"การหามูลค่าเพิ่มให้องค์กร จากทุนทางปัญญา"


IC Measurement

โดย วรานนท์ นัยนานนท์..

สัมมนาเรื่อง "การหามูลค่าเพิ่มให้องค์กร จากทุนทางปัญญา" หรือที่เรียกกันว่า Intellectual Capital (IC) Measurement จัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 8 สิงหาคม 2550

การสัมมนาแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ เช้าเป็นการสัมมนาทางวิชาการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจเกี่ยวกับความหมายเรื่องของ "ทุนทางปัญญา" และวิธีการหามูลค่าของทุนทางปัญญา, และในช่วงบ่ายเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาเพียง 15 บริษัทแรกที่ลงทะเบียนเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิ์นี้

การสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ร่วมบรรยาย 4 ท่าน คือ คุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว (President of KMPCA), Mr. Ludo Pyis (ผู้คิดค้นเครื่องมือในการวัดค่า IC ในเชิงคณิตศาสตร์), Mr. Nigel Dawes (ผู้ประสานงานระหว่าง Mr. Ludo กับบริษัทผู้ดำเนินการในประเทศไทย), และคุณวรานนท์ นัยนานนท์ หรือผมนั่นเอง (PMO Manager และที่ปรึกษาบริษัทผู้ดำเนินการวัดค่า IC ในประเทศไทย) มีผู้เข้าร่วมสัมมนารวมทั้งสิ้นประมาณ 70 ท่าน

เริ่มต้นการสัมมนา ประธานในงานสัมมนา คุณวิเชษฐ ตันติวานิช ประธานที่ปรึกษาอาวุโสตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนา โดยท่านได้กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของการแสดงมูลค่าที่องค์กรมีอยู่อย่างชัดเจนและโปร่งใส พร้อมกับสนับสนุนแนวคิดของการหาวิธีการเพื่อวัดค่าทุนทางปัญญาขององค์กรที่มีอยู่

คุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว เป็นท่านแรกที่บรรยาย ท่านได้ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับความหมายของการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM) เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจก่อนจะลงไปสู่รายละเอียดของเนื้อหาถัดไป จากนั้นได้อธิบายถึงทฤษฎีการทำ KM โดยสรุป และนำมาถึงเรื่องของทุนทางปัญญา หรือ Intellectual Capital (IC)

Mr. Ludo Pyis ได้บรรยายถึงเรื่อง IC ในเชิงของการวัดค่า ซึ่งได้อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการของการพิจารณา IC ที่มีภายในองค์กร ประกอบกับเครื่องมือที่ได้มีการนำเสนอ ที่มีชื่อเรียกว่า "4-Leaf Model" คือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดค่าของทุนทางปัญญาหรือ IC ที่มีแต่ละองค์กร โดยจะทำการวิเคราะห์เป็น 4 กลุ่มหลัก (Class) ได้แก่ Human, Customer, Structural, and Strategic Alliance Capital ซึ่งทั้งสี่กลุ่มหลักนี้ จะนำมาซึ่งปรากฎการณ์ (Phenomena) ของกลุ่มงานหลักในองค์กรทั้งสิ้น 77 กลุ่มงาน หรือแยกได้เป็น 150 กระบวนงาน

หลังพักรับประทางอาหารว่าง Mr. Nigel Dawes ได้อธิบายต่อเนื่องจาก Mr. Ludo โดยลงในรายละเอียดเกี่ยวกับ การนำผลของค่าที่วัดได้ มาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของการแสดงมูลค่าทางการบัญชี (Accounting Balance Sheet with IC Values)

คุณวรานนท์ นัยนานนท์ ได้บรรยายถึงภาพรวมในการจัดทำโครงการเพื่อหามูลค่าเพิ่มภายในองค์กร จากทุนทางปัญญา (IC Measurement Project Overview) โดยได้อธิบายถึงรูปแบบการบริหารโครงการ ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปดำเนินการคือ SSC Consulting Services ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท SSC Solutions คือ การจัดตั้งโครงการเพื่อการหามูลค่าเพิ่มจาก IC นั้นจะถูกดำเนินการตามกระบวนการบริหารงานแบบ EXPERT (Excellent Process on Enhanced Reusable Technique) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยวรานนท์ นัยนานนท์ ให้กับบริษัท SSC Solutions แบ่งการดำเนินงานสำหรับโครงการ IC Measurement ออกเป็น 5 ขั้นตอนหลัก ใช้เวลาโดยประมาณ 60 วัน (Man days) พร้อมทั้งแสดงรูปแบบหน้าตาของเอกสารและขั้นตอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างโครงการจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ

เมื่อจบการสัมมนาในครึ่งเช้า ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมสัมมนา มีการเข้ามาขอรับคำปรีกษาเพิ่มเติมกับผมจำนวนพอสมควร แต่ละท่านได้ให้ความคิดเห็น และแสดงความสนใจที่จะนำไปดำเนินการกับองค์กรของแต่ละท่าน ผมจึงให้คำปรึกษาในเชิงชี้แจงการนำไปปฏิบัติจริงกับองค์กรในเบื้องต้นให้กับทุกท่าน ซึ่งก็ได้ตอบปัญหาท่านที่มีขอคำปรึกษาได้ในระดับหนึ่ง และได้มีการนัดหมายกันเพื่อทำการปรึกษาในรายละเอียดต่อไป

เมื่อทุกท่านได้รับประทานอาหารกลางวันที่ทางผู้จัดงานสัมมนาจัดเตรียมให้ กลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์การสัมมนาเชิงปฏิบัติการก็ได้มารวมตัวกันอีกครั้ง Mr. Ludo เป็นผู้นำกลุ่มสำหรับการทำ Workshop นี้ โดยมีผมเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์และสนับสนุนกรณีผู้ร่วมสัมมนาต้องการความช่วยเหลือ Mr. Ludo ได้อธิบายในรายละเอียดของการหามูลค่า IC โดยเป็นระดับของการแสดงวิธีการทางเชิงคณิตศาสตร์อย่างละเอียด (ในระดับที่ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจได้) เมื่อเสร็จสิ้น ทุกท่านต่างก็ยิ้มแย้ม จากความรู้สึกพึงพอใจถึงประโยชน์ในการเข้าร่วมงานตลอดทั้งวันตั้งแต่ 9.00 - 16.30 น.

ผู้ร่วมสัมมนาสามท่านได้เข้ามาทำการพูดคุยกับผมถึงการสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีความพอใจและรู้สึกเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการนำไปวิเคราะห์ใช้กับองค์กร จึงได้มีการนัดหมายเพื่อให้บริษัทและผมเข้าไปทำการวิเคราะห์และหาค่า IC ให้กับองค์กรของแต่ละท่าน

ก็คงจบการสัมมนา ณ จุดตรงนี้นะครับ ส่วนตัวผมเองก็พึงพอใจกับผลตอบรับ และภาพงานโดยรวมเช่นกัน ก็ต้องขอขอบพระคุณ KMPCA ที่จัดงานนี้โดยได้รับการสนับสนุนจาก Department of Intellectual Property และตลาดหลักทรัพย์ และด้วยความร่วมมือจาก SSC Consulting Services และ Partner

ผมขอสรุปอีกครั้งนะครับ การหามูลค่าเพิ่มให้องค์กร จากทุนทางปัญญา คือการเข้าไปประเมินองค์กรว่า ในองค์กรของท่านมีทุนทางปัญญาอะไรบ้าง ที่สามารถนำออกมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ จากนั้นจะมีในเรื่องของการเข้าไปวิเคราะห์ระบบงาน เพื่อทำการปรับปรุงกระบวนงาน ตลอดจนมีการเข้าไปจับองค์ความรู้ในกระบวนงานที่เกิดขึ้น และจะมีการนำสิ่งที่รวบรวมได้ทั้งหมดมาคำนวณค่าทางคณิตศาสตร์ และจัดทำกลับไปอยู่ในรูปรายงานทางการบัญชี ประกอบกับเอกสารอ้างอิงการวัดค่า IC ขององค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่องค์กรจะได้รับจากการทำโครงการ IC Measurement

หมายเลขบันทึก: 118609เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท