กินต้านโลกาภิวัฒน์


บทนำเสนอ ของ อัจฉรา รักยุติธรรม นำเสนอเนื้อหาและแนวทางใหม่ในการใช้ชีวิต แนวโน้มของชีวิตใหม่ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกาภิวัฒน์

กินต้านโลกาภิวัตน์          

อัจฉรา รักยุติธรรม

   

  

กินต้านโลกาภิวัฒน์

ความเป็นไปในกระแสโลกาภิวัตน์ ดูราวกับจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก จนมีคำถามว่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ๆ จะทำอะไรกันได้บ้าง ขณะที่กิจการธุรกิจระดับโลกกำลังทำกำไรนับล้านล้านบาทจากการขายบุหรี่คร่าชีวิตมนุษย์ การฉีดฮอร์โมนลงในเนื้อสัตว์ การผลิตชุดชั้นในจากโรงงานนรก หรือการตัดต่อพันธุกรรมพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารของเรา ฯลฯ   

เลือกซื้อเลือกกิน - ปฏิบัติการทางสังคม

เปิดสายตรงผู้บริโภคถึงเกษตรกร  

ความจริงแล้วเรามีทางเลือกมากมายในการกินอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว การเลือกบริโภคของเรายังสามารถเป็นปฏิบัติการทางสังคมในการสร้างโลกใหม่ ที่มีระบบการค้าที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตและต่อสภาพแวดล้อม  

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอง่าย ๆ สี่ประการ เกี่ยวกับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ผู้บริโภคคนไหน ๆ ก็ทำได้   

ประการแรก เลือกบริโภคอย่างมีข้อมูล  

คือ ก่อนที่จะซื้อหาอะไรก็น่าจะใส่ใจสักนิดว่าสินค้านั้น ๆ ผลิตขึ้นมาที่ไหน อย่างไร กระบวนการผลิตได้สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมหรือผู้คนในสังคมอย่างไรบ้าง  

เนื่องจากเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่สินค้าต่าง ๆ มีการผลิตและเคลื่อนย้ายข้ามโลก ก็อาจจะทำได้ยากสักหน่อยที่จะรู้ข้อมูลเหล่านี้ แต่ถ้าผู้บริโภคช่วยกันสนใจข้อมูลกันมาก ๆ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น  

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบันมีองค์กรมากมายทั่วโลกที่พยายามเสนอขายสินค้า สีเขียวหรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม และสินค้า สีน้ำเงินหรือสินค้าผลิตโดยกระบวนการที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนงาน ตลอดจนสินค้าเพื่อสังคมในแบบอื่น ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าได้อย่างมีคุณค่าเพิ่มขึ้น 

ปัจจุบันมีเครือข่ายผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและรณรงค์กดดันให้บริษัทผู้ผลิตคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิและความปลอดภัยของแรงงาน สุขภาพของผู้บริโภคและสิทธิของชุมชนต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งรณรงค์ให้ปิดกิจการที่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงาน ข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้เราเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตเหล่านั้น  

ประการที่สอง เลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น

 หลายพื้นที่ในโลกมีการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรให้เป็นไปตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคหันมาสนใจการซื้อผลิตผลจากตลาดในท้องถิ่นและผักผลไม้อินทรีย์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีของสหรัฐอเมริกามีอาหารที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ขายเพิ่มขึ้นถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์  

การเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นทำได้ง่ายมาก แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมันจะช่วยลดการบริโภคสินค้าข้ามโลกที่ต้องผ่านกระบวนการขนส่งทางไกล เปลืองค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ค่าตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็น ลดการบริโภคทรัพยากรและการทำลายสภาพแวดล้อม นอกจากนั้น ยังเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจของท้องถิ่นให้อยู่ได้โดยมีเงินหมุนเวียน และมีกำไรที่จะนำไปสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน  

ประการที่สาม อุดหนุนระบบการเกษตรเพื่อชุมชน  

ในชุมชนเมืองหลายแห่งมีกิจกรรมที่สร้างโอกาสให้ผู้บริโภคในเมืองได้รู้จักหรือร่วมเครือข่ายกับเกษตรกรที่ผลิตพืชผักอินทรีย์โดยตรง เช่น การมีตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรมาขายผลผลิตด้วยตนเอง หรือกรณีที่ผู้บริโภคในเมืองรับซื้อพืชผักจากฟาร์มที่ผู้ผลิตจะนำมาส่งให้เป็นประจำตามกำหนดเวลาที่นัดหมายกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อตัดตอนกลไกทางตลาดและพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคพืชผักสด ๆ ในราคาที่เป็นธรรม และช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและสังคมได้อย่างง่าย ๆ   

ประการที่สี่ สนับสนุนระบบการค้าที่เป็นธรรม

 ในบางกรณีเราอาจไม่สามารถเลือกบริโภคสินค้าจากท้องถิ่นได้ เพราะเป็นสินค้าที่ผลิตไม่ได้ในท้องถิ่น เช่น คนในภาคเหนือจำเป็นต้องบริโภคอาหารทะเล หรือแม้กระทั่งจำเป็นต้องบริโภคสินค้าที่ผลิตมาจากอีกซีกหนึ่งของโลก อย่างเช่น ชาติตะวันตกหลายประเทศที่บริโภคกาแฟ หรือโกโก้ซึ่งปลูกไม่ได้ในประเทศของตนเอง ในกรณีเหล่านี้ก็ควรจะเลือกบริโภคสินค้าในระบบการค้าที่เป็นธรรมที่เรียกว่าแฟร์เทรด (Fair Trade) ซึ่งสินค้าจากระบบแฟร์เทรดนั้นก็มีให้เลือกมากมายทั่วโลก    

Fair Trade - การค้าที่เป็นธรรม 

ขณะที่บริษัทธุรกิจต่าง ๆ พยายามกดค่าแรงผู้ผลิต หรือคนงานในสายพานการผลิตเพื่อที่จะลดทุนต้นการผลิตให้ต่ำที่สุดเพื่อให้ตนเองจะมีกำไรมากที่สุด สินค้าแฟร์เทรดกลับพยายามทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน นั่นคือ การคำนึงถึงการตอบแทนผู้ผลิตอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงค่าแรงที่เป็นธรรม สิทธิ ศักดิ์ศรีและสภาวะการทำงานที่ดีของผู้ผลิต แทนที่จะปล่อยให้สินค้าผ่านมือพ่อค้าคนกลางหลายทอด กิจการแฟร์เทรดพยายามลดขั้นตอนเหล่านั้นเพื่อประหยัดต้นทุน แล้วนำไปเพิ่มเป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ผลิต  

กิจการแฟร์เทรดมักมีการรวมกลุ่มกันเครือข่าย หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะมีการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ผู้ผลิต เช่น สวัสดิการด้านสุขภาพ การดูแลบุตรหลาน กองทุนกู้ยืม ตลอดจนจัดสรรกำไรของกลุ่มเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม  

ปัจจุบันมีกิจการแฟร์เทรดที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น ระบบการซื้อขายกาแฟที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกมากกว่า 350,000 คน ซึ่งมีการรวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 300 กลุ่ม ใน 22 ประเทศ หรือการซื้อขายโกโก้ที่มีเกษตรกรมากกว่า 40,000 คนเป็นสมาชิกอยู่ใน 8 กลุ่มของ 8 ประเทศ  

บางคนอาจจะเห็นว่าการสนับสนุนแฟร์เทรดนั้นเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพาตลาดโลก แต่การทำแบบนี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ในระยะกลาง ขณะที่การสนับสนุนความเข้มแข็งของตลาดท้องถิ่น หรือตลาดในประเทศก็ต้องทำกันต่อไปในระยะยาว  

ข้อเสนอเหล่านี้คือปฏิบัติการณ์ง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อจะได้เป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีตัวเอง และยังสามารถเป็นแรงต้านกระแสโลกาภิวัตน์ โดยการสร้างะระบบเศรษฐกิจการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืนในสังคม

      ข้อมูล

จาก Cavanagh John, and Jerry Mander (editors). (2004). Alternative to Economic Globalization: A Better World is Possible. San Francisco: Berrett-Koehler Publisher, Inc. 

http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=c1_01122006_01  

หมายเลขบันทึก: 116500เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท