เทคนิค..การบอกข่าวร้าย


จะบอกข่าวร้ายอย่างไรดี

ในชีวิตหนึ่ง ถ้าเราจะต้องฟังข่าวร้าย เราจะรับมือกับมันได้อย่างไร ลองติดตามดูนะคะ

ข่าวร้าย คือ ข่าวอะไรก็ได้ที่ทำให้ผู้รับฟัง ฟังแล้วมีความทุกข์ จิตใจหดหู่ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ฯลฯ

คงไม่มีใครอยากฟัง..ข่าวร้าย

แต่ในชีวิตของคน

สักวันหนึ่ง.....คงจะมีโอกาสได้ยินข่าวร้าย

ดิฉันทำงานที่ตึกเคมีบำบัด  มีผู้ป่วยมะเร็งมากมายที่มารับการรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัด

มีผู้ป่วยที่มารับยาเคมีบำบัดครั้งแรก วันละประมาณ 3 คน ที่เราจะต้องค้นหาว่าเขารับรู้เกี่ยวกับโรคเขาอย่างไร....

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทราบผลวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว

แต่จะมีบ้างเหมือนกันที่รักษาไปแล้ว จนวินาทีสุดท้าย โรคไม่ตอบสนองต่อการรักษาอีกแล้ว 

แพทย์ที่รักษาจะต้องบอก...ข่าวร้ายอีกครั้งหนึ่ง 

ซึ่งดิฉันในฐานะพยาบาลจะต้อง

นั่งอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วย ขณะที่แพทย์แจ้งผลการรักษา

จัดที่นั่งให้แพทย์ ผู้ป่วยและญาติ

เราจะต้องคอยดูแลต่อ  หลังจากแพทย์บอกข่าวร้ายให้กับผู้ป่วยแล้ว

จะมีบ้างที่ญาติไม่ต้องการให้  ผู้ป่วยรู้ว่า...เป็นมะเร็ง

เราซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ทั้งแพทย์และพยาบาล จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น

จะบอกข่าวร้ายอย่างไรดี...

ให้ผู้ป่วยและญาติสามารถรับได้

รับรู้ตามความจริง

คาดหวังในสิ่งที่เป็นไปได้และ

สุดท้ายให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา คือ ความสงบ ความมีคุณค่าและยอมรับกับตนเองได้...

วันนี้ได้มีโอกาสไปฟังเรื่อง Breaking bad news โดย รศ.นวนันท์ ปิยะวัฒน์กูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข

มาเล่าให้ฟังว่า การบอกข่าวร้าย

ให้ใช้หลัก SPIKES

S= Setting มีห้องเฉพาะ สิ่งแวดล้อมเงียบสงบ พูดนุ่มนวล ใส่ใจ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหรือญาติพูดบ้าง ให้เวลา

ใช้ภาษากายที่ถูกต้อง คือ โดยนั่งเฉียงๆกับผู้ป่วยขณะให้คำปรึกษา ภาษากายเปิด ไม่นั่งกอดอกหรือไขว่ห้าง โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย สบตา และมีท่าทางผ่อนคลาย

P= Perception ถามการรับรู้ มุมมองของผู้ป่วยและญาติ ก่อนบอก

I= Information ให้ข้อมูลย่อยๆ ทีละประเด็น

K=knowledge ถามความรู้ความเข้าใจว่าเข้าใจอย่างไร

E= Empathy เห็นใจ เมตตา เมื่อผู้รับข่าวร้ายมีปฏิกิริยากับเรา  หรือคนรอบข้าง 

S= Strategy& Summary บอกแผนการรักษาที่ชัดเจนว่า เขาจะทำอะไรต่อไป แผนการรักษาต่อไปจะเป็นอย่างไร

หลังจากอาจารย์พูดเสร็จ  เรามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อว่า

กรณีที่ญาติไม่ต้องการให้ผู้ป่วยรู้ผลการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็ง แพทย์ พยาบาลจะทำอย่างไร

อาจารย์ บอกว่า ให้ถามผู้ป่วยต่อหน้าญาติว่า

การมาโรงพยาบาลครั้งนี้ อยากให้หมอบอกไหมว่าเป็นอะไร ถ้าผลการวินิจฉัยออกแล้ว หรือถามว่าคุณตกใจง่ายไหม 

แล้วคุณล่ะคะ ถ้าเราป่วยเป็นอะไรซักอย่าง  เราจะอยากรู้ไหมว่าเราป่วยเป็นอะไร

ดังนั้นจะเป็นการดีแล้วหรือ

ที่ญาติจะไม่ให้บอก.....ผลวินิจฉัยแก่ผู้ป่วย

ถึงแม้ว่า จะเป็นข่าวร้ายก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 114158เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ดิฉันได้เล่าเรื่องหนึ่ง

เพื่อแลกเปลียนกับอาจารย์นวนันท์ ว่า มีคุณแม่ของเด็กอายุ 15 ปี ที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือด

คุณแม่ บอกกับพยาบาลว่า ห้ามบอกลูกว่าเป็นมะเร็ง การสอนการปฏิบัติตัว ข้อมูลทุกอย่างให้บอกกับแม่ทั้งหมด

พวกเราก็กลุ้มใจมาก  เพราะตึกเรามีแต่ผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

เราจะทำอย่างไรดี

แต่เราก็ทำตามประสงค์ของแม่

โชคดี เด็กคนนี้ก็หายป่วย สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้

ในความคิด ซึ่งอาจผิดก็เป็นไปได้ว่าบางครั้งการไม่พูดก็เป็นการดีต่อคนไข้นะค่ะเพราะการที่คนไขทราบอาจทำให้หมดกำลังใจลงได้ ซึ่งการหมดกำลังใจบางครั้งอาจรุนแรงกว่าอาการไข้เสียอีก

สวัสดีค่ะคุณรัชนีวรรณ

ก็เป็นมุมมองของญาติ

เราลองนึกดูนะคะว่า ถ้าเราป่วยเป็นอะไรที่ร้ายแรง

การรู้อาจทำให้หมดกำลังใจในระยะแรก

แต่ถ้าไม่รู้ตลอดไป จะทำให้เราไม่สามารถปรับตัวได้

จนวาระสุดท้ายของชีวิต

ดิฉันรู้จักกับน้องคนหนึ่ง...ที่พ่อป่วยเป็นมะเร็ง แต่ไม่บอกพ่อ

จนพ่อเสียชีวิต พ่อไม่ได้จัดการสิ่งที่ควรจะทำ เช่นการทำพินัยกรรม การแบ่งมรดกให้เรียบร้อย

เมื่อพ่อเสีย.. ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

มาถึงวันนี้ลูกบอกว่า รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้บอกความจริงกับพ่อ จนพ่อตายจากไป

ไม่ทราบว่าคุณ P เคยอ่านหนังสือเรื่อง "บทเรียนจากเพื่อนผู้จากไป" หรือยังครับ คนเขียนเป็นพยาบาลหลายคน

หากยังไม่เคยอ่าน เมื่อได้กลับหาดใหญ่แล้ว จะพยายามหาแล้วส่งไปให้นะครับ

 

สวัสดีค่ะ   P

ยังไม่เคยอ่านค่ะ

ขอบคุณนะคะ ที่เข้ามาอ่าน

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะที่จะส่งหนังสือ มาให้เป็นวิทยาทานค่ะ

มุมมองที่ญาติปิดบังการวินิจฉัยมิให้ผู้ป่วยทราบ ผมมองอีกมุมว่า

จริงมันเกิดจากหลายปัจจัยและปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งญาติ-ผู้ป่วย-บุคคลากรการแพทย์ ไม่รู้จะทำอย่างไรหลังทราบ/แจ้งข่าวร้าย

ญาติมักกลัวผู้ป่วยทรุด-แต่ก็ลืมมองไปว่า การปิดบังความจริงสร้างปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา ความกังวล-ความโกรธที่ถูกปิดบังคาวมจริง

ผู้ป่วยเองอยากทราบแต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเพชิญกับข่าวร้ายนั้นอย่างไร

บุคคลากรเองก็กลัวที่จะแจ้งข่าวร้าย กลัวปฏิกริยาของผู้ป่วยและครอบครัว และเมื่อบอกไปแล้วก็มักจะไม่กล้าเพชิญปัญหานั้นร่วมกับผู้ป่วย และส่วนใหญ่ขาดการฝึกฝนจึงทำให้ยุ่งยากมากขึ้น

มุมมองผมก็คงต้องเริ่มจากเราก่อน มีความพร้อมก่อน อย่างที่คุณอุบลทำคือ อยู่เคียงข้างผู้ป่วยและครอบครัวเสนอ เข้าใจทุกปัจจัยตามจริง

ประสบการณ์ผมบางคนผมเกือบทุกคนแจ้งข่าวร้ายได้สำเร็จ ถ้าผู้ป่วยอยากทราบ เพราะถ้าเราแก้ไขความกลัวของญาติได้ และเรามีทางช่วยเหลือดูแลเขาต่อเนื่องการแจ้งข่าวร้ายคือการบอกความจริงตามธรรมชาติ

มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่ผมไม่ต้องบอกว่าเป็นอะไร เพราะลุงบอกว่า ผมเป็นอะไรก็ช่าง ขอหมอช่วยดูหน่อย ผมถามว่าทำไมไม่อยากรู้ แกบอกว่าอายุมากแล้วยังไงก็ตาย ผมเดาเอาเองว่าแกรู้ตัวเอง หรือไม่ก็ปลงใจได้

ขอแลกเปลี่ยนแค่นี้ก่อนครับ

สวัสดีค่ะคุณโรจน์

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ

การบอก หรือไม่บอกข่าวร้าย น่าจะอยู่ที่ความต้องการของคนไข้

ลองนึกดูนะคะ ถ้าเราจะต้องตาย

โดยไม่รู้ตัว จะรู้สึกอย่างไร

ดิฉันขอแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นญาติของผู้ป่วย แม่ของดิฉันป่วยเป็นมะเร็งที่รังไข่ระยะเริ่มต้น ตอนที่รับฟังข่าวร้ายว่าแม่อายุ 68 ปี เป็นมะเร็งดิฉันช็อกคือเป็นลม รับไม่ได้และคิดล่วงหน้าไปว่าแม่จะต้องทุกข์ทรมานกับการเป็นโรค และจะต้องให้เคมีบำบัด 6 ครั้ง แต่หลังจากที่คิดได้ว่าจะต้องดูแลแม่อย่างไร และวางแผนในการที่จะต้องลางานสลับเปลี่ยนกับพี่และน้อง ก็รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับภาระคนเดียว ก็เริ่มสบายใจขึ้น หมอที่ดูแลรักษาแม่ดีมาก เข้าใจถึงความต้องการของญาติและผู้ป่วย       แต่พอให้ยาครบแล้วและหมอนัด F/U ดิฉันก็เริ่มกังวลกลัวแม่ไม่หาย แต่แม่ก็ผ่านภาวะนั้นมาได้ด้วยดีซึ่งก็อยู่ในช่วงติดตามทุก 6 เดือน

สวัสดีค่ะคุณติ๊ก

ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะที่ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้

การรักษามะเร็งจะได้ผลดี เราควรค่อยๆบอกตามหลักการที่กล่าวข้างต้น

เพราะการที่ผู้ป่วยรู้จะเป็นผลดี จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง จะทำให้อาการข้างเคียงจากการรักษาไม่มาก

ถ้าไปนอนรักษา โดยเฉพาะที่โรงพยาบาล ตึกดิฉันผู้ป่วยทั้งหมดเป็นมะเร็ง ถ้าเขาพูดคุยซักถามกัน ผู้ป่วยก็มีโอกาสรู้

มะเร็งบางอย่างมีโอกาสรักษาได้และมีชีวิตอยู่ได้นาน

 

 

วันนี้อ่านเรื่อง คุยเรื่อง ความตายกับผู้ป่วยมะเร็งเด็กระยะสุดท้าย

ในหนังสือพิมพ์มติชน ปีที่30ฉบับที่10742 วันที่8 สิงหาคม 2550

ทพญ อพภิวันท์ นิตยารัมภ์พงศ์ กล่าวว่า

เด็กอายุแรกเกิด- 8ขวบ ไม่เข้าใจความหมายและไม่รู้ว่าความตายคืออะไร เข้าใจเพียงว่านอนหลับไปเฉยๆ จึงไม่จำเป็นต้องบอก

เด็กอายุ 8 ขวบขึ้นไป เด็กจะเริ่มรู้และจินตนาการ เรื่องความตายจากญาติพี่น้องที่เสียชีวิตแล้ว

การสื่อสารเรื่องความตายจึงควรใช้ภาษาเด็ก

ถ้าเป็นเด็กเล็กมากไม่ควรใช้ภาษาพูด ควรใช้ภาษาจากสื่อต่างๆแทน เช่นเด็กชอบรถยนต์ อาจพูดถึงรถยนต์ที่หนูเล่นประจำเกิดเสีย ต้องส่งโรงซ่อม เติมนำมัน พ่นสีใหม่ จึงจะวิ่งได้เหมือนเดิม เหมือนหนูเกิดป่วยก็ต้องรักษา

หรือรถยนต์ผุมากอาจพังได้เหมือนร่างกายหนูก็พังได้ หากแต่หัวใจหนูจะไปอยู่กับพระเจ้า แล้วพระเจ้าคือใคร

พระเจ้าคือผู้ใจดี ท่านอยู่บนฟ้า ท่านจะต้องรักหนูมาก

หรือหาภาพมาประกอบซึ่งเป็นภาพที่คุ้นเคย เช่น ภาพพระพทธรูปที่เด็กเคยสวดมนต์กับพ่อแม่ที่บ้าน สิ่งที่เด็กอยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่น คุ้นเคย มั่นคงและช่วยลดความกลัวลงได้

ดังนั้นการสื่อสารกับเด็ก ไม่ควรใช้คำว่า ความตาย เพราะถือเป็นคำที่เจ็บปวด

ควรพูดให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย นึกภาพจินตนาการและเห็นที่มาที่ไปของตัวเองว่า เคยทำดีและอยากทำอะไรต่อไป

การสื่อสารเรื่องความตาย ควรพูดคุยให้เหมือนเรื่องธรรมดา

อ่านแล้วรู้สึกเป็นตัวอย่างที่ดี ที่พยาบาลสามารถนำมาใช้ได้จริงกับผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย

สวัสดีค่ะ พี่อุบล

             ตามมาอ่านบันทึกเก่าๆ ของพี่ค่ะ หนูรู้สึกว่ามีประโยชน์กับตัวเองมากเลยค่ะ หนูอยากจะ ลปรร กับพี่ในเรื่องนี้ค่ะ เป็นประสบการณ์ของตัวเองในเรื่องของการจะบอก/ไม่บอกให้ผู้ป่วยทราบว่าเป็นโรคร้าย

             เป็นประสบการณ์ของครอบครัวตัวเองค่ะ ซึ่งหนูคิดว่าการให้ผู้ป่วยและญาติรับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญมาก  สำหรับญาติ 

  • จะได้รู้ถึงการปฏิบัติตัวกับคนไข้
  • การเตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
  • การหาคำตอบมาอธิบายให้คนไข้สบายใจเวลาเกิดผลข้างเคียงเมื่อได้รับเคมีบำบัด

ส่วนสำหรับคนไข้

  • จะได้รับรู้ถึงเหตุผลที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
  • ได้มีเวลาเตรียมตัว เตรียมใจ พร้อมจะรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

   ขณะนี้แม่ของหนู ให้เคมีบำบัดรอบที่ 3 แล้วค่ะ (ผลการเจาะไขกระดูก หมอบอกว่ามีเชื้อมะเร็ง อยู่ 10 % ซึ่งแม่ยังแข็งแรงอยู่ค่ะ) การเข้า รพ.รอบนี้ เราอุ่นใจกว่าครั้งแรกๆ ค่ะ เพราะตลอดมา เราดูแลกันด้วยเหตุผลอธิบายทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงกับแม่หลังจากให้ยา ทำให้แม่ทราบและรู้ว่าอาการต่างๆ เช่น ผมร่วง อาเจียน เบื่ออาการ ผิวคล้ำขึ้น เกิดจากยาตัวไหน เมื่อให้ยาชื่อนี้แล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องเตรียมตัวยังไงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งพวกเรารู้สึกสบายใจ เหมือนเรากำลังเดินไปข้างหน้าด้วยความระมัดระวัง เห็นหลุมทุกหลุม รู้ว่าต้องหลบ หรือค่อยๆ เดินลงไป หรือแม้แต่ถ้าล้ม เราก็จะล้มอย่างเบาที่สุดค่ะ หนูคิดว่าการมีสติกับปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ ทำให้เราพร้อมที่จะรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาค่ะ

สวัสดีค่ะ     P

พี่ดีใจที่แม่มีลูกอย่างน้อง TuDToo

เพราะทั้งผู้ป่วยและญาติได้มีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจ จะทำให้การรักษาได้ผลดีมากกว่า เพราะเรารู้ว่าหลุมพรางอยู่ที่ไหน เราก็หลบหลุมได้อย่างที่น้องบอก

เพราะการรักษาด้วยยาเคมี ถ้าเรารู้วิธีปฏิบัติตัว จะทำให้ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้น้อยกว่าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท