การเขียนวิทยานิพนธ์ : การตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์


การตั้งชื่อเรื่องนั้นขึ้นอยู่กับผูวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหลัก
 

           เนื่องจากหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่ได้มาจากแหล่งต่าง ๆ มักจะมีลักษณะกว้าง ๆ  และไม่สามารถชี้ถึงจุดสำคัญของหัวข้อเรื่องที่จะทำวิทยานิพนธ์  นิสิต  นักศึกษาจำเป็นจะต้องตั้งชื่อเรื่องให้ผู้อ่านได้ทราบเนื้อหาสาระของการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์  สั้น  กระทัดรัดและได้ใจความสำคัญ ซึ่งการตั้งชื่อเรื่องเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่นิสิต  นักศึกษา เจอว่าจะเริ่มต้นอย่างไรก่อนหลัง  เพราะการตั้งชื่อเรื่องถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการทำวิทยานิพนธ์  ถ้าชื่อที่ตั้งมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ  มีความน่าสนใจ  ไม่ซ้ำกับคนอื่น  ถือเป็นการทำวิทยานิพนธ์สำเร็จไปแล้ว  20 % โดยทั่วไปการตั้งหัวเรื่องวิทยานิพนธ์ให้ชัดเจน  ทำได้  ต้องคำนึงสาขาที่ศึกษา  ลักษณะของประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  ลักษณะการเก็บรวบรวม ข้อมูลและการกำหนดประเด็นสำคัญของการวิจัย  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

               1.  สาขาวิชาที่ศึกษา  การตั้งชื่อหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ควรมีความเกี่ยวกับสาขาที่ตนศึกษา ตัวอย่าง  ถ้านิสิต นักศึกษาเรียนสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ชื่อเรื่องควรมีความเกี่ยวข้อง เช่น  แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning)สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย (สังคม  ภูมิพันธุ์และคณะ,2549) ถ้าเป็นทางบัญชีและการจัดการ  เช่น  ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการร้านค้าสะดวกซื้อในเขตจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งนิสิต  นักศึกษาพิจารณาชื่อเรื่องที่ตั้งแล้วจะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสาขาที่ตนศึกษา กรณีชื่อแรก  ทฤษฏีที่นำมาประกอบ คือ  การจัดการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning)การผลิตสื่อการเรียนการสอนบนเครือข่าย  การประเมินสื่อ  ซึ่งล้วนเป็นเนื้อหาทางเทคโนโลยีการศึกษาทั้งสิ้น  เรื่องที่สอง ทฤษฏีที่นำมาประกอบ คือ   ทฤษฏีการสร้างแรงจูงใจในการซื้อ  ทฤษฏีความพึงพอใจ  และการบริการการขาย เป็นทฤษฎีในสาขาที่เกี่ยวข้อง  อีกประการหนึ่ง จากชื่อเรื่องทั้งสอง  พบว่า การตั้งชื่อเรื่องก็คือการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบโดยใช้กระบวนการวิจัยนั้นเอง  และถ้าดูส่วนประกอบของชื่อเรื่อง โดยส่วนมากแล้วจะบ่งชี้ถึงสาขาที่เรียนอย่างชัดเจน

 

               2.  ลักษณะของการเก็บรวบรวมข้อมูล   การตั้งชื่อวิทยานิพนธ์สามารถใช้ลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะการวิจัยเชิงทดลองหรือกึ่งทดลอง ถ้านิสิต นักศึกษาอ่านงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์หลายเรื่อง จะพบว่า ชื่อเรื่องจะบ่งชี้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนวิชาเคมีชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  เรื่อง พันธะเคมี  ระหว่างนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการสอนแบบปกติ  จากชื่อเรื่องแสดงว่า จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูล  2 ครั้ง คือก่อนเรียนและหลังเรียนของแต่ละวิธี แล้วนำมาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แสดงให้เห็นว่าลักษณะของการเก็บรวบรวมข้อมูลจะเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่อง ที่นิสิต  นักศึกษาตั้งขึ้นนั่นเอง  หรือจะเป็นเรื่องความพึงพอใจของผู้ใช้การบริการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  ลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูลคือจะเก็บข้อมูลจากผู้ใช้บริการ โดยแบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ 

 

               3.  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  การตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์  นิสิต  นักศึกษาสามารถใช้กลุ่มประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างมาเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ได้ ตัวอย่างเช่น  เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร  อำเภอคำชะอี  จังหวัดมุกดาหาร  หรือพฤติกรรมการเลือกชมภาพยนตร์ของประชาชนในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคามและพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของชนเผ่าภูไท อำเภอหนองสูง  จังหวัดมุกดาหาร  จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มีกำหนดกลุ่มประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างอย่างชัดเจนว่า เป็นใคร  ที่ไหน  อย่างไหร่  นอกจากนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์จากงานวิจัยและวิทยานิพนธ์โดยทั่วไปแล้ว  จะระบุกลุ่มประชากรอย่างชัดเจน  ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่อง  นิสิต  นักศึกษาควรระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน  ว่าจะศึกษากับใคร(WHO)  ที่ไหน(WHERE) เพื่อเป็นกรอบในการทำวิทยานิพนธ์

 

               4.  ประเด็นสาระสำคัญของวิทยานิพนธ์  การตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์  นิสิต  นักศึกษาสามารถนำเอาประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญของงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่พบจากบทความในวารสารหรือเอกสารมาวิเคราะห์และจำแนกเป็นหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ได้  ตัวอย่างเช่น  นิสิต  นักศึกษาจะศึกษาเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์  นิสิต  นักศึกษาก็อาจจะนำหัวข้อมาแยกหรือแตกประเด็นหรือตั้งเป็นหัวข้อเรื่องได้เช่นเดียวกัน   อาจจะเป็นหัวข้อเรื่อง   ความรู้  เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดมหาสารคาม  เป็นต้น  ซึ่งจะทำให้ขอบเขตหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์มีความชัดเจนมากขึ้น

 

               5.  การกำหนดหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่เคยทำมาแล้ว  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ ชื่อเรื่องที่ตั้งขึ้นจะต้องไม่ซ้ำกับงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่ผู้อื่นเคยศึกษามาแล้ว  ซึ่งในทางปฏิบัติการศึกษางานวิจัยในเรื่องเดียวกันสามารถกระทำได้ แต่การตั้งชื่อเรื่องซ้ำกันนั้นไม่นิยมทำกันอย่างที่สุดก็คือทำในเวลาต่างกัน  กลุ่มเป้าหมายต่างกัน  แต่กรณีที่นิสิต  นักศึกษาจะทำการศึกษาค้นคว้าควรเพิ่มเติมปีที่ดำเนินการวิจัยหรือตั้งชื่อเพิ่มเติมหน้าหรือต่อท้ายชื่อเรื่อง  ว่าเป็นการศึกษาอะไรเพิ่มเติม  เป็นปีที่เท่าใด

            การตั้งชื่อเรื่องนิสิต นักศึกษาอาจจะตั้งตามสาขาที่ศึกษา  ตามลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูล ตามประชากร  หรือประเด็นสาระสำคัญ  แต่อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อเรื่องไม่จำเป็นต้องเลือกลักษณะใดลักษณะหนึ่ง  แต่นิสิต  นักศึกษาควรใช้หลายลักษณะ แล้วแต่ตามความเหมาะสม  เพราะชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์จะบ่งชี้องค์ประกอบหลายอย่าง  เช่น  บ่งบอกสาขาที่ศึกษา  บ่งบอกพื้นฐานความรู้ของผู้วิจัย   บ่งบอกกลุ่มประชากร  บ่งบอกลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูล  บ่งบอกสถิติที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ชื่อเรื่องที่ตั้งขึ้นต้องมีความน่าสนใจ ความเด่นเฉพาะของเรื่องที่จะศึกษา แต่ต้องไม่ยาว ไม่สั้นเกินไป  ชื่อเรื่องที่ดีต้องสั้น  กระทัดรัดและได้ใจความ  และที่สำคัญหัวข้อวิทยานิพนธ์จะต้องครอบคลุมหรือบ่งชี้สาระสำคัญของเรื่องที่ศึกษาอย่างชัดเจน  
หมายเลขบันทึก: 116502เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท