อุปสรรคสำคัญต่อ Knowledge Transfer & Sharing


ปัจจัยซึ่งขัดขวางการใช้ประโยชน์ของระบบ KM อย่างมีประสิทธิภาพนั้น แทบทั้งหมดเกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการ "หวงความรู้" และความหวั่นเกรงว่าเมื่อทุกคนในองค์กรล่วงรู้เคล็ดลับหรือ "ไม้ตาย" แล้ว อาจจะเกิดความไม่มั่นคงต่อการทำงาน

KM มิใช่เครื่องมือสารพัดนึกที่จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กรได้เสมอไป  หลาย ๆ องค์กรประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงกับการใช้ประโยชน์จากระบบ KM ซึ่งสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นต้องวางมาตรการในการบริหารที่ดี ปัจจัยซึ่งขัดขวางการใช้ประโยชน์ของระบบ KM อย่างมีประสิทธิภาพนั้น แทบทั้งหมดเกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการ "หวงความรู้" และความหวั่นเกรงว่าเมื่อทุกคนในองค์กรล่วงรู้เคล็ดลับหรือ "ไม้ตาย" แล้ว อาจจะเกิดความไม่มั่นคงต่อการทำงาน เพราะองค์กรสามารถก้าวเดินได้โดยใช้ระบบองค์ความรู้ และไม่ต้องพึ่งพาความรู้ความสามารถพิเศษของพนักงานในบางระดับอีกต่อไป ประเด็นอื่น ๆ ก็คือการมองไม่เห็นความสำคัญของระบบ KM ที่จะก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำงาน พนักงานหลาย ๆ คนกลับมองว่า KM เป็นการเพิ่มภาระในการทำงาน ซ้ำร้ายกว่านั้นยังมีแนวความคิดอีกว่า "ทำไปก็ไม่มีอะไรตอบแทน สู้ทำงานแบบเดิม ๆ ดีกว่า" นอกจากนั้นก็มีเรื่องของภาษาสำหรับองค์กรที่มีพนักงานหลายเชื้อชาติ, การออกแบบโครงสร้างของระบบฐานข้อมูลและกระบวนการใช้งานระบบ KM ที่ยากต่อความเข้าใจและใช้งาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคโดยธรรมชาติของการประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้าน KM สำหรับทุก ๆ องค์กร ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น แต่หากมองในทางกลับกัน ผู้อ่านจะพบว่านี่คือความท้าทายของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมองเห็นความสำคัญของประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบ KM เหนือกว่าอุปสรรคพื้นฐานต่าง ๆ ข้างต้น

การสร้างความเข้าใจในประโยชน์ของระบบ KM, การให้ความมั่นใจต่อความมั่นคงทางอาชีพการงาน, การรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วม, การสร้างระบบให้รางวัล (Incentive & Rewarding) สำหรับการมีส่วนร่วมในระบบ KM ให้กับพนักงานแต่ละคน เหล่านี้คือกุญแจสำคัญสู่การผลักดันให้ระบบ KM เกิดขึ้นและดำเนินไปโดยสร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ระบบ KM เริ่มดำเนินการไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารจำเป็นต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กันก็คือการกำหนดมาตรฐานในการวัดและประเมินผล (Measurement & Evaluation) สำหรับการใช้ประโยชน์จากระบบ KM ที่องค์กรได้ลงทุนไปว่า มีพัฒนาการใช้งานที่ก้าวหน้าหรือเติบโตขึ้นหรือไม่, ระบบ KM สามารถสร้างผลตอบแทนต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดต้นทุนหรือช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับองค์กรมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวนับเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งต่อการบริหารระบบ KM ภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

บทความจาก : ไพโรจน์ ไววานิชกิจ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1180เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2005 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท