ใต้ร่มเงาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง


ท่ามกลางกระเเสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่เเอบแฝงด้วยกระเเสทุนนิยม

ใต้ร่มเงาแห่งเศรษฐกิจเพียง                                                                              ายใต้การชูธงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ของรัฐบาล ท่าน สุรยุทธ จุลานนท์ ได้จุดประกายความหวังต่อการพัฒนาประเทศของผมและนักอนาคตศาสตร์หลายๆคน ที่มองสังคมไทยในระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างวิตกกังวลขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยหวังว่า แนวทาง นโยบาย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังของรัฐบาล จะช่วยฟื้นฟูให้สังคมไทยที่กำลังอ่อนแอ จากพิษภัยของการพัฒนาภายใต้ร่มเงาของเศรษฐกิจกระแสหลักให้ทุเลาเบาบางลงบ้างไม่มากก็น้อย แล้วก็เป็นเพียงแต่ ความหวัง.....จริงๆ ผ่านมาจนเกือบครบเทอมของรัฐบาลเฉพาะกาล แทบจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า ในเชิงนโยบายการพัฒนาประเทศและในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเลย แต่ในทางกลับกัน  กลับพบว่า แนวทางการดำเนินงานโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ละทิ้งจากทางเดินของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆเลย รัฐบาลยังคงปล่อยให้ การคืบคลานของกลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มทุนค้าปลีกเข้ามาอย่างสะดวกสบาย และขาดการควบคุมอย่างจริงจัง จากรูปธรรมนี้ เห็นได้จากการที่จำนวนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ยังเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเรื่อยๆ ในทุกมุมเมือง และ ยังบุกไปสู่ท้องถิ่นในทุกหย่อมหญ้าของประเทศไทย ตั้งแต่ระดับ อำเภอ ตำบล จนทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ต้องหามาตรการในการควบคุม การขยายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ขึ้นอย่างลำพัง ซึ่งก็มักปรากฏในรูปของ ม็อบต้านห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่พยายามชี้ให้เห็นภัยมืดที่กำลังลุกลามขึ้นในทุกท้องที่ (ที่รัฐมองเห็นเป็นเพียงปัญหาเรื่องเล็กๆ) มาถึงตรงนี้ อาจเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมการบุกของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่นั้นเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขนาดนั้นเชียวหรือ ลองคิดแบบง่ายๆ  ว่าหากหลักคิดแบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง เริ่มด้วย พื้นฐานในเรื่องของ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  ภายใต้เงื่อนไข ความรู้คู่คุณธรรมของคน แต่หลักการของห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุน) กลับตรงกันข้ามกับหลักคิดของเศรษฐกิจแบบพอเพียง และวิถีแบบชุมชนแบบเดิมทั้งหมด อาทิเช่น คงไม่มีห้างใดที่ต้องการให้ลูกค้าเน้นหลักการเรื่องของความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลในการใช้จ่าย เพราะหากลูกค้าเป็นเช่นนี้บริษัทคงขาดกำไรชิ้นโตไป ดังนั้นเราจึงจะพบว่ามาตรการของห้างค้าปลีกส่วนใหญ่ ก็มักจะเน้นในเรื่องของการกระตุ้นการใช้จ่าย ที่ไร้เหตุผลของลูกค้าให้มากที่สุด แน่นอนระบบคิดเช่นนี้ ล้วนแต่เป็นการกัดกร่อน และสวนทางกับแนวคิดพื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในทุกมิตินี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้ง และความลักลั่น ภายใต้แนวนโยบายเศรษฐกิจแบบพอเพียงแบสุดขั้ว แม้ผู้นำหลายคนจะออกมาอ้างว่าด้วยข้อจำกัด ที่เป็นเพียงรัฐบาลเฉพาะกิจ เข้ามาบริหารเพียงระยะเวลาอันสั้น การขับเคลื่อนงานใหญ่ๆ ต้องอาศัยระยะเวลา แต่การเริ่มต้นและดำเนินงานแก้ไขอย่างจริงจัง มิยากเกินไปมิใช่หรือ อย่าให้นโยบายที่ ท่าน ก่อรูปขึ้นเป็นเพียงแค่ภาพให้ดูสวยหรูเท่านั้น ผมและสังคมไทย ยังฝากความหวังไว้กับท่านอยู่

รัฐบาลเฉพาะกาล 2549

หมายเลขบันทึก: 115578เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบข้อจำกัด ปัจจัยเอื้อที่มันส่งผลในการสร้างระบบเศรษฐกิจในชุมชนคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท