ชีวิตที่พอเพียง : 335. เรียนรู้ และเสพปิติสุขจาก R2R


         วันที่ 6 ก.ค. 50 ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการ R2R ของศิริราช     ได้มีโอกาสฝึกฝนการไตร่ตรอง (reflection) และพิมพ์บันทึก ในเวลาเดียวกันกับการประชุม     เป็นการฝึก multitasking ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี

         ก่อนการประชุม ผมถาม อ. หมอสมเกียรติ วสุวัฏฏกุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ ว่า R2R ผ่านมา 3 ปีแล้ว     ภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ตรงกับที่คาดหวังหรือไม่    ท่านตอบว่าตรง    และที่ชอบใจมากที่สุดคือ เรื่อง R2R ได้เข้าเป็นประเด็นในการประชุมคณะกรรมการประจำคณะอยู่เสมอ    มีการนำเอา KM ไปปรับใช้มาก  มากกว่าที่คิดไว้เดิมมาก     และเป็น KM Inside

         อ. นพ. อัครินทร์ นิมมานนิตย์ ผู้จัดการโครงการ R2R นำเสนอภาพรวมของความสำเร็จใน 3 ปีที่ผ่านมาว่า  เห็นกระบวนการ ที่เป็นการ ลปรร. เรื่อง R2R ไม่เฉพาะในศิริราช     แต่ทั่วประเทศ

         Slide and sound  ของการบรรยายต่างๆ ที่เอาไปใส่ไว้บน website R2R ได้ประโยชน์ต่อการ ลปรร. มาก     ไปถึงออสเตรเลีย

    
         ผมชอบวิธีนำเสนอ Iceberg Model ของความสำเร็จ ของ R2R     ส่วนที่โผล่พ้นน้ำเป็นส่วนน้อยมาก    ได้แก่ จำนวนโครงการที่ให้ทุนสนับสนุน (3, 12, 25 โครงการในปีที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ)     จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ (6)    จำนวนผลงานวิจัยที่กำลังเตรียมต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ (19)    จำนวนโครงการที่กำลังพัฒนา (27)  
   
ส่วนที่เป็นผลงานส่วน “ใต้น้ำ”  ได้แก่
     • มีคนที่อยากพัฒนางานประจำของตนเพิ่มขึ้น    เริ่มรู้จักตั้งคำถามในงานประจำ  
     • มีคนที่อยากเพิ่มคุณค่างานประจำของตน           
     • มีคนที่รู้สึกสนุก  
     • มีการทำงานเป็นทีม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในหน่วยงาน   
     • มีการแทรกซึมไปสร้างคนระดับฐาน
     • มีคนที่อยากช่วยผู้อื่นในการทำงานวิจัย
     • แนวคิด R2R ขยายตัวออกไปนอกศิริราช     มีภาคี/พันธมิตร 13 องค์กร จากทั้งโรงพยาบาลราชการและเอกชน   เกิด R2R Network

         ใช้เงินไปประมาณครึ่งหนึ่งของที่กำหนดงบประมาณไว้      

         แผนงานระยะที่สอง    มีการวางแผนกลยุทธ เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธภาพรวมของศิริราช     โดยมีเป้าหมายคือความเป็น LO     R2R จึงประกาศเป้าหมายการเป็นกลไกของ Organizational Change ของศิริราช 
   
กิจกรรมใน R2R ระยะที่ 2
     • เปิดสู่ non-care team
     • ชนิดของการวิจัย : พัฒนาคุณภาพบริการผู้ป่วย      พัฒนาการจัดการ การจัดระบบ
     • สนองเป้าขององค์กร : ตอบสนอง areas of excellence ของแต่ละภาควิชา/หน่วยงาน ที่แต่ละภาควิชากำหนดไว้แล้ว    
     • Downstream Management : KT (Knowledge Translation), in-house vs hi-quality, outside monitoring vs facilitation
     • ปรับ CF model : ทีมที่สำเร็จ, non-MD, คนนอกศิริราช  
     • Career path ด้านการจัดการงานวิจัย     

         ผศ. นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ ทีมงาน R2R ในฐานะ CF (Cluster Facilitator)   ศึกษาวิธีการหรือเคล็ดลับในการนำเอา CPG (Clinical Practice Guideline) มาใช้     ว่า CPG ที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญคนเดียวจะไม่ค่อยมีคนใช้    เพราะไม่ค่อย relevant กับสภาพจริง    จึงควรทำโดย MDT (Multidisciplinary Team) / CoP    ใช้ทั้ง explicit knowledge จาก CPG     และใช้ tacit knowledge จาก MDT     ถึงตอนนี้ ผมเห็นการใช้ KM Inside กระบวนการนี้อย่างมีความสุข
         จะมีการทำวิจัย  KT เพื่อลดช่องว่างระหว่าง evidence กับ practice   

         อ. นพ. กุลธร เทพมงคล  ทีมงานหลักอีกท่านหนึ่ง ในฐานะ CF นำเสนอผลการศึกษา  KT : R Utilization  ศึกษา R2R2R ว่าครึ่งหลัง (Research to Routine) เกิดจริงไหม    ใครเอาไปใช้    มีตัวปิดกั้นอะไรบ้าง     จาก 6 รายงานที่ตีพิมพ์แล้ว     ได้ข้อมูลเบื้องต้น ว่ามีการนำไปใช้ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายระดับ

         ผมมองว่า นี่คือ paper ของ RM (research manager) เพื่อให้แวดวง RM ทำงานได้ดีขึ้น    และเป็นผลงานวิชาการของ RM เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ     จะช่วยให้คนเหล่านี้มีโอกาสเป็น Professor of Research Management
      
         ผมคิดในใจว่า    จะต้องมีการทำความเข้าใจ “supply chain” ของผลงานวิจัย     ไม่ใช่ “ยิงลูกโดด” แต่เป็นการ “รับลูกต่อ” หรือทำงานแบบต่อเนื่อง     งานวิจัยจึงจะเกิดผลจริงจัง

         ผมคิดต่อไปว่า  ทีม R2R จะต้องหาวิธี เพิ่มคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา     ให้ผลงานวิจัย R2R ได้ตีพิมพ์ในวารสารที่มีการยอมรับสูงสุด     หรือได้มีการนำไปประยุกต์ใช้     นำไปเคลื่อนไหวสังคม (social marketing)     นี่คือส่วนหนึ่งของ downstream research management  หรือ ส่วนครึ่งหลังของ R2R2R (Routine to Research to Routine)    และจากข้อคิดเห็นของท่านคณบดี ทำให้ผมได้อีกคำหนึ่งของ downstream research management คือ from bench to bedside     แต่เป็นคำที่เกี่ยวกับการวิจัยแบบ basic 

         อ. นพ. สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล   ให้ความเห็นว่าต้อง empower การจัดการงานวิจัย    โดยเฉพาะในระดับภาควิชา     (ซึ่งผมมองว่าเป็นหน่ออ่อนของ culture change ของศิริราช จากการมองว่างานวิจัยเป็นงานส่วนตัว ส่วนบุคคล หรือเพราะสนใจ     ไปสู่การมองว่างานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาหน่วยงานหรือคณะ และประเทศ)
ทำสิ่งที่ยากให้ง่ายขึ้นได้ เพราะมีการจัดการ 2 อย่าง    คือจัดการงานวิจัย กับ จัดการความรู้
         ควรมี ทีมจัดการ ที่ได้รับมอบหมายจากภาควิชา     เป็นยิ่งกว่า CF ของภาควิชา     (อ. อัครินทร์ บอกว่า คนแบบนี้มีแล้วในภาควิชา ออร์โธ – อ. ชนินทร์)
 
         อาจารย์ นพ. อุดม หนภ. อายุรศาสตร์     สนับสนุนว่ามาถูกทางแล้ว    ระบบการทำงานในปัจจุบันที่อาจารย์ต้องทำทุกอย่างเท่ากัน   และมีงานบริการท่วมท้น    เป็นสิ่งที่ท้าทายการปรับเปลี่ยนศิริราช    เสนอให้ใช้ UM (Utilization Management) เสริม R2R     มองเป้าหมายการดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาคุณภาพของบริการ
    
         ศ. พญ. นภาธร บานชื่น  หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา   ให้ความเห็นว่า R2R มีประโยชน์    ชื่นชมมาก    หนภ. ต้องเห็นประโยชน์ และเปิดประตูรับ หรือรุกเข้าไปหา    มิฉะนั้น R2R ทำงานยาก     งานวิจัยของคณะจะเดินได้ ต้องเลิกกติกาว่า อจ. ทุกคนต้องทำงานทุกอย่างเหมือนกันหมด มองเป็นความเท่าเทียม       

         นพ. ทศศาสตร์ แทน หนภ. ออร์โธ    กล่าวถึงความยากลำบากในการทำวิจัย R2R ในขณะที่มีงานประจำล้นมือ     แต่ท่านคณบดี ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวว่า มีตัวเลขเปรียบเทียบกับ รร. แพทย์แห่งอื่นที่มีผลงานวิจัยมากกว่าศิริราชว่า เขามีงานประจำต่อคน (อาจารย์) มากพอๆ กับศิริราช

         ศ. พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์  ให้ความเห็นว่า R2R สำเร็จในการ “กวนน้ำ”    ผลจะขุ่น หรือใส อยู่ที่การจัดการต่อ    (ตรงนี้ผมคิดว่าต้องทำ Transition Management เพื่อเปลี่ยน culture จาก service – based organization ไปสู่ research – based organization  ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในภาพรวม    R2R เป็นเพียงส่วนหนึ่ง)  
 
         รศ. นพ. ประเสริฐ  รองคณบดีฝ่ายวิจัย   เสนอว่าต้องมองให้เห็นชัดว่ากองทัพ R2R ควรมี CF กี่คน    มีเส้นทางความก้าวหน้าอย่างไร    

         นพ. ทศศาสตร์  เป็นงานยากขนาดเข็นภูเขาลงครก 

         ศ. นพ. วันชัย   มีความเห็นว่า R2R ทำงานได้ผลคุ้มค่ามาก  และช่วยให้มองเห็นการพัฒนางานวิจัยในภาพรวม  

         ศ. พญ. นภาธร บานชื่น  งานบริการเป็นสารสนเทศที่มีคุณค่า    แต่ละคนมีความสามารถในการมองเห็นโอกาสวิจัยไม่เท่ากัน   
   
         นพ. อุดม  เวลานี้ ศิริราชมี roadmap ที่สวยงาม    แต่ขึ้น road ไม่ได้

         นพ. ทศศาสตร์  งานประจำ คนทำไม่รู้ปัญหา เพราะทำจนชิน    ไม่เห็นภาพใหญ่     ไม่เดินมาหาถนน    ต้องสร้างถนนไปหาเขา

         ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย  ไม่คิดว่าเป็นการเปลี่ยนยุค    แต่เป็น accelerated evolution มากกว่า 
         เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 อย่าง    (1) กำลังสร้างวัฒนธรรมของการทำงานเป็นกลุ่ม หลายอาชีพ    (2) กำลังทำงานวิจัยเพื่อให้บริการดีขึ้น
         จริงๆ แล้ว เป็น R2R2I (infinity) 
         เป็นการพัฒนางานประจำโดยใช้วิทยาศาสตร์     ไม่ใช่วิจัย     ไม่ควรมองเป็นเรื่องพิเศษ    มองเป็นการตั้งคำถามโดยคนที่อยากได้ความรู้     ทำไม (why) จึงเกิดสิ่งนั้น     ต้องแยก routine ออกจาก basic research    อย่าปนกัน
         CPG ในมุมมองของตน = การปฏิบัติที่ทุกคนทำ มาตกลงกันว่าจะทำอย่างไร    แต่ละคนไปหาหลักฐานมาเสนอกัน ว่าถูกต้องหรือไม่  เป็นการทำวิจัยร่วมกัน    และข้อตกลงมีการเปลี่ยนแปลงได้    

         สรุป    วันนี้ผมมีความสุขมาก     เพราะ (1) ได้เห็นชัดว่า R2R ที่ผมไปยุให้ศิริราชกับ มสช. ร่วมมือกันริเริ่มแบบกล้าลงทุน กล้าจัดระบบใหม่ นั้น     เวลานี้พิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่าสูงมากต่อการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง big change ให้แก่ศิริราช    และแก่สังคมไทย  (2) เห็นการก้าวกระโดดของ “การจัดการงานวิจัย” ว่าได้เข้าไปเพาะตัวในสถาบันการศึกษา     มีการพัฒนาทักษะและระบบในการจัดการงานวิจัยของสถาบัน    มีการเห็นคุณค่าของวิชาชีพนักจัดการงานวิจัย    (3) เห็นการนำเอา KM ไปใช้อย่างชาญฉลาด    (4) เห็นความสามารถของทีมจัดการ R2R ในการนำเอา “ศาสตร์” หรือวิธีการใหม่ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้น เช่น UM, CPG เป็นต้น

วิจารณ์ พานิช
7 ก.ค. 50

คำสำคัญ (Tags): #r2r#ศิริราช#มสช.
หมายเลขบันทึก: 117550เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท