Information and Knowledge Management : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่


Information and Knowledge Management : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

                โครงการพัฒนาผู้บริหารมืออาชีพ  (Management Development Program : TQA Framework)  จากทฤษฏีสู่การปฏิบัติ สำหรับผู้บริหารมืออาชีพ ครั้งที่ 5  : Information and Knowledge Management   จัดขึ้นในวันที่  7  มกราคม  2549  ณ   มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
                การบรรยายในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ ของ สคส. ได้สละเวลา มาให้ความรู้ แก่ผู้บริหาร  คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่  
                ในการบรรยาย  เป็นไปด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง การแนะนำตัวของท่านทำให้รู้สึกไม่ห่างเหิน ท่านแนะนำว่า "ท่านเป็นเขยหาดใหญ่" เรียกเสียงฮา แสดงความต้อนรับได้เป็นอย่างดี  และในเรื่องการบรรยาย ท่านได้ให้ความรู้ในเรื่อง "การจัดการความรู้ (Knowledge Management)"   ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ที่น่าสนใจ คือ   (ขอเรียก ดร. ด้วยคำว่าอาจารย์ เพราะผู้เขียนนับถือท่านเป็นอาจารย์ทางท่านการจัดการความรู้ ด้วยท่านหนึ่ง)

1.  เรื่อง  Model แก่นความรู้  ที่ท่านได้ออกแบบไว้โดยแบ่งเป็นความรู้ 2 ส่วน คือ

  • ส่วนที่เป็น ความรู้แบบชัดแจ้ง Explicit Knowledge  (เป็นความรู้ที่ได้มีการบันทึกไว้ในกระดาษ หรือ คอมพิวเตอร์(  ซึ่งเป็นการเข้าถึงความรู้แบบ Explicit ประกอบไปด้วย
    • การเข้าถึง/การตีความ  : เป็นกระบวนการที่ทำอย่างไรให้เข้าถึงความรู้ที่มี และสามารถตีความความรู้ได้ถูกต้องตรงตามบริบท
    • การนำความรู้ไปปรับใช้ : เมื่อสามารถตีความรู้ที่เข้าถึงได้แล้วจึงนำความรู้นั้นมาปรับใช้ให้ตรงตามบริบท (สภาพแวดล้อม)  ขององค์กรได้
    • การเรียนรู้และยกระดับ  :  เมื่อเกิดการนำความรู้มาใช้แล้วทำให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมาจากความรู้เก่าที่มีอยู่ ทำให้เกิดการยกระดับความรู้ขึ้น
    • การรวบรวม/จัดเก็บ  :  เพื่อให้การเข้าถึงความรู้ได้ง่าย ๆ ในครั้งต่อไปจึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บความรู้ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ของคนในองค์กร  

ซึ่งในส่วนนี้จะเน้นในเรื่อง "2T" คือ  Tool &  Technology                                             
   

  • ส่วนที่เป็น ความรู้แบบฝังลึก Tacit Knowledge (เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ)  ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ แบบ Tacit  ประกอบด้วย
    • การนำความรู้ไปปรับใช้ :  นำความรู้ที่มีอยู่ในตัวเองมาปรับใช้
    • มีใจ/แบ่งปัน  :  มีการแลกเปลี่ยนด้วยความเต็มใจ
    • เรียนรู้ร่วมกัน :  ร่วมเรียนรู้
    • สร้างความรู้ยกระดับ : การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ทำให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ เหมือนกับเป็นการยกระดับความรู้ในต้วเราให้สูงขึ้น มากขึ้นกว่าเดิม    

ซึ่งในส่วนนี้จะเน้นในเรื่อง "2P"  Process  & People
 

               สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากโมเดล นี้คือ อาจารย์  บอกว่า ให้ลองวาดเส้นตามลูกศรที่ปรากฏอยู่ทั้งในส่วนของ Explicit และ Tacit  คำถามคือ เป็นรูปอะไร ใช่ค่ะ มันเป็นรูปสัญญลักษณ์  infinity ก็หมายความว่า การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ทั้งในส่วนความรู้ Explicit และ Tacit  ไม่มีที่สิ้นสุด นั่นเอง
              จะว่าไปแล้วโมเดลตัวนี้ ผู้เขียนเคยได้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่ทราบถึงความหมายที่ชัดเจนเช่นนี้  อาจารย์ทำให้ได้ทราบในความหมายในนัยสำคัญ ที่สอดคล้องกับการจัดการความรู้  ได้เป็นอย่างดี

2. การจัดการความรู้ที่ดี
               ในเรื่องนี้ อาจารย์ได้ให้ข้อมูลในเรื่อง การจัดการความรู้ที่ดี คือ จะต้องให้ความสำคัญทั้ง Tool & Technology และ Process &  People  (คน และ เครื่องมือ) อย่างมีความสมดุลย์กัน

3. Tuna's  Model
               อาจารย์ ประพนธ์  แนะนำโมเดลปลาทู ซึ่งทำให้ผู้เขียนสามารถรู้ว่าการเริ่มทำ KM เป็นไปอย่างไม่ซับซ้อน และไม่ผิดทาง เนื่องจากสามารถเป็นภาพกระบวนการได้ชัดเจน  ซึ่งท่านได้แบ่งปลาทู ออกเป็น 3  ส่วน แต่ละส่วนให้ความหมายสำหรับการจัดการความรู้ในเรื่องต่าง ๆ   คือ

  • ส่วนหัว ส่วนตา  มองไปทางไหน  หมายถึง   "ทำ KM เพื่ออะไร" 
    Knowledge Vision
  • ส่วนตัว เป็นหัวใจของการทำ KM หมายถึง แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ 
    Knowledge Sharing
  • ส่วนหาง หมายถึง การสร้างคลังความรู้ และ CoPsKnowledge Asset

4.  เครื่องมือชุดธารปัญญา 
                อาจารย์ ประพนธ์ ได้แนะนำการใช้ธารปัญญาในการจัดการความรู้ เพื่อให้ทราบถึง competency ของหน่วยงาน รวมถึงเป้าหมายของความสามารถที่ต้องการจะเป็น และวิธีการที่จะไปให้ได้ถึงเป้าหมายนั้น ด้วยเครื่องมือชุดธารปัญญา ต่าง ๆ คือ

  • ตารางอิสรภาพ  เป็นตารางที่กำหนดในส่วนของวิสัยทัศน์ ที่ชัดเจน และกำหนด ปัจจัยองค์ประกอบ หรือ core competency หรือ Key Success Factor หลัก เพื่อให้สามารถประเมินตนเอง (หน่วยงานของตน) ได้ตามระดับ 5 ระดับ ได้อย่างมีอิสระ  ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานทราบถึงสามารถของตนเองได้  (ซึ่งในแต่ละปัจจัยองค์ประกอบ จะต้องมีการกำหนดเกณฑ์เฉพาะ ทั้ง 5 ระดับไว้ด้วย  ) ถ้าจะเปรียบเทียบไปแล้ว ตารางอิสรภาพเปรียบเสมือนส่วนหัว ส่วนตาของปลาทู นั่นเอง)
  • ธารปัญญา  การนำข้อมูลจากตารางอิสรภาพให้อยู่ในรูปกราฟ และสามารถนำข้อมูลของหน่วยงานอื่น(หน่วยงานพันธมิตร)  มาพล็อตกราฟเพื่อเปรียบเทียบกัน เพื่อหาค่า gap
    (gab= target-current)  ค่าระยะห่างระหว่างสองหน่วยในปัจจัยองค์ประกอบเดียวกัน  ธารปัญญาทำให้ทราบว่าหน่วยงานเราอยู่ ณ ขั้นใด และต้องเพิ่มอีกกี่ระดับ (gab) จึงจะไปให้ถึงแบบอย่างในปัจจัยองค์ประกอบนั้น  (ส่วนนี้เปรียบเทียบกับโมเดลปลาทูแล้ว คือ ส่วนหัว ส่วนตา)
  • บันไดแห่งการเรียนรู้   เป็นการนำค่า gab ที่ได้มาใส่ไว้ในช่องบันไดแห่งการเรียนรู้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพร้อมให้ อยู่ในระดับ 4, 5 และฝ่ายใฝ่รู้ อยู่ในระดับ 1, 2, 3 โดยฝ่ายพร้อมให้จะเป็นฝ่ายที่เป็นแบบอย่าง  ส่วนฝ่ายใฝ่รู้จะเป็นฝ่ายที่ต้องการความรู้  และต้องการวิธีการจากฝ่ายพร้อม   (ถ้าจะเปรียบส่วนนี้ก็เหมือนกับกลางลำตัวปลา ที่เป็นหัวใจในการจัดการความรู้ คือ การแชร์)
  • คลังความรู้  เป็นการเก็บความรู้ที่ได้จากการแชร์ กันในกระบวนการจัดการความรู้โดยการเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล อาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
    • ส่วนที่เป็นประเด็นหลัก โดยเขียนไว้เป็นข้อ ๆ ให้ชัดเจน
    • ส่วนของรายละเอียดของประเด็นนั้น เขียนเป็นลักษณะเรื่องเล่า (เรื่องเล่า ทำให้ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน และได้ความรู้สึกของผู้เล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ความรู้ แบบ Tacit สอดแทรก ด้วย)
    • ส่วนที่เป็นแหล่งข้อมูล/บุคคล เก็บที่ ๆ สามารถค้นหาข้อมูลได้ หรือเก็บข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น VDO Clip

             (ในส่วนของคลังความรู้นี้จะเป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินการทำ KM หรือ คุณกิจ ที่จะเป็น
             คนคอยขับเคลื่อนและสร้างคลังความรู้  จากชุมชนนักปฏิบัติ ซึ่งสามารถเปรียบได้กับ หางปลาทู)

        · พื้นที่ประเทืองปัญญา  ในเรื่องของพื้นที่ประเทืองปัญญา อาจารย์ได้สอดแทรกไว้ในกระบวนการการสร้างคลังความรู้  ในการการร่วมทำงานกันเป็นทีมร่วมแชร์กันในพื้นที่ประเทืองปัญญา ทั้งในส่วนของพื้นที่จริง  เช่น การประชุม  และพื้นที่เสมือน ในลักษณะการแชร์กันผ่านเว็บไซด์ เช่น story telling และ web board

5.   จากโมเดลฉบับปลาทู สู่ โมเดล องค์กรแห่งการเรียนรู้
                      จากโมเดลที่ อาจารย์ แนะนำ (ซึ่งท่านให้เวลากับช่วงนี้นาน...มาก)  ถ้าจะถามว่าผู้เขียนเองเข้าใจทั้งหมดที่ อาจารย์  บรรยายหรือไม่ ขอตอบว่า ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจทบทวนเพิ่มเติม และหาข้อมูลเพิ่มเติม มากยิ่งขึ้น เนื่องจาก การเข้าถึง (ความรู้พื้นฐาน) ของผู้เขียนเอง ค่อนข้างที่จะห่างไกล จากการปรับธรรมะมาใช้ในกระบวนการการจัดการความรู้  ซึ่งเมื่อฟังอย่างตั้งใจและคิดตามไปพร้อมกับตัวอย่างประกอบที่ท่านเสริมเพิ่มเติม (แต่ละเรื่องเพลินมาก ๆ )  ทำให้เข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น และรู้สึกว่า การจะเป็นซึ่งองค์กรแห่งการเรียนรู้เริ่มจาก ความคิดของคน ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละคน (บนพื้นฐานที่แตกต่างกัน) มาแชร์ร่วมกัน ภายในองค์กร ทำให้เกิดเป็นความรู้ ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาองค์กรได้  ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าท่านได้นำโมเดลปลาทู และ วินัย 5 ประการ (5 disciplines)  Mental Model, Personal Mastery, System Thinking, Team Learning, Share Vision  ของ   Peter M. Senge โดยท่านอาจารย์เน้น Team Learning และ Share Vision  มารวมกับหลักหลักธรรมะ  ได้เป็นโมเดล องค์กรแห่งการเรียนรู้ ของท่าน  ซึ่งทำให้เห็นว่า มีการจัดการความรู้ควบคู่ไปกับ  การพัฒนาปัญญาที่มาจาก สติ เมตตา และสมาธิ  
                     โดยภาพรวมของโมเดล องค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่ประกอบด้วยบุคคลที่ทำงานกันเป็นทีม มีกิจกรรมร่วมกัน และจะมีการการแชร์ความรู้ แชร์วิสัยทัศน์ของแต่ละคนร่วมกัน   โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดจากคน ที่มีการรับรู้ที่มาจากความคิด จิตสำนึก  ซึ่งการรับรู้มาจาก ประสาทสัมผัสทั้งห้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)   แล้วผ่านกระบวนการตีความ (ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ ของการรรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง) โดยการตีความจะใช้ข้อมูลมาจาก จิตใต้สำนึก หรือประสบการณ์ มาประกอบ   สิ่งเหล่านี้ คือ ส่วนที่เรียกว่า  “สติ”  จะทำให้การรับรู้ที่สถานะเป็นปัจจุบันและเกิดเป็นความคิด ณ เวลานั้น   อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนที่สามารถใช้มาเป็นข้อมูลในการรับรู้  คือ  “ความเมตตา” ซึ่งเป็น ประสาทสัมผัสที่หก ที่เกิดจากแรงบันดาลใจ  และความรัก ต่อสิ่งนั้น นั่นคือ เมตตา จากใจ  สิ่งเหล่านี้ ทั้งสติ และเมตตา เป็นแรงเสริมในการรับรู้ที่สำคัญ และอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการรับรู้ คือ การมี “สมาธิ”  ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ในการฝึกฝน และพัฒนาตนเอง เป็นอย่างยิ่ง เพราะการมีสมาธิ ทำให้เกิดปัญญาให้มีจิตเหนือสำนึก ทำให้เกิดการหยั่งรู้ นั้นค่อนข้างยากและต้องใช้เวลามาก  (เป็นเรื่องอนาคต)  เมื่อทุก ๆ อย่างมารวมกัน สติ เมตตา สมาธิ จะเป็นการส่งเสริมทำให้ ความคิด จิตสำนึก (การรับรู้) ของคนแต่ละคนเกิดขึ้น ซึ่งในแต่ละคนจะมีความคิดในเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน และเมื่อมีการนำมาถ่ายทอดร่วมกันหลาย ๆ คน ภายในองค์กร  ทำให้เกิด การองค์กรแห่งการเรียนรู้  ซึ่งจะได้มาซึ่งการพัฒนาความรู้ในองค์กรให้เกิดขึ้นเป็นต้นทุนปัญญา ต่อไป

6. ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการความรู้
                สำหรับในเรื่องนี้ผู้เขียนเมื่อได้ศึกษาเรื่อง การจัดการความรู้ ก็รู้สึกสนุก กับการตั้งชื่อให้กับสิ่งต่าง ๆ ในการจัดการความรู้เป็นอย่างมาก เนื่องจากความชัดเจนและสื่อความหมายที่ดี และเป็นเอกลักษณ์ ทำให้จดจำได้ง่ายและเป็นตัวของตัวเอง  รวมทั้งชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการความรู้ ที่อาจารย์ได้นำมาเป็นตัวอย่างในครั้งนี้ เช่นกัน  ด้วยหัวเรื่องที่ท่านตั้งว่า  “พระเอกของเรื่องมีหลายคน”  เรามาดูกันว่าพระเอกที่ว่าประกอบไปด้วยใครบ้าง 

  • คุณกิจ (Knowledge Practitioners)  คือ ผู้ที่ดำเนินการในกระบวนการจัดการ
    ความรู้ (คนที่ร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้)
  • คุณอำนวย (Knowledge Facilitator) คือ ผู้ที่ให้ความสะดวก กระตุ้น ให้มีการ
    แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (เช่น พิธีกร ระหว่างการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้)
  • คุณเอื้อ (Chief  Knowledge  Officer)  คือ ผู้ที่เอื้อให้องค์กรมีการจัดการความรู้
    สร้างแรกบันดาลใจให้ทุกคนในองค์กรคิดว่า การจัดการความรู้จำเป็นต่อ
    องค์กรอย่างไร และสร้างพื้นที่ ที่เหมาะสมในการจัดการความรู้ 
  • คุณลิขิต  คือ  ผู้จดบันทึกกระบวนการจัดการความรู้  (เช่น ผู้จด, อัดเทป รายงาน
    การประชุม)
               บุคคลเหล่านี้จะเป็นบุคคลหลักที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของการจัดการความรู้ ได้เป็นอย่างดี ในแต่ละองค์กรจำเป็นจะต้องมีและในแต่ละองค์กรพระเอกอาจในแต่ละหน้าที่อาจมีหลายคนก็ได้   แต่ บุคคลหนึ่งที่ไม่ควรมีในองค์กรแห่งการเรียนรู้ คือ คุณอำนาจ  เนื่องจากการจัดการความรู้ไม่ต้องการอำนาจ มาใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ต้องการความสมัครใจ ในการพัฒนาตนเองและองค์กร ซึ่งจะทำให้การจัดการความรู้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

7.       การสร้าง My Map
                 การสร้าง My Map  จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะทำให้เห็นภาพในการดำเนินงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในแต่ละเรื่อง ที่มีการเชื่อมโยงกัน  ซึ่งเครื่องมือตัวนี้ง่ายต่อการใช้งาน องค์กรที่มีศักยภาพด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศน้อยก็สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการได้
8.       Blog  :  gotoknow.org
                 อาจารย์ ได้ แนะ  Blog KM ของ gotoknow.org  เว็บไซด์ที่กำลังได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และติดตามข้อมูลจาก สคส.  ซึ่งผู้เขียนก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งได้ใช้ gotoknow เป็นช่องทางในที่เล่าเรื่อง และบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไว้ใน Blog ที่สร้างไว้  เช่นเดียวกันกับการบันทึกในครั้งนี้  ก็ใช้บริการของ gotoknow เช่นเดิม
                 บล็อก  เป็นเสมือนสมุดบันทึกหรือไดอารี่ของแต่ละบุคคลที่ใช้บันทึกความรู้ เรื่องราว ประสบการณ์ และเทคนิคการทำงาน ผ่านพื้นที่ที่ เป็นที่แลกเปลี่ยนและเรียนรู้กับบุคคลอื่น ๆ ผ่าน ทางอินเทอร์เน็ต โดยมี GotoKnow.org เป็นระบบ (เว็บ) บล็อก 
                 อาจารย์ได้แนะนำการเข้าใช้ระบบ ซึ่งมี 3  กระบวนการหลัก คือ การลงทะเบียนสมัครสมาชิก   การสร้างบล็อก   และการบันทึก   ซึ่งเมื่อมีการลงทะเบียน  ผู้ที่ลงทะเบียนจะได้ หน้าเว็บเพจ เป็นของตัวเอง  และจะมีเครื่องมือในการบริหารและจัดการกับข้อมูลที่จะบันทึก โดยสามารถสร้าง Blog ย่อย และสามารถนำ Blog นั้นเข้าไปสมัครใน CoPs  ที่ต้องการ ด้วย   และท่านได้เปิดหน้า Blog ของท่านให้ ดู beyoudKM.org   การบันทึก ของอาจารย์เหมือนกับการบันทึกประจำวัน แต่ในบันทึกนั้นสอดแทรก ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรวมทั้งแนวคิดในการดำเนินชีวิต ได้อย่างสอดคล้อง เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นทางการ  รวมทั้งเมื่ออ่านแล้วได้อะไรดี ๆ แทรก มาด้วยอยู่เสมอ 
                 ซึ่งอาจารย์ได้เน้นให้ผู้เข้าฟังบรรยายทุกท่านในวันนั้น เข้าร่วมเป็นสมาชิก ของ gotoknow.org  ด้วย  ผู้เขียนแอบยิ้มในใจ สมัครไว้นานแล้ว แต่หัวเราะตัวเอง(ในใจ) เช่นกัน ว่า บันทึกไปไม่กี่ครั้ง (ต้องมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้)
                 ซึ่ง gotoknow  มีประโยชน์กับผู้เขียน คือ เป็นการนำเอา เรื่องราว ประสบการณ์ แม้กระทั่ง Tacit Knowledge ที่เกิดขึ้น หรืออยู่ภายในตนเอง โดยผ่านการกลั่นกรอง และเรียบเรียง ออกมาบันทึกเป็นข้อความ ตัวอักษร  ทำให้เกิดการได้ทบทวนซ้ำ ซึ่งทำให้สามารถเข้าทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดและรับรู้มา ได้มากขึ้น
                  เป็นการหัดเขียน การเขียน เป็นขั้นตอนที่จะต้องได้ความรู้ มาจากประสาทสัมผัส ก่อนแล้ว ถูกตีความ แล้วจึงออกมาเป็นข้อความที่เขียน ซึ่งการเขียนใน gotoknow ไม่ได้อิงรูปแบบ ทำให้เขียน หรือ บันทึก ด้วยความรู้สึกสบาย ๆ
·       การได้นำประสบการณ์ และความรู้ของสมาชิกผู้อื่น ที่มีการเล่าผ่าน gotoknow มาใช้ทำให้เกิดขึ้นเป็นความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้น
                  ซึ่งการได้ใช้ Blog ในการจัดการความรู้  ผู้ใช้มีความรู้สึกขอบคุณกลุ่มผู้พัฒนา (ทีมงานจาก สคส.  ดร.จันทวรรณ  น้อยวัน  และ ดร. ธวัชชัย  ปิยะวัฒน์  จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)   ที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนผ่านทางเรื่องเล่าจากผู้พร้อมให้  และสามารถนำเอาไปใช้สำหรับผู้ใฝ่รู้  ได้เป็นอย่างดี
                                                
                   จากเรื่องราวทั้งหมดที่ได้รับจากอาจารย์ในการบรรยายครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนมีความเข้าใจในการจัดการความรู้เพิ่มขึ้น ทั้งความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ และความรู้เดิมที่มีการยกระดับให้สูงขึ้นด้วย  ทำให้ผู้เขียนมีความคิดจะนำสิ่งที่ได้รับในครั้งนี้ มาใช้ประโยชน์กับการทำงานในส่วนต่าง ๆ  ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ หรือ สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ ในเรื่องของการจัดการความรู้ ที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมอยู่ แบ่งเป็น  2  ส่วน (ที่ปฏิบัติอยู่)  และ หนึ่งส่วนที่เป็นแนวคิด หรือ idea ในการดำเนินการในการจัดการความรู้  คือ   
  
                 1. การนำข้อมูลจากการบรรยายมาใช้ ประกอบในการสอน วิชา การจัดการความรู้  
                 จากข้อมูลที่ได้ทั้งข้อมูลเชิงทฤษฎี  และประสบการณ์ต่างๆ ของท่าน รวมทั้งวิธีการนำเสนอที่ ดูไม่ซีเรียส ไม่เน้นในส่วนของทฤษฎีมากเกินไป ให้มีการเน้นการปฏิบัติร่วมไปด้วย  ทำให้ผู้เขียนคิดว่า จะนำไปใช้ในการสอน ในส่วนที่จะเพิ่มให้นักศึกษาได้ฝึกทำเรื่องการจัดการความรู้เชิงปฏิบัติ ให้ มากกว่าเดิม    ด้วยการดำเนินการผ่านกรณีศึกษา ที่น่าสนใจ และ เพิ่มวิธีการในการสอนที่ให้นักศึกษา  ทำการจัดการความรู้ ผ่านการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างเพื่อนในชั้นเรียน และระหว่างนักศึกษากับอาจารย์  โดยวิธีการ  “สอน KM  ด้วย KM”   ยกตัวอย่างเช่น  การที่ให้นักศึกษาผู้ที่มีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น  การพัฒนา web blog แล้วให้มาอธิบายให้เพื่อน ๆ ฟังหน้าชั้นเรียน ได้ทราบบ้าง  ซึ่งก็สามารถบอกได้ว่าส่วนนี้เปรียบเสมือน Peer Assist (เพื่อนช่วยเพื่อน)  หรือ ให้มีการปรึกษาหารือและสรุปผลกันภายในกลุ่ม ซึ่งสามารถเปรียบเสมือน การสร้าง CoPs   ซึ่งผู้เขียนคิดว่า จะสามารถทำให้นักศึกษาสามารถเข้าใจในการจัดการความรู้ ได้มากขึ้น จากภาคปฏิบัติ ที่ทำจริง  ซึ่งในส่วนนี้ แล้วก็เป็นส่วนที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ไม่ได้โยงไปสอดคล้องกับการจัดการความรู้  แต่เมื่ออาจารย์ ประพนธ์ เน้น เรื่องการสอนที่มาจากการปฏิบัติ   ทำให้สร้างแรงบันดาลใจในการ สอน KM  ด้วย  KM  ให้ดีขึ้นต่อไป

                 2. การนำข้อมูลจากการบรรยายมาใช้ ประกอบในการดำเนิน การจัดการความรู้ ภายในศูนย์คอมพิวเตอร์ 
                แนวคิด และเครื่องมือต่าง ๆ ที่อาจารย์ ท่านได้แนะนำพร้อมให้ข้อมูลการดำเนินการใช้งานต่าง ๆ ทำให้ทราบ ถึงเครื่องมือและกระบวนการบางอย่าง ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์  ยังไม่ได้จัดให้มีอยู่ในกระบวนการการจัดการความรู้   และในอีกหลาย ๆ อย่างก็สอดคล้องไปกับกระบวนการของท่านแล้วเช่นกัน 
                ส่วนที่ผู้เขียนคิดว่าสอดคล้อง คือ การที่อาจารย์แนะนำว่า ให้ KM เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ในที่นี้ผู้เขียนเข้าใจไปถึงว่า การจัดการความรู้ควบคู่การทำงาน คือ ให้จัดการความรู้ในเรื่องการทำงาน ซึ่งเป็นที่สอดคล้องกับ slogan ของการจัดการความรู้ของศูนย์คอมพิวเตอร์  คือ  ความรู้ คู่การทำงาน  เนื่องจากในเบื้องต้นศูนย์คอมพิวเตอร์ เองเป็นหน่วยงาน ที่เรียกว่า ศูนย์ ซึ่งประกอบไปด้วยหลาย ๆ หน่วยงานย่อย และในแต่ละหน่วยงานจะมีเจ้าหน้าที่และอาจารย์ประจำฝ่ายอยู่หลายท่าน แต่ละท่านก็มี ทั้งความรู้และประสบการณ์อยู่มาก ทั้งที่เป็นความรู้แบบฝังลึกภายในตนเอง และความรู้ชัดแจ้งที่ปรากฏอยู่ ทั้งรูปแบบเอกสาร และไฟล์ต่าง ผู้เขียนจึงคิดว่า คณะทำงานการจัดการความรู้ของศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้เดินมาถูกทางแล้ว  
                เมื่อได้ฟัง โมเดลปลาทูแล้วทำให้ผู้เขียน คิดถึงส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ การวางวัตถุประสงค์  ให้มีความชัดเจน ในการจัดการความรู้ ซึ่งตรงนี้อาจารย์ได้เน้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าวัตถุประสงค์ในการทำชัดเจน เส้นทางในการที่จะก้าวไปในการจัดการความรู้ ก็จะมั่นคงเช่นกัน ดังนั้น หัวปลาทูจึงต้อง ตอบได้ว่า “เพื่ออะไร”    ส่วนในเรื่องของ Sharing หรือตัวปลา ตอนนี้ ศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้มีการแบ่ง CoPs  ออกเป็น 5  CoPs  ตามฝ่ายภายในศูนย์คอมฯ  ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันทั้งในพื้นที่จริงและพื้นที่เสมือน  และส่วนของคลังความรู้ ได้จัดให้มี ระบบ Share point เว็บไซด์  http://cc.hu.ac.th  ที่ตอบสนองการทำงานตรงนี้ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทุกคนในศูนย์คอมฯ   ซึ่งมีหน้าที่เป็นคุณกิจ ที่ทำการแชร์ความรู้ผ่านระบบ share point  ที่ทุกคนสามารถล็อกอินเข้าไปแลกเปลี่ยน และ เรียนรู้ และจัดเก็บความรู้ที่ดำเนินการเอาไว้ได้อย่างสะดวกสบาย และตลอดเวลา
                 อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจที่สามารถนำมาใช้กับศูนย์คอมฯ คือ การวัดค่าสมรรถนะของตนเอง  หรือ การใช้เครื่องมือชุดธารปัญญาเพื่อวัด ระดับความรู้ควมสามารถของแต่ละฝ่าย หรือ CoPs ในศูนย์คอมพิวเตอร์   และทำให้สามารถมองเห็นได้ว่าฝ่ายใดมีความสามารถเด่นในเรื่องใด และฝ่ายใดมีความสามารถด้อยในเรื่องใด   รวมทั้งทำให้ทราบได้ว่าฝ่ายใดความเป็นผู้ให้ความรู้และวิธีการปฏิบัติที่ดี ในเรื่องนั้น และฝ่ายใดควรรับความรู้ในเรื่องใดบ้าง เพื่อเป็นการตรวจสอบตนเอง และทำให้เกิดเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดการความรู้ว่าควรจะดำเนินการเช่นไร เพื่ออะไร และมีเป้าหมายอย่างไรต่อไป  (แต่การใช้เครื่องมือชุดธารปัญญา ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง จะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง)  ผู้เขียนจึงคิดว่าจะนำเครื่องมือชุดธารปัญญา  ไปใช้ในการจัดการความรู้ของศูนย์คอมพิวเตอร์ 
                 อีกประการหนึ่งที่ อาจารย์ประพนธ์ เน้น และผู้เขียนคิดว่าควรจัดให้มี คือ เรื่องของรางวัลและกำลังใจในการจัดการความรู้  สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นในการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เพราะจะได้มาซึ่งการร่วมแรงร่วมใจ และบวกกับความสนุกสนาน ในการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายตามเงื่อนไขรางวัลนั้นด้วย จึงเห็นว่า รางวัลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ในการจัดการความรู้ 
                  และอีกประเด็น ที่ได้จาก อาจารย์ ประพนธ์  คือ การประเมินผล ผู้เขียนคิดว่า การตั้งกฎเกณฑ์ในการประเมินผลที่สามารถวัดได้  จะทำให้ทราบผลการดำเนินการได้เป็นอย่างดี เช่น  การวัดผลการแลกเปลี่ยนความรู้ของแต่ละฝ่าย  การนำความรู้ไปใช้  การเข้าใช้ระบบ  ซึ่งจะต้องมีการกำหนดดัชนีชี้วัดไว้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบหาผลที่เกิดขึ้น ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ 
                  ดังนั้น ผู้เขียนจักได้นำความรู้ที่ได้จากการบรรยาย  ไปปรับใช้ในเรื่อง  วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์  เรื่องรางวัลตอบแทน และเรื่องการประเมินผล  ต่อไปเพื่อให้การจัดการความรู้ในศูนย์คอมฯ ได้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป

                  3. การนำข้อมูลจากการบรรยายมาใช้เป็นแนวคิดในการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัย
                จากที่อาจารย์ ให้ความคิดเห็นว่า การทำการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัย ค่อนข้างยาก  (จากตัวอย่างที่ว่า  ทำ KM กับหมอยาก  เพราะ ไม่มีใครกล้าสอน  และยิ่งจะยากไปกว่าเดิมถ้าทำ KM กับอาจารย์หมอ)   เปรียบเทียบเช่นเดียวกับการทำการจัดการความรู้ กับ อาจารย์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ไม่ว่าจะทำที่ใด ก็ยากทั้งหมด ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในองค์กร ด้วยความเต็มใจ   แต่เป็นเรื่องที่ดี ที่ มหาวิทยาลัย ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ที่เริ่มต้น มีการขับเคลื่อนไปได้อย่างดี หลาย ๆ หน่วยงานภายใน มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจศึกษา ค้นคว้า และดำเนินการเป็นต้นแบบ ในการจัดการความรู้  กระแสการจัดการความรู้ภายในมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องที่มีผู้ให้การตอบรับเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่ดี สำหรับมหาวิทยาลัย เป็นอย่างยิ่ง 
                สำหรับในเรื่องนี้ผู้เขียนเองมีความคิดเห็นว่า การจัดการความรู้ไม่ว่าที่ ใด จะต้องเริ่มต้น ที่ “คน” เป็นอันดับแรก   ต้องให้คนในองค์กรซึมซับถึงความจำเป็นและความสำคัญรวมทั้งประโยชน์ในการจัดการความรู้ (ที่มีผลต่อฝ่าย ต่อหน่วยงาน ต่อมหาวิทยาลัย ที่คนนั้นอยู่)  เพื่อตอบสนองยุคที่มีการแข่งขันกันในเรื่องของต้นทุนทางปัญญา และต้นทุนทางความรู้ ดังเช่น ในปัจจุบัน
                แล้วดำเนินการให้มีการขับเคลื่อนด้วยแผนที่มีความครอบคลุม ทีมงานที่มีความตั้งใจ  และกระบวนการที่มีการสอดรับกับวัฒนธรรมขององค์กร อีกทั้งการเลือกเครื่องมือ และ เทคโนโลยีในการจัดการความรู้ที่เหมาะสม  รวมทั้งหาเพื่อนร่วมทาง ในการจัดการความรู้ เพื่อสร้างพันธมิตร ระหว่างองค์กรที่มีเป้าหมายเหมือนกัน
                สานต่อการจัดการความรู้ด้วยวิธีการ Share&Learn ด้วยเรื่องง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของกระบวนการทำงาน เช่น การสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งมุมกาแฟ ที่มีการถกกันเรื่อง ต่าง ๆ  จัด Morning Talk เพื่อการพูดคุยก่อนเข้างาน  5 นาที  เพื่อรับทราบปัญหาและหาหนทางแก้ไข  สร้างพื้นที่ในการเล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็นผ่านอินเทอร์เน็ต    ซึ่งในการดำเนินการทุกอย่างจะต้องมีการจัดเก็บในคอมพิวเตอร์   เพื่อเป็นการสร้างขุมความรู้ 
                ความรู้ที่ได้มาจากการบรรยายของ อาจารย์ ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด  ในวันนั้น เป็นแรงบันดาลในให้ผู้เขียนมีความ อยากรู้ อยากเห็น  ในเรื่อง การจัดการความรู้ Knowledge Management   มากขึ้น รวมทั้งอยากร่วมให้ และร่วมรับ ความรู้  ในกระบวนการทำงานจริงในส่วนของ ภาคปฏิบัติ เป็นอีกเท่าตัว  .... สำหรับผู้เริ่มต้น  “หนทางไกลอีกหมื่นลี้ เราต้องเริ่มต้นด้วยก้าวแรก”  (เล่าจื้อ)  และสำหรับผู้ที่ดำเนินทำอยู่ “การลงทุนเพื่อความรู้ ย่อมได้ผลตอบแทนมากที่สุด” (เบ็นจามิน แฟรงคลิ้น)

คำสำคัญ (Tags): #knowledge#management#km
หมายเลขบันทึก: 11681เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2006 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะ

ยินดีที่ได้เจอกันบนบล็อก GotoKnow.org คะ อาจารย์สรุปสาระสำคัญด้าน KM ได้ดีมากคะ เขียนบ่อยๆ นะคะ จะได้ติดตามอ่านเป็นประจำคะ :)

และหากมีปัญหาใดๆ ในการใช้งาน สามารถติดต่อได้ที่ http://gotoknow.org/contact นะคะ

จันทวรรณ

ขอบคุณครับที่เขียนอย่างละเอียด  ทำให้ผมซึ่งเพิ่งได้รู้จัก gotoknow.org หลังจากได้อ่านข่าวจาก CARD มมส. ตอนที่จัด UKM 1/2549 ได้เข้าใจเรื่องของ KM ขึ้น เสียดายที่ไม่ได้เข้าร่วม UKM 1.2549 ที่ มมส. ทั้ง ๆ ที่ตัวอยู่ที่ มมส. แต่ก็ทำให้รู้จัก gotoknow.org ซึ่งจะเป็นแหล่งความรู้ต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท