู้และใช้  KM  จะต้องรู้ทั้ง  ๓  มิติ  คือ
 

         มิติที่ ๑  รู้หลักการเริ่มต้น
        
การใช้ KM  เป็นเครื่องมือ  อย่ารีบร้อนมาก  ต้องใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง  คือ  พอประมาณ  มีภูมิคุ้มกัน  การเพิ่มประสิทธิภาพก็จะเริ่มจากฐานขึ้นไป
         เมื่อฝึกทำในช่วงแรกๆ  เรื่องที่ทำ  ต้องอย่าให้ยากเกินไป  เพราะหากยากเกินไป  จะเกิดความท้อถอยก่อนจะเห็นผลสำเร็จ    การใช้  KM  เป็นเครื่องมือ เน้นเรื่องเชิงบวก  เริ่มทำจากเรื่องง่ายๆ  ไปหายาก  เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะเกิดความภูมิใจ

          มิติที่ ๒  ฝึกปฏิบัติจนมีทักษะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
         
เมื่อเริ่มชินกับการใช้  KM  แล้วก็ต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติม  ดักจับความรู้ใหม่ๆ  ที่จะมาใช้ในการทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือกิจกรรมที่ยากขึ้นๆ
          เราจะเริ่มเป็น LO   เราจะมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ  KM  เช่น  “คุณเอื้อ”   “คุณอำนวย”   “คุณกิจ”  โดย  “คุณเอื้อ”  ต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้   ส่วน  “คุณอำนวย”   ต้องทำให้  “คุณกิจ”  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
          เราต้องค่อยๆ ขยับก้าวเข้าไป  แล้วเราจะเริ่มชินกับการใช้  KM  ในที่สุด  ซึ่งลำดับต่อไป  คือ เรื่องการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร  เพื่อเพิ่มความรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ 

          มิติที่ ๓  มีเครือข่าย  โดยต้องมีหลายระบบ  อาจจะเป็นเวทีเสมือน  หรือจัดเป็นตลาดนัดแบบนี้

           สำหรับเรื่องการศึกษาต้องทำไปพร้อมๆ กันใน  ๒  ระบบ  คือ  ระบบเพื่อความเท่าเทียมกัน  (ปูพรม)  และระบบเพื่อความเป็นเลิศ  ดังนั้น  จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เยอะๆ  

          หนทางแห่งความสำเร็จ

          
๑. ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่  วัฒนธรรมเดิม เน้นการบังคับบัญชา  การสั่งการ  โดยวัฒนธรรมใหม่ต้องมาเน้นในเรื่องของการเอื้ออำนาจให้มากขึ้น  ภาพโครงสร้างทางดิ่ง (มีแต่คนก้มกับคนเงย)  จะค่อยๆ  แบนราบมากขึ้น  มีวงเล็กๆ  (หมุนได้รอบตัว)  เกิดขึ้นมากมาย  แต่ต้องค่อยๆ ปรับไป

         ๒. ต้องสร้างให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กรให้ได้  ไม่ใช่เพียงการร่วมกำหนดวิสัยทัศน์อย่างเดียว  แต่ทุกคนต้องร่วมตีความ ร่วมทำความเข้าใจซ้ำ  จนกระทั่งเข้าใจลึกถึงการปฏิบัติ  ในการบริหารสมัยใหม่ให้ทำแผนที่ยุทธศาสตร์  จะช่วยทำให้คนในองค์กรเกิดสภาพความเป็นเจ้าของ  โดยเฉพาะราชการในปัจจุบันความรู้สึกเป็นเจ้าของมีบ้างแต่ไม่มาก  ต้องสร้างให้มากขึ้น

         ๓. การสร้างความรู้และใช้ความรู้ในการทำงาน  แต่หัวใจสำคัญคือ ต้องสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  KM  จะเกิดขึ้นได้ ก็อยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  KM  เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคน  อย่าไปติดหรือหลงอยู่แต่กับตัวความรู้  ต้องเน้นมาที่กระบวนการและบรรยากาศที่สร้างสรรค์ บรรยากาศเชิงบวก  สภาพแวดล้อม  ความรู้สึก  เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี 

          สิ่งเหล่านี้ พูดง่ายแต่ทำยาก  ต้องใช้ความอดทนมาก  “คุณเอื้อ”  ต้องเข้าใจในเรื่องนี้  และรับรู้รับทราบ  “คุณอำนวย”  ก็ต้องคอยแนะนำ  “คุณกิจ”  ก็ต้องมีความตั้งใจทำกิจกรรมร่วมกัน

         การใช้  KM  ต้อง...เมื่อใจมา  เวลามี  เวทีเกิด  ไม่ต้องเป็นทางการ  แต่ใจต้องมาก่อน  เมื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว  ก็นำประเด็นที่ได้ไปปฏิบัติ  และบันทึกเป็นขุมความรู้ไว้  บางประเด็นบางเรื่องต้องทำซ้ำๆ  จนได้เป็นแก่นความรู้  เช่น  ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้ดำเนินการเรื่องการทำปุ๋ยหมัก  ซึ่งไม่ได้ทำครั้งเดียว  ต้องทำซ้ำ ทดลองแล้วทดลองอีก  จนได้ปุ๋ยหมักที่เหมาะสมกับชุมชนเอง  โดยก่อนที่จะเป็นขุมความรู้  เราต้องมีความสามารถในการถอดความรู้จากการปฏิบัติ  ต้องมีเทคนิควิธี  ต้องมีผู้ชำนาญการ  แต่ฝึกได้  ค่อยๆ จับประเด็นและถอดเป็นความรู้ออกมา

          ๔. การเรียนลัด  หรือ  Best  Practice  มีคนทำได้ดีอยู่แล้ว  ก็ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แล้วนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับเรา  ไม่ต้องเริ่มใหม่

         ๕. ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยยุทธศาสตร์เชิงบวก  ด้วยการยกย่อง  เหมือนเช่นที่จัดกิจกรรมกันในวันนี้  และอาจจะมองหา  Best Practice  จากภายนอกด้วย 

         ๖. การจัดพื้นที่เวที  ทั้งเวทีจริงและเวทีเสมือน  “คุณกิจ”  อาจจะพัฒนาเป็น “คุณอำนวย” ได้  “คุณอำนวย”ก็จะพัฒนาเป็น “คุณเอื้อ” ได้

         ๗. การใช้  KM  เป็นเครื่องมือ  จะได้ประโยชน์หลายชั้น  เราจะได้พัฒนาคนจากการทำงาน  เนียนอยู่ในเนื้องาน  ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรมากมาย  อยู่ในองค์กรไม่ต้องใช้งบเลย  พัฒนาทั้งคนและงานไปพร้อมๆ  กัน  งานก็มีประสิทธิภาพ  คนก็มีศักยภาพ  การพัฒนาคน  สิ่งที่ได้นอกเหนือจากงาน  ทำให้คนเกิดทักษะในการใช้ความรู้ในการปฏิบัติงาน  มีการแสวงหาความรู้เพิ่ม  ไม่ใช่ทำแต่งานประจำ  และปรับปรุงเพื่อให้ทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา  เกิดทักษะในการเรียนรู้จากผู้อื่น  เพราะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกับผู้อื่น  เกิดทักษะในการแบ่งปันความรู้  และจะเกิดทักษะอื่นๆ  อีก  เช่น  สุนทรียสนทนา 

         เมื่อก่อนเราเคยอบรม  AIC  (วิทยากรกระบวนการ)  การฟังอย่างลึกซึ้ง  ฯลฯ  เกิดทักษะที่ อ.ประเวศ  ได้ให้แนวทางไว้ว่า  เกิดทักษะกระบวนการทางปัญญา  ๑๐  ประการ  คือ
- การสังเกต
- การบันทึก  (เป็นจุดอ่อนของสังคมไทย  คนไทยชอบใช้การบอกเล่า แต่ไม่ชอบบันทึก) 
- การฝึกนำเสนอ  (เช่น  การเล่าเรื่องหน้าเสาธง  คนละ  ๓  นาที) 
- การฝึกปุจฉา-วิสัชนา  (ยากกว่าการนำเสนอ) 
- การฝึกตั้งคำถาม  
- การฝึกหาคำตอบ  (ไปหาผู้รู้  อ่านหนังสือ) 
- การฝึกตั้งสมมติฐาน 
- การวิจัยความรู้ใหม่  (เชิงลึก) 
- การสังเคราะห์ความรู้เป็นองค์รวม  (ความรู้ต้องคู่คุณธรรม  เป็นคนต้องรู้ให้หลากหลาย  รู้ลึกได้  ต้องมองในเชิงองค์รวมให้ได้) 
- การฝึกเขียน  (เป็นการประมวลประสบการณ์)

          สำหรับบทบาทในฐานะผู้ว่าฯ  เราต้องทำสังคมฐานความรู้  โดยใช้ KM  เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน   จึงใช้ชื่อโครงการว่า  การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน  (ชุมชนอินทรีย์  กายกับใจรวมกัน  การรวมตัวและความเข้มแข็ง)  มีการนำเครื่องมือ  KM  ไปใช้ด้วย 

         การทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง  ต้อง..
        ๑. มีการเคลื่อนไหวตัวเองตลอดเวลา ต้องนำแผนแม่บทมาทบทวนอยู่บ่อยๆ ต้องมีความเพียงพอและเป็นปัจจุบัน  ต้องเน้นการพึ่งตนเอง  ให้มีกิจกรรมเล็กๆ  ปลีกย่อยอยู่ในแผนแม่บท  เช่น  กลุ่มปลูกพริกขี้หนู  จะทำให้ชาวบ้านได้ลงมือทำด้วยตนเอง  และพึ่งตนเอง 
        ๒. ที่สำคัญจะต้องใช้  KM  ในการทำกิจกรรม  ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แบ่งหน้าที่กัน  และต้องใช้ความรู้  ถ้าไม่มีก็ไปหาเพิ่ม 
        ๓. ต้องมีคณะผู้นำที่เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและมีการสืบทอดให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ 
       ๔. ต้องมีองค์กรการเงินชุมชนเป็นของตนเอง

       ที่สำคัญต้องเน้นฐานคิดพึ่งตนเอง  คนอื่นจะเห็นความเข้มแข็ง พึ่งตนเอง  แล้วก็จะเข้ามาเชื่อมกับเราเอง  ถ้าชุมชนเข้มแข็ง  อบต. ก็จะเข้ามาเชื่อมเอง  เรียกว่า เกิดการเชื่อมต่อการพัฒนา  ต้องใช้โอกาสอย่างทั่วถึง  และค้นหา  Best Practice  (ระบบปูพรมกับระบบ Best Practice)  มี “คุณกิจ”  แกนนำ  และ “คุณอำนวย” ตำบล  หัวใจสำคัญคือ  “คุณอำนวย” 

         โดยสรุป  KM  เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้  หัวใจสำคัญคือ  มนุษย์  ซึ่ง KM  จะช่วยในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์  ต่อไปจะขยับเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้  จะทำให้เรามีขีดความสามารถในการแข่งขัน  ดำรงอยู่ในโลกได้  โดยประชาชนไม่เดือดร้อน  ต้องมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐพอเพียงด้วย

         (โปรดติดตามตอนต่อไปคะ)

หมายเลขบันทึก: 119471เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2007 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     ...เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่เริ่มพิธีเปิด โดย ดร.สมเกียรติ  ชอบผล  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เปิดงาน  ไปจนถึง ท่าน ผวจ. นครศรีธรรมราช นายวิชม  ทองสงค์ 

   ...ทั้ง 2 ท่านให้แง่คิดที่ดีมาก  หากใครที่ไม่เคยรับรู้ในเรื่องของกระบวนการ KM มาก่อน แต่ถ้ามาได้ยิน ปาฐกถา จากท่านทั้ง 2 ละก็ คิดว่าน่าจะแจ่มแจ้งพอสมควรทีเดียว

     ...จะคอยติดตามอ่าน ตอนต่อไปนะค่ะ..

                              "JasmiN"

                          Banpru School

สวัสดีค่ะ

  • ขอบคุณนะคะที่ลงสรุปรายละเอียดช่วงที่ท่านผู้ว่านครศรีฯ บรรยายน่ะค่ะ  พอดีเดินทางมาไกลค่ะ  เลยมาไม่ทันแล้ว  และเก้าอี้ไม่พอเลยไม่มีโอกาสเข้าไปฟังท่านบรรยาย
  • ใครๆ ก้อบอกว่าท่านพูดได้ใจจริงๆ  ใช่มั๊ยคะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท