สวัสดิการในทางเศรษฐศาสตร์


เศรษฐศาสตร์มองสวัสดิการในความหมายกว้าง ... กว้างมากกว่าเรื่องทางวัตถุ เพราะความจริงมันเป็นเรื่องของ “ความพึงพอใจ” ต่อเรื่องต่างๆ

พวกเรานักวิชาการจากหลายสาขาทำโครงการเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชนด้วยกัน   เคยนั่งคุยกันเรื่องความหมายของสวัสดิการ   แต่ตัวเราเองไม่เคยคุยให้ทีมงานฟังว่า  สวัสดิการในทางเศรษฐศาสตร์คืออะไร   เพราะเรื่องมันยาว 

  

ที่จริงเศรษฐศาสตร์พยายามตอบคำถามโดยตรงต่อเรื่อง  ความเป็นอยู่ที่ดี (well-being)”  และนี่คือ ความหมายของสวัสดิการในวิชาเศรษฐศาสตร์ซึ่งต้นตำรับมาจากโลกตะวันตก 

   

เศรษฐศาสตร์มองสวัสดิการในความหมายกว้าง ...  กว้างมากกว่าเรื่องทางวัตถุ   เพราะความจริงมันเป็นเรื่องของ ความพึงพอใจ  ต่อเรื่องต่างๆ 

  

สวัสดิการในทางเศรษฐศาสตร์มีสองระดับ  คือ  ระดับปัจเจก  กับระดับประเทศ (หรือสังคม)   ในทางเศรษฐศาสตร์  สวัสดิการ เป็นเป้าหมาย   ไม่มีคำว่า สวัสดิการชุมชน    แต่ถ้าจะหาวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ก็คงเป็นเรื่องของ ผลรวม  ต่อคนในชุมชน

  

แม้ทุกบทจะขึ้นตนด้วยข้อสมมติ เช่น คนเราจะมุ่งหวังอรรถประโยชน์ส่วนบุคคล (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการบริโภควัตถุ )   หรือ ผู้ผลิตแสวงหากำไร (หรือ ลดต้นทุน หรือลดความเสี่ยง ฯ)  แต่ตอนจบในทุกบทของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คือข้อสรุปต่อ "สวัสดิการสังคม"   ในความหมายที่ว่า  ได้รวมประโยชน์สุทธิ (ซึ่งก็คือสวัสดิการ) ของทุกคนในสังคมที่เกี่ยวข้องแล้ว    เช่น  เรื่องบางเรื่องอาจเพิ่มสวัสดิการให้คนหนึ่ง  แต่ไปกระทบและลดสวัสดิการของอีกคนหนึ่ง   นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องคำนึงถึงผลสุทธิของทั้งสองคนรวมกัน  

   

สวัสดิการสามารถเกิดขึ้นหรือลดลงได้เนื่องจากหลายสาเหตุ ไม่จำเป็นเฉพาะเกิดจาก การจัดสวัสดิการ  โดยบางคน บางกลุ่ม หรือโดยรัฐ  เช่น  อาจเกิดจาก  ราคา  เทคโนโลยี  นโยบายและโครงการของรัฐ   กิจกรรมของชุมชน  ภัยพิบัติ   พฤติกรรมประจำวันของบางคนบางกลุ่มที่ส่งผลต่อคนอื่นๆ 

     

เช่น

ความเอื้ออาทรของเพื่อนทำให้เรารู้สึกดีขึ้น (ศัพท์เรียกว่า อรรถประโยชน์สูงขึ้น) ก็เป็นเรื่องของสวัสดิการ

  

แก๊งวัยรุ่นซิ่งมอเตอร์ไซค์  ทำให้เราหนวกหู ไม่พอใจ (อรรถประโยชน์ลดลง) แสดงว่า สวัสดิการของเราแย่ลง     ถ้ามีหลายคนในละแวกนั้นได้รับผลกระทบ   นักเศรษฐศาสตร์ก็จะประเมินได้ว่า  ผลของแก๊งวัยรุ่นกระทบต่อสวัสดิการของคนในละแวกนั้นอย่างไร  และถ้าชุมชนรวมตัวกันแก้ปัญหา ก็จะทำให้สวัสดิการของทุกคนดีขึ้น

  

ถ้าเราได้รับเงินปันผล   เงินทุนเพื่อการศึกษา   เงินค่ารักษาพยาบาล   สิ่งเหล่านี้เป็น สวัสดิการ   ต่อเมื่อกระทบต่ออรรถประโยชน์ของ ผู้รับบริการ     เงิน  100  บาทที่ให้เป็นทุนการศึกษาแก่คนสองคน  อาจมีผลสร้างสวัสดิการแก่คนสองคนได้ไม่เท่ากัน     สวัสดิการรวมไม่ใช่ 200 บาท  แต่ต้องไปประเมินอรรถประโยชน์ที่เกิดกับคนสองคนที่ได้รับทุนนั้น

   

การตัดถนนและนำไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้าน อาจทำให้คนในหมู่บ้านหนึ่งดีขึ้น  อีกหมู่บ้านหนึ่งแย่ลงก็ต้องคิดผลรวมสุทธิ      ถ้าคนหนึ่งเป็นหนี้  แต่เขาคิดว่า การก่อหนี้ทำให้มีชีวิตด้านอื่นๆที่ดีกว่า  สุทธิแล้วการก่อหนี้ก็ไม่ได้ลดสวัสดิการของคนคนนี้   แต่ถ้าอีกคน คิดว่า การก่อหนี้เป็นปัญหา  ทำให้สูญเสียอิสระในการตัดสินใจ  การก่อหนี้จะทำให้สวัสดิการลดลง

  

ที่จริง  เศรษฐศาสตร์ยึดหลักพึ่งตนเองอยู่ด้วย  เพราะบอกว่าถ้าปัจเจกทำได้ดีแล้ว (เช่น พ่อแม่ดูแลลูก  ตลาดทำให้สังคมมีสินค้าดีราคาเป็นธรรม)  รัฐก็ไม่ต้องมายุ่ง  (เพราะทรัพยากรของรัฐก็มีจำกัด  ควรไปทำในเรื่องที่ปัจเจกทำไม่ได้)   

และถ้าชุมชนทำได้ดีกว่ารัฐ  (ต้นทุนของสังคมถูกกว่า  เช่น  เพราะมีข้อมูลดีกว่า  เพราะพูดกันเองรู้เรื่องมากกว่า เพราะติดตามตรวจสอบกันได้ง่ายกว่า)  ก็ควรให้ชุมชนทำ  แต่รัฐอาจสนับสนุนทรัพยากร เช่นงบประมาณ ถ้าประโยชน์นั้นกระจายต่อสังคมในวงกว้าง (เช่น การศึกษา) 

  

เศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตั้งคำถามเอากับ เป้าหมายของปัจเจก  ของชุมชน หรือของรัฐ (เพราะรู้อยู่แล้วว่าต่างกัน)   แต่พยายามเอาจุดแข็งของแต่ละสถาบันมาทำงานร่วมกัน  บนหลักการว่า  ใครทำได้ดีกว่า (บรรลุเป้าหมาย ด้วย ต้นทุนของสังคม  ที่ต่ำกว่า) ก็ให้คนนั้นทำ    แต่จะตั้งคำถามเอากับ ผลประโยชน์ซ้อนทับ   โดยเฉพาะผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่ซ้อนทับกับผลประโยชน์สังคม (กรณีรัฐ)   หรือ  ผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่ซ้อนทับกับผลประโยชน์ของกลุ่ม (กรณีชุมชน)  เพราะนั่นจะทำให้   การทำงานในฐานะรัฐ  หรือ ฐานะชุมชน (ที่ควรรักษาประโยชน์ของคนในรัฐ หรือคนในชุมชน)  ไม่มีประสิทธิภาพ  ล้มเหลว

  

ที่ผ่านมา  รัฐไทยมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน จึงเลือกปฏิบัติ   และในกรณีที่มีคนได้คนเสีย  ก็ไม่มีการชดเชยที่เหมาะสม (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน)   ที่แย่ใหญ่ คือ  ฝ่ายเสียประโยชน์มักจะเป็นคนกลุ่มเดิมๆอยู่ร่ำไป 

 
หมายเลขบันทึก: 115725เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นข้อมูลที่ดีมากเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชน

 

สมพงศ์ ตันติวงศ์ไพศาล

สวัสดีครับ..... อาจารย์ปัทมาวดีครับ.....ขอบคุณที่นำเรื่องของสวัสดิการในภาพรวมของกระแสโลกมาเล่าให้ฟังครับ.......

แต่เนื้อหาของเศรษฐกิจโลก ก็ชัดเจนว่าสวัสดิการมุ่งมองที่อัตถประโยชน์สูงสุด  เพราะฉะนั้นในทุกหนทุกแห่ง  ทุกตารางนิ้วของพื้นที่ย่อมเกิดสวัสดิการได้ตามบริบทของพื้นที่ โดยแยกกันระหว่าง รัฐ และชุมชน เป็นการจัดสรรให้สวัสดิการเกิดในทุกแห่ง โดยลงตัวครับ......

ประเทศไทย ยังต้องกล่าวถึง "สวัสดิการชุมชน" ต่อไปอีกเนื่องจาก รัฐเองซึ่งเป็นผู้ที่ต้องสอดส่องดูแลกับไม่ให้ความสำคัญของสวัสดิการของแต่ละพื้นที่ครับ...เสนอแนะได้ครับ

ขอบคุณคุณรุสดีและคุณสมพงศ์ที่ติดตามอ่านอย่างต่อเนื่องนะคะ

ดิฉันคิดว่า สวัสดิการชุมชน  ในความหมายที่ว่า โดยชุมชน เพื่อชุมชน เป็นเรื่องสำคัญค่ะ   เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีช่องว่างตรงนี้ 

แต่ "เศรษฐศาสตร์สถาบัน" ก็ได้พยายามอธิบายถึงเหตุและผลที่สังคมควรเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการเองในหลายๆเรื่อง เพราะมีบทพิสูจน์มาพอสมควรว่า รัฐล้มเหลว  ตลาดล้มเหลว  โดยมองว่า ชุมชนเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญ  สามารถมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่ารัฐและตลาด  แต่ก็มีโอกาสล้มเหลวเช่นเดียวกับรัฐและตลาดได้เหมือนกัน  โดยพยายามอธิบายว่า ภายใต้บริบทใด กิจกรรมใดที่ชุมชนจะมีประสิทธิภาพมากกว่า  และภายใต้เงื่อนไขใดที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ   

แน่นอนว่า ไม่ได้สรุปอยู่ที่อุดมการณ์  ผู้นำ  สมาชิก  เครือข่าย  เหมือนที่นักพัฒนาสรุปกัน   แต่จะมองไปที่ธรรมชาติของกิจกรรมนั้นๆ (ว่ามีผลกระทบอย่างไร ต้องการความร่วมมือหรือไม่)   ความเสี่ยง  ค่านิยม  ความไว้เนื้อเชื่อใจ  ความยากง่ายในการติดต่อสื่อสาร  การเจรจาทำความเข้าใจ  การตรวจสอบ ซึ่งสะท้อนความยากง่ายในการรวมกลุ่ม  ความยากง่ายของการริเริ่มและรักษากติกา อะไรทำนองนี้

คำตอบจึงจะออกมาในแนวว่า  บางเรื่องชุมชนทำได้ดี  บางเรื่องอาจทำไม่ได้ดี และอาจต้องมีสถาบันอื่นมาทำหน้าที่นี้  หรือเข้ามาช่วยกัน

ตอนนี้พยายามดูอยู่ว่า จะเอาความรู้ที่พอมีอยู่บ้างมาช่วยสังเคราะห์งานสวัสดิการชุมชนไทยอย่างไร

ไว้ตกผลึกความคิดเป็นรูปธรรมในกรณีชุมชนของไทยเมื่อไหร่จะเขียนเล่าให้ฟังค่ะ

 

  • วันนี้เห็นอาจารย์ออกทีวีช่องเก้า "ทำดี ทำได้" จึงมาแสดงความรู้สึกดีใจครับ :-)
  • ทีวีเป็นแหล่งเผยแพร่ที่ดีครับ เข้าถึงทุกบ้าน
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์เอก 

แฮะ.. เรื่องออกทีวีอย่าบอกใครสิคะอาจารย์  ..

ออกทีวี พูดยังไม่ครบประเด็นก็หมดเวลา เพราะตอนแรกพูดไม่ออก มัวแต่วน

ดีใจที่อาจารย์แวะมาเยี่ยมมาหลังจากที่เงียบกันไปนานค่ะ

ตอนที่มีวาทกรรมเรื่องประชาสังคมระบาดเข้ามาในไทย จากบริบทสังคมที่เป็นเมืองของต่างประเทศ   กลไกหรือแนวคิดนี้ได้เข้ามามีส่วนแบ่งในการทำกิจกรรมอะไรบางอย่างแทนรัฐ ปัจเจกและตลาด

มีงานวิจัยสรุปว่า สังคมที่มีกลไกนี้ทำงานอยู่มาก     จะทำให้สังคมมีสุขภาวะ(ที่ดี) โดยเสนอแนะกระบวนการสร้างความเป็นประชาสังคมโดยกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน/สังคมโดยตรงให้มากที่สุดด้วยการฝัน คิด พูดและลงมือทำร่วมกัน 

ผมเข้าใจว่า สังคมไทยเป็นสังคมศักดินาแบบพึ่งพาเกื้อกูล(ในส่วนที่ดี)จากอิทธิพลของศาสนา ซึ่งเป็นพลังที่แนวคิดเรื่องสวัสดิการชุมชนพยายามใช้กลไกนี้ให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน

ในทางกฏหมาย มีปัจเจก รัฐ ตลาด และประชาสังคม(ในความหมายตะวันตกแบบไทยคือมูลนิธิ สมาคม)เป็นหน่วยดำเนินการเพื่อสร้างสวัสดิการ(ความอยู่ดีมีสุข)ซึ่งกำลังเพิ่มความหมายของชุมชนเข้าไปด้วยในพรบ.สวัสดิการสังคม2546

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ว่าทุกหน่วยจัดการมีข้อเด่นและข้ออ่อน ต้องนำมาใช้ร่วมกันตามเงื่อนไขที่ต่างกันเพื่อประโยชน์สุขของบุคคล ชุมชนและสังคมโดยรวม

ความยากอยู่ตรงที่ความเข้าใจในพลังและความสามารถในแต่ละบริบทของหน่วยจัดการซึ่งมีการลดทอนพลังของอีกหน่วยจัดการหนึ่งเพื่อหาอรรถประโยชน์โดยรวมของสมการ      
ซึ่งเป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาล เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความพึงพอใจของมนุษย์ซึ่งเครื่องมือที่พยายามทำให้เป็นภาววิสัยตอบไม่ได้ทั้งหมด

ข้อเสนอสุดท้ายจึงหนีไม่พ้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเพื่อร่วมกันกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ไม่ใช่คำตอบของนักเทคนิก
กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม อีกเส้นทางหนึ่งเห็นว่า เป้าหมาย คือความเห็นชอบมีความสำคัญยิ่งกว่า        เพราะการเรียนรู้ร่วมกันอาจตกอยู่ในบ่วงของความโลภ โกรธ หลงแบบเดียวกันก็ได้

ก็คงเป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลแบบไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันต่อไป?

ขอบคุณอาจารย์ภีมที่แวะมาแสดงความเห็นนะคะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  เพราะเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้สังคมหาคำตอบร่วมกันได้ภายใต้เป้าหมายและข้อจำกัดที่แตกต่างกันของแต่ละคนแต่ละฝ่าย

(อาจารย์อัมมารสอนดิฉันว่า  หน้าที่แรกของนักเศรษฐศาสตร์เกษตร คือ ต้องเข้าใจบริบท เป้าหมายและข้อจำกัดของเกษตรกร)

ในสังคมนี้คงจะมีทั้งคนคิดเห็นด้วยและคิดค้าน  และถ้าสังคมไม่สิ้นคนดี ก็คงมีคนดีคอยคัดง้างไม่ให้ลงเหวได้     แม้จะยังวนๆอยู่ในความโลภ โกรธ หลง บ้าง ก็หวังว่าจะอยู่ในระดับที่พอรับได้  คือ ไม่ถึงกับเบียดเบียนกัน มีความเสียสละกันคนละเล็กละน้อยเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ ... ก็ยังไม่คาดหวังในเรื่องสังคมบริสุทธิ์หรอกนะคะ

ส่วนบทบาทของรัฐ  ตลาด และชุมชน ว่าจะเขียนในบล็อกสักครั้ง  อย่าลืมแวะมาอ่านและแสดงความเห็นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท