Thai-US FTA: จาก Bretton Woods ถึง The Lord of The Ring


ข้าพเจ้าเห็นว่ามีโอกาสที่ผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากการที่บริษัทแม่ในสหรัฐมาผลิตเองในไทยและค้าขายในลักษณะภายในเครือ (Intra Firm Trade) ที่ไม่มีอุปสรรคทางภาษีอีกต่อไปทั้งยังสามารถขายตลาดต่อในภูมิภาคอาเซียนที่ประเทศอื่นที่ไทยมี FTA อยู่ด้วย เมื่อกิจการของผู้ผลิตเดิมไม่อาจอยู่ได้การซื้อกิจการแบบ Asset Acquisition คือการเข้ายึดสินทรัพย์กิจการ หรือการ Looting คือทำลายถอนรากโคนกิจการย่อมมีโอกาสเกิดขึ้น และกิจการคนไทยจะพบความยากลำบากด้านการแข่งขันที่รุนแรง หากพ่ายแพ้ก็คือหนทางสู่ความเป็นภูติแห่งแหวน นาซกูลหรือทาสแรงงานนั่นเอง (สูญเสียความเป็นตัวเองให้แก่แหวน) นี่เป็นตัวอย่างของความไม่พร้อมของประเทศไทย ความแตกต่างระหว่างพลังของมนุษย์กับจอมมาร

                "One Ring to rule them all, One Ring to find them, One Ring to bring them all and in the darkness bind them." ท่านที่เป็นแฟนมหากาพย์นิยายหรือภาพยนตร์เรื่อง เดอะลอร์ด ออฟ เดอะริง คงจะคุ้นเคยกันดีกับประโยคภาษามอร์ดอร์เขียนด้วยภาษาพรายเอเรเกียนที่ปรากฎบนแหวนของจอมอสูรเซารอน เมื่อท่านได้พิจารณาถึงระบบการค้าที่พัฒนาขึ้นมาโดยสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกและที่ได้ประกาศแก่ชาวโลกในสมัยของ ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อ จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งในบางประการ

คำเตือน: ผู้เขียนมีความเห็นเป็นกลางและมิได้ต่อต้านระบบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ผู้เขียนมีเพียงเจตนาเพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจและตื่นตัวต่อระบบการค้าของประเทศและโลกในอนาคตเท่านั้น อีกทั้งมิได้เทียบระบบเทรดและระบบของสหรัฐเป็นการตกต่ำหรือเลวทราม บทความนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพเพื่อกระตุ้นการตื่นตัวในเรื่องผลของข้อตกลงการค้าเสรีและหวังใหรัฐบาลเพิ่มความระมัดระวังเท่านั้น


                หลังจากสงครามโลกประเทศต่างๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจและเงินตรา ซึ่งเมื่อใดที่ตกต่ำยุทธศาสตร์การสร้างสงครามจะถูกนำมาใช้จนก่อให้เกิดสงครามโลก ดังนั้นเพื่อพัฒนาระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศอย่างยั่งยืนจึงเกิดการประชุม Bretton Woods Conference เพื่อจัดระบบเงินตราเกิดเป็น IMF และ World Bank และมีการพัฒนาระบบการค้าระหว่างประเทศซึ่งต่อมาได้เกิด ข้อตกลงมาราเกชและเป็น GATT-WTO ในที่สุด เป็นหอคอยคู่เพื่อการสนองระบบโลกาภิวัฒน์ (สำหรับแฟนลอร์ดฯคงเป็น ออร์ธังค์และบารัดดูร์แต่ก็ไม่ได้ล่มสลายไป) เนื่องจากหัวข้อ Free Trade Area ผมจึงจะเน้นในด้านผลประโยชน์ของ FTA และระบบ GATT (แกตต์) เป็นหลัก


                ระบบแกตต์มีการตกลงกันเพื่อกำจัดอุปสรรคทางการค้า (Trade Barrier) ระหว่างกันโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคตามหลัก NT [1] และ MFN [2] แต่อย่างไรก็ดีกลุ่มประเทศผู้ร่วมก่อตั้งระบบแกตต์ยังคงเล็งเห็นความสำคัญของระบบการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค และอิสระบางประการในการสร้างความแข็งแกร่งแบบกลุ่มบล็อค จึงเว้นที่ไว้ให้แก่สมาชิกเพื่อเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจพิเศษระหว่างกัน กล่าวคือ มาตรา 24[3] ของแกตต์ได้อนุญาตให้ประเทสภาคีสามารถทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องให้สิทธิพิเศษนั้นๆแก่สมาชิก WTO อื่น แต่แท้จริงแล้วยังแฝงไว้ด้วยความพยายามที่จะใช้เป็นลู่ทางในการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่อาจทำได้ผ่านแกตต์และ WTO ด้วย (เปรียบเหมือนการใช้แหวนที่หล่อขึ้นเพื่อครอบงำผลักดันผลประโยชน์ดังจะได้อธิบายต่อไป)


                ในที่ประชุมเพื่อจัดตั้ง WTO และหลังจากนั้นนับแต่รอบ สิงคโปร์ ถึง ฮ่องกง ประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันมาตรการต่างๆเข้าสู่ WTO เช่น ในเรื่องแรงงาน (เพื่อกีดกันสินค้าราคาถูกจากประเทศที่มีต้นทุนทางสังคมและสวัสดิการต่ำ), เรื่องรวมการเปิดเสรีทางด้านการลงทุนและการทำธุรกิจต่างๆ (เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ MNE (Multi Nationals Enterprise) หรือกิจการข้ามชาติของตนในการลงทุนในต่างประเทศ) ซึ่งในเรื่องแรงงานนั้นไม่ประสบความสำเร็จและถูกโยนไปให้แก่ ILO ส่วนเรื่องการเปิดเสรีการทำธุรกิจก็มีเพียง GATS หรือ TRIMs ออกมาซึ่งก็ไม่ถือว่าเอื้อประโยชน์ได้สมความตั้งใจ,  เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ภายหลังการเกิดข้อตกลง TRIPs ในรอบโดฮาแล้วเมื่อตลาดสินค้าทรัพย์สินทางปัญญาขยายตัวมาก สหรัฐอเมริกาพยายามผลักดัน (TRIPs Plus หรือทริปส์ผนวก) เพื่อเพิ่มระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแต่ก็ได้รับการต่อต้านจากประเทศกำลังพัฒนาตลอดมา จึงไม่สามารถฝ่าแนวต้านในที่ประชุมออกมาได้ จากเหตุดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำ FTA ของสหรัฐจะมีการสอดแทรกเรื่องอื่นๆทั้งหลายที่กล่าวมาเข้าไปอยู่เสมอโดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าประกอบกับตลาดขนาดใหญ่ที่ใครสามารถเจาะเข้าไปได้ก่อนย่อมจะได้เปรียบ (เสมือนการที่เซารอนแจกแหวนที่มีอำนาจพิเศษแก่ราชามนุษย์ เมื่อพวกราชาใช้อำนาจแหวนบ่อยๆก็ถูกสิ่งที่แฝงไว้ครอบงำและดึงเข้ามาอยู่ในโลกของด้านมืด ลองดูการพัฒนาแนวคิดของสหรัฐต่อไปนี้)


            แนวความคิดทางด้านการจัดทำ FTA ในลักษณะกลุ่มของของสหรัฐเริ่มต้นในสมัยของรัฐบาลบุชผู้พ่อ โดยมีการแถลงอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในการทำข้อตกลงพิเศษทางการค้ากับประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ผลกระทบจากการทำ FTA ระหว่างกันจะเกิดเป็นระบบที่เรียกว่า “Hub and Spokes System” (ผู้เขียนอยากเรียกว่า The Lord of The Ring Effect)กล่าวคือ หากมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีหลายประเทศ ประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุด (สหรัฐอเมริกา) จะเป็นศูนย์กลาง (HUB) (เป็นผู้ครองแหวนแห่งอำนาจ) ทางการค้ารับสินค้าที่ส่งเข้ามาขายในอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำเป็นพิเศษกว่าแกตต์และประเทศอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมในวงล้อ[4] เช่นไทยกับสหรัฐในบางประเภทสินค้า สหรัฐอเมริกาจะเข้ามาลงทุนตั้งบริษัทในไทยและบริษัทแม่จะขายสินค้าแบบวัตถุดิบบางส่วนให้เพื่อมาแปรรูปในไทย และไทยก็จะส่งสินค้านั้นกลับไปยังสหรัฐ และอาจผลิตต่อยอดในสหรัฐเพื่อส่งขายต่อไปยังประเทศอื่นที่มีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐหรือไทยต่อไป ดังนี้การค้าที่เกิดจากการลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าต่อกันนั้นจะมีอัตราภาษีระหว่างกันต่ำกว่าอัตราที่ลดลงตามแกตต์จึงเกิดความได้เปรียบอย่างมากและเป็นการกีดกันประเทศอื่น แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจด้อยกว่าและเป็นผู้ส่งออกสินค้าย่อมอยากอยู่ในวงล้อ เพื่อส่งขายสินค้าและรับการลงทุนจากประเทศศูนย์กลางและประเทศที่ตนมีข้อตกลงการค้าทวิภาคีด้วย(อยากได้แหวนเพื่อเพิ่มอำนาจตนโดยรับพลังจากแหวนที่อิงจากแหวนแห่งอำนาจ เช่นแหวน 9วงของมนุษย์ และแหวน 7วงของคนแคระ)  (ดูตาราง 1) (FDI คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมาตั้งเป็นบริษัทลูกในไทย)

         จากท้องเรื่องของ ลอร์ดฯ ราชามนุษย์ได้รับเอาแหวนจากเซารอนไว้โดยไม่ได้โต้เถียงอันใด เนื่องจากขณะนั้นเหล่ามนุษย์ยังไม่ทราบถึงแผนการร้าย และไม่ปรากฎว่าราชาได้ปรึกษาเหล่าขุนนางอำมาตย์หรือบอกแก่ประชาชนหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไปเหล่าราชาผู้หลงอำนาจก็ถูกครอบงำเป็นภูติไปสิ้น (ผู้เขียนขอเรียกมันว่าระบบแห่งแหวน The System of the Rings ที่ก่อเกิด The Lord of The Ring Effect) ด้วยเหตุนี้เองการเจรจา FTA กับสหรัฐนั้นต้องระมัดระวังมากและดูความพร้อมให้ดี หากรีบร้อนทำก็อาจเสียเปรียบและเสียหายแก่บ้านเมืองได้ เพราะข้อเรียกร้องของสหรัฐด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในด้านการแสวงหาความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากความรู้ต่างๆจะถูกปกป้องอย่างเกือบสมบูรณ์แบบ การถ่ายทอดและแสวงหาความรู้จะเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นการขัดขวางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ อีกทั้งทางด้านการจัดหาเวชภัณฑ์และการคุ้มครองสมุนไพรหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นไปอย่างลำบาก, การเปิดเสรีด้านการให้บริการ การทำธุรกิจ และการลงทุน รวมทั้งสถาบันการเงิน เศรษฐกิจไทยอาจถูกครอบงำ สถาบันการเงินอาจสูญเสียสถานภาพอันมั่นคงแก่ธนาคารต่างชาติ โอกาสด้านการลงทุนหรือประกอบธุรกิจของไทยจะตีบตันลงและหากพ่ายแพ้การแข่งขันจากบริษัทต่างชาติก็จะค่อยๆหายไปหรือกลายเป็นบริษัทลูกของต่างชาติ (ถูกอำนาจแหวนครอบงำ) รัฐอาจได้ผลกำไรจากภาษีเงินได้แต่กลุ่มธุรกิจของคนไทยจะประสพกับภาวะยากลำบาก, ข้อกำหนดด้านแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานอาหารส่งออกและสุขอนามัยอาจเป็นอุปสรรคต่อการขายสินค้าในตลาดสหรัฐ ทำให้ไม่อาจได้รับประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่และถูกกอบโกยอยู่ฝ่ายเดียว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนแก่สินค้าส่งออกไทยอันเป็นการลดขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน อย่างไรก็ดีหากไม่นับเรื่องดังกล่าว ประโยชน์ที่เราจะได้จาก FTA ก็น่าสนใจมากทางด้านการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาทำ FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่เพียงเท่านั้นไม่น่าจะเรียกได้ว่าน่าพอใจ
         พลังอำนาจที่ไทยจะได้รับจากการสวมแหวน FTA นั้นประโยชน์โดยหลักย่อมหนีไม่พ้นด้านการค้าและการลงทุน ทางด้านการค้านั้นแน่นอนว่าการส่งสินค้าไปขายในสหรัฐจะเสียภาษีขาเข้าน้อยกว่าสินค้าของประเทศอื่น ราคาสินค้าก็ย่อมถูกกว่า แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่ากฎระเบียบอื่นๆทางด้านการนำเข้าที่ปรากฎใน FTA จะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องทำการยกระดับขั้นการผลิต และปรับปรุงมาตรฐานการทำการเกษตรต่างๆมากจนเกินความจำเป็นจนอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากและใช้เวลานานกว่าที่เราจะใช้ประโยชน์จากพลังของแหวนได้จริง เนื่องจากมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ เช่น การใช้ฮอร์โมนส์หรือ สารกระตุ้นต่างๆ ยังมีมาตรการควบคุมที่ย่อหย่อน มีหลายครั้งที่สินค้าเกษตรไทยทั้งที่แปรรูปแล้วและแช่แข็งมีข้อบกพร่องและส่งกลับ ส่วนด้านพืชผักและผลไม้นั้นสารตกค้าง และการคัดเลือกสายพันธุ์อาจมีปัญหาได้ ถั่วเหลืองและพืชพันธุ์หลายอย่างในเมืองไทยมีการตัดแต่งพันธุกรรม จะทำอย่างไรถ้าทางสหรัฐไม่ให้นำเข้าเว้นแต่จะเปิดเผยสูตรพันธุกรรม ดังนั้นด้านการเกษตรผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการนี้น่าจะเป็นบริษัทส่งออกสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ ส่วนรายย่อยนั้นอาจต้องขายภายในประเทศและในภูมิภาคเป็นหลักจนกว่าจะพัฒนาตนได้ทัน รัฐบาลต้องมั่นใจว่าการเพิ่มมาตรฐานทางด้านสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปตาม FTA จะไม่ก่อให้เกิดภาระเกินกว่าอัตราส่วนภาษีที่ได้ปรับลดลง ส่วนสินค้าเทคโนโลยี นั้นประโยชน์ที่เราเคยได้ก็จะมีอยู่เป็นสินค้าที่จะสร้างความได้เปรียบให้แก่ผู้ส่งออกไทย แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเห็นว่ามีโอกาสที่ผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากการที่บริษัทแม่ในสหรัฐมาผลิตเองในไทยและค้าขายในลักษณะภายในเครือ (Intra Firm Trade) ที่ไม่มีอุปสรรคทางภาษีอีกต่อไปทั้งยังสามารถขายตลาดต่อในภูมิภาคอาเซียนที่ประเทศอื่นที่ไทยมี FTA อยู่ด้วย เมื่อกิจการของผู้ผลิตเดิมไม่อาจอยู่ได้การซื้อกิจการแบบ Asset Acquisition คือการเข้ายึดสินทรัพย์กิจการ หรือการ Looting คือทำลายถอนรากโคนกิจการย่อมมีโอกาสเกิดขึ้น และกิจการคนไทยจะพบความยากลำบากด้านการแข่งขันที่รุนแรง หากพ่ายแพ้ก็คือหนทางสู่ความเป็นภูติแห่งแหวน นาซกูลหรือทาสแรงงานนั่นเอง (สูญเสียความเป็นตัวเองให้แก่แหวน) นี่เป็นตัวอย่างของความไม่พร้อมของประเทศไทย ความแตกต่างระหว่างพลังของมนุษย์กับจอมมาร ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของสินค้าสำเร็จรูป สินค้าที่ขายแก่ผู้บริโภคนั้นอาจถูกจำกัดด้วยเรื่อง กฎวัตถุดิบท้องถิ่น Local Content ที่สูงเกินไป ไทยควรเจรจาในเรื่อง Local Content ให้รอบคอบที่สุดและมีร้อยละจำนวนน้อยที่สุดเพื่อประโยชน์ในทางต้นทุนการผลิตสินค้า

ทางด้านการลงทุน ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค หรือ RTA (Regional Trade Agreement) อยู่กับอาเซียน มี FTA อยู่กับ ออสเตรเลีย จีน บาห์เรน และอีกหลายประเทศในอนาคต เช่น ญี่ปุ่น ฯลฯ ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็น Hub ทางด้านการลงทุนจากนานาประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้ากับไทยเนื่องจากไม่มีการเก็บภาษีหรือเก็บน้อยในการทำการขายสินค้าระหว่างบริษัทในเครือ (Intra Firm Trade) ทั้งยังเป็นการขยายตลาดเป็นตลาดขนาดใหญ่เพื่อรองรับสินค้า ดังเช่นกรณีต่อไปนี้
จากตัวอย่างข้างต้นหากในอนาคตไทยได้บรรลุข้อตกลง FTA กับ สหรัฐ ญี่ปุ่นและจีน แล้วนั้น การที่ญี่ปุ่นจะส่งรถยนต์เข้าไปขายใน สหรัฐ จีน หรือประเทศอื่นในอาเซียนอาจต้องเสียภาษีจำนวนมาก แต่เมื่อประเทศไทยมี RTA (AFTA) กับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยมีภาษีนำเข้าร้อยละ 4 และมีกฎวัตถุดิบท้องถิ่น Local Content ที่ 40% ญี่ปุ่นอาจตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยเพื่อส่งขายประเทศที่ 3 ที่มีตลาดขนาดใหญ่เช่น อาเซียน, จีน และสหรัฐ [5] เช่น การขายรถแก่มาเลเซียที่คิดภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ไม่ใช้ส่วนประกอบในประเทศในอัตราร้อยละ 200 นั้นจะเสียภาษีเพียงร้อยละ 4 ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนและราคาขายรถในมาเลเซียได้อย่างมหาศาล หรือการขายรถในสหรัฐ เมื่อสหรัฐต้องการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของตนเอง สหรัฐอาจมีการใช้ Antidumping Duty หรือภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อเพิ่มภาระภาษีแก่ผู้ประกอบการรถยนต์ญี่ปุ่น หรือมาตรการเซฟการ์ดเพื่อจำกัดการนำเข้า ให้แข่งขันได้ยากลำบากรวมทั้งอาจถูกจำกัดรูปแบบการทำธุรกิจโดยมาตรการการลงทุนภายในสหรัฐอมเริกาและภายในมลรัฐต่างๆอีกด้วย ดังนั้นการเข้ามาทำ FDI ในประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการทำเจาะตลาดประเทศที่อยู่ใน HUB AND SPOKE SYSTEM หรือระบบของแหวนแห่งอำนาจ โดยเฉพาะในตลาดของ HUB ตัวแหวนของเซารอน (USA) ที่มีอิทธิพลทางการค้าสูง หรือในตลาดแบบภูมิภาค และประเทศที่เป็น HUB เองก็สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบหรือลงทุนในประเทศที่เป็น TRADE SPOKE แหวนของราชามนุษย์หรือภูติแห่งแหวน เพื่อผลิตสินค้าที่ได้เปรียบกว่าทางด้านต้นทุนทางภาษีและส่งขายในประเทศ Spoke อื่นๆ เช่น การที่บริษัทอเมริกาผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ในไทย แล้วขาย Intra firm trade ให้แก่บริษัทแม่มาประกอบเป็นมือกลอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในอุตสาหกรรม แล้วส่งขายไปยังออสเตรเลียย่อมน่าจะมีราคาถูกกว่าสินค้าของรัสเซียที่เป็นประเทศนอกระบบ HUB AND SPOKE ทั้งนี้การเข้าอยู่ใน HUB แม้มีผลดีทางด้านจำนวนการเข้ามาลงทุน (FDI INFLOW) แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยอำนาจและสิทธิต่างๆในการควบคุมการลงทุน จากต่างชาติ (นโยบายจะถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก หรือระบบของแหวน)

                ผลของการที่ไทยเป็นศูนย์การลงทุน ย่อมเกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาเสริมระบบเศรษฐกิจ ผู้ผลิตสินค้าพื้นฐานของไทยมีตลาดรองรับมากขึ้น รัฐสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้แก่รัฐในภาพรวม แต่เงินได้ย่อมไหลออกไปสู่ต้นทาง ณ ต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาลเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพพอที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

                ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ทางเดียวจากการรับการลงทุน แต่เจ้าของกิจการไทยจำนวนน้อยเท่านั้นที่มีศักยภาพพอจะไปทำ FDI ในประเทศอื่นๆแล้วดึงเม็ดเงินกลับเข้ามาในประเทศ อีกทั้งนโยบายดึงดูดนักลงทุนของไทยนั้นมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาหลายปีเพื่อดึงนักลงทุนให้มาลงทุนในไทยไม่ใช่จีน หรือเวียดนาม และผู้เขียนเองก็เห็นว่าการยกเลิกนโยบายดังกล่าวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลยเพราะต้องระวังการสูญเสียนักลงทุนให้แก่ประเทศคู่แข่งด้านการรับการลงทุนอื่นๆ

                สุดท้ายผู้เขียนเห็นว่า เกมนี้เป็นเกมที่อัตรายและเดิมพันด้วยชีวิต-ชะตากรรมของชาติ เรามีทางเลือกคือเข้าสู่ระบบ FTA หรือจะไม่ทำเสียเลย แต่เราเลือกเข้าสู่ระบบการทำ FTA โดยปราศจากความพร้อม เมื่อเราเข้ามาแล้วเราต้องชดเชยความไม่พร้อมนั้นด้วย การต่อเชื่อมอย่างเต็มรูปแบบกับประเทศที่ส่งออกการลงทุนทั้งหลาย เช่น ญี่ปุ่น และประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่เพื่อสร้างตลาดขนาดใหญ่กว่าเพียงแค่ในประเทศหรือภูมิภาค แล้วรอรับการลงทุนเป็นศูนย์การทำ FDI แต่ทั้งนี้เพื่อตักตวงประโยชน์อย่างเต็มที่ ประเทศไทยต้องเจรจาอย่างรอบคอบ ผู้ผลิตทั้งหลายในไทยต้องพัฒนาคุณภาพ ผู้ให้บริการของไทยต้องสร้างแบรนด์และยกระดับตัวเพื่อให้สามารถออกไปดึงผลกำไรในต่างประเทศในลักษณะบรรษัทข้ามชาติ และผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้อย่างเร็วที่สุดก่อนจะพ่ายแพ้ให้ต่างชาติ และกลายเป็นภูติแหวนหรือนาซกูลของสหรัฐ ทำไปเถอะ FTA แต่ต้องทำให้ครอบคลุมเขตการค้าและประเทศผู้ลงทุนสำคัญอย่างรอบคอบ หากต้องเป็นภูติแหวนจริงๆก็ขอให้เป็นราชาขมังเวทย์แห่งอังค์มาร์ก็แล้วกัน


[5] การลงทุนในไทยจะทำให้การขายให้ประเทศเหล่านี้จะไม่มีการเก็ยภาษีศุลกากรขาเข้าหรือเก็บน้อยมากทั้งยังเป็นตลาดขนาดใหญ่เพราะลำพังอาเซียนก็มีประชากรประมาณ 500 ล้านคนแล้ว


[1] หลักปฏิบัติเยี่ยงชนชาติ (National Treatment) ประเทศภาคีต้องไม่มีมาตรการที่กีดกันสินค้าต่างชาติหรือให้เปรียบผู้ผลิตหรือสินค้าภายในประเทศ
[2] หลักปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์อย่างยิ่ง (Most Favoured Nation) ภาคีต้องปฏิบัติต่อทุกชาติเท่าเทียมกัน หากชาติใดได้ผลประโยชน์เป็นพิเศษชาติภาคีอื่นๆต้องได้รับเช่นเดียวกัน
[3] GATT Article XXIV 4.                The contracting parties recognize the desirability of increasing freedom of trade by the development, through voluntary agreements, of closer integration between the economies of the countries parties to such agreements.  They also recognize that the purpose of a customs union or of a free-trade area should be to facilitate trade between the constituent territories and not to raise barriers to the trade of other contracting parties with such territories.
[4] Richard H. Snape, Which Regional Trade Agreement?, Ch. 4 in Bora & Findly (eds.), Regional Integration and the Asia Pacific, (1996), pp.60.
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11942เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2006 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ได้ความรู้เกี่ยวกับระบบBretton Woods Systemขึ้นมากค่ะ เพราะกำลังเรียนอยู่พอดีในกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท