เมื่อวันที่
4 มกราคมที่ผ่านมา ผมไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ระหว่างที่นั่งรอพบแพทย์ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง
พูดถึงเรื่องการทำบาร์เตอร์เทรดไก่(ฯลฯ)
กับอาวุธสงครามว่าอาจส่งผลร้ายต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยได้
ซึ่งการวิเคราะห์และความเห็นในบทความดังกล่าวนับว่าคล้ายคลึงกับความเห็นของผมด้วย
มันทำให้ผมเข้าใจว่าไม่ได้เป็นพารานอยด์
(โรคหวาดระแวง)แต่อย่างใด
ในบทความดังกล่าว หากชาวบ้านทั่วไปมาอ่านคงจะไม่อาจเข้าใจได้โดยง่าย
คนความรู้น้อยฝีมือต้อยต่ำอย่างผมจึงขออนุญาตถือวิสาสะแปลและยกเอาบางส่วนมาอธิบายเพื่อให้ท่านๆที่ไม่ถนัดทางด้านนี้ได้เข้าใจถึงความสำคัญของนโยบายนี้
บาร์เตอร์เทรด หรือการค้าของแลกของ
ในกรณีเครื่องบินรัสเซียกับไก่ไทยก็เป็นการทำบาร์เตอร์เทรดขนานแท้อย่างหนึ่ง
ที่ผมว่าขนานแท้ก็เพราะว่าไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
การซื้อขายอยู่ที่ราคาสินค้าที่เท่ากัน เช่น ปีกเครื่องบิน 1
ปีกต่อปีกไก่ 3 แสนปีก เป็นต้น เหมือนที่เราเรียนตอนเด็กแหละครับ
(แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าไก่รัสเซียไม่น่าจะแพงเพราะเห็นมี Supply
จำนวนมากแถวนานา)
ที่รัฐบาลบอกว่าดีเพราะจะเพิ่มความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเกษตรกรไทย
นั้นโดยเบื้องต้นผมเห็นว่าถูกต้องครับแต่ข้อเท็จจริงที่บอกอาจไม่ครบถ้วน
และอยู่ที่นิยามของคำว่า “เกษตรกร” และความสม่ำเสมอของดีมานด์
(ความต้องการสินค้า) ในตลาดเดียว ซึ่งผมจะอธิบายทีหลังครับ
(หากแต่เราต้องการเป็นครัวของโลกนะครับ)
เพื่อความง่ายต่อความเข้าใจผมขออธิบายคร่าวๆไปตามลำดับเหตุการณ์นะครับ
ก.
ขั้นการเจรจาสัญญา
ในขั้นนี้เป็นการตกลงระหว่างกัน
ที่ผมจะยกคือเรื่องราคาสินค้า ปริมาณ คุณภาพสินค้า และระยะเวลา
-
ราคาและปริมาณสินค้า
เนื่องจากเป็นการแลกระหว่างสินค้าเทคโนโลยีราคาแพงกับสินค้าเกษตรพื้นฐาน
ไทยจึงอาจมีความจำเป็นต้องแลกด้วยไก่ราคาถูกกว่ามาตรฐานจำนวนมหาศาล
เพราะรัสเซียต้องมีการกดราคาเผื่อการส่งขายนอกตลาดรัสเซีย
อีกทั้งเป็นสินค้าเน่าเสียได้อันไม่อาจเทียบได้กับการชำระเป็นเงิน
ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาต่อเกษตรกรในท้ายที่สุดหากเราเจรจาพ่ายแพ้ในเรื่องระยะเวลาการชำระหนี้และการส่งไก่
เช่นปัญหาภาษีทุ่มตลาด (Antidumping Duty) หรือ ภาษีคุ้มกัน (Safe
Guard-Countervailing Duty) ในประเทศที่ 3
(ดังจะอธิบายในขั้นผลกระทบ)
-
คุณภาพสินค้า
เนื่องจากตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาคยุโรปมีการปกป้องอย่างสูง
เพื่อคุ้มครองเกษตรกรภายในประเทศและผู้บริโภค
มาตรฐานของไก่ที่เราส่งออกไปยังยุโรป ต้องไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม
ปราศจากสารปนเปื้อน ไม่มีการใช้สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ไม่ได้รับอนุญาต
ดังนั้นไก่ที่จะได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้ไก่จากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่เป็นหลัก
เช่น CP ก่อน หากเหลือปริมาณเท่าใดจึงค่อยใช้ไก่จากรายอื่นๆ
-
ระยะเวลาการชำระหนี้
การส่งไก่นั้นหากเราส่งมากไปในระยะเวลาสั้นไก่อาจถูกส่งไปขายต่อในประเทศที่
3 จนอาจกลายเป็นการทุ่มตลาด
แต่เกษตรกรธรรมดารายย่อยจะมีโอกาสขายสินค้าตนมากขึ้นในระยะสั้น
หากเราส่งอย่างพอเพียงเท่าที่จะตอบสนองอุปสงค์ของตลาดรัสเซีย
อาจไม่มีปัญหาเรื่องทุ่มตลาดในประเทศที่ 3 แต่มีเพียง
ผู้ส่งออกไก่รายใหญ่เท่านั้นที่ได้สิทธิการส่งออกตามการทำ
บาร์เตอร์เท-รด
ข.
ขั้นการปฏิบัติเบื้องต้น
(ผมจะอธิบายโดยคร่าวใช้ตัวเลขสมมติ ไม่เน้นรายละเอียด
แค่อยากให้ท่านๆได้เห็นภาพเท่านั้น)
เมื่อเจรจากันเรียบร้อยแล้วและผมค่อนข้างมั่นใจว่าอำนาจต่อรองของไทยสู้ไม่ได้แน่นอนนั้น
เราจะต้องใช้ไก่จำนวนมากส่งแลกเครื่องบิน ในราคาถูกกว่าราคาปกติ
จากผลกระทบจากไข้หวัดนกผมเข้าใจว่าปริมาณการบริโภคไก่น่าจะลดลง
อีกทั้งการแลกกับสินค้าราคาสูงปริมาณไก่ที่ส่งไปยังรัสเซียจะเกินปริมาณความต้องการบริโภคไก่ในตลาดรัสเซียแน่นอน
ด้วยความที่เป็นสินค้าเน่าเสียได้รัสเซียจึงอาจส่งส่วนเกินต่อไปยังประเทศนำเข้าไก่และขายในราคาที่ต่ำกว่า
ราคาไก่ไทยในตลาดต่างประเทศ (ประเทศที่ 3)
ค.
ขั้นผลกระทบ
นักวิชาการและผู้บริหารธุรกิจส่งออกหลายท่านกังวลใจเรื่องนี้
ซึ่งผมเองก็เช่นเดียวกัน ผมจะแยกผลกระทบจากการกระทำใน 2
ขั้นก่อนออกจากกัน
-
ผลจากขั้นการเจรจาสัญญา มีการเพิ่มปริมาณการผลิตกระทันหัน
เพื่อตอบสนองการชำระหนี้แก่รัสเซียและยังสามารถรักษาตลาดเดิมไว้
หากผลจากขั้นตอนการปฏิบัติเป็นไปในทางลบ เราจะมีส่วนเกินจำนวนมากทันที
อีกทั้งตลาดที่เคยมีก็ยังจะเสียไปด้วย
ราคาไก่จะตกต่ำอย่างรุนแรงและเกษตรกรจะมีหนี้สินจำนวนมาก แต่ CP
จะอยู่รอดด้วย deal
ของรัฐบาลกับรัสเซียและตลาดเดิมๆที่สามารถรักษาไว้ได้
ในประเทศที่รอดพ้นจากการทุ่มตลาดของรัสเซีย
-
ผลจากขั้นการปฏิบัติ
เมื่อมีสินค้าเกษตรจำนวนมากกว่าความต้องการภายในประเทศ
รัสเซียจะต้องส่งไก่ที่เหลืออยู่นั้นขายในราคาถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้
และแน่นอนว่าไก่รัสเซีย(นานา)ต้องถูกกว่าไก่ไทย(วัดโพฯ ชั้น 3)
ดังนั้น ประเทศที่ 3
ผู้บริโภคไก่จะต้องเลือกสินค้าของรัสเซียเนื่องจากราคาดีกว่าแต่คุณภาพเท่ากัน
ทำให้ส่วนแบ่งตลาดไทยน้อยลง จนกว่าจะมีการลดราคาแข่งกัน หรือประเทศที่
3 เก็บภาษีทุ่มตลาดไก่รัสเซีย
การทุ่มตลาด(อธิบายอย่างง่าย)นั้น
คือการที่ประเทศผู้ส่งออกส่งสินค้าออกขายหรือไปยังประเทศผู้นำเข้า
ในราคาที่ต่ำกว่าราคามาตรฐาน หรือราคาขายภายในประเทศผู้ส่งออก
ซึ่งหากเกิดเหตุดังกล่าวจริงประเทศสมาชิก WTO
ผู้นำเข้าสามารถตั้งกำแพงภาษีให้สูงกว่าที่องค์การการค้าโลกอนุญาตได้เท่าที่จะเป็นการทดแทนราคาในส่วนที่ตั้งไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงได้
ทั้งนี้ต้องมีวิธีการสอบสวนที่ถูกต้องด้วย (Dumping
Investigation)
ก่อนมีการเก็บภาษีทุ่มตลาดนั้นประเทศไทยมีทางเลือก
2 ทางคือ ทำ Price War หรือสงครามราคาให้ถึงที่สุด หรือ
ลดราคาลงเหลือเพียงเท่าหรือมากกว่าทุนเล็กน้อย หากเลือกทางแรก
เมื่อรัสเซียถูกเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดไทยก็จะโดนไปด้วย
และผลเสียก็จะเกิดขึ้นเนื่องจากรายได้ลดลงแต่ต้นทุน (ทางภาษีศุลกากร)
สูงขึ้นแทน อย่างไรก็ดีหากเลือกทางที่ 2
ผลเสียก็ยังเกิดขึ้นอยู่นั่นเองเนื่องจากความเป็นไปได้ในการทำเซฟการ์ด
(Safe Guard) ของกลุ่มประเทศนำเข้าไก่
การทำเซฟการ์ด (Safe Guard)
คือการตั้งมาตรการทางการค้าเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าประเภทหนึ่งๆ
เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นแก่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ
เมื่อสินค้าดังกล่าวจำนวนมหาศาลทะลักเข้าสู่ หรือกระทอก
(กระแทกเป็นละลอก) ตลาดในประเทศนั้นอย่างไม่อาจคาดหมายได้
(Unpredictable)
กล่าวคือ
เมื่อมีไก่เข้าสู่ตลาดจนเป็นอันตรายต่อผู้เลี้ยงไก่ในประเทศนำเข้า
ประเทศนั้นๆอาจใช้มาตรการต่างๆเพื่อจำกัดการนำเข้า
และเมื่อสินค้าประเภทไก่ถูกเรียกภาษีหรือถูกจำกัดการนำเข้าดังกล่าวแล้ว
ไทยย่อมสูญเสียตลาดไป
และที่เลวร้ายกว่านั้นหากเราไม่ชิงส่วนแบ่งตลาดคืนให้ได้ก่อนการทำเซฟการ์ดย่อมเป็นไปได้ว่าเราจะสูญเสียตลาดในประเทศนั้นให้แก่รัสเซียอย่างถาวรหรือเป็นเวลาหลายปีหากมีการกำหนดโควตาการนำเข้า
ผลกระทบจาก มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
หรือมาตรการเซฟการ์ดมิได้มีเพียงเท่านั้น
เมื่อประเทศอื่นๆที่นำเข้าไก่ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว
เพื่อเป็นการป้องกันการถ่ายเทสินค้า (Divert)
จากประเทศนำเข้าไก่ประเทศแรกที่มีการปกป้องมายังตลาดประเทศของตน
ประเทศเหล่านี้ก็จะพากันใช้มาตรการปกป้องตลาดหรือเซฟการ์ดกันอีกทอดหนึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อเนื่องคือ
การขยายตัวของภาคการเกษตรไทยในสินค้าบางประเภทจะไม่มีตลาดรองรับ
ราคาสินค้าเกษตรอาจตกต่ำ
และส่งผลลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
ด้วยเหตุนี้จากคำถามที่ว่าหากบาร์เตอร์เทรดเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ดี
แล้วเหตุใดจึงไม่ค่อยมีประเทศใดเขาทำกันนัก
จึงสามารถตอบโดยสรุปได้ว่าการแลกของกันนั้น
หากเป็นสินค้าในระดับที่ใกล้เคียงกันอาจเป็นเรื่องที่ดีเพื่อประหยัดเงินคงคลังและเงินทุนสำรอง
ทั้งยังสนองผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างประเทศได้ดี (Reciprocity)
(อย่างไรก็ตามรัฐบาลหรือผู้ขายสินค้าส่วนมากอยากได้เป็นเงินทั้งนั้นหากเป็นสินค้าที่ในประเทศนั้นๆไม่ขาดแคลน)
แต่หากเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
หรือเป็นสินค้าที่ราคาและคุณค่าต่างกันมาก
ใช้ต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยีที่ต่างชั้นกัน
เช่นผลผลิตทางการเกาตรขั้นปฐมภูมิ กับสินค้าเทคโนโลยีราคาแพงแล้ว
การต่อรองข้อตกลงย่อมเป็นไปในลักษณะเหลื่อมล้ำและจะส่งผลลบต่อประเทศส่งออกสินค้าที่ไม่พึ่งพาความสามรถเฉพาะและเทคโนโลยีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
จากข้อตกลงบาร์เตอร์เทรดดังกล่าวของรัฐบาล มีผู้เสนอทางออกไว้คือคุณ
Vichai, Pornsil Patcharintanakul,ผู้บริหารการส่งออกอาหารของ บริษัท CP
Intertrade
ว่าให้จ่ายเป็นไก่ในจำนวนที่พอเหมาะแก่ความต้องการภายในตลาดรัสเซีย
แน่นอนว่าการดังกล่าวสามารถบรรเทาปัญหาได้
แต่การขยายตัวเพื่อตอบสนองข้อตกลงดังกล่าวย่อมตกอยู่แก่
บริษัทใหญ่เช่น CP เป็นหลักตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และ
บริษัทใหญ่เหล่านั้นสามารถอาศัยความเสถียรทางการตลาดนั้นได้เป็นเวลานาน
แต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วไก่ส่วนเกินดังกล่าวอาจกลับมาทำร้ายราคาไก่อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ดีในระยะสั้นข้อตกลงดังกล่าวก็นับว่าเป็นการสร้างตลาดให้สินค้าเกษตรไทยและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ของบริษัทใหญ่ก็ย่อมมีจำนวนมากขึ้นเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรบ้างเช่นกัน
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเสนอแนะว่าเกษตรกรไทยควรปรับปรงและยกระดับการเลี้ยงไก่
หรือสินค้าเกษตรอื่นๆเช่น ข้าว
ให้อยู่ในระดับที่ทันสมัยและยอมรับได้ในสากล (เช่น
เลี้ยงระบบปิดและการควบคุมคุณภาพอาหาร ยา และฮอร์โมน) ภายใต้การ (แอบ)
สนับสนุนของรัฐบาลเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการขายไก่ไปยังต่างประเทศ และ
การทำบาร์เตอร์เทรดควรมีการบริหารจัดการการจัดหาไก่ให้เป็นธรรมกระจายสัดส่วนการรับขายไก่ไปตามจังหวัดต่างๆอย่างสมดุล
ฐานข้อมูลข่าว: Achara Deboonme, GLOBAL
TRADE: Exporters fear barter system may backfire, Published on
Jan 4, 2006 by The Nation.