วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน


การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ดิฉันเคยเป็นอาจารย์พยาบาลที่สอนในระดับบัณฑิตศึกษา อยู่ที่ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะที่เป็นอาจารย์ก็ทำงานให้บริการแก่ผู้ป่วยเบาหวานไปด้วย ประสบการณ์ตรงนี้มีส่วนช่วยอย่างมากในการให้คำปรึกษาด้านการทำวิทยานิพนธ์แก่นักศึกษา

เมื่อมาทำหน้าที่ผู้ประสานงานเครือข่ายเบาหวาน ดิฉันเรียนรู้มากขึ้นว่าการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในระยะ ๒ ปีที่กลับมาทำงานอยู่กรุงเทพฯ ดิฉันได้รับเชิญให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเครื่องมือวิจัยของนิสิต/นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาพยาบาลศาสตร์ ที่จะทำวิจัยด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานอยู่บ่อยๆ เมื่อวานเช้าดิฉันได้คุยกับนิสิตรายหนึ่งที่เอาเครื่องมือวิจัยมาให้ตรวจสอบ คุยแล้วเกิดความรู้สึกว่าควรเขียนบันทึกนี้

ดิฉันอ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ครั้งนี้ร่วมกับโครงร่างอื่นๆ ที่เคยดูมาแล้ว มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้ (ดิฉันอาจมองผิดก็ได้ ขออนุญาตนำสไตล์ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มาใช้นะคะ)

- มักไม่ใช่วิจัยที่ต่อยอดจากงานที่ทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานใน setting ต่างๆ ได้พัฒนาไว้แล้ว  
  ไม่รู้ว่ามีใคร ทำอะไร อย่างไร ที่ไหนแล้วบ้าง วิจัยของหลายคนเป็นงานที่เริ่มนับหนึ่งใหม่
  และคาดได้ว่าจะได้คำตอบที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว
- มีการลงทุนลงแรงและเวลาไปมากในการสร้างเครื่องมือ เช่น คู่มือสำหรับผู้ป่วย ทั้งๆ ที่
  สามารถใช้ของที่มีอยู่แล้ว (แต่คนอื่นสร้าง) ได้ (เป็นแรงและเวลาทั้งของนิสิต/นักศึกษา
  อาจารย์ที่ดูแล และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย)
- การดูแลผู้ป่วยเป็นการทำงานคนเดียว วิชาชีพเดียว ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้ชำนาญทุกเรื่อง
  ไม่เห็นการทำงานร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพ 
- เน้นผลด้านการคุมน้ำตาล ไขมัน หรือ outcomes อื่นๆ มากกว่าการเรียนรู้ว่ากระบวนการ 
  หรือการปฏิบัติอะไรที่มีประสิทธิภาพ
- ยังติดภาพที่ว่าเจ้าหน้าที่คือ "expert" ในการดูแลเบาหวาน ผู้ป่วยและครอบครัว "รู้น้อยกว่า"
  เรียนรู้จากผู้ป่วยและครอบครัวน้อย
- นิสิต/นักศึกษาบางคนยังมีความรู้และประสบการณ์น้อยถึงน้อยมากด้านการดูแลผู้ป่วย
  เบาหวาน

ฝากไว้เป็น idea สำหรับงานวิจัย/วิทยานิพนธ์ด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๙

คำสำคัญ (Tags): #วิทยานิพนธ์
หมายเลขบันทึก: 11994เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2006 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นข้อคิดที่สุดยอดเลยครับ

วิจารณ์

ต้องการชุดแบบสาธิตอาหารเพื่อประกอบการทำวิทยานิพนธ์ในกลุ่มทดลองหาได้จากที่ไหนบ้างค่ะ และราคาประมาณเท่าไหร่ค่ะ
มีหุ่นจำลองอาหารมาตรฐานของสมาคมนักกำหนดอาหารค่ะ สำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ รพ.ราชวิถี ติดต่อคุณสุนทรี โทร ๐-๖๐๐๓-๐๔๑๔

เห็นด้วยกับ อาจารย์ วัลลา ค่ะ

ประเด็นที่สำคัญคือ นศ.หลายคนพยายามมองปัญหาจากการทำงานที่หน่วยงานของตนเอง แล้วจะใช้การวิจัยเพื่อหาคำตอบ ครูบางคนมองว่าปัญหามันเล็ก (คืออยู่ในที่เล็ก) เมื่อศึกษาแล้วอาจ generalised ไม่ได้ดีนัก จะแก้แนวคิดครูอย่างไร ทั้งนี้     หากนศ.ใช้การทำวิทยานิพนธ์แล้วสามารถแก้ปัญหาในหน่วยงานเพื่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ดีขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำมิใช่หรือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท